Prachatai Eyes View: 9 ปี งานวันเด็กไร้สัญชาติ การเดินทางไกล ของ(อคติ)ชาติพันธุ์

(Backup) Prachatai Eyes View: 9 ปี งานวันเด็กไร้สัญชาติ การเดินทางไกล ของ(อคติ)ชาติพันธุ์ - 2011

ผู้จุดไฟ 9 ปี งานวันเด็กไร้สัญชาติ พี่หลวง สันติพงษ์ มูลฟอง กล่าวถึงความคิด “การจัดงานแต่ละปีเหมือนทำประชดประชันอะไรบางอย่าง ถ้าไม่จำเป็นคงจะไม่จัดงานนี้อีกต่อไปนั่นหมายความว่า เด็กทุกคนในแผ่นดินต้องมีสถานะและสัญชาติที่ถูกต้อง” เขากล่าว รอยยิ้มของชายหนุ่มเป็นดั่งแสงสว่างเรืองแก่เด็กชายขอบ ชาติพันธุ์นานาริมฝั่งแม่น้ำสาละวิน เขาเห็นว่า เมื่อโลกมาถึงยุคไร้พรมแดน ทำไม รัฐและสัญชาติจะไร้พรมแดนบ้างไม่ได้ !!! พรมแดนอันเกิดจากอคติที่มนุษย์มองมนุษย์ รางวัล 40 ปี มูลนิธิโกมลคีมทอง(2554)และพลเมืองคนกล้า(2552) ถือเป็นอีกหนึ่งบทสะท้อนของ ‘ความกล้า’ เขาได้รับการบันทึกว่าเป็นนักสู้เพื่อคนไร้สัญชาติและเป็น ‘อ้ายหลวง’ สำหรับเด็กๆ ในศูนย์พัฒนาเครือข่ายเด็กและชุมชน จากจุดเริ่มต้น ยาวนานถึง 9 ปี งานวันเด็กไร้สัญชาติได้รับการตอบรับ ยอมรับจากเครือข่ายประชาชนและสื่อมวลชน แม้จะเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนักแต่หากไม่มีลมมรสุม เราคงหานักเดินเรือที่เชี่ยวชาญได้ยาก พี่หลวงเริ่มงานของเขาด้วยความคิด ชาวบ้านจากบ้านท่าเรือ 34 คน ถูกจับกุมทุกครั้งที่พวกเขาออกนอกเขตหมู่บ้าน เขาให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า “ชาวบ้านล่องเรือมาแม่เงาเพื่อซื้อยาและข้าวสาร แย่ที่สุด คือ ผู้หญิงบางคนถูกจับขณะกำลังให้นมลูก” บ้านท่าเรือเป็นหมู่บ้านชาวกระเหรี่ยง พวกเขาข้ามจากฝั่งพม่าเข้ามารับจ้างขุดเหมืองแร่ในเขตอำเภอสบเมย- -นั่งเรือหางยาวจากแม่น้ำเงา บริเวณสะพานเขตรอยต่อจังหวัดแม่ฮ่องสอนและจังหวัดตาก กินเวลาไม่เกิน 45 นาที ชาวบ้านที่นั่นกว่า 21 ครัวเรือนไร้สัญชาติและเจ้าหน้าที่รัฐเชื่อว่า บ้านท่าเรือเป็นจุดพักฝิ่น พวกเขาถูกจับกุมด้วยเหตุผลนั้น- -นับเป็นจุดเริ่มต้น งานวันเด็กไร้สัญชาติของศูนย์พัฒนาเครือข่ายเด็กและชุมชน “พวกเขาไม่มีเจตนาหลบหนีหรือลอบเข้าเมืองแต่ถูกจับเพราะความคิดเรื่องความมั่นคงซึ่งไม่ใช่ทางออก การจัดระบบทะเบียนประวัติชุมชนและมอบสิทธิพื้นฐานในการเดินทางและอยู่อาศัยต่างหากที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้” ให้พวกเขาได้เป็นส่วนหนึ่งของเรา พี่หลวงเริ่มต้นงานความคิดอย่างจริงจังและยาวนาน ณ.บางจุด สิ่งเล็กๆ ได้ถือกำเนิด 18 มกราคม 2546 งานวันเด็กไร้สัญชาติ ครั้งที่1 ณ.บ้านท่าเรือ ต.สบเมย อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน บนเรือหางยาว 2 ลำ ทะยานฝ่าลำน้ำเงามุ่งสู่บ้านท่าเรือ- -ข้าวของเท่าที่รวบรวมได้จากเครือข่ายฯ จำพวก ไฟฉาย มุ้ง สบู่ ยาสีฟัน แชมพู เทียนไข ชุดยาสามัญประจำบ้าน ผ้าห่ม เสื้อกันหนาว- -ข้าวของเหล่านี้ คือ ของขวัญวันเด็ก ไม่มากไปกว่านี้ เท่าที่จำเป็นและหาได้- -เกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มทำงานด้านสัญชาติในและนอกพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อให้งานวันเด็กทุกสัปดาห์ที่สองของปีมีค่าสำหรับคนอีกกลุ่ม- -คนนอกรัฐ บ้านท่าเรือ หมู่บ้านชายแดน รอยต่อระหว่างแม่น้ำเงาและแม่น้ำเมย ชาวกระเหรี่ยงจากฝั่งพม่าข้ามมารับจ้างทำเหมืองแร่ในอำเภอสบเมย ต่อมา เมื่อปิดเหมือง พวกเขาลงมือทำเรือกสวนไร่นา ตั้งถิ่นฐาน (2504-2507) จนปัจจุบัน มากกว่า 30 ปี ชาวบ้านกว่า 96 คน 21 ครัวเรือน พูดภาษาไทย- -เด็กๆ เกิดและเติบโตในแผ่นดินไทย หม่องละ (พ่อของมึดา นาวานาถ) ยอมรับอย่างเปิดเผย เขาเป็นหนึ่งในจำนวนนั้นที่ข้ามฝั่งมารับจ้างทำเหมืองแค่เรือวิ่งผ่านหมู่บ้าน ชาวบ้านจะพากันหลบซ่อนตามสุมทุมพุ่มไม้ด้วยความหวาดผวา ถึงแม้ว่า เด็กๆ บางคนจะคลอดที่โรงพยาบาลแม่สะเรียงและมีบันทึกการคลอดแต่ทางอำเภอไม่ยินยอมออกสูติบัตร ผลจากการเป็นคนไร้รัฐและสายตาของความไม่ไว้วางใจ ปัจจุบัน บ้านท่าเรือ หมู่8 ได้รับการสำรวจและอยู่ระหว่างการยื่นขอสถานะบุคคลตามกฎหมาย หนึ่งในตัวละครของคนไร้รัฐ มึดา นาวานาถ ในวัย 24 ปี หญิงสาวเป็นที่รู้จัก- -เพราะความมุ่งมั่นในความคิดและคำพูด ยืนยันหนักแน่นถึงการเป็นคนไทยจนได้รับทุนระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยพายัพ จ.เชียงใหม่ มึดาเลือกคณะนิติศาสตร์- -งานด้านกฎหมายเพื่อช่วยเหลือเพื่อนพี่น้องที่ไม่ถูกรับรองสัญชาติจากรัฐ หญิงสาวใช้ตัวเองเป็นแรงผลักเพื่อคนไร้สัญชาติ 3 กันยายน 2551- -มึดา นาวานาถ ได้รับสัญชาติไทย เธอใช้เวลามากกว่า 10 ปี ในการให้สัญชาติตัวเองกับที่ปรึกษาทางด้านกฎหมายอีกหลายคนที่หญิงสาวติดปากเรียกพวกเขาว่า ‘ผู้ใหญ่ใจดี’- -คือ เด็กไร้สัญชาติคนแรกในอำเภอสบเมยที่ได้บัตรประชาชนตามมาตรา 23 ในสายตาของคนส่วนใหญ่ บัตรที่มีเลข 13 หลัก ไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวลใจ มึดาเข้าใจถึงการเป็นคนไร้รัฐได้เป็นอย่างดี เธอกล่าวว่า “การไร้สัญชาติทำให้เราขาดไร้ซึ่งสิทธิขั้นพื้นฐานและการมีส่วนร่วมในรัฐหรือการรักษาพยาบาล เรียกว่า เป็นพลเมืองชั้นสอง ถึงวันนี้ หนูคิดว่า สังคมรู้ดีว่ามีเด็กจำนวนมากที่ไม่มีสัญชาติ รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับเด็กไร้สัญชาติ รับรู้ความรู้สึกว่า เด็กไร้สัญชาติคิดอย่างไร ถูกเรียกว่า พวกต่างด้าวหรือพวกพม่า พวกถ่วงความเจริญหรือขยะของสังคม