Skip to main content
sharethis

ภาพประกอบ 1 : มูลของเสือโคร่ง พบบริเวณถนนสาย1117 เส้นคลองลาน-อุ้มผาง ส่วนที่เลิกใช้แล้ว

ประชาไท - 26 ส.ค.47 มูลนิธิสืบฯ จับมือนักวิชาการลงพื้นที่สำรวจเส้นทางคลองลาน - อุ้มผาง ยืนยัน ป่าฟื้นตัว พบรอยเท้าสัตว์หายากหลายชนิด พร้อมชี้แจงเหตุค้าน ไม่ได้เห็นสัตว์ป่าดีกว่าคน

มูลนิธิสืบนาคะเสถียรจัดแถลงข่าวผลการลงพื้นที่สำรวจ เส้นทางหมายเลข 1117 คลองลาน-อุ้มผาง ร่วมกับนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยมหิดล ระหว่างวันที่ 21-23 ส.ค.2547 โดยนายศศิน เฉลิมลาภ รองประธานมูลนิธิสืบฯ กล่าวยืนยันว่าจะคัดค้านโครงการนี้ให้ถึงที่สุด แม้ว่าจนบัดนี้ยังไม่มีการตอบกลับใดๆ หลังมูลนิธิสืบฯ ยื่นจดหมายคัดค้านถึงพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ผ่านนายสุวิทย์ คุณกิตติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

"เหตุที่เราจะต้องค้าน เพราะผืนป่าตะวันตกมีคุณค่าต่อมนุษย์ ไม่ใช่เห็นสัตว์ป่าสำคัญกว่ามนุษย์ หรือเห็นสัตว์ป่าสำคัญกว่าความเจริญของอุ้มผาง แต่เพื่อรักษาความสำคัญของอุ้มผางไว้นั่นเอง จึงขอว่าอย่าตัดถนนเพื่อทำร้ายต้นน้ำแม่กลองและต้นน้ำเจ้าพระยา" นายศศินกล่าว

ด้านนายอนรรฆ พัฒนวิบูลย์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การสำรวจเส้นทางนี้เป็นเพียงการสำรวจอย่างคร่าวๆ แต่จะมีการศึกษาเพิ่มเติมในรายละเอียด เพื่อเป็นข้อมูลที่จะนำเสนอรัฐบาลเพื่อการตัดสินในได้

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจเส้นทางจากช่องเย็น ในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จนถึงบ้านอุ้มผางคี จ.ตาก ซึ่งมีทั้งเส้นทางถนนเก่า และที่คาดว่าจะสร้างถนนนั้น พบว่าถนนเดิมนั้นหมดสภาพไปแล้ว มีการสะสมของชั้นดินบนผิวถนนและมีพืชจำพวกมอสขึ้นปกคลุม ป่ามีการฟื้นตัวอยู่ในระดับที่ดีมาก และพบรอยเท้าและมูลสัตว์หายากหลายชนิดเช่น สมเสร็จ เสือโคร่ง รวมทั้งนกเงือกและลิงแสม ซึ่งจะพบได้เฉพาะในเขตป่าสมบูรณ์

"การตัดถนนทำให้สัตว์ป่าถูกรถชนตายเป็นจำนวนมาก มีผลการวิจัยชี้ชัดว่าช่วงปี 2541-2542 ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน สัตว์ป่าทั้งเล็กและใหญ่ถูกรถชนตายกว่า 14,000 ตัว"
แต่เมื่อดูจากสภาพแล้ว คงไม่มีใครใช้เส้นทางนี้มากนัก เพราะอำเภออุ้มผางเป็นอำเภอเล็กๆ จึงมีความเป็นไปได้ว่าเส้นทางนี้จะกลายเป็นเส้นทางขนของผิดกฎหมาย เช่น ไม้สาละวิน ยาเสพติด เฟอร์นิเจอร์ คล้ายกับถนนสายแม่ละมาด-บ้านตาก จังหวัดตาก" นายอนรรฆกล่าว

ในส่วนของความหลากหลายของพันธุ์พืชนั้น นายแหลมไทย อาษานอก ผู้ช่วยนักวิจัย โครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก ม.มหิดล กล่าวว่า เฉพาะการสังเกตด้วยตาจากแนวถนนนั้น มีพันธุ์มากกว่า 190 ชนิด โดยเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ 11 ชนิด และกล้วยไม้ 10 ชนิด สภาพพื้นที่เริ่มมีป่าขึ้นทดแทนป่าที่ถูกทำลายไปก่อนที่จะมีการอพยพคนออกเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เฉพาะบริเวณที่ยังไม่มีการสร้างถนนแต่รทำเครื่องหมายไว้นั้น พบว่า มีต้นไม้หนาแน่นและมีดัชนีความหลาหลายใกล้เคียงกับป่าบนดอยอินทนนท์

ด้านนางรตยา จันทรเทียร ประธานมูลนิธิสืบกล่าวว่า ในช่วงต้นของรัฐบาล นายกรัฐมนตรีเป็นผู้กล่าวไว้เองว่าทรัพยากรของชาติต้องรักษาไว้ให้ลูกหลาน อย่าให้น้อยลง จึงเชื่อได้ว่าการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรีในการอนุมัติให้ปรับปรุงและก่อสร้างถนนดังกล่าวเพิ่มเติมนี้ อาจมาจากการได้ข้อมูลไม่ครบถ้วน

รายงานโดย : มุทิตา เชื้อชั่ง
ศูนย์ข่าวประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net