ภาพยนตร์สนทนา [นิรโทษกรรม จำเลยคดี 6 ตุลา]

Event Date: 
Saturday, 25 February, 2017 - 14:00

เสาร์ที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ หอภาพยนตร์ขอเชิญทุกท่านมาร่วมย้อนเวลากลับไปเรียนรู้ความทรงจำและส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองไทยผ่านมรดกภาพยนตร์เรื่อง [นิรโทษกรรม จำเลยคดี ๖ ตุลา]พร้อมพูดคุยกับ สุธรรม แสงประทุม และ ศ.ดร. สุรชาติ บำรุงสุข ผู้อยู่ร่วมในเหตุการณ์  และ รัศมี เผ่าเหลืองทอง หนึ่งในคณะกรรมการขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๙ ในกิจกรรมภาพยนตร์สนทนา [นิรโทษกรรม จำเลยคดี ๖ ตุลา] ตั้งแต่เวลา ๑๔.๐๐ น. เป็นต้นไป ณ โรงภาพยนตร์ศรีศาลายา ดำเนินรายการโดย ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเข้าชมแต่อย่างใด สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ๐๒ ๔๘๒ ๒๐๑๓ – ๑๔

ข้อมูลภาพยนตร์ [นิรโทษกรรม จำเลยคดี ๖ ตุลา]

เมื่อวันอนุรักษ์ภาพยนตร์ไทย วันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๕๙ หอภาพยนตร์ได้ประกาศรายชื่อภาพยนตร์จำนวน ๒๕ เรื่อง ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติ โดยหนึ่งในภาพยนตร์ที่ได้รับความสนใจมากที่สุดเรื่องหนึ่งในบรรดารายชื่อทั้งหมด คือ ภาพยนตร์บันทึกเหตุการณ์เรื่อง [นิรโทษกรรม จำเลยคดี ๖ ตุลา]  ซึ่งเป็นหนึ่งในวีดิทัศน์ภาพยนตร์ประกอบหนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรีคนที่ ๑๕ ของประเทศไทย

เฉพาะวีดิทัศน์ภาพยนตร์แผ่นนี้ เป็นการรวบรวมภารกิจของอดีตนายกรัฐมนตรีท่านนี้ ในกรณีการเสนอพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างวันที่ ๔ ถึงวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ซึ่งเป็นเหตุการณ์การนองเลือดทางการเมืองครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ไทย

ส่วนสำคัญของภาพยนตร์ คือการแสดงให้เห็นเหตุการณ์ในวันที่จำเลยคดี ๖ ตุลาคม จำนวน ๑๙ คน เช่น นายสุธรรม แสงประทุม, นายประยูร อัครบวร, นายสุรชาติ บำรุงสุข, นายธงชัย วินิจจะกุล, นายวิโรจน์ ตั้งวาณิชย์, นางสาวสุชีลา ตันชัยนันท์,  นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, นายอภินันท์ บัวหภักดี  ฯลฯ ซึ่งได้รับอิสรภาพจากพระราชบัญญัตินี้ ได้รวมตัวกันเดินทางไปเยี่ยมคารวะแสดงความขอบคุณพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ที่บ้านพักย่านบางเขน และได้รับประทานอาหารร่วมกันอย่างเป็นกันเอง นอกจากนั้นยังถ่ายทอดให้เห็นการให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนของพลเอกเกรียงศักดิ์ที่กล่าวย้ำถึงสาเหตุในการเสนอพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมครั้งนี้ ว่าได้ทำตามพระราชปรารภ และไม่ต้องการหาเสียงใด ๆ รวมทั้งได้ให้โอวาทแก่คณะที่เข้าพบ ขอให้ลืมสิ่งที่ผ่านมา ให้ตั้งหน้าเรียนหนังสือต่อ และหวังว่าทุกคนจะมีส่วนสร้างความเจริญแก่บ้านเมืองต่อไป 

ภาพยนตร์นี้จึงมีค่าเป็นเอกสารสำคัญชิ้นหนึ่งของกรณีเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ในแง่มุมที่คนทั่วไปอาจไม่ค่อยได้รับรู้มากนัก ทั้งยังเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ที่มีชีวิตชีวาและสามารถพาผู้ชมให้เข้าไปอยู่ร่วมในเหตุการณ์ เพื่อรับรู้อารมณ์และความรู้สึกตรงหน้า อย่างที่ไม่อาจหาได้จากสื่ออื่นใด
  
หมายเหตุ ชื่อใน [..] หมายถึง ชื่อภาพยนตร์ที่หอภาพยนตร์ตั้งขึ้น เนื่องจากภาพยนตร์ดังกล่าวไม่มีหลักฐานทางชื่อเรื่อง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท