Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

งานใหญ่ที่ยังรอเจ้าภาพแสดงบทบาท
สุธิดา สุวรรณกันธา

เกือบครึ่งปี นับจากนิตยสาร National Geographic Traveler ได้ตีพิมพ์ผลการสำรวจจากนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญทางด้านการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน (Sustainable Tourism) และคุณภาพสถานที่ท่องเที่ยว จำนวน 200 คน และระบุว่าจังหวัดเชียงใหม่จัดอยู่ในกลุ่ม "Getting Ugly"

หากกล่าวถึงการเคลื่อนไหวและแสดงบทบาทของหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง แทบจะมองไม่เห็น แต่ที่เห็นการตื่นตัวในระดับองค์กร ก็คงจะเกิดจากการริเริ่มจัดสัมมนาเรื่อง "เชียงใหม่ Getting Ugly จริงหรือ?" ของหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2547 ณ วิทยาลัยฟาร์อีสเทอร์น ซึ่งหลังจากเวทีคราวนั้น เทศบาลนครเชียงใหม่ในฐานะเจ้าภาพที่ถูกพาดพิงมากที่สุด ก็รับเป็นเจ้าภาพจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ร่วมกับหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้หัวข้อ "แก้ไขปัญหาเชียงใหม่ Getting Ugly" เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2547 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมโลตัส ปางสวนแก้ว

การจัดเวที Workshop ครั้งที่สอง เป้าหมายใหญ่คือ ต้องการให้ได้แผนปฏิบัติการและเจ้าภาพออกมารับผิดชอบ เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาไม่ให้เชียงใหม่น่าเกลียดยิ่งขึ้น และเป็นแผนงานที่เป็นรูปธรรมออกมาอย่าง ชัดเจน โดยจัดแบ่งกลุ่มของปัญหาออกเป็น 3 ประเด็นใหญ่ ๆ ที่เป็นประเด็นหลักที่สื่อต่างชาติฉบับดังกล่าวใช้เกณฑ์ประเมินคือ

1.ปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ขยะ ,น้ำเสีย, ฝุ่นละออง , ป้าย ฯลฯ 2.ปัญหาทางด้านวัฒนธรรม ได้แก่ ภาษา, การแต่งกาย, การเปลี่ยนไปทางสังคม ฯลฯ 3.ปัญหาทางด้านการจัดการแหล่งท่องเที่ยว

การจัดสัมมนาคราวนี้มีผู้เข้าร่วมจากกลุ่มสาขาอาชีพต่าง ๆ และหน่วยงานที่หลากหลายกว่า 200 คน นับว่าเป็นการจัดงานที่ได้รับความสนใจมากพอสมควร กับการคาดหวังว่าจะได้สิ่งที่เป็นแนวทางแก้ไขออกมาเป็นรูปธรรม ทว่า เนื้อหาหลักของการสัมมนายังวนอยู่กับการสะท้อนปัญหาที่ทุกฝ่ายทราบกันดีอยู่แล้ว เพียงแต่มีรายละเอียดที่แตกต่าง และต้องลงลึก ซึ่งในแต่ละกลุ่มได้สะท้อนปัญหาดังนี้

กลุ่มที่ 1 เป็นการถกกันในเรื่องปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เป็นกลุ่มที่มีสมาชิกร่วมถกประเด็นจำนวนมากที่สุด เนื่องจากครอบคลุมปัญหาหลายด้าน

1.ด้านมลภาวะ ที่แยกออกเป็นหลายปัญหาได้แก่ ปัญหาขยะ ที่มีเสียงสะท้อนว่าในเขตคูเมืองและในตัวเมือง ไม่มีการจัดตั้งถังขยะให้เป็นสัดส่วน ชาวบ้านจึงนำขยะมาวางไว้ข้างทาง ส่งผลให้เกิดกลิ่นเหม็น และบางแห่งมีสุนัขมากัดแทะถุงทำให้เกิดความสกปรก ขณะที่ผู้รับเหมาในการจัดเก็บขยะ ปฏิบัติหน้าที่ไม่สมบูรณ์ กรณีมีขยะตกหล่น มีน้ำขยะไหลออกมาจากรถ และขยะติดเชื้อที่ทางเทศบาลมีการจัดเก็บอย่างไร

ส่วนปัญหาด้านจราจรยังมีปัญหาเรื่องระบบขนส่งมวลชนไม่เพียงพอและไม่มีมาตรฐาน ประชาชนส่วนใหญ่จึงเลือกใช้รถส่วนตัว ทำให้ปริมาณรถเพิ่มขึ้นและเกิดปัญหารถติด ขณะที่ยังมีผู้ไม่ปฏิบัติตามกฎจราจรจำนวนมาก ด้านปัญหาอากาศ ที่ปัจจุบันมีโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่เกิดขึ้นจำนวนมาก มีการเผาขยะกันเองตามสถานที่ต่างๆ ส่งผลให้เกิดขี้เถ้าลอยฟุ้งกระจาย การขนดินที่ไม่ได้มาตรฐาน ทำให้เศษดิน หิน ทราย ตกหล่นบนท้องถนน

สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาและข้อเสนอแนะที่ได้มีการเสนอต่อที่ประชุมคือ ด้านขยะ ควรให้ความรู้เกี่ยวกับการกำจัดขยะให้ประชาชนได้ทราบทุกคนและมีส่วนร่วมในการปฏิบัติ จัดระบบการจัดเก็บขยะ รณรงค์ให้ประชาชนมีถังขยะของแต่ละบ้านและมัดปากถุง เมื่อจัดเก็บขยะแล้ว ควรกำจัดกลิ่นด้วย

ด้านการจราจร ควรเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายในการใช้รถใช้ถนน สร้างระบบขนส่งมวลชน ขอความร่วมมือสถาบันการศึกษาในการจัดรถนับส่งเด็กนักเรียน เพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัด

ด้านอากาศ ควรสร้างจิตสำนึกให้กับประชาชนให้เข้าใจถึงระบบการเผาขยะ การสร้างเชียงใหม่เมืองสีเขียว โดยปลูกต้นไม้และไม้ดอกไม้ประดับตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น วัดทุกวัด โรงเรียนทุกแห่ง สถาบันการศึกษา องค์กรและหน่วยงานต่าง ๆ ถนนสายหลัก

2.ด้านทัศนอุจาด ซึ่งได้แก่ ป้าย ที่ในปัจจุบันมีการติดอยู่ทั่วทั้งเมือง โดยเฉพาะป้ายขนาดใหญ่บดบังทัศนียภาพของเมือง และป้ายขนาดเล็กที่ติดตามเสาไฟฟ้า รวมทั้งป้ายที่วางอยู่บนทางเท้า ซึ่งกีดขวางทางเดิน เช่นเดียวกับแผงลอย มีการวางแผงลอยบนทางเท้า เป็นการกีดขวางทางเดิน มีการตั้งร้านอาหารบนทางเท้า นอกจากกีดขวางทางเดินแล้ว ร้านค้ายังมักง่ายเทน้ำจากการประกอบอาหารลงบนถนนและตามท่อระบายน้ำ รวมถึงร้านค้าย่านไนท์บาร์ซาร์ ที่ออกมาตั้งร้านริมทางเท้า ซึ่งควรจัดระเบียบใหม่จัดแต่งร้านให้สวยงาม

นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมถกปัญหาในกลุ่มนี้ยังเสนอปัญหาเรื่องผังเมืองและการใช้พื้นที่ให้เป็นประโยชน์ พื้นที่บางแห่งในเขตตัวเมือง ยังคงมีที่ดินเปล่าไม่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์แต่อย่างใด และการแบ่งโซนยังไม่ชัดเจน ด้านอาคารสูง ควรใช้กฎหมายควบคุมอาคารสูง เพราะปัจจุบันมีตึกสูงจำนวนหนึ่งผุดขึ้นใกล้เคียงสถานที่ที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น เช่น โรงเรียนและวัด

สำหรับกลุ่มที่ 2 เป็นการถกประเด็นปัญหาทางด้านวัฒนธรรม ที่หลายหน่วยงานสะท้อนออกมา 5 ด้านคือ 1.ด้านภาษา ที่ปัจจุบันเด็ก ๆ พูดภาษท้องถิ่นน้อยลง ทั้ง ๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวเหนือที่ควรอนุรักษ์ไว้ และยังไม้เน้นความสำคัญการเรียนการสอนภาษาท้องถิ่นมากนัก

