Skip to main content
sharethis
Event Date
 
โครงการจัดเวทีเสวนา
วิพากษ์ประกาศโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 : บทพิสูจน์สิทธิชุมชน
องค์กรร่วมจัด
1. โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)
2. โครงการติดตามการเมืองภาคประชาชน คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
3. กลุ่มพลังไท
4. มูลนิธิบูรณะนิเวศ
5. คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)
6. มูลนิธินโยบายสุขภาวะ
7. เครือข่ายสิ่งแวดล้อมไทย
8. เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA)
9. สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
 ความเป็นมา
            เนื่องด้วยเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2552 กระทรวงอุตสาหกรรม  ได้ออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง โครงการหรือกิจกรรมเกี่ยวกับการอุตสาหกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ  โดยได้กำหนดประเภทโครงการหรือกิจกรรมจำนวน 8 กลุ่มประเภทโครงการ ให้เป็นโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ ตามมาตรา 67 วรรคสองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550
            โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้บัญญัติรับรองสิทธิของชุมชนให้สามารถมีส่วนร่วมกับรัฐในการปกป้องรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และมีสิทธิที่จะร่วมพิจารณาตัดสินใจเกี่ยวกับกรณีใดๆที่อาจมีผลกระทบกับวิถีชีวิตของตน ตามบทบัญญัติมาตรา 67 ว่า
   “ สิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการอนุรักษ์บำรุงรักษาและการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพและในการคุ้มครอง ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตน ย่อมได้รับความคุ้มครองตามความเหมาะสม
        การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพจะกระทำมิได้เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชนและจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อนรวมทั้งได้ให้องค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพและผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว
        สิทธิของชุมชนที่จะฟ้องหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจราชการส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอื่นของรัฐที่เป็นนิติบุคคลเพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัตินี้ย่อมได้รับความคุ้มครอง
            อนึ่งเมื่อพิจารณารายละเอียดประเภทโครงการตามประกาศดังกล่าว พบว่าโครงการขนาดใหญ่ซึ่งอาจมีผลกระทบรุนแรงที่กำลังมีแผนการลงทุนในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งมีปัญหาความขัดแย้งและมีการคัดค้านจากประชาชนในหลายพื้นที่ ทั้งในประเด็นเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ผลกระทบต่อชุมชน และความกังวลด้านผลกระทบทางสุขภาพ ซึ่งประชาชนในพื้นที่มีความประสงค์ให้โครงการต่างๆ ได้ปฏิบัติตามมาตรา 67 ให้ครบถ้วนก่อนที่จะได้รับอนุมัติ อนุญาตให้ประกอบกิจการ  แต่ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมฉบับนี้กลับไม่ครอบคลุมถึงโครงการเหล่านั้น ตัวอย่างเช่น โครงการโรงถลุงเหล็กในพื้นที่อำเภอบางสะพานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์  โครงการเหมืองแร่โปแตซ ในจังหวัดอุดรธานี โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่อำเภอหนองแซง จังหวัดสระบุรี  หรือโรงงานปิโตรเคมี หลายโรงงานในพื้นที่มาบตาพุด  หรือโครงการที่เคยปรากฏผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนอย่างรุนแรงมาแล้วดังเช่น เหมืองถ่านหินลิกไนต์ อ.แม่เมาะ จังหวัดลำปาง ทั้งที่กรณีเหล่านี้มีข้อมูลทางวิชาการที่แสดงให้เห็นว่าโครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อ  ชุมชน  สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ รวมถึงยังมีโครงการอีกจำนวนมากที่ประกาศฉบับนี้ไม่ครอบคลุมถึง
   ภายใต้สถานการณ์แนวโน้มการพัฒนาที่มุ่งเน้นในด้านส่งเสริมอุตสาหกรรม อันก่อให้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงในพื้นที่ต่าง ๆ ในขอบเขตทั่วประเทศ  ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมฉบับนี้นอกจากจะไม่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้ว  ยังเป็นสิ่งตอกย้ำที่ทำให้ประชาชนตั้งคำถามกับหน่วยงานรัฐและรัฐบาลว่า  ได้ใช้หลักเกณฑ์ใดมาพิจารณากำหนดว่าโครงการหรือกิจกรรมใดจะมีผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงหรือไม่รุนแรง และการกำหนดนี้เป็นไปเพื่อการคุ้มครองสิทธิของประชาชนและชุมชนตามเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญ  หรือเป็นไปเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับการลงทุนอุตสาหกรรมแต่เพียงด้านเดียว
            องค์กรร่วมจัดงานในครั้งนี้  ตระหนักถึงความสำคัญของการกำหนดประเภทโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ ตามมาตรา 67 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 อันเป็นกลไกสำคัญสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน จึงได้ร่วมกันจัดเวที “วิพากษ์ประกาศโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรง ตามรัฐธรรมนูญ         มาตรา 67 : บทพิสูจน์สิทธิชุมชน” ขึ้น โดยมุ่งหวังให้เป็นพื้นที่ในการสื่อสารต่อสาธารณะถึงเสียงสะท้อนปัญหาและความคิดเห็นจากผู้ที่อาจได้รับผลกระทบจากโครงการหรือกิจกรรมขนาดใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในพื้นที่ รวมถึงข้อเสนอแนะต่อการกำหนดหลักเกณฑ์ในการกำหนดโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ตามมาตรา 67 ที่เหมาะสม เป็นธรรม และมีส่วนร่วมจากชุมชน  อันเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง
       
วัตถุประสงค์
1. เพื่อเป็นพื้นที่สื่อสารต่อสาธารณะถึงเสียงสะท้อนปัญหาและความคิดเห็นจากผู้ที่อาจได้รับผลกระทบ  จากประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง โครงการหรือกิจกรรมเกี่ยวกับการอุตสาหกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้าน  คุณภาพสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ
2. เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสิทธิที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 จากการ
     ออกประกาศของกระทรวงอุตสาหกรรม
3.  เพื่อแลกเปลี่ยน มุมมอง ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการกำหนดประเภทโครงการหรือกิจกรรมที่
     อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงตามมาตรา 67
กลุ่มเป้าหมาย  จำนวน 50 คน ประกอบไปด้วย
1. ประชาชนในพื้นที่ที่มีแผนการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ที่ไม่ถูกประกาศให้เป็นโครงการรุนแรง
   ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม
2. นักพัฒนาเอกชน
3. นักวิชาการ
4. ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง
5. สื่อมวลชน
6. นักศึกษา และประชาชน ที่สนใจ
วัน เวลา
      วันที่  15 ตุลาคม 2552  เวลา 09.00 – 13.00 น.
สถานที่
      ห้องประชุมสมาคมนิสิตเก่ารัฐศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 2 อาคารเกษมอุทยานิน
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
1. ผู้ที่อาจได้รับผลกระทบ  จากประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง โครงการหรือกิจกรรมเกี่ยวกับการอุตสาหกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้าน  คุณภาพสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ สะท้อนปัญหาและความคิดเห็นสู่สาธารณะ
2. ผู้เข้าร่วมเวทีเข้าใจสถานการณ์ สภาพปัญหาและภาพความเป็นจริง ของประชาชนและชุมชน ที่อาจได้รับผลกระทบจากประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม
3. เกิดการแลกเปลี่ยน มุมมอง ข้อคิดเห็นและมีข้อเสนอแนะเพื่อนำไปสู่การกำหนดโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง อย่างมีส่วนร่วม เป็นแบบแผนทางวิชาการ และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 67 เป็นสำคัญต่อไป
 
 
  
กำหนดการเสวนาเรื่อง
“วิพากษ์ประกาศโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67  : บทพิสูจน์สิทธิชุมชน”
วันที่  15  ตุลาคม  2552
ห้องประชุมสมาคมนิสิตเก่ารัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 2 อาคารเกษมอุทยานิน 
 
08.30 – 09.00  น. ลงทะเบียน
09.00 – 10.15  น. โครงการรุนแรงฯ ที่ถูกมองข้ามจากประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม
                               โดยกลุ่มนักวิชาการด้านผลกระทบจากอุตสาหกรรม
1) ความรุนแรงและผลกระทบกรณีเหมืองใต้ดินและเหมืองทองคำ
    โดย : อาจารย์สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ สถาบันราชภัฎอุดรธานี
2) ความรุนแรงและผลกระทบกรณีอุตสาหกรรมการผลิตเหล็ก
     โดย : อาจารย์อาภา  หวังเกียรติ  มหาวิทยาลัยรังสิต
3) ความรุนแรงและผลกระทบกรณี  อุตสาหกรรมปิโตรเคมี
      โดย : นางสาวเพ็ญโฉม  แซ่ตั้ง  มูลนิธิบูรณะนิเวศ
4) ความรุนแรงและผลกระทบกรณีโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้า
       โดย : นางสาวธัญญาภรณ์ สุรภักดี  มูลนิธินโยบายสุขภาวะ
10.15 – 10.30  น. พักรับประทานอาหารว่าง
10.30 - 11.45  น.  เสียงสะท้อนจากชุมชน ที่ถูกมองข้ามจากประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม
                  1) โครงการโรงถลุงเหล็ก อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์
                       โดย  : นายสุพจน์  ส่งเสียง 
                         กลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ 
                  2) โครงการโรงไฟฟ้าหนองแซง  อ.หนองแซง จ.สระบุรี
                       โดย  : นายตี๋  ตรัยรัตนแสงมณี
                         เครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม  อ.หนองแซง จ.สระบุรี
                  3) การขยายอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุด
                        โดย  : นายสุทธิ  อัชฌาศัย
                        เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก
                  4) กรณีเหมืองทองพิจิตร
                      โดย : นางสื่อกัญญา  ธีระชาติดำรง
                        เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเหมืองทอง พิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก
                  5) กรณีเหมืองใต้ดินโปแตซ
                        โดย  : อยู่ระหว่างการติดต่อ
11.45 – 12.30  น. หลักเกณฑ์การกำหนดประเภทโครงการรุนแรง และกระบวนการใช้สิทธิของประชาชน
                  โดย คุณบัณฑูร  เศรษฐศิโรฒม์*
                          คุณสุรชัย  ตรงงาม  โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม
12.30– 13.00  น.  ผู้เข้าร่วมซักถามและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
                  ดำเนินรายการโดย ดร.ประภาส  ปิ่นตบแต่ง
                  อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 
หมายเหตุ * อยู่ระหว่างการติดต่อ 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net