Skip to main content
sharethis
Event Date

เสวนาวิชาการ หัวข้อ

ทำความเข้าใจ ผู้ก่อการชายแดนใต้ : การแปรความขัดแย้งที่รุนแรง
“Understanding southern insurgents: transforming deadly conflict”

โดย ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและ Chula Global Network

วันศุกร์ที่ 28 สิงหาคม 2552 เวลา 13.30 – 16.30 น.
ห้องประชุมชั้น 4 อาคารวิศิษฐ์-ประจวบเหมาะ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 

กำหนดการเสวนาวิชาการ

13.30 - 14.00 น. ลงทะเบียน
14.00 - 14.10 น. กล่าวเปิดการเสวนา
                         รศ. สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม
14.10 - 16.30 น. เสวนาหัวข้อ "ทำความเข้าใจ ผู้ก่อการชายแดนใต้ : การแปรความขัดแย้งที่รุนแรง"

ผู้อภิปรายร่วม
รศ.ดร.มาร์ค แอสคิว               ภาควิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น
อาจารย์ซากีย์ พิทักษ์คุมพล    สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
อาจารย์ชญานิษฐ์ พูลยรัตน์     คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
คุณมูฮำมัดอายุบ ปาทาน        ผู้สื่อข่าวศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้

ผู้ดำเนินรายการ
รศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

หลักการและเหตุผล

          ปรากฏการณ์ความไม่มั่นคง (insecurity) นั้นปรากฏอยู่ในหลายหลากระดับของสังคม ตามกระแสของโลกาภิวัตน์ (globalization) ที่ได้ฉุดกระชากพัดเหวี่ยงให้เกิดกลุ่มประชาชนที่ล่อแหลม (vulnerable population) อันหมายถึง ประชาชนที่ไม่พอใจต่อสถานภาพทาง สังคม เศรษฐกิจ และการเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ความแตกต่างระหว่างชนชั้นที่ยังมีอยู่มาก และการดูแลของรัฐที่ไม่ทั่วถึง รวมถึงการดำเนินโยบายที่อาจจะส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของกลุ่มชนที่ ถูกผลักไปอยู่ในพื้นที่ของความเป็นชายขอบ ผู้คนเหล่านี้ต่างก็รู้สึกได้ว่าตัวเองถูกเบียดบังผลประโยชน์ (relative deprivation) รัฐเองก็ขาดการควบคุมที่ดี (lack of government control) ความรู้สึกเหล่านี้อาจนำมาสู่การเข้าร่วมสู้เพื่อโคนล้มอำนาจรัฐได้

          สถานการณ์ความรุนแรงในภาคใต้มีพัฒนาการของรูปแบบการก่อความไม่สงบแบบดั้ง เดิม (traditional insurgency) อันมีรากฐานมาจากความไม่พอใจในการดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่ไม่เหมาะสม ในเรื่องความแตกต่างทางชาติพันธุ์ ศาสนา วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ ทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างชนกลุ่มที่เป็นกลุ่มน้อยต่าง ๆ กับชนกลุ่มใหญ่ การก่อความไม่สงบดังกล่าวมุ่งไปสู่การแยกตัวจากการควบคุมของรัฐ การแบ่งแยกดินแดนเพื่อปกครองตนเอง และบางทีอาจบานปลายและก้าวข้ามไปสู่รูปแบบการก่อความไม่สงบโดยมุ่งเน้นมวลชน (mass-oriented insurgency) เป็นการสร้างความขัดแย้งที่ยาวนานกับฝ่ายรัฐ โดยมีการจัดตั้งองค์กรมวลชนจากประชาชนส่วนใหญ่ ให้สนับสนุนการดำเนินงานของกลุ่มก่อความไม่สงบ ตัวอย่างของการก่อความไม่สงบรูปแบบนี้ได้แก่ สงครามปฏิวัติในจีน สถานการณ์เหล่านี้อาจมีวาระซ่อนเร้น (hidden agenda) ของผู้ที่แอบอ้างและชี้นำอยู่มากกมายหลากหลายกลุ่มผลประโยชน์ สิทธิในการไม่เชื่อฟังรัฐของประชาชนในรูปอารยะขัดขืน (civil disobedience) อันถือเป็นสันติวิธีในการต่อสู้หรือเรียกร้อง (peaceful demonstrate/protest) นั้นไม่อาจปรากฏขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่อาจมีเสียงเพรียกอื่นใดนอกจากความมั่นคงแห่งรัฐที่ทับซ้อนและกำกับไว้ นำมาสู่พฤติกรรมที่แสดงออกโต้ตอบกันไปมาจนเกิดเกลียวแห่งความขัดแย้ง (spiral of conflict) และถ้าไม่สามารถยุติวงจรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้ ก็จะนำไปสู่ความขัดแย้งแบบทำลายล้าง (destructive conflict) เพื่อการเอาชนะคะคานกัน

          ในพื้นที่ของการเคลื่อนไหวต่อรองอำนาจกับรัฐและเหตุประท้วงทางการเมืองที่ เกิดขึ้นมากมายในพื้นที่อื่นทั่วประเทศนั้น สามารถจัดการได้ด้วยอำนาจรัฐ โดยชุดความคิดของการยุติความขัดแย้งด้วยสันติวิธีและวิธีการแก้ปัญหาโดยใช้ หลักรัฐศาสตร์ นำหน้าวิธีการแก้ปัญหาด้วยการปราบปรามจลาจลและการแก้ปัญหาโดยใช้หลัก นิติศาสตร์ หากแต่ในพื้นที่ภาคใต้อาจต้องเปลี่ยนขอบเขตของความรู้ ความคิด ความสนใจสู่แนวทางใหม่ (new domain)

          ทางที่ควรใคร่พินิจคือสังคมต้องรับรู้ร่วมกันถึงความมีเอกภาพปรองดองกัน (สมานฉันท์) อันมาจากการที่คนไทยทั้งประเทศมีความคิดที่ต้องการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ด้วยการปลูกฝังในจิตใต้สำนึกของคนไทยทุกคน ในด้านการสร้างสังคมไทยให้เข้มแข็งเป็นสังคมแห่งความพอเพียง มีความเท่าเทียม มีการสื่อสารระหว่างภาครัฐกับประชาชนเพื่อสร้างสภาวะแวดล้อมแห่งความ สมานฉันท์ อันจะช่วยสะท้อนภาพของสังคมไทยให้สงบสุขได้อย่างยั่งยืน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net