2.ด้านการแต่งกาย มีการแต่งชุดพื้นเมืองน้อยลง วัยรุ่นส่วนใหญ่นิยมแต่งตัวนุ่งน้อยห่มน้อย ขาดความรู้ที่จะแต่งชุดพื้นเมืองอย่างถูกต้องตามวัฒนธรรม 3.ประวัติศาสตร์ สถานที่ประวัติศาสตร์ โบราณสถานถูกรุกล้ำและถูกทำลาย สถานที่ท่องเที่ยวบางแห่งไม่มีการตกแต่งที่เข้ากับความเป็นเมืองล้านนา วัดบางแห่งไม่มีการจัดระเบียบความสะอาดและความเรียบร้อย ไม่ว่าจะเป็นการขายสลากกินแบ่งรัฐบาล หมอดู และสถานที่จอดรถ

ขณะที่โรงแรมบางแห่งนำสัญลักษณ์ทางพุทธศาสนาไปใช้อย่างไม่เหมาะสม เช่น ฉัตร ซึ่งอาจทำให้เกิดความสับสนในความหมายที่แท้จริง รวมถึงสถาปัตยกรรมแบบล้านนาถูกทำลายมากขึ้น เช่น บ้านไม้ ไม่มีการอนุรักษ์กันไว้ การใช้กาแลประดับ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ทางล้านนาและบ้านแบบเกล็ดไม้ เริ่มเลือนหายไป

4.อาหาร หลายคนมองว่า อาหารพื้นเมืองของเชียงใหม่หารับประทานได้ยากมากขึ้น และขาดการอธิบายคุณค่าอาหารพื้นเมืองให้กับเด็กรุ่นใหม่ 5.ความเสื่อมโทรมทางด้านวัฒนธรรม ขาดแหล่งเรียนรู้และแหล่งสืบทอดเรื่องราวประวัติศาสตร์ ภูมิปัญญาชาวบ้าน เด็กรุ่นใหม่ขาดความรู้เรื่องมารยาทและขาดจิตสำนึกในการปฏิบัติอย่างจริงจัง เช่นการไหว้ ขณะที่คุณค่าเก่าแก่ทางประเพณีไม่ได้รับการอนุรักษ์เท่าที่ควร เช่น เทศกาลสงกรานต์ การรดน้ำดำหัว การขนทรายเข้าวัด

กลุ่มที่ 3 ปัญหาการจัดการด้านท่องเที่ยว การจัดระเบียบเข้าชมแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม เช่น วัดพระธาตุดอยสุเทพและการจัดให้มีป้ายบรรยายสถานที่และประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่เป็นภาษาอังกฤษ ขาดองค์กรและบุคลากรดูแลและนำชมวัด บางแห่งสุนัขประจำวัดเยอะและดุ ปัญหาการเรียกร้องผลประโยชน์จากผู้ประกอบการท่องเที่ยว การแต่งกายของมัคคุเทศก์ที่ไม่มีความเป็นล้านนา ไนท์บาร์ซาร์ขาดความเป็นระเบียบเรียบร้อย ขาดห้องน้ำสาธารณะตามแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ หรือบางแห่งมีแต่ไม่สะอาดพอที่จะเข้าไปใช้ได้อย่างสะดวก

ทั้งนี้ จากการระดมความคิดเห็นในแต่ละกลุ่ม ได้มีการเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาและหน่วยงานที่รับผิดชอบ กลุ่มที่ 1 ปัญหาด้านมลภาวะต่าง ๆ ที่ประชุมเสนอแนวทางแก้ไขคือ สร้างจิตสำนึกให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันแก้ไขปัญหา รณรงค์ให้เกิดการมีส่วนร่วมของภาครัฐและเอกชน มีการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มงวด หน่วยงานที่รับผิดชอบคือ เทศบาล ภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ องค์การบริหารส่วนจังหวัดและส่วนตำบล

ส่วนแนวทางแก้ไขปัญหาของกลุ่มที่ 2 ด้านวัฒนธรรม โรงเรียนเทศบาลควรให้ครูผู้สอนใช้ภาษาพื้นเมืองทุกวิชา หน่วยงานควรใช้ภาษาพื้นเมืองในการติดต่อสื่อสารกับผู้ใช้ภาษาพื้นเมือง ให้วัดเป็นบ่อเกิดด้านภาษาพื้นเมือง เปิดหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาพื้นเมือง หน่วยงานที่รับผิดชอบคือ องค์กรวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้อง เทศบาล และหน่วยงานต่าง ๆ

ส่วนการแก้ไขปัญหาเรื่องการแต่งกายพื้นเมือง ควรส่งเสริมให้มีการแต่งกายชุดพื้นเมืองในวันพระ ให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องการแต่งกายที่ถูกต้อง ให้โรงเรียนรณรงค์ให้มีการแต่งกายชุดพื้นเมืองในวันศุกร์หรือวันจันทร์ หน่วยงานรับผิดชอบคือ สภาวัฒนธรรม องค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ปัญหาด้านประวัติศาสตร์ ควรมีการอนุรักษ์สถานที่ท่องเที่ยวตามโบราณสถานต่าง ๆ

ในเรื่องอาหาร ควรจัดตั้งร้านค้าประเภทอาหารพื้นเมืองเพิ่มเติมจากที่มีจำนวนน้อยในปัจจุบัน และปัญหาการเสื่อมโทรมของวัฒนธรรม แนวทางแก้คือ อบรมจริยธรรมให้แก่เยาวชนในเรื่องวัฒนธรรม จริยธรรม ให้เยาวชนร่วมสร้างเครือข่ายเพื่อทำการเผยแพร่ต่อไป มีการจัดทัศนศึกษาในสถานที่โบราณ

สำหรับกลุ่มที่ 3 เกี่ยวกับเรื่องการจัดการด้านท่องเที่ยว กรณีการจัดระเบียบการเข้าชมแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ควรประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวได้ทราบ จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์/แผ่นพับ กำหนดเวลาการเข้าชมภายในวัด หน่วยงานรับผิดชอบควรเป็นหน้าที่ของเจ้าของสถานที่ (วัด) และวัฒนธรรมจังหวัด กรณีปัญหาขาดองค์กรและบุคลากรดูแลและนำชมวัด ควรจัดหาบุคลากรที่มีความรู้เช่น คนในชุมชน การแต่งกายของมัคคุเทศก์ก็ควรรณรงค์ให้สวมใส่ผ้าพื้นเมืองกันมากขึ้น หน่วยงานรับผิดชอบคือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ศูนย์ท่องเที่ยวและกีฬา สมาคมมัคคุเทศก์

ส่วนกรณีไนท์บาร์ซาร์ขาดความเป็นระเบียบเรียบร้อย แนวทางแก้ไขคือ ควรปรับโฉมสินค้าของที่ระลึกให้น่าสนใจและมีเอกลักษณ์ของสินค้า มีส่วนจัดแสดงวัฒนธรรมล้านนาเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว หรือสร้างใหม่ในที่เดิม ส่วนประเด็นปัญหามลพิษ ควรมีการปิดถนนภายในคูเมืองเพื่อให้นักท่องเที่ยวเดิน หรือปิดถนนลอยเคราะห์กับถนนท่าแพ หน่วยงานรับผิดชอบคือ เทศบาลนครเชียงใหม่

หลังจากการสัมมนา อนุสนธิที่ทางเทศบาลนครเชียงใหม่ รับจะดำเนินการต่อคือการเป็นเจ้าภาพต่อเนื่องที่จะจัดประชุมเชิงปฏิบัติการลงลึกในแต่ละกลุ่ม โดยจะมุ่งเน้นผู้ที่มีความสนใจและมีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหานั้น ๆ โดยตรง มาร่วมประชุมที่เทศบาลนครเชียงใหม่อย่างต่อเนื่องสัปดาห์ละกลุ่มปัญหา โดยจะจัดอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับการกำหนดตัวเจ้าภาพในการแก้ไขปัญหาอย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาไม่ให้เชียงใหม่จัดอยู่ในกลุ่ม Getting Ugly ก็ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ที่ไม่ได้แก้ไขกันได้ง่าย ๆ ในเวลาเพียงไม่กี่เดือน เนื่องจากทุกปัญหามีความสลับซับซ้อน และเกี่ยวพันกันทั้งหมด ประการสำคัญคงไม่สามารถแก้ไขปัญหาด้วยองค์กรใดองค์กรหนึ่ง หรือประชาชนคนใดคนหนึ่ง

หากแต่ขึ้นอยู่กับทุกคนที่อยู่ในเชียงใหม่ที่จะเป็นเจ้าภาพร่วมกันแก้ไขปัญหา ตรวจสอบ และตื่นตัว ทำบทบาทแบบผู้เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้น มิใช่ปล่อยให้สิ่งแวดล้อมที่ Getting Ugly กลายเป็นความเคยชิน และโยนให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรับปัญหาที่หนักอึ้งนี้ไปแทน แล้วเราจะสร้างเจ้าภาพที่ทำบทบาทที่เป็นรูปธรรมได้อย่างไร เป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องรอคำตอบต่อไป.

โครงการความร่วมมือด้านข่าวภูมิภาค
พลเมืองเหนือ-ประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net