Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพหรือ สสส. ร่วมกับมูลนิธิเพื่อนหญิง เปิดเผยข้อมูลวิจัยสภาวะความรุนแรงในครอบครัว โดยเป็นการสำรวจสาเหตุการใช้ความรุนแรงโดยเฉพาะกรณีของคู่สามีภรรยาใน 5 เมืองใหญ่คือ กรุงเทพฯ สุพรรณบุรี นครราชสีมา เชียงใหม่และสุพรรณบุรี พบข้อมูลที่น่าตกใจว่า ผู้หญิงที่เป็นภรรยา 1 ใน 5 ของครอบครัวที่ทำการสำรวจถูกกระทำความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ

ระดับความรุนแรงตั้งแต่การใช้วาจาดุด่าด้วยคำหยาบคาย การถูกบังคับทำร้ายจิตใจ การถูกกระทำรุนแรงทางเพศ หรือถึงขั้นทำร้ายร่างกายจนเสียชีวิต ซึ่งภาพโดยรวมปรากฏเป็นรายงานข่าวในสื่อมวลชนแขนงต่างๆ มาโดยตลอด

จริงอยู่ แม้ผลวิจัยฯ จะโยงสาเหตุความรุนแรงเข้ากับการดื่มแอลกอฮอล์จนทำให้ขาดสติเป็นเหตุหลัก ทั้งยังสอดคล้องกับข้อมูลสถิติทางการที่พบว่า คนไทยดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าในเวลา 14 ปี โดยเฉพาะเด็กวัยรุ่นซึ่งนับวันจะพบว่า เป็นนักดื่มอายุน้อยลงเรื่อยๆ แต่เป็นไปได้ว่า การดื่มสุราเป็นรูปธรรมปัญหาปลายเหตุ หรือเป็นเพียงปัญหาพื้นผิวของปัญหาใหญ่ที่ซ่อนตัวอยู่ในสังคมไทย

เป็นไปได้หรือไม่ว่า การที่คนหันมาดื่มแอลกอฮอล์อย่างมากมายไม่เลือกเพศและอายุเช่นนี้ หากไม่ใช่เหตุผลความรื่นเริงอย่างเต็มที่แล้ว ก็อาจจะเป็นเพราะความทุกข์หนักเพราะแรงกดดันจากสังคมรอบข้าง ถึงต้องหนีออกจากโลกแห่งความเป็นจริงโดยอาศัยสุราเป็นเครื่องนำทาง

แต่ในความเป็นจริง การดื่มอย่างหนักนอกจากไม่ช่วยแก้ปัญหาแล้ว ยังทำให้สติสัมปชัญญะลดลงจนเป็นศูนย์ และพร้อมจะปลดปล่อยแรงกดดันในความรุนแรงทุกรูปแบบกับคนรอบข้าง ไม่เว้นแม้แต่ผู้คนอันเป็นที่รัก

กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว ต่อให้รัฐออกกฎหมายยกเลิกการผลิตหรือห้ามบริโภคแอลกอฮอล์ ก็ไม่ได้แก้ปัญหาความรุนแรงดังกล่าวแต่อย่างใด เนื่องจากรากของปัญหายังคงดำรงอยู่เสมือนรอฝางเส้นสุดท้ายที่จะทิ้งลงมาเท่านั้น ตัวอย่างรูปธรรมก็มีให้เห็นมากมาย

ล่าสุดในแคว้นลาฮอร์ ประเทศปากีสถาน เกิดกรณีที่พี่ชายยิงน้องสาวแท้ๆ ของตนเสียชีวิต เนื่องจากฝ่ายหญิงตัดสินใจแต่งงานโดยไม่ได้รับความยินยอมจากครอบครัว ขณะที่พี่ชายและญาติฝ่ายหญิงเห็นว่า จำเป็นที่พวกเขาต้องรักษาเกียรติยศของครอบครัวไว้

สังคมที่สะสมความรุนแรงไว้นั้น ไม่ต่างอะไรกับระเบิดเวลาลูกใหญ่ที่ถูกจุดชนวนทิ้งไว้…

บรรณาธิการบันทึก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net