Skip to main content
sharethis
Event Date

 

 
เทศกาลศิลปวัฒนธรรมธิเบต “จากหิมาลัยถึงเจ้าพระยา”
ครั้งแรกของการมาเยือนประเทศไทย
โดยคณะศิลปินและนักแสดงจากสถาบันศิลปะการแสดงธิเบต (TIPA)
เปิดการแสดงวันที่
5 – 10 มีนาคม 2553
รอบปกติ 19.00 น.
เสาร์-อาทิตย์ เพิ่มรอบ 14.30  น. (เว้นวันจันทร์)
สมทบทุนการแสดง 1,000 บาท/ที่นั่ง (ที่นั่งมีจำนวนจำกัด)
สอบถามรายละเอียดและสำรองที่นั่งได้ที่
กลุ่มดินสอสี โทร. 0-2623-2838-9
เสมสิกขาลัย โทร.0-2438-9331-2
 

 

นาวาง เท็นซิน หัวหน้านักดนตรีและนาฎศิลป์ จาก สถาบันศิลปะการแสดงธิเบต TIPA
 
 
นอร์บุ ซัมเพล อาร์ติสต์ประจำคณะ TIPA วาดลวดลายสำหรับประดับสถูปธิเบตที่จะตั้งหน้าหอศิลป์ กทม.
 
 
ระบำหน้ากาก
 
 
ระบำหมวกดำ
 
 
สีสันวัฒนธรรมธิเบต
 
 
นาฏศิลป์หลากชนเผ่าธิเบต
 
 
Sandmandala ศิลปะพุทธปรัชญาโดยพระธิเบต

 
 
 
            ธิเบต ได้ชื่อว่า เป็นดินแดนแห่งพุทธศาสนาที่ประดุจดังหลังคาโลก โอบล้อมด้วยเทือกเขาหิมาลัยอันยิ่งใหญ่   พุทธศาสนาธิเบต ทำให้คนทั่วโลกที่แสวงหาความสงบสุขทางจิตวิญญาณ พากันหลั่งไหลสู่เส้นทางสายศรัทธา มรรคาแห่งการน้อมนำจิตใจ ให้กับโลกและธรรมชาติ ในการเข้าถึงความดี ความงาม ความจริง ของโลกและชีวิต
 
            ธิเบต ยังเป็นดินแดนแห่งศิลปวัฒนธรรม อันน่าตื่นตาตื่นใจ ผสานพุทธปรัชญาอันลึกซึ้ง ความสุขทางจิตวิญญาน เข้ากับโลกของสุนทรียะ ผ่านบทสวด เสียงดนตรี การร่ายรำ ศิลปะภาพวาด และ ศิลปะแขนงต่างๆ อีกมากมาย
 
            ไม่ว่าจะเป็น ทังก้า (Thangka) ศิลปะภาพวาดชั้นสูงอันงดงามบนผืนผ้า เพื่อใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา และ บูชาแทนพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธิเบตกับมณฑลแห่งการตระหนักรู้ที่สร้างจากทรายสี  (Sand Mandala) ลวดลายอันสวยงามซึ่งใช้เวลานานนับเดือนในการสร้างสรรค์ แต่สุดท้ายจะถูกลบละลายหายไปกับสายลม อันเป็นปริศนาธรรมอันล้ำลึกของชีวิต
 
            TIPA – Tibetan Institute of Performing Arts หรือ สถาบันศิลปะการแสดงทิเบต จัดตั้งตามดำริขององค์ทาไลลามะที่ 14 ที่จะสืบสานสร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรมธิเบต เพื่อรักษาคุณค่าแห่งจิตวิญญาณของชนชาติธิเบต และ ของโลกไว้ ดังคำปาฐกถาขององค์ดาไลลามะ ที่ว่า
 
“วันนี้เรากำลังอยู่ในช่วงเวลาวิกฤต ชาติของเรามีวัฒนธรรมอันเก่าแก่ ที่เผชิญหน้ากับความเสี่ยงต่อการล่มสลายอยู่ในตอนนี้ เราจึงต้องการความช่วยเหลือจากทุกคน และ จากประชาคมนานาชาติ เพื่อปกป้องวัฒนธรรมของเรา วัฒนธรรมที่เป็นดั่งมรดกโลก การปกป้องวัฒนธรรมเก่าแก่ จึงไม่ใช่แค่หน้าที่ต่อชาติของตนเองเท่านั้น แต่ยังถือเป็นหน้าที่ต่อประชาคมโลกทั้งหมดด้วย”
 
            TIPA – Tibetan Institute of Performing Arts เป็นทั้งสถานศึกษา แหล่งรวมศิลปิน และ คณะนักแสดงมืออาชีพ ตั้งอยู่ที่เมืองธรรมศาลา ตอนเหนือของประเทศอินเดีย โดยเปิดการแสดงให้กับผู้เดินทางไปแสวงบุญ และ เข้าเฝ้าองค์ดาไลลามะ รวมทั้งเดินทางแสดงตามเมืองต่างๆ ทั้งในประเทศอินเดีย และ เอเชีย อเมริกา และ ยุโรป
 
            ในวาระครบรอบ 50 ปี แห่งการก่อตั้งสถาบัน คณะนักแสดงจาก TIPA – Tibetan Institute of Performing Arts เดินทางมาเยือนประเทศไทยเป็นครั้งแรก โดยนำการแสดงศิลปวัฒนธรรมชุดพิเศษ ซึ่งตระเวนแสดงมาแล้วกว่า 50 รอบ ในประเทศฮอลแลนด์ จัดแสดงใน เทศกาลศิลปวัฒนธรรมธิเบต “จากหิมาลัยถึงเจ้าพระยา” วันที่ 5 ถึง 10 ธันวาคม 2553 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร  ด้วยความร่วมมือของมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร หอศิลป์ตาดู และ กลุ่มดินสอสี ร่วมสนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
 
            “การแสดงศิลปวัฒนธรรมของ TIPA  เป็นการสื่อสารให้ผู้คนได้รู้จัก ได้เข้าใจความเป็นธิเบต ว่า ธิเบต คืออะไร  เป็นใคร  จากการแสดงส่วนใหญ่ที่ผ่านมา โดยเฉพาะฝั่งตะวันตก จะทึ่งและชื่นชมที่เราสามารถรักษาศิลปวัฒนธรรมอันเก่าแก่และมีคุณค่าทางจิตใจไว้ได้ สำหรับที่กรุงเทพมหานครเช่นกัน เราหวังว่าจะได้นำสารแห่งความสุขทางจิตวิญญาณ ผ่านการแสดงศิลปวัฒนธรรมจากธิเบตสู่คนไทย ภายหลังการแสดงจบลง ถ้ามีคนไทยหันมาสนใจเรื่องราวความเป็นไปของธิเบตมากขึ้น  นั่นถือเป็นผลสำเร็จที่ได้รับจากการแสดงศิลปวัฒนธรรมของเรา” นาวาง เท็นซิน หัวหน้านักดนตรี และ นาฏศิลป์ แห่งสถาบันศิลปะการแสดงธิเบต กล่าวถึงความตั้งใจของ TIPA กับการแสดงครั้งแรกในเมืองไทย
 
            นาวาง เกิดที่เมืองลาซา ประเทศธิเบต จนอายุได้ 13 ปี จึงเดินทางไปเรียนต่อที่ Tibetan Children Village school ในประเทศอินเดีย ก่อนที่จะเข้าศึกษากับสถาบัน TIPA ในด้านการเต้นรำ ร้องเพลง เล่นดนตรี ละคร โอเปร่า เป็นเวลากว่า 15 ปี จากนักแสดงรุ่นเยาว์จนเป็นปัจจุบันเป็นพี่ใหญ่ของคณะนักดนตรีและนาฏศิลป์ นอกจากนี้ นาวาง ยังทำหน้าที่ประพันธ์เพลง บันทึกเสียง รวมทั้งดำเนินการจัดสร้างห้องบันทึกเสียงของสถาบันที่เมืองธรรมศาลาด้วย
 
            “สำหรับการแสดงศิลปวัฒนธรรมธิเบตครั้งแรกในกรุงเทพมหานคร เราเตรียมการแสดงมาประมาณ 15 ชุด มีทั้งบทเพลง ดนตรี นาฏศิลป์ รวมถึงธิเบตโอเปร่า ด้วยคณะนักแสดงทั้งรุ่นใหญ่และรุ่นใหม่กว่า 20 ชีวิต” นาวาง ซึ่งเดินทางมาเตรียมการแสดงล่วงหน้าในเมืองไทย ให้รายละเอียดการแสดง
 
