ผู้ว่าใหม่..กรุงเทพฯ เก่า?

พระกิตติศักดิ์ กิตฺติโสภโณ
กลุ่มเสขิยธรรม / www.skyd.org

1
กรุงเทพมหานคร ได้ว่าที่ "ผู้ว่าฯ คนใหม่" เรียบร้อยแล้ว คือ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้สมัครหมายเลข 1 จากพรรคประชาธิปัตย์ ดังที่ทราบผล (อย่างไม่เป็นทางการ) ตั้งแต่ก่อนเที่ยงคืนวันที่ 29 สิงหาคม และมีรายงานคะแนนอย่างเป็นทางการในเวลา 03.30 น.ของวันที่ 30 สิงหาคมที่ผ่านมา รอเพียงการประกาศและรับรองผลการเลือกตั้ง ก็สามารถเริ่มงาน ได้ทันที

การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้นับได้ว่าน่าสนใจยิ่ง เพราะหลังจากประกาศว่า "เบอร์ 1 " ได้รับการเลือกตั้งจำนวน 911,441 คะแนน ทิ้งห่างลำดับที่ 2 ถึง 292,402 คะแนน ผลการเลือกตั้งชนิด "ทิ้งห่าง" ที่ว่านี้ ก็ส่งผลกระทบ หรือส่งผลสะเทือนอันรวดเร็วไปยังฝ่ายต่างๆ อย่างที่เรียกว่า แทบไม่ปรานีปราศรัยเลยทีเดียว

กล่าวคือ ฝ่ายรัฐบาล ที่เคยพยายามส่งสัญญาณลับ หรือบอกเป็นนัยๆ มาโดยตลอดว่า "สนับสนุน" นางปวีณา หงสกุล ถึงขนาด นายกรัฐมนตรี ลงทุนลงแรงนำทีม "ปิดท้าย" ทัวร์นกขมิ้น ด้วยการหนีบเอาทีมงานของนางปวีณาออกตรวจราชการด้านการจราจรในกรุงเทพฯ กับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง จนใครต่อใครต้องออกมาปรามว่าไม่เหมาะ-ไม่ควร (ซึ่งก่อนผลการเลือกตั้งออกมา ทีมงานไทยรักไทยยังตะแบงข้างๆ คูๆ ว่านายกฯ สามารถทำเช่นนั้นได้ และไม่น่าเกลียดอะไร) ไม่นับที่เคยบอกแต่ต้น ว่าผู้ว่าฯ กทม.ต้องสามารถทำงานร่วมกับรัฐบาลได้ หรือกระทั่งที่ว่าคนกรุงเทพฯ นั้นรักพรรคไทยรักไทย พรรคฯ ส่งใครลงก็ได้อยู่ดี ฯลฯ

ผลออกมาอย่างนี้ก็ทำให้มีอาการหนาวๆ ร้อนๆ ถอยกรูดกลับเข้าที่ตั้งกันแทบไม่ทัน ถึงกับกลืนไม่เข้าคายไม่ออกขึ้นมาทันทีทันใด เพราะคะแนนของผู้สมัครจากพรรคฝ่ายค้าน "ท่วมท้น" ขึ้นมาขนาดนี้ คนไม่โง่นักก็พอที่จะเข้าใจได้ว่า ชาวบ้านร้านถิ่นเขาเริ่มส่งสัญญาณมาถึง "บางคน-บางพวก" แล้ว ว่า "เกรงอกเกรงใจกันบ้าง อย่าทำอะไรแสดงความกร่างหรือเหิมเกริมให้มากเกินไปนัก"

ขณะที่ ฝ่ายค้าน หรือพรรคประชาธิปัตย์เอง ก็ออกอาการหวาดๆ เกรงๆ ต่อ "ปฏิกิริยา" ของคนกรุงเทพฯ อยู่ไม่ใช่น้อย ชนิดไม่แน่ใจว่า หากสุ่มสี่สุ่มห้าดีอกดีใจต่อ "ชัยชนะ" ออกไปแล้ว จะโดนเขม่นกลับมาหรือเปล่า ทั้งหัวหน้าพรรคและคณะทำงานจึงได้แต่แบ่งรับแบ่งสู้ ว่านี่ไม่ใช่แค่ความสำเร็จของพรรคประชาธิปัตย์ แต่คือ "ชัยชนะของคนกรุงเทพฯ " และขยายความต่อมาว่าแม้ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน จะลงสมัครในนามพรรค ฯ ก็จะให้อิสระในการบริหารงานได้อย่างเต็มที่ ทั้งยังกล่าวด้วยอาการที่เนื้อเจียมตัวเป็นพิเศษว่า คะแนนเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ อาจจะไม่มีผลโดยตรงต่อการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะมาถึงในต้นปีหน้าก็เป็นได้

เรียกว่าทั้ง รัฐบาลและฝ่ายค้าน ต่างถอยเข้าที่ตั้งไปพลาง เงี่ยหูฟังกระแสสังคมไปพลาง อย่างตั้งอกตั้งใจและรอบคอบต่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ชนิดผิดหูผิดตา…

จะว่าไปแล้ว ก็เป็นธรรมดาอยู่เอง ว่าเมื่อใดที่ "เจ้าของสิทธิ์-เจ้าของเสียง" ออกมา "ประกาศ" หรือ "ยืนยันเจตนารมณ์" ของตนเองอย่างเด่นชัด "ผู้อาสา" ทั้งหลาย ก็จำต้อง "ฟัง" ยิ่งขึ้นกว่าปกติเสมอ ด้วยว่า ในระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนนั้น จะมากจะน้อย หลักการดั้งเดิม หรือเนื้อหาสาระ ก็ให้ความสำคัญอยู่ที่ "ผู้เลือก" มากกว่า "ผู้ถูกเลือก" อยู่ดี

ทั้งหลายทั้งปวงจึงอยู่ที่ว่า "เจ้าของสิทธิ์" จะ "เสียงดัง" และตั้งใจ "รักษาสิทธิของตน" อย่างเต็มที่ และต่อเนื่องได้อย่างไร หาไม่แล้ว "ผู้สมัคร" ที่ได้รับเลือก ก็จะเริ่มกร่างหรือแอบเปิดช่องทางหากินให้ตนเองและพวกพ้องอยู่นั่นแล้ว

มิหนำซ้ำ พออยู่นานเข้า ได้กินมากเข้า แทนที่จะลดราวาศอกหรือขอบคุณเจ้าของบ้าน กลับกำเริบเสิบสานสำรากวาจาทวงบุญทวงคุณหนักข้อขึ้นไปอีก

2
หลังจากผลการเลือกตั้งผ่านไปไม่นาน เมื่อตั้งสติได้ การวิเคราะห์ วิพากษ์-วิจารณ์ ก็เริ่มดังขึ้นอย่างเซ็งแซ่…

บ้างบอกว่า นี่เป็นสัญญาณจากชนชั้นกลาง ที่ส่งถึง "นายกฯ ทักษิณ" และ "พรรคไทยรักไทย" โดยตรง ว่าถึงบัดนี้ "คนกรุงเทพฯ เรือนล้าน" พากัน "รู้ทัน" และ "ไม่ไว้วางใจรัฐบาล" อีกต่อไปแล้ว

บ้างก็บอกว่า นี่เป็นผลจากการบริหารงานแบบ "ไม่โปร่งใส" เต็มไปด้วย "ผลประโยชน์ทับซ้อน" อีกทั้งยัง "ปากกล้า-อวดเก่ง" ของ พ.ต.ท.ทักษิณและพวกพ้อง ซึ่งล้วนแต่ไม่ต้องอัธยาศัยของคนกรุงเทพฯ ทั้งสิ้น

ขณะที่ตัวนายกรัฐมนตรีเองก็ออกมาให้สัมภาษณ์ทำนองว่า "พรรคไทยรักไทยไม่ได้ส่งผู้สมัครฯ และไม่ได้ประกาศสนับสนุนใคร อย่างนี้จะว่าพรรคไทยรักไทยแพ้การเลือกตั้งได้อย่างไร" พร้อมทั้งกล่าวย้ำว่า อย่าพยายามเชื่อมโยงการเลือกตั้งครั้งนี้เข้ากับการเมืองระดับชาติ เพราะรัฐบาลเองก็มีผลงานและทำงานมาอย่างเต็มที่โดยตลอด ฯลฯ

ทั้งนี้ ปฏิกิริยาข้างต้น ยังไม่นับรวมการออกมาตั้งข้อสังเกต การประท้วง การตั้งคำถาม การตั้งความหวัง หรือการก่นด่าประณาม ร้อยแปดพันเก้า

