Skip to main content
sharethis

แพทย์สถาบันสุขภาพเด็กชี้ สิทธิประโยชน์การคัดกรองการได้ยินในทารกแรกเกิดมีความสำคัญมาก ช่วยให้เข้าถึงการรักษาได้โดยไม่มีอุปสรรคเรื่องค่าใช้จ่าย หากยิ่งตรวจพบและทำการฟื้นฟูได้เร็ว ก็จะช่วยให้เด็กสามารถดำเนินชีวิตในสังคมร่วมกับผู้อื่นได้

6 พ.ค. 2567 ทีมสื่อ สปสช. แจ้งข่าวว่า พญ.นาฏยพร จรัญเรืองธีรกุล แพทย์เชี่ยวชาญ ด้านหู คอ จมูก สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีกล่าวถึงสิทธิประโยชน์การคัดกรองการได้ในเด็กทารกแรกเกิดของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ว่า เป็นเรื่องที่สำคัญและมีประโยชน์อย่างมาก โดยทั่วไปแล้ว เด็กแรกคลอดทุก 1,000 คน จะพบเด็กที่มีปัญหาการสูญเสียการได้ยิน 1 คน หรืออัตราส่วน 1:1,000 ขณะที่เด็กที่มีภาวะเสี่ยงต่อการสูญเสียการได้ยิน เช่น การติดเชื้อไวรัสตั้งแต่อยู่ในครรภ์หรือตั้งแต่เกิด หรือป่วยต้องอยู่ในห้อง ICU นาน จะมีอัตราส่วนมากขึ้น 10 เท่า ซึ่งเด็กที่มีภาวะสูญเสียการได้ยินอาจเกิดปัญหาเรื่องการสื่อสาร การเรียน การเข้าสังคม เช่น หูตึงจะพูดไม่ชัด หรือถ้าหูหนวกก็อาจจะไม่เกิดพัฒนาการทางภาษาเลยหากไม่ได้รับการฟื้นฟูตั้งแต่แรกเริ่ม

นอกจากนี้ ผลต่อเนื่องเมื่อโตขึ้นก็อาจมีปัญหาการประกอบอาชีพที่ทำได้จำกัด ขณะที่ผลกระทบระดับประเทศก็คือจะมีอัตราการพึ่งพาของประชากรมากขึ้นและมีผลต่อการพัฒนาของประเทศได้

พญ.นาฏยพร กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันนี้มีเทคโนโลยีในการตรวจการได้ยินที่ผู้ปกครองจะพาเด็กมาตรวจเข้าถึงได้ง่าย ทำให้สามารถคัดกรองการได้ยินตั้งแต่แรกเกิด เมื่อคัดกรองเบื้องต้นแล้วพบความผิดปกติ เด็กจะเข้าสู่ขั้นตอนการวินิจฉัย รักษา ฟื้นฟูได้ทันท่วงที โดยอายุ 1-3 ขวบ ซึ่งเป็นช่วงที่สมองมีพัฒนาการทางภาษา การฟื้นฟูการได้ยินที่ล่าช้าเมื่ออายุเกิน 3 ขวบขึ้นไปแล้ว พัฒนาทางภาษาก็จะน้อยลงหรืออาจจะพูดไม่ได้จนต้องใช้ภาษามือแทน

"การสูญเสียการได้ยินจะมี 3 แบบ คือ 1.การนำเสียง 2.เส้นประสาทการรับเสียง และ 3.ผสมทั้งการนำเสียงและเส้นประสาทเสียง ถ้าเป็นเรื่องปัญหาการนำเสียง เช่น มีภาวะของหูอักเสบ การมีน้ำคั่งหูชั้นกลางตามหลังการเป็นหวัด หรือหูอักเสบ ขี้หูอุดตัน แบบนี้รักษาหายได้ แต่เส้นประสาทหูที่สูญเสียแบบถาวร จะต้องช่วยดูแลฟื้นฟูการได้ยิน โดยการใส่เครื่องช่วยฟัง การวินิจฉัยที่เร็วและใส่เครื่องช่วยฟังได้เร็ว จะสามารถรับรู้เสียงเข้าไปที่สมองได้เร็วตั้งแต่อายุน้อยๆ  เมื่อมีข้อมูลเสียงอยู่ในสมองจะแปลผลออกมาเป็นภาษาพูดออกมา จึงเกิดพัฒนาการทางภาษา ดังนั้น การฟื้นฟูที่รวดเร็ว มีโอกาสที่จะทำให้เด็กพูดไม่ได้สามารถพูดได้ หรือ พูดไม่ชัดก็จะพูดชัดขึ้นได้" พญ.นาฏยพร กล่าว

พญ.นาฏยพร กล่าวต่อไปว่า การคัดกรองการได้ยินเป็นนโยบายระดับประเทศมาตั้งแต่ปี 2565 โดยจะช่วยให้เด็กแรกเกิดทุกคนได้เข้าถึงการคัดกรอง เมื่อคัดกรองแล้วพบความผิดปกติก็จะมีระบบส่งต่อไปสู่โรงพยาบาลที่สามารถวินิจฉัยรักษาฟื้นฟูได้ทั้ง 13 เขตสุขภาพทั่วประเทศ และ สปสช. ได้จัดสิทธิประโยชน์สนับสนุนค่าค่าใช้จ่ายในการตรวจการคัดกรองการได้ยินตั้งแต่แรกเกิดให้เด็กและประสาทหูเทียม รวมถึงสิทธิประโยชน์สนับสนุนเครื่องช่วยฟังในเด็กที่หูพิการ รวมถึงค่าใช้จ่ายในการฝึกฟัง ฝึกพูด และค่าตรวจวินิจฉัยต่อเนื่อง การตรวจติดตามผล ซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับประชาชนอย่างมาก ทำให้เข้าถึงการรักษาได้ไม่โดยไม่มีอุปสรรคเรื่องค่าใช้จ่าย เด็กก็จะสามารถดำรงชีวิตได้อยู่ในอยู่ในสังคมกับเด็กปกติได้

ด้าน นายสมศักดิ์ คุณตาของเด็กที่มีปัญหาด้านการได้ยินรายหนึ่ง กล่าวว่า ตนพบความผิดปกติของหลานเมื่ออายุได้ 3 ขวบ โดยสังเกตว่าเรียกแล้วไม่หัน ต้องตะโกนดังๆถึงจะได้ยิน จึงนำมาพบแพทย์ที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี และทำการรักษาต่อเนื่องจากจนปีนี้เป็นปีที่ 6 แล้ว ซึ่งผลการรักษาก็ทำให้การได้ยินดีขึ้น การตอบสนองดีขึ้น เรียนหนังสือเข้าใจมากขึ้น และตนเห็นด้วยอย่างยิ่งที่ สปสช. จัดสิทธิประโยชน์การตรวจคัดกรองในเด็กแรกเกิด เพราะตั้งแต่มารับบริการที่โรงพยาบาล 6 ปี พบผู้ป่วยเด็กที่มีปัญหาเกี่ยวกับหูจำนวนมาก เด็กมีปัญหาเรื่องภาษา การพูดไม่ชัด ทำให้การสื่อสารเป็นไปด้วยความลำบาก

ขณะที่นางสมพร ผู้ปกครองของเด็กที่เข้ารับบริการที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า ตนคลอดลูกเมื่อเดือน พ.ย. 2566 แล้วพบว่าเด็กอาจมีภาวะน้ำท่วมปอด จำเป็นต้องให้ออกซิเจน 5 วัน จนสามารถออกจากโรงพยาบาลได้ และวันนี้ได้มาตรวจคัดกรองการได้ยินและฉีดวัคซีน เป็นการตรวจตามปกติที่ต้องตรวจอยู่แล้ว ซึ่งผลการตรวจเป็นปกติ อย่างไรก็ดี ตนเห็นด้วยและคิดว่าการคัดกรองการได้ยินนี้มีความจำเป็นมากๆ ในทารกแรกเกิด เพราะผู้ปกครองโดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ไม่รู้ว่าจะต้องทำอะไร ถ้าได้รู้ก่อนก็จะจะได้รักษาได้เร็ว แต่ถ้าไม่ได้คัดกรองตั้งแต่แรก การรักษาทีหลังก็อาจจะสายเกินไป

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net