“ธิเบตประกอบไปด้วย 3 ภูมิภาคใหญ่ๆ แต่ละภาคมีภาษา ดนตรี บทเพลงพื้นเมือง และระบำชนเผ่า
แตกต่างกันไปมากมายเป็นร้อยๆ อย่าง ครั้งนี้ เราคัดสรรการแสดงมาให้ชมครบทุกภาคของธิเบต เพื่อแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิต ความเชื่อ และ วัฒนธรรมประเพณีของชนเผ่าที่นับวันกำลังถูกทำให้ลบเลือนไปในดินแดนแผ่นดินเกิด” 
 
ไม่ว่าจะเป็น Domey Therik ระบำแห่งความเบิกบานเพื่อต้อนรับปีใหม่ หรือ เฉลิมฉลองฤดูเก็บเกี่ยวที่มีลีลาสนุกสนาน ตอบโต้กันไปมาระหว่างชายหญิง kongpoi Dha lu จากจังหวัดกงโป ซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ เป็นพื้นที่ป่าเขียวชอุ่มชุ่มชื้นด้วยพืชพรรณไม้นานาชนิด นอกจากวิถีชีวิตที่แนบแน่นกับธรรมชาติแล้ว ชายชาวพื้นเมืองในแถบนี้ ยังมีชื่อเสียงด้านความสามารถในการยิงธนู ส่วนผู้หญิงมีชื่อในด้านความงาม บทเพลง
 
การแสดงชุด  Bod shar chok kyi Ralpa หรือ การเต้นรำของนักเดินทางพเนจร    ในเขตแคว้นคาม
ภาคตะวันออกของธิเบต กลุ่มนักดนตรีพเนจรผมหยิกยาวเดินทางจากหมู่บ้านหนึ่งไปหมู่บ้านหนึ่งเพื่อร้องเล่นเต้นรำ พวกเขามักจะร้องเพลงสรรเสริญมารปะซึ่งเป็นคุรุทางจิตวิญญาณผู้ยิ่งใหญ่กับเหล่าโยคีตันตระของธิเบตผู้มีชื่อเสียงและบรรลุธรรม เชื่อกันว่า เมื่อพวกเขาไปร้องเพลงและเต้นรำที่หมู่บ้านใด หมู่บ้านนั้นจะโชคดี
 
นอกจากระบำรื่นเริงของชนเผ่าต่างๆ แล้ว ยังมีนาฏลีลาที่สะท้อนศรัทธา ความเชื่อทางศาสนา  และ
พิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ เช่น ระบำหน้ากาก Shanakหรือ ระบำหมวกดำ มีจุดมุ่งหมายเพื่อขจัดอุปสรรคกีดขวางความสุข ซึ่งหมายถึงความเศร้าหมองและความไม่รู้ถึงสาเหตุแห่งทุกข์ที่อยู่ในตัวของแต่ละบุคคล เมื่อเริ่มการแสดง ผู้เต้นระบำหมวกดำจะหลั่งน้ำพระพุทธมนต์ถวายต่อลามะเทพเจ้า และ ธรรมะปาละ ผู้รักษาสัจธรรม ในศาสนาแบบธิเบตนั้น ธรรมะปาละกับมิตรสหาย มักปรากฏกายด้วยท่าทางโกรธเกรี้ยว เพื่อกำราบจิดใจของปุถุชนที่อ่อนแอ เพราะโทสะ โลภะ โมหะ
 
รวมถึง ระบำเทพเจ้ากวาง Stag Danceแสดงถึงเทพเจ้าที่สามารถเคลื่อนไหวจนทำให้เกิดพลังรุนแรงเพื่อให้กิเลสอ่อนแรงลง จนเกิดการพัฒนาทางจิตวิญญาน ระบำชนิดนี้มีสี่ขั้นตอน ได้แก่การอัญเชิญพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ การถวายบูชา การแสดงการเคลื่อนไหวอย่างรุนแรงเพื่อเอาชนะอุปสรรค และการภาวนาให้พระพุทธเจ้าและพระโพธิ์สัตว์เสด็จกลับสู่ที่ประทับ ระบำเทพเจ้ากวางได้รับความนิยมในธิเบต มากเพราะเชื่อกันว่าเทพผู้มีเศียรเป็นกวางคือผู้ปกปักรักษาที่ยิ่งใหญ่
 
