Skip to main content
sharethis
Event Date

 

โครงการเสวนา ชื่อนั้นสำคัญฉะนี้ “เมืองตื๋นนันทบุรี” VS “นันทบุรีศรีนครน่าน”

ณ ศูนย์สร้างสรรค์เมืองเชียงใหม่ 
วันพุธที่ 12 ธันวาคม 2555
เวลา 17.30-19.30 น.


หลักการและเหตุผล

ตามที่องค์การบริหารส่วนตำบลแม่ตื๋น และองค์การบริหารส่วนตำบลม่อนจอง อำเภออมก๋อย มีความประสงค์จะจัดตั้งอำเภอแห่งใหม่เป็นกรณีพิเศษ โดยใช้ชื่ออำเภอนันทบุรีนั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาประวัติศาสตร์ความเป็นมาของเรื่องชื่อบ้านนามเมืองในอดีตอย่างลึกซึ้ง เพื่อมิให้ซ้ำซ้อนกับชื่อของเมืองน่าน ซึ่งมีนามเต็มว่า “นันทบุรีศรีนครน่าน” 

เมืองตื๋น ยังไม่มีการสืบค้นหลักฐานทางด้านโบราณคดี สถาปัตยกรรม และศิลปกรรม ในทุกมิติต่างๆ อย่างเป็นกระบวนการ ดังนั้นในวันที่ 7-8 ธันวาคมนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ได้มอบหมายให้คณะนักวิชาการกลุ่มหนึ่งลงพื้นที่ศึกษาประวัติศาสตร์เมืองตื๋น เพื่อนำมาประมวลรวบรวมใช้ประกอบเป็นข้อมูลที่น่าเชื่อถือสำหรับการจัดตั้งอำเภอต่อไป 

อนึ่ง เมื่อราวปี พ.ศ. 2540 สำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง เคยลงพื้นที่ศึกษาขุดค้นพบโครงกระดูกบนสันเขาที่เมืองตื๋น พบซากป่าช้าลัวะ มีร่องรอยของเครื่องถ้วยจีน เครื่ืองถ้วยเขมร เครื่องถ้วยหริภุญไชย ชามสังคโลกของสุโขทัย และเครื่องถ้วยเวียงกาหลง สันกำแพงของล้านนา แสดงถึงความเป็นเมืองหน้าด่านทางการค้าที่สืบเนื่องต่อกันมาจากอดีตจนถึงยุคสมัยหนึ่ง ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะนำมาเปิดเผยในวันเสวนา

วัตถุประสงค์

1. เพื่อเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้อง ที่ได้จากการถอดความปริวรรตหลักฐานจากเอกสารชั้นต้นที่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษร ตามที่มีการอ้างระบุถึงชื่อบ้านนามเมืองในอดีตของเมืองตื๋นนันทบุรี จากคัมภีร์ใบลาน วัดพระธาตุธาตุจอมแจ้ง ต.ม่อนจอง รวมถึงอักขระจารึกอื่นๆ ในเมืองตื๋น (หากมีการค้นพบ) เนื่องจากเป็นระยะเวลานานมาแล้วที่ยังไม่มีการปริวรรตคัมภีร์ใบลานดังกล่าว ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ

2.เพิื่อสืบค้นวิจัยประวัติศาสตร์เมืองตื๋น จากหลักฐานด้านโบราณคดีมิติอื่นๆ ให้ครอบคลุมทั้งด้านหลุมศพโครงกระดูกในป่าช้าลัวะ ประติมากรรม จิตรกรรม สถาปัตยกรรม และศิลปกรรมแขนงต่างๆ ที่สันนิษฐานว่าน่าจะมีความเก่าแก่ตั้งแต่ยุคหริภุญไชย ยุคล้านนา จนถึงยุคปัจจุบัน ในฐานะที่เมืองตื๋นเคยเป็นเมืองหน้าด่านการค้าชายแดน และการสงคราม มาอย่างต่อเนื่อง
 
3.เพื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบข้อมูลของคำว่า “นันทบุรี” ที่มีการใช้ในตำนานเมืองตื๋น กับหลักฐานของฝ่ายเมืองน่าน ซึ่งมีชื่อเมืองเป็นที่รู้จักกันว่า “นันทบุรีศรีนครน่าน” ว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างไรหรือไม่

4.เพื่อนำข้อมูลจากเวทีแลกเปลี่ยนเสวนาทางวิชาการที่ ศูนย์สร้างสรรค์เมืองเชียงใหม่ ในวันที่ 12 ธันวาคม 2555 จากนานาทรรศนะ นำมาประมวลเป็นหลักฐานประกอบการจัดตั้งอำเภอแห่งใหม่ให้แก่จังหวัดเชียงใหม่ต่อไป

คณะวิทยากรประกอบด้วย

1.ดร. เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ กรรมการบริหารสถาบันอาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏ เชียงใหม่ และคอลัมนิสต์ “ปริศนาโบราณคดี” ในมติชนสุดสัปดาห์ ผู้ประสานงาน และเปิดประเด็นเรื่อง “เมืองตื๋นนันทบุรี” ที่ไปพ้องกับชื่อ “นันทบุรีศรีนครน่าน” 

2.อ.สุรชัย จงจิตงาม ภาควิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จะเปิดประเด็นเรื่องสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมเมืองตื๋น ข้อมูลใหม่ที่ใครยังไม่รู้จัก

3.อ.ภูเดช แสนสา ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ จะเปิดประเด็นเรื่องประวัติศาสตร์เมืองตื๋นและประวัติศาสตร์เมืองน่าน มีสายสัมพันธ์กันอย่างไร ทำไมต่างก็มีคำว่า “นันทบุรี” 

4.อ.เกริก อัครชิโนเรศ นักจารึกวิทยา นักภาษาโบราณ ที่ปรึกษาสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

5.อ.ชัปนะ ปิ่นเงิน นักจารึกวิทยา นักภาษาโบราณ ที่ปรึกษาสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อดีตนักวิจัยของสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทั้งสองท่านนี้ จะนำข้อมูลที่ถูกต้อง ที่ได้จากการปริวรรตคัมภีร์ใบลานวัดพระธาตุจอมแจ้้งมานำเสนอแก่ผู้ฟังอย่างละเอียดว่ามีคำว่า “นันทบุรี” ปรากฏอยู่จริงหรือไม่

6. ศ.ดร. ธเนศวร์ เจริญเมือง ผู้บริหารศูนย์สร้างสรรค์เมืองเชียงใหม่ จะตั้งคำถามเรื่องชื่อบ้านนามเมือง ยก กรณีอุทาหรณ์ของอำเภอ “วัดจันทร์-กัลยาณิวัฒนา” หรืออื่นๆ มาเปรียบเทียบ

กลุ่มเป้าหมาย

ปราชญ์ผู้รู้ในท้องถิ่น พระสงฆ์ นักวิชาการ นักการเมือง นักการศึกษา นักขับเคลื่อนทางวัฒนธรรม สื่อมวลชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา จำนวนประมาณ 100-120 คน

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

1.สร้างความเข้าใจให้แก่สาธารณชน ให้เกิดความกระจ่างชัดถึงเรื่องความซ้ำซ้อนของการเขียนชื่อบ้านนามเมือง ระหว่างคำว่า “เมืองตื๋นนันทบุรี” และ “นันทบุรีศรีนครน่าน” อันเป็นการลดแรงเสียดทานการต่อต้านและความเข้าใจผิดของคนล้านนาด้วยกันเอง

2.ผู้เข้าร่วมฟังการเสวนา ได้รับรู้ความเคลื่อนไหวเรื่องการจัดตั้งอำเภอแห่งใหม่ลำดับที่ 26 ของเชียงใหม่ จักได้เป็นแนวร่วมในการผลักดันให้บรรลุเป้าประสงค์โดยเร็วขึ้น

3.ฝ่ายปกครองเชียงใหม่ และองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ตื่น-ม่อนจอง ได้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของเมืองตื๋นนันทบุรีในเชิงลึกทุกๆ ด้าน อันเป็นข้อมูลเชิงวิชาการที่ลุมลึกมากกว่าข้อมูลเดิมที่เคยมี จากการศึกษาวิจัยของนักวิชาการในทุกๆ มิติ เพื่อนำไปใช้ประกอบการตั้งเรื่องขอแยกเป็นอำเภอแห่งใหม่ เป็นการเพิ่มน้ำหนักให้ดูมีภาษีมากยิ่งขึ้น 
 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม /สำรองที่นั่งฟรีล่วงหน้า กรณีมาเป็นหมู่คณะโปรดแจ้งจำนวน
เบอร์โทรศัพท์ 053 326560
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net