Skip to main content
sharethis
Event Date

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน  ขอเชิญสื่อมวลชนและผู้ที่สนใจร่วมฟังคำพิพากษาศาลฎีกา คดีต่อสู้เรื่องสิทธิในที่ดินทำกินและวิถีชีวิตของชุมชนชาติพันธุ์ปกาเกอญอบ้านแม่อมกิ วันพุธที่ 22 มีนาคม 2560 เวลา 9.00 น. ณ ศาลจังหวัดแม่สอด จังหวัดตาก

วันพุธที่ 22 มีนาคม 2560 เวลา 9.00 น. ณ ศาลจังหวัดแม่สอด จังหวัดตาก ขอเรียนเชิญสื่อมวลชนและผู้สนใจเข้าร่วมฟังคำพิพากษาศาลฎีกาคดีนางน่อเฮมุ้ยหรือหน่อเฮหมุ่ย เวียงวิชชา ชาวปกาเกอญอที่ถูกดำเนินคดีจากการทำไร่หมุนเวียนตามวิถีชุมชนดั้งเดิม

คดีนี้สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2551 เจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้จับกุมชาวปกาเกอญอกลุ่มหนึ่งในขณะกำลังทำไร่หมุนเวียนตามวิถีชุมชนดั้งเดิม ที่ตำบลแม่วะหลวง  อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ต่อมาในวันที่ 1 กันยายน 2551 พนักงานอัยการจังหวัดแม่สอดได้ส่งฟ้องผู้ต้องหา 2 คน ต่อศาลจังหวัดแม่สอด คือ นางน่อเฮหมุ่ย เวียงวิชชา และนายนายดิ๊แปะโพ ไม่มีชื่อสกุล โดยทั้งสองเป็นประชาชนในชุมชนแม่อมกิ ตำบลแม่วะหลวง อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ในความผิดต่อพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 และความผิดต่อพระราชบัญญัติป่าสงวน พ.ศ.2507

ในศาลชั้นต้น จำเลยทั้ง 2 คนรับสารภาพตามคำฟ้อง จึงไม่มีการสืบพยาน ศาลจึงตัดสินพิพากษาโดยคดีของนายดิ๊แปะโพให้ลงโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือนรับ สารภาพลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือจำคุก 1 ปี 3 เดือน สำหรับคดีของนางหน่อเฮหมุ่ยลงโทษจำคุก 2 ปีรับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือ 1 ปี ไม่มีการรอลงอาญา

อย่างไรก็ดี ภายหลังที่ทนายความได้ทราบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและเห็นว่าทั้งสองไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะจำเลยไม่มีทนายความให้ความช่วยเหลือ จำเลยไม่สามารถพูดภาษาไทยได้เลย แต่ล่ามที่มาแปลภาษาให้ไม่ได้สาบานตนต่อศาล การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีในศาลดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและรัฐธรรมนูญ ทนายความจึงยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลจังหวัดแม่สอดในวันที่ 29 ตุลาคม 2551

วันที่ 22 พฤษภาคม 2552 ศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีคำพิพากษาให้ยกคำพิพากษาของศาลจังหวัดแม่สอด โดยเห็นว่าการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นไม่ชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  เพราะล่ามแปล ปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ศาลอุทธรณ์จึงให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่โดยให้ล่ามปฎิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย

วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2553 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาใหม่ให้ยกฟ้อง โดยให้เห็นว่าจำเลยไม่ได้มีเจตนาบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ เนื่องจากจำเลยได้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมาก่อนแล้ว บริเวณข้างเคียงล้วนมีราษฎรคนอื่นเข้าทำประโยชน์อยู่ทั่วไป และมีการเข้ายึดถือก่อนที่ทางราชการจะกำหนดให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติ จำเลยเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยได้รับตกทอดมาจากบิดามารดาเข้าใจได้ว่ารัฐอนุโลมผ่อนผันให้ราษฎรที่ทำประโยชน์อยู่ก่อนแล้วได้ทำประโยชน์ต่อไป เป็นการขาดเจตนา การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง จึงพิพากษาให้ยกฟ้อง

หลังมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้น พนักงานอัยการได้อุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ ต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาในคดีนางหน่อเฮหมุ่ยเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2554 โดยศาลเห็นว่าที่เกิดเหตุเป็นพื้นที่ทำไร่หมุนเวียนจริง ดังนั้นเมื่อได้ข้อเท็จจริงว่าจำเลยเป็นชาวเขาเผ่ากระเหรี่ยง มีวิถีชีวิตการทำไร่หมุนเวียน ไม่สามารถพูดอ่านและเข้าใจภาษาไทยได้ และได้เข้าทำประโยชน์มาก่อนแล้ว ทำให้จำเลยเข้าใจว่าสามารถเข้าทำประโยชน์ได้เหมือนที่เคยทำมาก่อน จึงเป็นการขาดเจตนา ย่อมไม่เป็นความผิดตามฟ้อง แต่อย่างไรก็ดี ศาลเห็นว่าที่เกิดเหตุอยู่ในเขตป่าสงวน แม้การกระทำของจำเลยจะขาดเจตนา แต่ก็ไม่มีสิทธิที่จะเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่เกิดเหตุได้ ดังนั้นจำเลยจึงต้องออกจากป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุ

คดีนี้มีประเด็นที่สำคัญในการต่อสู้คดี คือเรื่องสิทธิในที่ดินทำกินตามวิถีเกษตรแบบไร่หมุนเวียนและสิทธิชุมชนของชาติพันธุ์ชาวปกาเกอญอ ซึ่งแม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จะมีคำพิพากษาว่าจำเลยไม่มีความผิด เพราะขาดเจตนา แต่ศาลก็ยังไม่ถึงกับยอมรับวิถีชีวิตและสิทธิของชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอญอที่ดำรงชีวิตอยู่กับป่าด้วยการทำเกษตรแบบไร่หมุนเวียนมาอย่างยาวนานก่อนประกาศป่าสงวนแห่งชาติก็ตาม

ดังนั้น คำพิพากษาของศาลฎีกาในคดีนี้ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการวางบรรทัดฐานเรื่องสิทธิในที่ดินและสิทธิชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ดำรงวิถีชีวิตอยู่กับป่า

 

รายละเอียดเพิ่มเติม:

http://naksit.net/th/?page_id=224

ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ: สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน 02-275 3954

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net