พูดไม่ออก ‘เรา’ คือ ขยะของสังคมจริงหรือ หนูผิดใช่ไหม” แม้แต่บัตรเขียวขอบแดง มึดายังใช้เวลากว่า 4 ปี- -ในนั้นระบุว่า หญิงสาวเป็นเผ่าพม่า ทั้งที่เธอพูดภาษาพม่าไม่ได้สักคำ- -ระหว่างเรียนอยู่ที่เชียงใหม่ เธอต้องไป-กลับ เชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน เพื่อต่ออายุบัตรสำหรับการเดินทางออกนอกพื้นที่ทุก 6 เดือน- -มากกว่านั้น เมื่อบิดาของเธอป่วยด้วยโรคมะเร็ง- -เขา ไม่อาจเข้าสู่ระบบสวัสดิการรัฐเพื่อรับการรักษาพยาบาลและเสียชีวิตในเวลาต่อมา ไม่มีเหตุผลมากไปกว่านั้น วันนี้ หญิงสาวอาสาเป็นนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนของมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม- -ให้ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนแก่คนไร้รัฐในจังหวัดแม่ฮ่องสอนและรวมกลุ่มนักเรียนกฎหมายในนามกลุ่มหัวรถไฟเพื่อทำกิจกรรมให้ความรู้และสร้างสำนึกทางกฎหมายแก่นักกฎหมายและคนไร้รัฐ มึดาไม่ได้ต่อต้านรัฐ เธอต้องการสิทธิพื้นฐานของความเป็นคนในฐานะพลเมืองไทย 8-9 มกราคม 2547 งานวันเด็กไร้สัญชาติ ครั้งที่2 ณ.ชายหาดสาละวิน บ้านแม่สามแลบ ต.แม่สามแลบ อ.สบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน “อนาคตจะเป็นอย่างไร ถ้าเด็กไทยยังไร้สัญชาติ” เป็นหัวข้อใหญ่ในการจัดงานเชิงรณรงค์ ครั้งที่ 2 ของศูนย์พัฒนาเด็กและชุมชนซึ่งได้รับการตอบรับจากเครือข่ายประชาชน-สื่อมวลชน พร้อมกับ ข้อเสนอ ทำงานเชิงนโยบายคู่ขนาน ประเด็นใหญ่ คือ การทำงานร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ เช่น นายอำเภอและเจ้าหน้าที่ทะเบียน (2547)- -มึดาและกลุ่มเด็กไร้สัญชาติไปยื่นหนังสือขอสัญชาติจากรัฐบาล หน้าทำเนียบฯ ประเด็นหลักที่พวกเธอร้องขอกลับได้รับการตอบรับด้วยการเดินหนีของนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เหตุการณ์ถูกบันทึกไว้ในความทรงจำ “วันนั้น เด็กไร้สัญชาติกว่า 50 คน จากหลายจังหวัด เช่น พะเยา เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ประจวบคีรีขันธ์ ในนามเครือข่ายเด็กและเยาวชนชาวเขาสัมพันธ์นัดชุมนุมกันหน้าทำเนียบรัฐบาลขอพบนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร(2547)” เชื่อไม๊ว่า เด็กบางคนไม่รู้ว่ามีวันเด็ก หญิงสาวกล่าว ห้วงเวลานั้น เหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้เพิ่งคุกรุ่น นายกฯ เชิญเด็กจากภาคใต้เข้าทำเนียบ “เราอยากเล่าเรื่องของเราบ้าง” มึดาเล่า เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย(ตำรวจ)เข้ามากันเราเอาไว้ หนึ่งในนั้น บอกเราว่า นายกฯท่านจะออกมาพบเราเอง