Skip to main content
sharethis

อาจเพราะ" เกษตรกรรม" เป็น "ชีวิต" ของผู้คนส่วนใหญ่ในประเทศนี้ เมื่อเกิดประเด็นเรื่องจีเอ็มโอขึ้นมา จึงเกิดความเคลื่อนไหวปกป้อง "ชีวิต" ในหมู่ชาวบ้านอย่างเอาจริงเอาจัง โดยมีการประชุมให้ความรู้กันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน กระทั่งมีการจัดสัมมนาครั้งใหญ่ว่าด้วย ทิศทางการพัฒนาพันธุกรรมพื้นบ้านในสถานการณ์การค้าเสรี เมื่อวันที่ 15 ส.ค.47 ที่อำเภอพล ซึ่งนำไปสู่การเรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติลงพื้นที่มาตรวจสอบการปนเปื้อนของมะละกอจีเอ็มโอ

แม้จะเป็นคณะกรรมการสิทธิฯ แต่ก็ใช่ว่าจะมีสิทธิได้รายชื่อผู้ซื้อเมล็ดพันธุ์และต้นกล้ามะละกอแขกดำท่าพระไปตรวจสอบ ดังนั้นคณะทำงานฯ จึงช่วยเหลือตัวเองโดยการสุ่มเก็บตัวอย่างจากพื้นที่อำเภอพล ที่บ้านห้วยค้อ ต.หนองแวงนางเว้า 1 ตัวอย่าง (เป็นแปลงเดียวกับที่กรีนพีซเก็บไป) และที่ ต.โจดหนองแกอีก 2 ตัวอย่าง

มะละกอกับ "สระน้ำ"

พื้นที่ อ.พลเป็นอำเภอที่ได้รับการตรวจสอบจากทั้งกรีนพีซและคณะกรรมการสิทธิฯ เป็นอำเภอซึ่งห่างจาก ต.ท่าพระ อ.เมือง ที่ตั้งของศูนย์เกษตรฯ ประมาณ 70-80 กิโลเมตร ซึ่งระยะทางเท่านี้มิอาจขวางกั้นการเดินทางของพันธุ์มะละกอต้องสงสัย

ชาวบ้านในพื้นที่ตำบลโจดหนองแกรายหนึ่งเล่าให้ฟังว่า พันธุ์มะละกอแขกดำท่าพระนี้มาพร้อมกับ "สระน้ำ" ของสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) ซึ่งเป็นโครงการสนับสนุนปัจจัยให้เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินในจังหวัดขอนแก่น ดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปี 2544 ครอบคลุมพื้นที่ 1.3 แสนไร่ ใน 4 อำเภอ คือ อ.พล กิ่งอ.โนนศิลา อ.บ้านไผ่ อ.เปือยน้อย เกษตรกรในพื้นที่เหล่านี้สามารถขอขุดสระน้ำ และพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ได้จากสปก.จังหวัด

แม่บุญมา สิงห์เสนา เกษตรกรในพื้นที่ตำบลโจดหนองแก เป็นคนหนึ่งที่ได้สระน้ำ ได้พันธุ์มะละกอแขกดำท่าพระจากโครงการ และเป็นแปลงที่คณะกรรมการสิทธิมาเก็บตัวอย่างไปเล่าว่า คนที่จะได้เมล็ดพันธุ์นี้ต้องเป็นเกษตกรที่ขอขุดสระน้ำเท่านั้น โดยให้ผู้นำชาวบ้านไปรับพันธุ์ไม้มาแจกจ่าย มีทั้งพันธุ์ขนุน พุทรา มะม่วง พันธุ์หญ้า รวมถึงมะละกอด้วย ซึ่งเอาเข้าจริงก็มีการไปขอไปหยิบกันมาจากผู้นำชาวบ้านอย่างไม่เป็นระบบ

"ชาวบ้านไม่รู้หรอกว่ามันเป็นมะละกอจีเอ็มโอหรือมะละกออะไร เขาไม่ได้บอก ให้อะไรก็เอาหมด ของฟรีชาวบ้านชอบอยู่แล้ว แต่ถ้าจะต้องให้ซื้อ ก็ไม่มีใครซื้อหรอก ยกเว้นพวกที่ปลูกเป็นพืชเชิงเดี่ยวขาย ส่วนมากแล้วจะขอๆ กัน ถึงอย่างนั้นถ้าไม่ใช่ญาติสนิทกันจริงก็จะไม่ให้ต่อ เพราะได้มาคนละไม่มากนัก" แม่บุญมาเล่า

ก่อนหน้านี้ศูนย์เกษตร ฯ เคยแจกพันธุ์มะละกอให้เกษตรกรฟรี แต่เลิกไปตั้งแต่ปี 2546 หากเกษตรกรรายใดอยากได้ก็ต้องซื้อสถานเดียวด้วยสนนราคาขีดละ 200 บาทสำหรับเมล็ดพันธุ์ และต้นกล้าต้นละ 2 บาท

อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อยกเว้นสำหรับโครงการสนับสนุนปัจจัยการผลิตของสปก. ซึ่งเริ่มต้นแจกพันธุ์มะละกอให้ชาวบ้านในเดือนพฤษภาคม 2546 มีทั้งที่เป็นเมล็ดและเป็นต้นกล้า โดยในในครั้งแรกชาวบ้านได้เป็นเมล็ดพันธุ์ นำมาเพาะเอง แต่ไม่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่จะตายหมด

แม่บุญมาสันนิษฐานว่า เป็นเพราะผิดดิน ซึ่งเป็นไปได้ว่าระหว่างการเพาะในถุงดำชาวบ้านผสมดินไม่ถูกต้องตามความต้องการของมะละกอ หลังจากนั้นจึงมีการไปขอพันธุ์ใหม่อีกครั้งภายในเดือนเดียวกัน โดยแม่สมควร ศรีวงศ์โชติสกุล ผู้นำเกษตรบ้านห้วยค้อ ต.หนองแวงนางเว้า

"ไปขออีกครั้งขอเป็นกล้า เพราะมันจะทนดินเค็มได้ดีกว่าหน่วยมัน แต่เขาก็ไม่ได้ให้ง่ายๆ ต้องให้เสี่ยแต้น ไปรับประกันให้แม่สมควร เพราะเขารู้จักกับผอ.วิไล ที่ศูนย์วิจัยฯ" แม่บุญมาว่า

ชาวบ้านแถวนั้นบอกเล่าเพิ่มเติมว่า เสี่ยแต้น เป็นเจ้าของโรงพยาบาลเวชประสิทธิ์ ตลาดพูนผล และมีที่ดินทำการเกษตรผืนใหญ่ในจังหวัดขอนแก่น เคยสั่งกล้ามะละกอ 5,000 ต้นไปปลูกที่อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น แต่ไม่มีใครรู้ชัดว่าได้ไปแล้วหรือไม่อย่างไร อย่างไรก็ตาม ในที่สุดแม่สมควรก็ได้กล้ามะละกอมา 5,000 ต้น โดยแบ่งไว้เอง 2,000 ต้น และแจกจ่ายชาวบ้านไป 3,000 ต้น

"ในพื้นที่ตำบลโจดหนองแกนี้ ตอนแรกมีคนที่เอากล้ามาหลายคน แต่ตอนนี้เหลืออยู่ 3 ราย ของคนอื่นส่วนใหญ่มะละกอเป็นโรครากเน่าตายหมด" แม่บุญมาระบุ

มะละกอแขกดำท่าพระของแม่บุญมาเองที่ปลูกไว้รอบสระน้ำจากที่รับมาราว 200 ต้น ขณะนี้ก็เหลืออยู่เพียง 20-30 ต้น ในสภาพไม่ค่อยสมประกอบและไม่มีผลผลิตให้ ผิดกับของแม่สมควรที่ตำบลหนองแวงนางเบ้าที่ให้ผลผลิตอย่างเป็นล่ำเป็นสันกว่ามาก ข้อสันนิษฐานเบื้องต้นคือสภาพดินที่แตกต่างกันทำให้ผลผลิตแตกต่างกันลิบลับ

"อำเภอพล" พื้นที่แห่งการมองต่างมุม

นอกจากผลผลิตจะแตกต่างกันแล้ว ทัศนคติต่อ "จีเอ็มโอ" ของชาวบ้านก็เป็นไปคนละทิศทาง แม่สมควร ซึ่งเป็นผู้นำเกษตรที่ใกล้ชิดกับศูนย์เกษตรท่าพระเคยเล่าให้ฟังว่า ต่อให้มะละกอที่นำไปพิสูจน์เป็นมะละกอจีเอ็มโอ ชาวบ้านที่นั่นก็อยากจะปลูก เพราะที่ผ่านมาไม่เคยได้ผลิตดีมาก่อน

"จากการสอบถามชาวบ้านในพื้นที่ส่วนใหญ่บอกว่าต้องการจะปลูกต่อไป เพราะนักวิชาการบอกว่าปลอดภัย แม้จะมีกลุ่มเอ็นจีโอบางกลุ่มที่บอกไม่ปลอดภัยก็ตาม ชาวบ้านก็มองว่ามันเป็นเรื่องการเมือง ที่ต่างก็ใส่ร้ายป้ายสีกัน ส่วนที่กรีนพีซออกมาบอกว่าอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวนั้น ชาวบ้านก็บอกว่า ไม่กลัวโรคแต่กลัวอดมากกว่า ชาวบ้านเขาก็รู้ว่าองค์กรนี้รับจ้างต่างประเทศมาทำม็อบเคลื่อนไหว" แม่สมควรเล่า

ในขณะที่อีกด้านหนึ่งในอำเภอเดียวกัน ที่ตำบลโจดหนองแก ชาวบ้านที่นั่นค่อนข้างตื่นตัวกับปัญหาการปนเปื้อนของมะละกอจีเอ็มโอ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเป็นพื้นที่ที่มีเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกทำงานอยู่ และมีชาวบ้านเป็นสมาชิกจำนวนไม่น้อย

"พันธุ์ดั้งเดิมก็มีพอได้กิน โรคมันไม่ได้ร้ายแรงขนาดนั้น เพราะชาวบ้านปลูกโน่นปลูกนี่ด้วย ไม่ได้ปลูกอย่างเดียว ปลูกแล้วก็เก็บพันธุ์ไว้เพาะเอง แต่ถ้าเป็นคนที่ทำขายมันคงไม่พอ หน่วยมันก็ไม่สวย ลูกป้อมๆ แต่ต้นใหญ่แข็งแรงกว่าพันธุ์ที่เขาให้มามาก" แม่บุญมาว่าไว้

ส่วนพ่อสมควร โลกาวี ซึ่งเป็นผู้นำเกษตรกรในเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกที่อยู่ต.เพ็กใหญ่ อ.พล กล่าวว่า ในพื้นที่อ.พล ก็มีกลุ่มเกษตรกรรมทางเลือกอยู่ใน ต.หนองแวงโสกพระ ต.โคกสง่า ต.โสกเต็น ต.เก่างิ้ว ต.เพ็กใหญ่ เกษตรกรในพื้นที่เหล่านี้ไม่ค่อยอยากได้จีเอ็มโอ เพราะกระบวนการของเครือข่ายฯ พยายามให้ความรู้กับสมาชิกโดยตลอด

"เกษตรกรที่อยากได้จีเอ็มโอในพื้นที่อื่นนั้น น่าจะเป็นเพราะความไม่รู้ว่าจีเอ็มโอคืออะไร พร้อมกับความพยายามของนักวิชาการ นักวิจัย อยากให้จีเอ็มโอกระจายออกนอกพื้นที่" พ่อสมควรว่าไว้

.........................

นี่คือกระแสความคิดหลักๆ ของเกษตรกรในพื้นที่ที่มีต่อมะละกอจีเอ็มโอ ซึ่งอาจจะแตกต่างกันไปขึ้นต่อการเลือกที่จะเชื่อไม่ฝั่งใดก็ฝั่งหนึ่ง กระนั้นก็ตาม จากการสอบถามพูดคุยทำให้แน่ใจว่า ไม่มีกลุ่มไหนที่รู้จักเทคโนโลยีชีวภาพชนิดนี้จริงๆ ทั้งในแง่สุขภาพ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจการค้า.... ซึ่งก็คงไม่ต่างอะไรกับคนอื่นๆ ในสังคม.

รายงานโดย : มุทิตา เชื้อชั่ง
ศูนย์ข่าวประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net