Skip to main content
sharethis

พลันที่เสียงปืนกระหน่ำยิง "พ.ต.ท.สุพิรัฐ เพียรทอง" รองผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส ได้รับบาดเจ็บสาหัส ดังขึ้นเมื่อตอนเช้าของวันที่ 16 ก.ย. 2547 สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็กลับมาอยู่ในความสนใจของผู้คนอีกครั้ง

เสียงปืนยังไม่ทันจางหายไปจากจอโทรทัศน์ เช้าวันต่อมา อันตรงกับวันที่ 17 ก.ย. 2547 กลุ่มวัยรุ่นก็ซ้อนท้ายจักรยานยนต์ กระหน่ำยิ่ง "รพินทร์ เรือนแก้ว" ผู้พิพากษาศาลจังหวัดปัตตานี เสียชีวิตคาสี่แยกกลางเมืองปัตตานี ต่อหน้าต่อตาบุตรสาววัยขวบครึ่ง และผู้เป็นมารดา

เช้าวันที่ 22 ก.ย. 2547 เสียงปืนก็ปะทุขึ้นมาอีกครั้ง คราวนี้ผู้ตกเป็นเหยื่อได้รับบาดเจ็บสาหัส คือ "โกวิท สืบประดิษฐ์" ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเกาะเปาะ ตำบลเกาะเปาะ อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี

ทั้ง 3 คดียิงข้าราชการระดับสูงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีเพียงคดียิง "รพินทร์ เรือนแก้ว" เท่านั้น ที่จับกุมผู้ต้องหาได้ 1 คน ออกหมายจับอีก 2 คน "อับดุลเลาะห์ ปะซี" อายุ 20 ปี ศิษย์เก่าโรงเรียนเตรียมศึกษาวิทยา ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมืองปัตตานี อยู่บ้านเลขที่ 57/1 หมู่ที่ 1 ต.ปะกาฮารัง อำเภอเมืองปัตตานี คือ มือปืนผู้ลั่นกระสุนสังหารที่ถูกจับกุม

อันตามมาด้วยการออกหมายจับ "อับดุลย์ กามะ" อายุ 21 ปี ชาวตำบลบาราเฮาะ อำเภอเมืองปัตตานี ในฐานะผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ให้มือปืนออกปฏิบัติการ และออกหมายจับ "อันนูวาร์ ตากอ" อยู่บ้านเลขที่ 2/267 หมู่ 7 ตำบลบ่อทอง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ในฐานะผู้วางแผนและสั่งการ

ข้อน่าสนใจ ก็คือ โรงเรียนเตรียมศึกษาวิทยา ที่ "อับดุลเลาะห์ ปะซี" เพิ่งจบการศึกษาออกมาได้เพียง 1 ปี มีเจ้าของชื่อ "แวดือราแม มะมิงจิ" เป็น "แวดือราแม มะมิงจิ" ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี และนักธุรกิจคนสำคัญ ผู้เป็นกำลังหลักร่วมกับรัฐบาลชุดนี้ ปลุกปั้นนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล

ทว่า นั่นไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอันใด ด้วยเพราะถ้าหากย้อนรอยถอยกลับไปดูคดีเก่าๆ ปฏิบัติการเดิมๆ ของเจ้าหน้าที่รัฐและกลุ่มผู้ก่อการ ก็จะพบว่าหลายคดีที่ผ่านมา มีนักเรียนในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม และครูสอนศาสนา ตกเป็นผู้ต้องหา หรือเป็นผู้ต้องสงสัยเสมอมา
ย้อนกลับไปดูจุดเริ่มต้นของสถานการณ์ล่าสุด นั่นคือ เหตุการณ์ปล้นปืนกองพันทหารพัฒนาที่ 4 ณ อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 4 ม.ค 2547 อันตามมาด้วยเหตุการณ์รุนแรงรายวัน จนกระทั่งเกิดเหตุสังหารหมู่ 108 ศพ เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2547 และลุกลามต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ โดยไม่มีทีท่าว่าสถานการณ์จะสงบลงในเร็ววัน

ทุกเหตุการณ์ที่เกิดต่อเนื่องมาร่วม 9 เดือนเข้านี่แล้ว เกือบทุกสายตาล้วนแล้วแต่จับจ้องไปยังปอเนาะ และโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามอย่างเป็นด้านหลัก อันเป็นผลให้นักเรียน ครูสอนศาสนา หรือโต๊ะครู ตกเป็นผู้ต้องสงสัยไปจนถึงเป็นผู้ต้องหามาเป็นระยะ

ข้อที่พึงตระหนักอย่างยิ่ง ก็คือ การตรวจค้นหลายต่อครั้งครั้ง ไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย หรือเบาะแสใดๆ ซึ่งนับวันยิ่งสร้างไม่พอใจกับบรรดาโต๊ะครูมากขึ้นทุกที

ตั้งแต่ต้นปี 2547 เป็นต้นมา การตรวจค้นปอเนาะและโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ที่สำคัญเกิดขึ้น 2 ช่วง นั่นคือ หลังวันที่ 4 ม.ค. 2547 กับหลังวันที่ 28 เม.ย. 2547 เมื่อพลิกแฟ้มดูรายละเอียดพบว่า ปอเนาะและโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในจังหวัดปัตตานี ที่ถูกตรวจค้น มีดังนี้

โรงเรียนเตรียมศึกษาวิทยา ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมือง ของ "แวดือราแม มะมิงจิ" ทหารจากค่ายอิงคยุทธบริหาร บุกเข้าตรวจค้นครั้งแรก หลังเหตุการณ์ปล้นปืน วันที่ 4 ม.ค. 2547 ผลการตรวจค้นไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย ส่งผลให้ผู้นำศาสนาใน 3 จังหวัด ออกมาแถลงการณ์ไม่ให้ความร่วมมือกับทางราชการมาแล้ว

โรงเรียนเตรียมวิทยา ถูกตรวจค้นอีกครั้ง เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2547 หลังเกิดเหตุยิง "รพินทร์ เรือนแก้ว" 2 วัน อันเป็นผลสืบเนื่องจากการจับกุม "อับดุลเลาะห์ ปะซี" ศิษย์เก่าของโรงเรียนแห่งนี้

ในฐานะผู้ลั่นกระสุนสังหารผู้พิพากษา "รพินทร์ เรือนแก้ว" กลางเมือง ผลการตรวจค้น พบกระสุนปืนขนาด 9 ม.ม.จำนวนหนึ่ง ประเด็นที่น่าสังเกตอย่างยิ่ง ก็คือ ยังมีผู้ต้องหาและผู้ต้องสงสัยพัวพันกับคดีต่างๆ ที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้หลายคน มีความสัมพันธ์กับโรงเรียนเตรียมวิทยา

หนึ่งในจำนวนนั้น คือ ผู้ต้องหาลอบวางระเบิดหน้าบริษัท พิธานพาณิชย์ จำกัด กลางเมืองปัตตานี เมื่อเดือนมกราคม 2547 ก็เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนนี้เช่นกัน โรงเรียนบากงวิทยา อำเภอหนองจิก โรงเรียนปอเนาะดารุสมูฮายีรีน หมู่ที่ 6 ตำบลบ้านนอก อำเภอปะนาเระ ก็เป็นโรงเรียนที่ถูกตรวจค้น เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2547 พร้อมกับเชิญเจ้าของรถรับส่งนักเรียน พร้อมด้วยนักเรียนอีก 9 คน ไปตรวจสอบหาเขม่าดินปืน ในจำนวนนี้มีอยู่ 3 คน เป็นชาวมาเลเซีย ผลการตรวจค้นและตรวจสอบเขม่าดินปืนไม่พบอะไร

ล่าสุด เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2547 กองกำลังทหารจากกองทัพภาค 4 ส่วนหน้า ก็เข้าตรวจค้น โรงเรียนอิสลามประชาสงเคราะห์ ตำบลพิเทน อำเภอทุ่งยางแดง ของ "อับดุลรอนิง กาหาะมะ" เลขานุการสมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กับโรงเรียนปอเนาะซาราฟี ตำบลพิเทน อำเภอทุ่งยางแดง ของ "อายุบ กาหามะ" และปอเนาะร้างแห่งหนึ่งในอำเภอยะหริ่ง

การตรวจค้นคราวนี้ สร้างความไม่พอใจอย่างยิ่งให้กับ "นิเดร์ วาบา" นายกสมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถึงกับออกแถลงการณ์ตอบโต้กองทัพภาค 4

นอกจากนี้ ยังมีการจับกุมผู้ที่ถูกกล่าวหาว่า พัวพันกับการก่อความไม่สงบ ที่มีความสัมพันธ์กับปอเนาะและโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามอีกหลายราย เช่น "อาหามะ สามะ" อายุ 23 ปี ครูจ้างสอนศาสนาโรงเรียนศาสตร์สามัคคี อำเภอหนองจิก "หมะหมุด หีมบู" อายุ 20 ปี นักเรียนปอเนาะ โรงเรียนมะห์อัดดารุลมาอาเรฟ ตำบลจะบังติกอ อำเภอเมือง ในคดีลอบยิงตำรวจตระเวนชายแดน ขณะที่ปอเนาะและโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในจังหวัดยะลา ที่ถูกตรวจค้น ประกอบด้วย

โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ ในเขตเทศบาลนครยะลา นับเป็นโรงเรียนเป้าหมายที่รัฐเข้าตรวจค้นหลายครั้ง โดยเฉพาะช่วงหลังเหตุการณ์วันที่ 28 เมษายน 2547 กับหลังจากจับกุม "อับดุลเลาะห์ อาโก๊ะ" อายุ 30 ปี ครูสอนศาสนาของโรงเรียนแห่งนี้ เมื่อ 24 สิงหาคม 2547 ในคดียิงพลทหารสุทัศน์ แก้วกลาง แต่ถูกยิงสวนได้รับบาดเจ็บ ที่จังหวัดปัตตานี

โรงเรียนพัฒนาอิสลามวิทยา ตำบลลำใหม่ อำเภอเมือง ซึ่งมีนักเรียนที่เสียชีวิตในเหตุการณ์วันที่ 28 เม.ย. 2547 ถึง 15 คน และโรงเรียนตาร์เบียตุลวาตันมูลนิธิ หรือโรงเรียนปอเนาะมะลายูบางกอก อำเภอเมือง ที่มี "อับดุลวาฮับ ดาตู" เป็นครูใหญ่

ทั้งนี้โรงเรียน ถูกตรวจค้นเพราะ "อิสมาแอล บอซู" หรือ "เป๊าะสู" ที่หนีไปหลบซ่อนอยู่ในรัฐกลันตัน มาเลเซีย ซัดทอดว่า มีส่วนร่วมในการเขียนหนังสือบิดเบือนคัมภีร์อัลกุรอาน ประเด็นสำคัญอยู่ตรงเจ้าหน้าที่รัฐไทยอ้างว่า "อับดุลวาฮับ ดาตู" ยอมรับสารภาพเป็นแกนนำขบวนการแบ่งแยกดินแดนภาคใต้

นอกจากนี้ ยังมีการตรวจค้นโรงเรียนดำรงค์วิทยา อำเภอบันนังสตา และอีกหนึ่งแห่งในตำบลบาลอ อำเภอรามัน อันไม่แตกต่างไปจากปอเนาะและโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในจังหวัดนราธิวาส ที่ถูกตรวจค้นเช่นกัน ดังนี้

โรงเรียนอิสลามบูรณะโต๊ะนอ อำเภอยี่งอ หลังเหตุการณ์วันที่ 4 ม.ค. 2547 โรงเรียนนี้ถูกตรวจค้นหลายครั้ง มีการนำเด็กนักเรียนมาพิมพ์ลายนิ้วมือด้วย โรงเรียนบูรณะโต๊ะนอ เคยถูกตรวจค้นมาแล้ว เมื่อครั้งโต๊ะครู "มัยสุรุ อับดุลเลาะห์" เจ้าของโรงเรียนถูกจับกุมในข้อหาเป็นสมาชิกขบวนการก่อการร้าย ญามีอะห์ อิสลามียะห์ หรือ เจ.ไอ. เมื่อปี 2546 ปัจจุบันเหลือเด็กนักเรียนอยู่ประมาณ 70 คน จากเดิมที่เคยมีนักเรียนถึง 400 คน

โรงเรียนสัมพันธ์วิทยา อำเภอเจาะไอร้อง เป็นโรงเรียนที่ "มะแซ อุเซ็ง" ที่กำลังหลบหนีข้อกล่าวหาในคดีที่เกี่ยวกับความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะที่สถานศึกษาที่มีชื่อเสียงอย่าง โรงเรียนแสงธรรมวิทยา อำเภอสุไหงโก - ลก ก็ถูกตรวจค้นมาแล้วเช่นกัน

นี่คือ ปอเนาะและโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ที่ถูกตรวจค้นบางส่วน เฉพาะเท่าที่รวบรวมข้อมูลมาได้เท่านั้น กล่าวกันว่า ยังมีอีกหลายโรงเรียนหลายปอเนาะที่ถูกตรวจค้นอย่างเงียบๆ ไม่ปรากฏเป็นข่าวให้เป็นที่รับรู้กันในวงกว้าง อันเป็นการตรวจค้น ในท่ามกลางความไม่พอใจของบรรดา "โต๊ะครู" ที่กำลังบ่มเพาะรอวันปะทุ

มูฮำหมัด ดือราแม
ศูนย์ข่าวภาคใต้รายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net