พวกเราถูกค้นด้วยเหตุผลด้านการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวด ทันทีที่นายกฯ เดินลงจากเวที ‘นายกฯพบเด็ก 3 จังหวัดชายแดนใต้’- -ท่านไม่ตรงมาหาเราแต่กลับเดินเข้าทำเนียบฯ ก่อนจะนั่งรถออกไป- -มึดาวิ่งตามรถแต่ถูกเจ้าหน้าที่ดันจนล้ม หญิงสาวร้องไห้- -ทำไม!! เธอตั้งคำถาม 7 ปี ของเหตุการณ์ คำถามถูกแปรเป็นพลัง 7-8 มกราคม 2548 งานวันเด็กไร้สัญชาติ ครั้งที่3 ณ.โรงเรียนบ้านแม่สามแลบ ต.แม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน คนไร้สัญชาติ ร่วมงาน 1,500 คน นับเป็นจำนวนที่น่าสนใจไม่ใช่น้อย การจัดงานครั้งที่ 3 พุ่งเป้าไปที่การเปิดโอกาสทางการศึกษาของเด็กในโรงเรียนบ้านแม่สามแลบ- -โรงเรียนแห่งนี้มีเด็กนักเรียน จำนวน 220 คน เด็กที่มีสัญชาติมีเพียง 9 คน อีก 211 คน เป็นเด็กไร้สัญชาติ- -ประเด็นใหญ่ คือ จำนวนเด็กไร้สัญชาติทำให้การดำเนินการของบประมาณสนับสนุนจากกระทรวงศึกษาธิการเป็นเรื่องยุ่งยาก- -อย่างไรก็ตาม ครูโรงเรียนบ้านแม่สามแลบยินดีสอนเด็กทุกคน- -การศึกษาเป็นเรื่องที่รอกันไม่ได้ เด็กทุกคนที่บ้านแม่สามแลบจะได้รับสิทธิ์ บันทึกประวัติและมอบวุฒิบัตร รัฐบาล(2540) ถอนข้อสงวนทางด้านการศึกษา ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก หมายความว่า เด็กทุกกลุ่มในประเทศนี้จะต้องได้รับการส่งเสริมการศึกษาภาคบังคับจนถึงระดับอุดมศึกษาและสามารถดำรงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของกลุ่มตนได้อย่างเสรี(ตามมติครม. 11 เมษายน 2540) ประเด็นที่ลักลั่น คือ ขณะมีการเปิดโอกาสทางด้านการศึกษา- -คนไร้รัฐยังไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางออกนอกพื้นที่ ยกตัวอย่าง หากมึดาต้องเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัยที่เชียงใหม่ มึดาจะต้องต่ออายุการเดินทางจากผู้ว่าราชการจังหวัด ทุก 15 วัน ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญยิ่ง ถึงวันนี้ สถานศึกษาทุกระดับต้องจัดการศึกษาแก่เด็กไร้สัญชาติและพิจารณาเรื่องการเดินทาง เพื่ออำนวยการ 6-8 มกราคม 2549 งานวันเด็กไร้สัญชาติ ครั้งที่4 ณ.ศูนย์พัฒนาเครือข่ายเด็กและชุมชน ต.สบเมย อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน การเดินทางไกล สู่ หมู่บ้านนอกแผนที่ประเทศไทย หากชีวิตพลเมืองปราศจากความมั่นคง รัฐจะมั่นคงได้อย่างไร? นับเป็นคำที่ไม่เกินเลย การเดินทางไกลสู่หมู่บ้านนอกแผนที่เป็นดั่งการฉายสปอตไลท์ไปยังมุมมืดของสังคม- -แม้ว่า การทำงานเพื่อพิสูจน์สถานะบุคคลในพื้นที่จะเริ่มเป็นรูปเป็นร่างและได้รับการตอบรับจากหน่วยงานราชการแต่ยังมีชนกลุ่มน้อยตามแนวชายแดนอีกเป็นจำนวนมากที่ตกสำรวจ- -ในบางพื้นที่จังหวัดชายแดน ‘คน’ กลุ่มนี้ถูกกระทำทารุณ การทำงานด้านสถานะเป็นเรื่องเชิงโครงสร้างทางกฏหมายที่ซับซ้อน ภายใต้อคติทางชาติพันธุ์ จนถึงวันนี้ เราอาจจะกล่าวได้ว่า แนวคิดของคนส่วนใหญ่ยังมองไม่ออกว่าทำไมเราจึงต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้- -มีเรื่องอื่นๆ ที่สำคัญและน่าจะทำ ประเด็นใหญ่ คณะทำงานด้านสถานะบุคคล- -มองว่า การให้ความรู้ สนับสนุนข้อมูลเชิงกฎหมาย จำเป็นและเร่งด่วน บ้านแม่ดึ๊ ต.แม่คง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน- -บ้านท่าเรือ ต.สบเมย อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน- -บ้านเว่ยโพคี ต.แม่วะหลวง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก- -ลงพื้นที่ 3 หมู่บ้านกับวันเด็กแห่งชาติครั้งที่4 และจำนวนตัวเลข 150,000 คน ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน คือ กลุ่มคนที่ถือบัตรสีกลุ่มต่างๆ แบ่งออกเป็นกลุ่มตกสำรวจและเด็กๆ รุ่นลูก นายสิทธิชัย ประเสริฐศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน (2549)มีความเห็นเกี่ยวกับเด็กไร้สัญชาติว่าไม่อยากใช้คำนี้ เพราะทุกคนล้วนมีสัญชาติทั้งสิ้น ทางรัฐบาลไทยกำลังให้ความช่วยเหลือ แม้ว่า ในการให้สัญชาติจะถูกกำหนดโดยกฎหมายและกติกาไว้มากมาย อยากให้เด็กเหล่านี้ปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดีของประเทศ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด สักวันหนึ่งเขาอาจได้สัญชาติเพราะเรื่องนี้รัฐบาลไทยให้ความสำคัญมาก เขากล่าวไว้ในครั้งนั้น 8-10 มกราคม 2550 งานวันเด็กไร้สัญชาติ ครั้งที่5 ณ.โรงเรียนบ้านสบเมย ต.แม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน จากการทำงานต่อเนื่อง 4 ปี มีคำสั่งด่วนให้ศูนย์การศึกษาในพื้นที่ 3 หมู่บ้าน บ้านแม่ดึ๊- -บ้านท่าเรือ- -บ้านแม่เว่ยโพคี รับเด็กไม่มีสัญชาติเข้าเรียน- -เด็กที่ทดสอบการอ่านเขียนพยัญชนะผ่านสามารถสอบเทียบเข้าชั้นประถมศึกษาปีที่2 ได้ ซอมุ ครูโรงเรียนบ้านแม่ดึ๊ นำเด็กจากหมู่บ้านมาร่วมงาน 70 คน- -เด็กหลายคนป่วย หมออนามัยบ้านสบเมยเจาะเลือดตรวจ พบว่า หลายคนมีเชื้อไข้มาเลเรีย มีเด็กในหมู่บ้านเป็นไข้กันมาก ไม่มีหมอ ต้องไปโรงพยาบาลฝั่งพม่าจะมาโรงพยาบาลไทยก็ไม่มีเงินเพราะต้องเดินทางไกล ครูบ้านแม่ดึ๊ให้สัมภาษณ์ถึงปัญหา ประเด็น คือ ระบบหลักประกันสุขภาพของรัฐไม่ครอบคลุมกลุ่มคนไร้รัฐ ปัญหา คือ เมื่อพวกเขาเจ็บป่วย เขาต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลตามแนวชายแดน แม้ไม่มีเงินแต่โดยหลักมนุษยธรรมเจ้าหน้าที่พยาบาลจะต้องทำการรักษาแม้จะขาดงบประมาณสนับสนุน ปัญหา คือ เมื่อพวกเขารู้ตัวว่าไม่มีเงินและไม่มีสิทธิ์จะไม่กล้ามารักษา ปล่อยให้โรคกระจาย(ตามแนวชายแดน)กลายเป็นปัญหาอื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของเจ้าหน้าที่รัฐ ระหว่าง บัตรประชาชนกับมนุษยธรรม เราควรยึดอะไรเป็นหลัก ยังไม่มีความคืบหน้าในเรื่องนี้ ภาระหนักยังคงตกอยู่กับโรงพยาบาลในแทบทุกจังหวัดตามแนวตะเข็บชายแดน 8-9 มกราคม 2551 งานวันเด็กไร้สัญชาติ ครั้งที่6 ณ.ชายหาดสาละวิน บ้านแม่สามแลบ ต.แม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน แม้ว่าระบบหลักประกันสุขภาพยังไม่มีความคืบหน้าแต่แนวคิดทางด้านการศึกษาถ้วนหน้าได้รับการตอบรับ การรับแจ้งเกิด เป็นประเด็นที่ได้รับการหยิบยกมาพูด- -ผ่านคำบอกเล่าบนป้ายผ้า หนูขอให้รัฐบาลยกเลิกข้อสงวนในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กข้อ 7 \เด็กจะได้รับการจดทะเบียนทันทีหลังเกิดและจะมีสิทธิที่จะมีชื่อนับตั้งแต่เกิดและสิทธิที่จะได้รับสัญชาติ\" การสงวนไว้ คือ การละเมิดสิทธิมนุษยชน การรับแจ้งเกิดจะทำให้คนเป็นคนตามกฎหมายและได้รับการดูแลจากรัฐและสังคมในฐานะคนคนหนึ่ง คนที่ไม่ได้รับการแจ้งเกิด หมายถึง ไม่ถูกยอมรับให้เป็นคนตามกฎหมายเสี่ยงต่อการข้องเกี่ยวกับการก่ออาชญากรรม ขบวนการยาเสพติดหรือกระบวนการค้ามนุษย์ ใช่หรือไม่ว่า เราต่างหากที่เป็นผู้ผลักดันคนกลุ่มนี้เข้าสู่ ด้านมืด- -ด้วย อคติ เชิงชาติพันธ์ ยายคำ แม่เก็บชาวไทใหญ่ หมอสูติของคนไร้รัฐ ยายคำ ชาวไทใหญ่ อายุ 77 ปี(2551) นางเป็นหมอตำแยมาตั้งแต่รุ่นสาว- -เรียกกันว่า ‘แม่เก็บ’ ในภาษาไทใหญ่ อาศัยอยู่ที่ ต.แม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน แข็งแรงและมีรอยยิ้มอยู่เสมอ ปัจจุบัน ไม่แน่ใจว่า ยายคำ เป็นอย่างไร ยายคำเป็นหญิงชราที่ดูอารมณ์ดีที่สุดในโลก แววตาอ่อนโยน ไม่แข็งกร้าวแต่จัดเจนและเข้าใจชีวิต ผมดกดำ พูดจาฉะฉาน ไม่หลงๆลืมๆ เหมือนกับคนเฒ่าในวัยเดียวกัน ชวนให้คิดถึงคำพูดที่ว่า หนุ่มแก่อยู่ข้างในหัวใจ หลังการแต่งงาน ยายคำกับสามีชื่อนายหม่องคนกะเหรี่ยง ตัดสินใจใช้ชีวิตคู่ที่บ้านแม่สามแลบ ยายคำไม่มีทางรู้ว่า การตัดสินใจไปค้าขายยังฝั่งพม่าในครั้งนั้น(ประมาณ 30 ปี ที่แล้ว)ของสามีจะทำให้นางต้องอยู่คนเดียวตราบจนวันนี้ ปัจจุบัน ยายคำอยู่กับลูกสาวคนเล็ก(นางนงนุช)ในจำนวนลูกทั้งหมด 8 คน ยายคำ เป็นแม่เก็บหรือหมอตำแยและอย่างไม่เป็นทางการ ยายคำ คือ หมอทำคลอดของคนนอกรัฐ มากกว่า 40 ปี ยายคำทำคลอดให้คนที่รัฐไม่สนใจมาแล้วมากกว่า 100 คน ที่น่าทึ่งมากไปกว่านั้น ไม่เคยมีรายใดเสียชีวิต- -บางคนยายคำทำคลอดให้พ่อกับแม่แล้วยังทำคลอดให้ลูก- -บางคนมีลูก 3

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท