Skip to main content
sharethis

15 มิถุนายน 2547 รัฐบาลประกาศยกระดับสถาบันราชภัฎทั่วประเทศให้มีสถานะเป็นมหาวิทยาลัย ทว่าภายใต้คำ "มหาวิทยาลัย" มิใช่เพียงการยกระดับตัวเองจากสถาบันระดับรองเท่านั้น หากแต่มีโจทย์ใหญ่รออยู่ 2 ข้อ

โจทย์ข้อแรก ยกระดับ = ลอยแพ
ภายใต้ข้อกำหนดของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ที่เข้ามาช่วยเหลือประเทศไทยในวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 นั้น ข้อกำหนดหนึ่ง คือ ผลักดันมหาวิทยาลัยของรัฐออกจากระบบราชการเพื่อลดต้นทุนที่รัฐต้องจ่ายให้การศึกษาระดับอุดมศึกษา ซึ่งยังคงเป็นภาระที่มหาวิทยาลัยของรัฐทั้งหลายต้องขบคิดทางหนีทีไล่และทางได้มาซึ่งงบประมาณที่จะหล่อเลี้ยงตนเองอยู่ในขณะนี้

ทันทีที่มีการประกาศยกระดับสถาบันราชภัฏทั่วประเทศให้มีสถานะเทียบเท่ามหาวิทยาลัย นั่นหมายความว่า ต่อจากนี้ไป โจทย์ใหญ่ที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชภัฏจะต้องคิดให้จงหนักก็คือ "งบประมาณ"

ทางรอดอยู่ที่ธุรกิจ ไม่ใช่ค่าหน่วยกิต
ผศ.สุขุม เฉลยทรัพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต กล่าวถึงโจทย์ข้อนี้ว่า "มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตเตรียมตัวออกนอกระบบประมาณปี 2548-2549 และ มั่นใจว่าไม่น่ามีปัญหาเรื่องงบประมาณ เนื่องจากมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิตมีธุรกิจเป็นของตัวเอง อาทิ ธุรกิจเบเกอร์รี่ โรงแรม ฟิตเนสเซ็นเตอร์ รวมเป็นรายได้ทั้งหมดปีละ 800 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาสวนดุสิตได้รับงบประมาณจากรัฐเพียงปีละ196 ล้านบาท ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับมหาวิทยาลัยของรัฐได้เป็นพันล้าน"

"เพื่อให้เราอยู่รอดได้ นอกจากคิดเรื่องการเรียนการสอนแล้ว ณ วันนี้เราต้องนำแนวคิดธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โดยต่อจากนี้ไปอาจารย์ที่จะเข้ามาสอนในสวนดุสิตถ้าสอนเป็นอย่างเดียวเราจะไม่รับ แต่จะต้องมีแนวคิดด้านธุรกิจวิชาการด้วย" ผศ.สุขุม กล่าว

สำหรับแนวคิดด้านธุรกิจที่ทางมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิตกำลังเริ่มดำเนินการ เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับสถาบัน ประกอบด้วย การขยายงานวิจัยเชิงสำรวจ ซึ่งเป็นการขยายผลจากการทำ "สวนดุสิต โพลล์" การตั้งสถานรับเลี้ยงเด็ก และการขยายเฟรนไชน์เบเกอร์รี่ เป็นต้น ทั้งนี้จะไม่มีการเพิ่มรายได้เข้าสถาบันโดยการเพิ่มค่าหน่วยกิตนักศึกษา โดยค่าหน่วยกิตจะยังคงราคาเดิมต่อไปเป็นระยะเวลา 5 ปี

โจทย์ข้อที่ 2 ลูกค้าราชภัฏ ลดปีละ 10%
โจทย์ใหญ่อีกข้อหนึ่งที่รออยู่ คือ "ลูกค้า" ซึ่ง หลายปีที่ผ่านมาสถาบันราชภัฏทั่วประเทศกว่า 16 แห่ง มีเด็กให้ความสนใจเข้ามาเรียนน้อยลง ทั้งนี้เป็นเพราะมหาวิทยาลัยเอกชนหลายแห่งขยายจำนวนการรับนักศึกษา ประกอบกับมหาวิทยาลัยของรัฐ ทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีโครงการพิเศษเรียน 2 ภาษา จึงแย่งจำนวนนักศึกษาจากสถาบันราชภัฎไปจำนวนหนึ่ง