            การแสดงที่พิเศษมากอีกสองชุด จะเกี่ยวเนื่องกับ Traditional Tibet Opera ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของ ธิเบต นอกจาก TIPA แล้ว ยังมีคณะแสดงโอเปร่ากระจายอยู่ทั่วไป ในช่วงเดือนมีนาคมของทุกปี จะมีเทศกาลธิเบตโอเปร่า ที่แต่ละกลุ่มจะมาร่วมกันแสดงที่เมืองธรรมศาลา เพื่อเป็นการอนุรักษ์ไว้ให้มีสืบต่อไปเรื่อยๆ  เป็นเทศกาลที่สำคัญมาก ท่านดาไลลามะจะเสด็จมาชมด้วย อยู่กันตั้งแต่เช้ายันเย็น สิบกว่าวัน ในแต่ละวันจะเล่นโอเปร่าเรื่องหนึ่ง วันหนึ่งไปเลย นาวาง เล่าถึงการแสดงธิเบตที่คนไทยจะได้รับชมเป็นครั้งแรก
 
การแสดงชุดแรกคือYak Dance ระบำจามรี  ตัดมาจากโอเปร่าเก่าแก่เรื่องหนึ่งของธิเบต     จามรี
เป็นสัตว์พื้นเมืองที่สำคัญของธิเบต  ระบำชุดนี้ ทำให้เห็นภาพวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชนเร่ร่อนที่ต้องต้อนจามรีไปในที่ต่างๆ   ส่วนการแสดงอีกชุด ได้แก่ Ngonpa – Rigna เป็นการแสดงประเพณี ที่ใช้แสดงก่อนการแสดงโอเปร่าของทุกคณะ ทุกครั้งที่มีการแสดงธิเบตโอเปร่า จะต้องขับร้องบทเพลงพร้อมระบำชุดนี้เสมอ “
 
            การแสดง Ngonpa – Rigna เสมือนการแสดงเปิดม่านเพื่อปัดเป่ามลทินออกจากเวทีการแสดงโอเปร่า ตัวละครสวมหน้ากากคือกลุ่มคนที่เป็นสัญลักษณ์ของพระวัชราปาณีโพธิสัตว์ กลุ่มเด็กสาว สวมมุงกุฎปักดิ้นพร้อมกับมีกุหลาบดอกโตทัดหูคือสัญลักษณ์ของเทพบุตรเทพธิดา ตอนสุดท้ายของการแสดงระบำ ทุกคนบนเวทีจะขว้าง tsampa หรือ ก้อนแป้งทำจากข้าวบาร์เลย์ที่อยู่ในมือขึ้นไปในอากาศ เพื่อสักการะแด่พระโพธิสัตว์และเทพเจ้าเพื่อสันติสุขและความเจริญของสัตว์โลก
 
            นอกจากนาฏศิลป์อันน่าตื่นตาตื่นใจของหลากชนเผ่าจากดินแดนหลังคาโลก ถ่ายทอดจิตวิญญาณธิเบต ผ่านบทสวดภาวนา การร่ายรำแห่งจิตวิญญาณ และ พิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ ดื่มด่ำกับบทเพลงพื้นเมือง เครื่องดนตรีพื้นบ้าน และ การแสดงธิเบตโอเปร่าแล้ว บริเวณจัดงานยังมีนิทรรศการศิลปะ สุนทรียะอันลึกซึ้งด้วยพุทธปรัชญาธิเบต เช่น Sand Mandala มณฑลแห่งการตรัสรู้จากทรายหลากสี และ Butter Sculpturesเครื่องสักการะจากเนยแกะสลัก โดยฝีมือพระธิเบต ศิลปะภาพเขียนทังก้า Thangka อันวิจิตรพิสดาร ถวายบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นิทรรศการภาพถ่าย หนังสือ และ ของที่ระลึกธิเบตอีกมากมาย
 
            เทศกาลศิลปวัฒนธรรมธิเบต “จากหิมาลัยถึงเจ้าพระยา” ครั้งแรกของการมาเยือนประเทศไทย โดยคณะศิลปินและนักแสดงจากสถาบันศิลปะการแสดงธิเบต (TIPA) เปิดการแสดงวันที่ 5 – 10 มีนาคม 2553 รอบปกติ 19.00 น. เสาร์-อาทิตย์ เพิ่มรอบ 14.30  น. (เว้นวันจันทร์) สมทบทุนการแสดง 1,000 บาท/ที่นั่ง (ที่นั่งมีจำนวนจำกัด) สอบถามรายละเอียดและสำรองที่นั่งได้ที่ กลุ่มดินสอสี โทร. 0-2623-2838-9 เสมสิกขาลัย โทร.0-2438-9331-2
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net