Skip to main content
sharethis

กรุงเทพฯ-6 ก.ย. 47 ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ยกงานวิจัยโต้ชินคอร์ปฟ้องเลขาฯ คปส. ยันข้อมูลระบุบริษัทฯ ไม่เสียหายจริงตามที่กล่าวหา ด้านนักกฎหมายระบุ กรณีดังกล่าวเข้าข่ายใช้สิทธิเกินส่วน

"ผมพร้อมเป็นพยานคดีนี้" ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ นักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงกรณีบริษัทชิน คอร์ป คอร์ปอเรชั่น จำกัด ฟ้องศาลแพ่งเรียกร้องค่าเสียหายจาก น.ส. สุภิญญา กลางณรงค์ เลขาธิการคณะกรรมการปฏิรูปสื่อ (คปส.) เป็นจำนวนเงินถึง 400 ล้านบาท

ทั้งนี้ บริษัท ชินคอร์ปฯ ถูกพาดพิงถึงความสัมพันธ์กับพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีซึ่งอาจมีการเอื้อประโยชน์ให้เชิงธุรกิจให้กับบริษัท และได้ฟ้องน.ส. สุภิญญา เป็นคดีอาญาไปก่อนหน้านี้แล้ว

"มีแนวโน้มว่า เอ็นจีโอจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับบริษัทเอกชนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริษัทที่ใช้ทรัพยากรสาธารณะ และกฎหมายก็ต้องยอมรับว่า บริษัทฯ ต้องได้รับการตรวจสอบจากสังคม" ดร. สมเกียรติกล่าว พร้อมยกข้อมูลงานวิจัยของตนขึ้นคัดค้านบริษัทชินคอร์ปฯ ว่าไม่ได้เสียหายจริงตามฟ้อง

จากงานวิจัยของทีดีอาร์ไอพบว่า ภายหลังการกล่าวหาของน.ส.สุภิญญา บริษัทชินคอร์ปฯ มีมูลค่าการตลาดและยอดผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น หมายความว่า บริษัทไม่ได้เสียหายจริงตามที่ระบุในคำฟ้อง

นอกจากนั้นที่บริษัทชินคอร์ปฯ ระบุว่า การกล่าวหาของน.ส.สุภิญญา ทำให้บริษัทต้องชี้แจงกับคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ก็เป็นเรื่องฟังไม่ขึ้นเพราะบริษัทจดทะเบียนต้องชี้แจงกับกลต. เป็นหน้าที่อยู่แล้ว ไม่ถือเป็นความเสียหาย และที่บริษัทชินคอร์ปฯ ระบุว่าเครดิตในการระดมทุนถูกทบทวน จนถึงปัจจุบันนี้ตนเองยังไม่พบข้อมูลว่าเครดิตของบริษัทชินคอร์ปฯ ถูกทำให้ต่ำลงแต่อย่างใด

ดร.สมเกียรติกล่าวต่อไปว่าบริษัทชินคอร์ปฯน่าจะเยียวยาชื่อเสียงของตนเองด้วยการประชาสัมพันธ์เชิงรุกเช่นที่เคยทำเมื่อถูกกล่าวหาว่า มีผลประโยชน์ทับซ้อนจากการทำ เอฟทีเอ ไทย- ออสเตรเลีย ซึ่งข้อกล่าวหาครั้งนั้นเป็นรูปธรรมและหนักหน่วงกว่ามาก และน่าจะเป็นผลดีกับบริษัทฯ กว่าการฟ้องเอ็นจีโอซึ่งเป็นเด็กผู้หญิง

ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก นักกฎหมาย กล่าวว่า ตัวกฎหมายหมิ่นประมาทมีปัญหาที่การตีความ และนำไปใช้ ซึ่งถูกตีความอย่างกว้างมากเกินไป

"ถ้ากฎหมายลักษณะหมิ่นประมาทถูกตีความกว้างเช่นนี้ ผมเสนอว่า ควรจะใช้มาตรา 421 ตามประมวลกฎหมายแพ่ง โดยถือว่าการฟ้องร้องครั้งนี้เป็นการใช้สิทธิเกินส่วน"

ทั้งนี้ ดร. เจษฎ์ กล่าวด้วยว่า เงิน 400 ล้านบาทสำหรับคนทั่วไปอาจดูเยอะ แต่สำหรับบริษัทชินคอร์ปฯ ซึ่งเป็นบริษัทใหญ่แล้วคงไม่ได้ช่วยเยียวยาความเสียหายได้

ด้านนส. สุภิญญา กลางณรงค์ จำเลยคดีดังกล่าว แสดงความเห็นว่า การถูกฟ้องในครั้งนี้น่าจะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้าง โดยเฉพาะกฎหมายลักษณะหมิ่นประมาทที่สื่อมวลชนส่วนใหญ่มักต้องเผชิญ และถือว่าตนเองโชคดีที่ถูกฟ้อง ไม่ใช่อุ้ม ฆ่า หรือข่มขู่ อย่างที่เกิดขึ้นกับคนทำงานภาคประชาชนอื่น ๆ

"คิดว่าตัวเองถูกดำเนินคดีครั้งนี้ เพราะเป็นจุดอ่อนที่สุดของสังคม คือเป็นเด็ก เป็นผู้หญิง และไม่มีอำนาจการเมืองหนุนหลัง จะเอาของคดีของเก๋ไปทำอะไรก็ได้ แต่อยากให้คดีนี้เป็นประโยชน์ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้บ้าง" น.ส. สุภิญญา กล่าว

รายงานโดย : พิณผกา งามสม
ศูนย์ข่าวประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net