" มีการคาดการณ์กันว่าจำนวนนักศึกษาที่จะเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยราชภัฎต่าง ๆ จะลดลงถึงปีละ10 % เพราะเดี๋ยวนี้การศึกษาเปิดกว้างมาก ไม่ต้องเข้าเรียนในสถาบันศึกษาก็ได้ รวมทั้งมหาวิทยาลัยเอกชนก็เป็นทางเลือกหนึ่ง ผมจึงกลัวว่าอีก 4-5 ปีราชภัฎจะไม่มีเด็กให้สอน" ผศ.สุขุมกล่าวถึงปัญหาข้อที่ 2 ของมหาวิทยาลัยราชภัฏซึ่งหนักหน่วงไม่แพ้ข้อแรก

หาจุดขาย สร้างแบรนด์
" ในอนาคตจะทำให้แบรนด์ของมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิตติดอันดับ 1 ใน 10 ของมหาวิทยาลัยในไทยให้ได้ บัณฑิตที่จบจากที่นี่ทุกคนจะต้องมีจุดเด่น จุดขาย เมื่อก้าวออกไปประกอบวิชาชีพทุกคนจะรู้ว่าจบจากสถาบันแห่งนี้" ผศ.สุขุมกล่าวแสดงความคาดหวังและเชื่อมั่นในทางออกเกี่ยวกับปัญหาความนิยม "แบรนด์ราชภัฏ" ที่มีแนวโน้มจะลดน้อยถอยลงไปเรื่อย ๆ

ในฐานะอธิการบดี ผศ.สุขุมกล่าวว่าตนจะผลักดันให้มหาวิทยาลัยราชภัฎดุสิตเป็นมหาวิทยาลัยระดับอาเซียนให้ได้ เรียนที่นี่ต้องได้มากกว่าปริญญา ไม่ใช่มีความรู้ด้านภาษาและด้านไอที ซึ่งไม่เพียงพอ ต้องขยายโอกาสให้เด็กไม่ต้องมัวรอตลาดแรงงาน แต่ต้องสามารถประกอบวิชาชีพเองได้

ทางด่วนให้นักศึกษาจบปริญญาตรีได้ภายใน 3 ปีครึ่ง สร้างเครือข่ายกับมหาวิทยาลัยที่ได้รับการรับรองจากต่างประเทศให้เด็กที่จบจากสวนดุสิตสามารถไปเรียนต่อได้โดยไม่ต้องไปสอบพื้นฐานอีก เหล่านี้คือแนวทางในอนาคต

เรื่องใหญ่ของมหาวิทยาลัยราชภัฏ
"ในส่วนสถาบันราชภัฎอื่น ๆ อาจจะมีปัญหาบ้าง แต่สำหรับสวนดุสิตไม่มีปัญหา" อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตกล่าวถึงแนวโน้มที่จะจัดการปัญหาของมหาวิทยาลัยราชภัฏที่ต้องเผชิญเหมือน ๆ กัน

แต่นั่นหมายความว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตอาจไม่ถือเป็นตัวแทนของมหาวิทยาลัยราชภัฏอื่น ๆ ที่เหลืออยู่เกือบทั่วประเทศ ซึ่งขาดประสบการณ์ทั้งการพึ่งพาตนเอง และความสามารถในการตลาดเพื่อหาจุดขายให้ตนเอง

โจทย์ใหญ่ 2 ข้อที่สวนดุสิตมีแนวโน้มว่าจะแก้ทางได้โดยไม่ยากเย็นนั้น สำหรับมหาวิทยาลัยราชภัฏอื่น ๆ แล้ว การก้าวกระโดดขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อรับภาระงบประมาณด้วยตนเอง การต่อสู้กับค่านิยมสถาบันการศึกษาซึ่งส่งผลต่อจำนวนนักศึกษา เพียง 2 ประการนี้ก็เพียงพอจะเป็นโจทย์ใหญ่ที่จะชี้วัดการอยู่รอดของมหาวิทยาลัยราชภัฏเลยทีดียว

กองบรรณาธิการ
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net