เรียกได้ว่า เอาเข้าจริงทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้ง ก็สับสนอลหม่าน "ฝุ่นตลบ" พอกันเลยทีเดียว ต่างกันก็แค่ว่า ก่อนการเลือกตั้งนั้นดูจะเป็นฝุ่นแห่งการ "สร้างฝัน" ให้กับผู้ลงคะแนน ส่วนเมื่อการแข่งขันจบสิ้น ก็เป็นฝุ่นของผู้ชนะ ผู้แพ้ และคนเชียร์ ที่จะสรุปประเมินผลงานตัวเอง (และโจมตีคนอื่น) เสียเป็นด้านหลักว่าจะ "ไปต่อ" กันอย่างไร

ขณะที่ "ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง" ซึ่งเคยสามารถส่งเสียงดังจนเขาเกรงใจอยู่ช่วงหนึ่ง ระหว่างและหลังลงคะแนนเลือกตั้ง ก็ถูกกันออกไปเป็น "คนดู" หรือ ผู้ "รอลงคะแนน" คราวต่อไป เสียแทบจะทันทีทันใด

3
ปรากฏการณ์เหล่านี้ดูไปก็ "คล้ายจะ" เป็นเรื่องธรรมดาโลก เป็นปกติของการเลือกตั้ง อันมีวัฏจักรอยู่ที่ การสมัคร หาเสียง ลงคะแนน และรับตำแหน่ง ก่อนจะเริ่มวงจรรอบใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า และด้วยเหตุของการ "ซ้ำซาก" นี้เอง ที่เป็นเหตุหนึ่งให้เกิดความ "ชาชิน" จนหลายคนถือว่าหย่อนบัตรเสร็จก็จบภารกิจ โอกาสหน้าฟ้าใหม่ก็ค่อยออกมา "แสดงพลังเงียบ" เสียทีหนึ่ง หรือที่เชื่อมั่นใน "พลัง" ของ "คนกรุงฯ" ยิ่งกว่านั้น ก็อาจระบุว่า "ค่อยให้บทเรียน" กันต่อไป

ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายว่า "พลัง" ที่แสดงออกมาอย่างไม่ต่อเนื่องนั้น แทบจะไม่มี หรือไม่เกิดพลวัตโดยตรงกับชุมชนและสังคมแต่ประการใด ความเป็น "ผู้ชี้ขาด" ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง จึงมีอยู่เพียงชั่วครู่ชั่วยาม และแทบมิได้ถูกสานต่อใดๆ ทั้งสิ้น

ยิ่งการปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น กรุงเทพมหานคร แทบมิได้มีกลไกการตรวจสอบใดๆ จากองค์กรอิสระโดยตรงด้วยแล้ว เมื่อการเลือกตั้งผ่านไปชั่วระยะหนึ่ง ถึงแม้ผู้ได้รับเลือกตั้งจะทำงานไม่ประสีประสา "เจ้าของคะแนนเสียง" ก็ได้แต่หันกลับเข้ามาใช้ "วัฒนธรรมบ่น-นินทา" สุมหัวกันไปแกนๆ อย่างไม่รู้จะทำอย่างไรให้ดีไปกว่านั้นได้

ดังบทเรียนคราวที่เลือก นายสมัคร สุนทรเวช เป็นผู้ว่าฯ กทม. ก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง ซึ่งหลายคนยังจำกันได้ดี…

แต่หากจะพิจารณาเรื่องนี้กันโดยแยบคาย ด้วยโยนิโสมนสิการและอิทัปปัจจยตาแล้ว "ปัญหา" อาจมิได้จำกัดแคบๆ อยู่ตรงที่ว่า หลังเลือกตั้ง หลังลงคะแนนเสร็จ แล้ว "คนเล็กคนน้อย" ทั้งหลาย จะมีปัญญาทำอะไรกันได้อีก หรือเมื่อมอบอำนาจสิทธิ์ขาดให้กับ "ตัวแทน" ไปแล้ว ยังจะต้องทำอะไรกันเล่า ดังที่เคยกล่าวกันมาแล้ว

เพราะเอาเข้าจริง "มายาคติ" หรือ "อวิชชา-มิจฉาทิฏฐิ" ของคติ "ลงคะแนนเสร็จเป็นอันว่าจบ" ด้วยแนวคิดการเมืองแบบแยกส่วน ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งที่เรา คิดเอง-ตัดสินใจเอง หรือ "ถูกกระทำ" ให้เข้าใจไปเช่นนั้น ก็กลับส่งผลเสียหายอย่างมากมายมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นการทำลายหรือตัดโอกาสของ "การเมืองแบบมีส่วนร่วม" ซึ่งต้องอาศัยความ "ใส่ใจ" ร่วมกันของสมาชิกในสังคม ก่อนที่จะ "ร่วมแรงร่วมใจ" ในการตัดสินชะตากรรมของตน "นอกเวลาเลือกตั้ง"

หรือการมองไม่เห็นความจริงทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ทั้งที่ขึ้นตรงต่อเขตการเลือกตั้งและเชื่อมต่อออกไปในนามของพื้นที่ อาณาเขต หรือกระทั่งสารัตถะของรัฐชาติ

ตลอดจนการมองไม่เห็นขอบเขตและการเชื่อมต่อที่แท้จริงของ "พื้นที่เลือกตั้ง" ทั้งที่ตนอาศัยอยู่ และเขตการเลือกตั้งอื่นๆ หรือกระทั่งการที่จะเชื่อมโยงสร้างเครือข่าย กับผู้คนในเขตการเลือกตั้งเหล่านั้น

ทั้งนี้ มิพักจะต้องพูดถึงจิตสำนึกของความเป็น "ส่วนหนึ่ง" ของ "ระบบการเมือง" ที่นับวันคำว่า "การเมือง" อันเคยมีความหมายในด้านของความเป็น "เครื่องมือสำหรับแก้ปัญหา" หรือ "นำพาสังคมไปสู่ความสงบเย็น" จะถูกนักธุรกิจทุนนิยมแอบแฝงเข้ามาแปรเปลี่ยน และลดคุณค่าให้เหลือเพียง "เกมการเมืองน่ารังเกียจ" หรือ "เกมแห่งอำนาจและผลประโยชน์" อันเป็นความหมายในด้านลบ เพื่อใช้โจมตีฝ่ายตรงกันข้ามยิ่งขึ้นทุกที

กรุงเทพฯ นั้น นอกเหนือจากความเป็น "มหานคร" ที่กล่าวกันว่ามีประชากรอาศัยอยู่กว่าสิบล้านคน หรือเกือบหนึ่งในหกของผู้คนทั้งประเทศแล้ว ยังมีเจ้าหน้าที่ กทม.กว่าแปดหมื่นคน มีผู้เกี่ยวข้องในระบบงานต่างๆ กว่าสองแสนคน ตลอดจนเป็นแหล่งบริโภคพลังงานและทรัพยากรอันมากมายมหาศาล แล้ว ยังมีความ "พิเศษ" อื่นๆ แฝงอยู่อีกมากมายเหลือเกิน ทั้งที่เป็นด้านลบและด้านบวก ทั้งที่จะเป็นโทษและเป็นคุณต่อสังคมไทยในภาพรวม ซึ่งคงจะต้องอาศัยปัญญาและญาณทัศนะ ทั้งในระดับบุคคลและระดับสังคมมาช่วยพิจารณาต่อไป

ดังนั้น หาก "สมาชิก" ของชุมชน หรือของ "ประชาคมกรุงเทพฯ" ตกอยู่ในความประมาท ขาดความยั้งคิด หรือติดยึดอยู่ในมิติใดเพียงด้านเดียว โดยไม่สามารถ "ก้าวผ่าน" ข้อจำกัดเพื่อมองให้เห็น "ภาพรวม" ที่ดียิ่งขึ้นไปได้สักที "กรุงเทพมหานคร" ก็คงหนีวังวนของการพัฒนาด้านวัตถุเพียงด้านเดียวอย่างสะเปะสะปะตามยถากรรมดังที่เป็นมาไปไม่ได้เป็นแน่

ดังนั้น หากไหนๆ ก็ตัดสินใจเลือกผู้ว่าฯ คนใหม่จากพรรคฝ่ายค้าน อย่างกล้าหาญที่จะแสดง "พลังเงียบ" กันมาแล้ว ก็น่าจะลองชี้ชวนกันรักษาสิทธิเพิ่มเติม ตลอดจนขยายความรับผิดชอบให้กว้างขวางยิ่งขึ้นต่อไปอีก

ด้วยการมีส่วนร่วม และเพิ่มความใส่ใจต่อ "การเมืองภาคประชาชน-การเมืองแบบมีส่วนร่วม" ขึ้นอีกจะดีไหม

เผื่อจะมี "กรุงเทพฯ ใหม่" ไปพร้อมๆ กับ "ผู้ว่าฯ ใหม่"

และคนรุ่นต่อไปจะไม่ต้องใช้วัฒนธรรมบ่นปนนินทา อย่างที่เราทั้งหลายเคยจำทน "ทำแล้วทำอีก" กันสักที…

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท