นักกม.แฉรัฐละเมิดรธน.เอื้อผูกขาด" สิทธิบัตร"

ประชาไท - 29 ก.ย.47 กมธ.ต่างประเทศ วุฒิสภา เชิญทุกฝ่ายชี้แจงความเชื่อมโยง" สิทธิบัตร" "อนุสัญญา PCT" และ "FTA" หลังเกิดกรณีถกเถียงเกี่ยวกับสิทธิบัตรในมะละกอจีเอ็มโอ "เจริญ คัมภีรภาพ" ชี้รัฐบาลละเมิดรัฐธรรมนูญ อนุมัติโดยไม่ผ่านสภา ด้านรองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญายืนยัน PCT เป็นแค่ "รถขนส่ง" อำนวยความสะดวก

"การที่ไทยเข้าเป็นภาคี PCT เป็นการให้สิทธิคนต่างชาติในไทย จะต้องมีการแก้กฎหมายสิทธิบัตรเดิม ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรา 224 ระบุว่าต้องเสนอผ่านรัฐสภา ดังนั้น มติครม.เมื่อวันที่ 7 เม.ย.จึงขัดรัฐธรรมนูญ" นายเจริญ คัมภีรภาพ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าว

ทั้งนี้ มติครม.เมื่อวันที่ 7 เม.ย.2547 ได้เห็นชอบให้กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการให้ไทยเข้าเป็นภาคี PCT ได้ และขณะนี้อยู่ในขั้นของการขอความเห็นจากคณะกรรมการกฤษฎีกา

นายเจริญกล่าวต่อว่า อนุสัญญา PCT เป็นหนึ่งในระบบกฎหมายระหว่างประเทศ ที่เชื่อมโยงกับการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ซึ่งสหรัฐอเมริกาพยายามผลักดันให้ประเทศคู่เจรจาเป็นภาคี PCT เพื่อนำไปสู่การขยายความคุ้มครองสิทธิบัตรไปยังสิ่งมีชีวิต ถือเป็นการพยายามผลักฐานทรัพยากรชีวภาพออกไปนอกประเทศโลกที่ 3 โดยคนที่มีเทคโนโลยีสูงกว่าจะฉวยโอกาสของความคุ้มครอง แล้วใช้ระบบสิทธิบัตรขยายให้กว้างไปในประเทศต่างๆ

"PCT เป็น road map ผูกขาดทรัพย์สินทางปัญหา ปัญหาPCT จึงเป็นจุดเปลี่ยนทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญของชาติ ซึ่งต้องเชื่อมโยงกับระบบกฎหมายระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิบัตรทั้งระบบ ดังนั้นรัฐสภาจึงมีสิทธิ 100% ที่จะพิจารณาความเหมาะสม" นายเจริญกล่าว

ขณะที่นายกฤษฎา พงษ์พันธุ์ นักกฎหมายกฤษฎีกา 7 ว. จากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกากล่าวว่า ทางกฤษฎีกาตั้งข้อสังเกตไว้แล้วในการออกกฎกระทรวงเพื่อรองรับการเป็นภาคี PCT จึงได้มอบหมายให้กรมทรัพย์สินทางปัญญา ไปศึกษาทั้งอนุสัญญา PCT ซึ่งอยู่ในสนธิสัญญา Paris ก่อนว่าต้องออกกฎหมายระดับใดเพื่อรองรับพันธกรณีจากสนธิสัญญาและอนุสัญญาดังกล่าว เมื่อได้ข้อยุติแล้วให้เสนอคณะกรรมการกฤษฎีกาอีกครั้งเพื่อพิจารณาต่อ

ด้านนายบรรยงค์ ลิ้มประยูร รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญากล่าวว่า ระบบPCT เป็นเหมือนระบบรถขนส่งที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ยื่นคำขอ ซึ่งไทยพยายามดำเนินการเรื่องนี้มาเป็น 10 ปีแล้ว และกระทรวงพาณิชย์เพิ่งได้ข้อสรุปเสนอต่อครม.ไปตั้งแต่วันที่ 4 ส.ค.2546 ขณะนี้อยู่ในขั้นให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา ส่วนว่าจะอยู่ในข้อเจรจาเอฟทีเอหรือไม่นั้นเป็นเรื่องของคณะเจรจาที่ต้องต่อรอง

"ไม่ว่าจะมี PCT หรือไม่ การเรียกร้องกดดันต่างๆ จากภายนอกก็ยังคงมีอยู่ กรมทรัพย์สินทางปัญญาเพียงต้องการให้คนไทยจดสิทธิบัตรง่ายขึ้น เพราะขณะนี้คนไทยเริ่มจดสิทธิบัตรกันมากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับคนต่างชาติ เป็น 40:60 จาก 10:90"

นอกจากนี้นายบรรยงค์ ยังได้ตอบคำถามที่ประชุมซึ่งได้ซักถามหลายครั้งว่ามีการประเมินข้อเสียจากการเข้าเป็นสมาชิก PCT หรือไม่ว่า ผู้ที่จะได้รับผลเสียโดยตรงก็คือกลุ่มทนาย ซึ่งจะเสียรายได้ในการดำเนินการยื่นคำขอ เพราะผู้ยื่นคำขอสามารถยื่นจดที่ใดก็ได้เพียงที่เดียว แล้วระบุประเทศสมาชิกต่างๆที่ต้องการให้คุ้มครองได้โดยไม่ต้องเดินทางไปดำเนินการทีละประเทศ ทั้งนี้ แต่ละประเทศก็ยังมีสิทธิที่จะตรวจสอบคำขอนั้นอีกครั้งหนึ่ง

ด้านดร.เจษฎ์ โทณะวณิก นักกฎหมายอิสระ ตั้งข้อสังเกตว่า การที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาเสนอเป็นกฎกระทรวงให้กฤษฎีพิจารณา อาจตีความได้ว่าได้ว่ากรมทรัพย์สินทางปัญญามีความคิดที่จะเลี่ยงการตรวจสอบจากรัฐสภา นอกจากนี้ยังตั้งคำถามต่อศักยภาพของกรมทรัพย์สินทางปัญญาที่จะตรวจสอบการยื่นคำขอจดสิทธิบัตรจำนวนมากจากประเทศพัฒนาแล้ว

มุทิตา เชื้อชั่ง
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท