กรุงเทพฯ - หอศิลป์ - ผู้ว่าฯ (คนใหม่)

จุมพล อภิสุข

ดูเหมือนว่า การเรียกร้องให้ กทม. รื้อฟื้นโครงการสร้างหอศิลป์ของกรุงเทพฯ ในยามเปลี่ยนผู้บริหารคนใหม่ จะเป็นจริงได้ในครั้งนี้กระมัง เพราะว่าการเรียกร้องได้รับเสียงตอบรับจาก ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. ทั้ง 21 คนต่างเห็นความจำเป็นที่จะให้สร้างหอศิลป์ ทั้งสิ้น

แต่จะเป็นไปได้แค่ไหน อย่างไร เวลาที่จะให้คำตอบได้ ก็คงจะเป็นหลังจากที่ชาว กทม.ได้ผู้ว่าคนใหม่แล้วนั่นแหละ ซึ่งเป็นไปได้ว่า เครือข่ายประชาชนที่เป็นแกนนำในการเรียกร้องหอศิลป์ครั้งนี้ จะต้องติดตามทวงถาม หรือเตือนความจำกัน อย่างต่อเนื่อง เพื่อท่านผู้ว่าฯ จะได้ไม่แกล้งทำลืม

การสร้างหอศิลป์ เป็นรูปธรรมอย่างหนึ่งของนโยบายผู้บริหารบ้านเมือง ในด้านการส่งเสริม เชิดชูศิลปวัฒนธรรม แต่โดยความเป็นจริง การแสดงออกแค่นี้ยังไม่เพียงพอ เพราะว่าการจะให้ได้ชื่อว่าส่งเสริมกันจริง ๆแล้ว ก็ต้องดูที่นโยบายการบริหารจัดการ หอศิลป์ ซึ่งเป็นภาระกิจต่อเนื่องยาวนานไปหลังจากที่หอศิลป์ได้รับการก่อสร้างขึ้น และยาวไปจนตราบเท่าที่คนเรายังมีวัฒนธรรมและการสร้างผลงานศิลปกรรมอยู่ ซึ่งมีความหมายในทางภารกิจที่หนักแน่นกว่าการก่อสร้างอาคาร เพราะภาระกิจในการดูแลหอศิลป์นี้จะเป็นการพิสูจน์วิสัยทัศน์ และความลุ่มลึกในด้านวัฒนธรรมของผู้บริหารแต่ละยุค ว่า ให้น้ำหนักสมองซีกขวามากน้อยแค่ไหน

มีหอศิลป์ในโลกนี้จำนวนไม่น้อยที่ล้มเหลวในเชิงบริหาร และหลายแห่งกลายเป็นโกดังเก็บของที่รกร้างไร้ชีวิตวิญญาณ ตามข้อเท็จจริง มักจะปรากฏว่าหอศิลป์ที่ล้มเหลวเหล่านั้น มักจะเป็นหอศิลป์ที่บริหารโดยหน่วยงานของรัฐ แบบในระบบข้าราชการของเรา

แต่ก็มีหอศิลป์ของเมืองและประเทศจำนวนมาก ที่ประสบความสำเร็จ เป็นที่เชิดหน้าชูตา แก่บ้านเมือง เพราะมีภาครัฐให้การสนับสนุน แต่ปล่อยให้การบริหาร ดำเนินการอยู่ภายในความดูแลของนักบริหารศิลปะ "มืออาชีพ" แม้ว่าบางแห่งจะต้องจ้างมืออาชีพนี้มาจากต่างประเทศ เขาก็ยอมทำกัน เพราะเมื่อหอศิลป์ ที่สร้างขึ้นประสบความสำเร็จ เป็นที่รู้จัก ผู้สร้างหรือเจ้าของ ก็จะได้หน้าไปเต็ม ๆเลย อย่างที่มีบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์โลกหลายคนที่ได้ชื่อว่า เป็นผู้บูรณะส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญของประเทศนั้น ประเทศนี้

เขียนมาถึงตรงนี้ ก็คงจะรู้แล้วว่า ผู้เขียนอยากเห็นหอศิลป์ กทม. ประสบความสำเร็จในการบริหารหลังจากได้ตัวอาคารมา เพื่อที่จะได้เป็นเกียรติประวัติแก่ตัวผู้บริหาร กทม. สืบไปด้วย

อะไรที่ทำให้ระบบราชการ ไม่น่าจะนำมาใช้ได้กับหอศิลป์ ก็ลองมาดูว่าที่ผ่านมา วงการราชการไทย มีชื่อเสียงอย่างไร ในเรื่องการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม "ของชาติ"

1. เรามีพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ หลายแห่ง ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ที่ได้รับการพัฒนา ปรับปรุง มาในแนวทางที่ดีขึ้นมาโดยตลอด แม้ว่า จะยังทำให้ดีขึ้นกว่านี้ได้อีกมากในอนาคตที่คาดเดาไม่ได้ ทั้งนี้ทราบกันดีในเชิงวิชาการ ว่าหอศิลป์แห่งชาติของเรา มีข้อจำกัดอยู่เพียงสถานเดียว ก็คือ หอศิลป์ หรือพิพิธภัณฑ์แห่งชาติกลายเป็นสถาบันโฆษณาชวนเชื่อในเรื่องความเป็น "ชาติ (ไทย)" มากไป จนกลายเป็นความรู้ที่ไม่น่าเชื่อถือ หรือหลายครั้งก็ถูกเมินไปเลยโดยเฉพาะจากประชาชนของตนเอง (ซึ่งก็เป็นทำนองเดียวกันกับหอศิลป์แห่งชาติในประเทศเผด็จการและกึ่งเผด็จการ หลายประเทศ)

2. เรามีหอศิลปเจ้าฟ้า ที่เป็นหอศิลปร่วมสมัยของชาติแห่งเดียว ที่ยังไม่มีคุณภาพมาตรฐานพอ ดำเนินอยู่ได้ในสถานะห้องแสดงผลงานที่ศิลปิน และโครงการศิลปเอกชน มาเข้าคิวขอใช้หรือเช่าใช้ชั่วครั้งชั่วคราว โดยที่หอศิลปเจ้าฟ้าเอง ไม่เคยริเริ่มจัดอะไรด้วยตัวเองได้เลย

3. เรามีกระทรวงวัฒนธรรม ที่ตั้งหน้าตั้งตาควบคุมความประพฤติของประชาชน สนใจการสร้างละครรักชาติ และการตักเตือนให้คนไทยรู้จักการไหว้ และประพฤติตามขนบมารยาทตามระบบเจ้าขุนมูลนาย ไม่เคยคิดที่จะให้ความรู้อันใด ที่จะเป็นประโยชน์ในด้านสติปัญญาแก่การดำรงอยู่ร่วมกันของประชาชาติที่หลากหลายในสังคมไทย

อย่างไรก็ตาม จะว่าแบบเหมารวมไปอย่างนั้นไปเสียทั้งหมดก็ไม่ถูก เพราะผลงานของสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ของกระทรวงวัฒนธรรมก็ดูจะเป็นที่น่าชื่นใจอยู่มาก ในความขยันขันแข็ง สนับสนุน และเป็นผู้สร้างโครงการศิลปที่ดีมากมาย รวมทั้งตลาดนัดศิลปะที่ติดตลาดอยู่ในขณะนี้ แสดงถึงทัศนะเชิงศิลปะที่กว้างขวางถึงชีวิตความเป็นอยู่ปัจจุบัน และเป็นสำนักหนึ่งในค่าย "วัฒนธรรม" ที่พยายามผลักดันแนวความคิดในเรื่องหอศิลป์ มาอย่างหนักหน่วง น่าอบอุ่นใจ

แต่จะให้กรมเล็ก ๆกรมหนึ่ง ของกระทรวงเล็ก ๆกระทรวงนี้ มาลบล้างทัศนะอันไม่สร้างสรรค์ของอีกซีกส่วนใหญ่ในกระทรวงนั้นเห็นจะไม่ได้
ฯลฯ

(นี่เป็นการยกตัวอย่างพอสังเขป แต่ก็ตั้งอยู่ภายใต้ความหวังว่า ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีได้ และการมีหอศิลป์ กทม.ขึ้นมาอีกแห่งหนึ่งก็อาจจะเป็นผลดี ในแง่ส่งเสริมซึ่งกันและกัน หรือตามภาษาระบบการค้าเสรีว่าเกิดการแข่งขัน ให้คึกคัก)

ว่าไปแล้ว การนำเอาหอศิลป์ไปเป็นเครื่องมือในทางการเมือง ของระบบรัฐ ทำให้ผู้ได้ชมเกิด "ความภูมิใจ ในความเป็นชาติ (ไทย)" นั้นถือเป็นเรื่องปรกติธรรมดา ไม่ว่าสถาบันใด ๆ ต่างล้วนมีเป้าหมาย ในการร่วมกันสร้างความภูมิใจในชาติ เพื่อแสดงความเป็นตัวตนของเรา ทั้งสิ้น เป็นเรื่องที่ยอมรับกันได้

แต่น้ำหนักความห่วงใยน่าจะตกอยู่ที่ จะทำอย่างไร? จะใช้ทัศนะแบบไหนในการแสดง "ความเป็นชาติ" ? จะใช้กระบวนการสร้างสรรค์ สิ่งที่ชวน "ภูมิใจ" อย่างไร? นั่นต่างหาก ที่ถือว่าเป็นโจทย์ ที่มีคำตอบอยู่ในตัวแล้วว่า จะปล่อยให้ระบบราชการมาดำเนินการบริหารหอศิลป์ กทม. แห่งแรกนี้ไม่ได้ เพราะทัศนะวิสัย กระบวนการสร้างสรรค์ ตามระบบราชการไทย นั้นก็เป็นแบบตัวอย่าง 3 ข้อที่ยกมาข้างต้น ซึ่งต่างไปจาก ทัศนะวิสัย และกระบวนการสร้างสรรค์ ของนักบริหารศิลปะ "มืออาชีพ" กันแบบคนละโลก และก็เชื่อว่าผู้อ่าน จะรู้ว่า อันไหนจะทำหอศิลป์ได้น่าสนใจกว่ากัน

เราดูตัวอย่างศึกษาเปรียบเทียบกันได้ในกรุงเทพฯนี้ โดยศึกษาจากศูนย์ศิลปะเอกชน ที่มีอยู่ อย่างเช่น หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าฯ สิริกิติ์ ที่เชิงสะพานผ่านฟ้า ที่มีระบบการบริหาร แผนงานที่ดีเป็นแบบแผนได้แห่งหนึ่ง ศูนย์ศิลปอาร่า ที่ถนนไมตรีจิต ย่านวงเวียน 22 กรกฎา ก็มีวิธีการทำงานแบบฟู่ฟ่า หวือหวา ถึงลูกถึงคน มีทั้งในอาคาร นอกอาคาร และทางอีเลคโทรนิค หอศิลป์ตาดู น่าเสียดายที่ไกลเส้นทางสัญจรมาก แต่ก็มีโครงสร้างการจัดการที่ยืดหยุ่น มีโครงการของตนเองตลอดทั้งปี น่าภูมิใจครับ ที่วงการศิลปะของไทยเรา มีกิจการดี ๆ แบบนี้

นี่ก็อาจจะถือเป็นตัวอย่างได้ ว่าการทำอะไรโดย "มืออาชีพ" ก็สามารถบรรลุผล ในเชิงการเมือง ที่อยากจะเห็น "ความภูมิใจในชาติ" ได้เหมือนกัน เพราะไม่มีอะไรน่าภูมิใจได้มากกว่า การทำโครงการที่ดี ๆ ให้บรรลุผลดี ๆ ด้วย

เอาเถอะ เรื่องความไม่ไว้ใจนี่ เกลี้ยกล่อมกันยาก แต่ อย่าลืมครับว่า หอศิลปฯ กทม. ที่เรียกร้องกันอยู่นี้ ไม่ใช่ของใหม่ แต่เป็นโครงการที่เกิดขึ้นตั้งแต่ 8 ปีที่แล้ว มีการประกวดแบบจนได้แบบที่ชนะ มีผู้รู้หลายคนเป็นคณะกรรมการ และที่ปรึกษา ซึ่งทุกคนล้วนยังมีชีวิตอยู่กันทั้งสิ้น นอกจากนั้นแล้วยังมีการทำพิธีวางศิลาฤกษ์อันศักดิ์สิทธิ์กันไปเมื่อเดือน พค. 2543 (จำไม่ได้ว่าวันที่เท่าไหร่) เอาทีโออาร์ (TOR) มาเปิดดูกันก่อนก็น่าจะดี

ในแผนดำเนินงานของหอศิลป์ฯ กทม. นี้ กำหนดให้ตั้งมูลนิธิศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเอกชน เป็นผู้เข้ามาดำเนินงานโดยได้รับการสนับสนุนจาก กทม. ส่วนหนึ่ง และหอศิลป์ฯ หาทุนเองมาสมทบได้อีกส่วนหนึ่ง โดยมีจุดมุ่งหมายให้ การดำเนินงานของหอศิลป์ฯ กทม. มีอิสระ และเป็นไปตามมาตรฐานสากล ที่มีกิจกรรมที่หลากหลาย คนทั่วไปเข้าถึงได้ง่าย เป็นหอศิลป์ที่ทันสมัย เคลื่อนไหวอย่างทันกระแส และพร้อมที่จะเป็นผู้นำกระแสได้ด้วย

ตอนนี้มูลนิธิศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร มี อ.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เป็นประธานกรรมการ และ สว.ไกรศักดิ์ ชุณหวัณ เป็นผู้อำนวยการ พร้อมด้วยกรรมการอีกหลายคน ลองไปสอบถามท่านที่เอ่ยนามมานี่สิครับ ว่าอะไรมัน เป็นอะไร

บางแง่มุม ที่เกี่ยวข้องกับประเด็น หอศิลป์ฯ กทม. เท่าที่แสดงความเห็นโดยคร่าว ๆ มานี้ ตั้งอยู่บนข้อเท็จจริง ตั้งอยู่บนข้อกังขา ที่ค้างอยู่ในใจคนในวงการศิลปะ และยอมรับว่าเป็นข้อกังวลของผู้เขียนด้วยเช่นกัน

ทั้งที่รู้อยู่ว่าเป็นเรื่องดี ที่เมืองหลวงประเทศไทยจะมีหอศิลป์กับเขาสักที แต่ก็อดไม่ได้ที่จะแสดงความกังวล กลัวมันจะเป็นอย่างว่านั่นแหละครับ...

หอศิลป์ฯ กทม. ตอนนี้เป็นแท่งคอนกรีตสี่เหลี่ยมขนาดประมาณ 1 เมตร X 1 เมตร ระยะนี้มีน้ำฝนขังอยู่ พร้อมด้วยถุงพลาสติก และต้นหญ้าแซมประปราย มีศิลปินกราฟิตี้ (Graffiti)มาแต่งแต้ม ให้ดูน่าฉงนขึ้นไปอีก

( เครือข่ายประชาชน รณรงค์เพื่อหอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร เป็นการรวมตัวกันขึ้นของภาคประชาชนใน กทม. ร่วมสานต่อกับพลังศิลปิน เรียกร้องให้ กทม. มีนโยบายและแผนงานรูปธรรมในการสร้างโครงสร้างทางศิลปวัฒนธรรมของกรุงเทพฯ การรณรงค์ระยะยาว โดยการเข้าจัดกิจกรรมศิลปในบริเวณที่จะใช้ก่อสร้างหอศิลปฯ กทม. สี่แยกปทุมวัน จะดำเนินต่อไป หลังจากที่ผู้ว่าคนใหม่เข้ารับตำแหน่ง - ผู้เขียนเป็นหนึ่งในคณะกรรมการเครือข่ายฯ)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท