Skip to main content
sharethis

ต้องยอมรับว่า "ถนนคนเดิน" ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมในเมืองเชียงใหม่ไปแล้ว ทุกวันอาทิตย์ หลายคนฝากชีวิตไว้บนพื้นถนนราชดำเนินกลางเวียงเชียงใหม่ บ้างไปเป็นคนขาย บ้างเป็นคนจับจ่าย บ้างไปใช้ชีวิตยามเย็นให้มีสีสัน

2 ปีเศษที่ถนนคนเดินเชียงใหม่เกิดขึ้นมา และคงอยู่สร้างปรากฏการณ์นานที่สุดในประเทศ ขณะที่ถนนที่อื่นล้มหายสลายไปหมดแม้กระทั่ง 7 มหัศจรรย์ที่สีลมอันเป็นจุดชนวนเริ่มต้นของโครงการและมีปัจจัยหลายประการพร้อมให้คงอยู่มากกว่าเชียงใหม่

แต่ถนนคนเดินที่เชียงใหม่ มิได้รับใช้วัตถุประสงค์ดั้งเดิมที่รัฐบาลกำหนดไว้แต่แรก ลดมลพิษ และประหยัดพลังงาน …อย่าได้พูดถึง ถนนคนเดินเชียงใหม่ห่างไกลกับเป้าประสงค์นี้อย่างสิ้นเชิง

เรื่องของการส่งเสริมการท่องเที่ยว อาจเกี่ยวเนื่องได้เล็กน้อย แต่ไม่ทั้งหมด เพราะกว่า 30,000 ชีวิตที่ทำให้เม็ดเงินสะพัดในพื้นที่นี้สัปดาห์ละกว่า 10 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นคนท้องถิ่นต่างหาก

ผลวิจัยจากอาจารย์ระวิวรรณ โอฬารรัตน์มณี และอาจารย์รุจิยา มุสิกะลักษณ์ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ยืนยันเช่นนั้น

////////

"ถนนคนเดินที่เกิดขึ้นในต่างประเทศจะมองเรื่องการเดินเท้า แต่เมืองเชียงใหม่กลับเป็นเรื่องของกิจกรรม แต่ก็ไม่ถือว่าผิดเสียทีเดียว เพราะปัจจัยที่ทำให้เกิดการเดินเท้าของต่างประเทศมีทั้งการปิดถนนถาวร สร้างบรรยากาศทั้งวันทั้งคืน ซึ่งเราจะไม่น่าจะตีความว่าดีกว่าหรือไม่ดีเพราะปัจจัยต่างกัน แต่สิ่งที่เราพบคุณค่าของมันคือเป็นที่ที่คนท้องถิ่นมาเดิน ไม่ใช่นักท่องเที่ยวเหมือนไนท์บาซาร์ และเกิดพื้นที่สาธารณะสำหรับผู้คนขึ้น"อาจารย์ระวิวรรณบอกกับ "พลเมืองเหนือ"
ตัวเลข 30,000 - 33,000 คนต่อสัปดาห์ที่มาใช้ชีวิตที่ถนนคนเดิน เป็นตัวเลขที่สม่ำเสมอตลอดทั้งปี ไม่ผกผันแม้ฝนจะตก แดดจะออก ความคิดที่ว่าช่วงไฮซีซั่นน่าจะมีผู้คนมาที่นี่เพิ่มมากกว่า แต่หลังจากวิจัยกลับไม่ใช่เช่นนั้น ถือได้ว่าถนนคนเดินได้สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับคนท้องถิ่นกลุ่มหนึ่งได้ และถือว่าเป็นข้อดีที่คนท้องถิ่นสนับสนุนถนนคนเดินนี้ เพราะในเชิงสังคมแล้ว การที่มีพื้นที่และกิจกรรมให้คนออกมาพบปะ สังสรรค์ แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันและมีการแสดงออกด้านศิลปวัฒนธรรมถือว่าเป็นเรื่องดี

แต่ผลกระทบและความสำเร็จของถนนคนเดินเชียงใหม่เมื่อมองย้อนถึงวัตถุประสงค์แรกเริ่มคือการลดมลพิษและประหยัดพลังงาน กลับไม่ได้ตามเป้าหมายนี้อย่างสิ้นเชิง

ผู้คนที่มาที่นี่ยังคงควบมอเตอร์ไซด์ ขับรถส่วนตัวมาติดและจอดอยู่ตามถนนสายต่างๆ โดยรอบ ยิ่งทำให้เกิดมลภาวะและผลกระทบต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัยจากการคับคั่งของรถส่วนตัวที่เข้ามายังพื้นที่

นอกจากนั้นการจัดการที่แบ่งกันตามหน่วยงาน ไม่แบ่งตามประเภทกิจกรรม ทำให้เกิดการปะปน ร้านค้ามากมาย

พฤติกรรมผู้มาถนนคนเดินส่วนใหญ่จะเป็นการชมตลาดมากกว่า มีการจับจ่ายแต่ไม่มาก บ้างกินข้าว บ้างซื้อเสื้อสักตัวหนึ่ง ค่าเฉลี่ยประมาณ 200 บาทต่อคน นั่นเป็นเพราะจำนวนและความหนาแน่นของร้านค้ามีมาก

ความโดดเด่นหนึ่งที่ถนนคนเดินเชียงใหม่มีคือเรื่องของวัฒนธรรม และการพยายามควบคุมเรื่องของการปิ้งย่าง และแอลกอฮอล์ แต่ผู้วิจัยก็เริ่มเห็นแล้วว่า การใช้ลักษณะควบคุมตลอดเวลา ทำให้เมื่อเกิดการคุมลดน้อยลงจะเกิดปัญหาได้ ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นคือการควบคุมเริ่มลดลงบ้างแล้ว

อาจารย์ระวิวรรณวิเคราะห์ว่า การเกิดขึ้นของถนนคนเดินเชียงใหม่ถือเป็นการก้าวกระโดดพัฒนาการถนนคนเดินอื่นๆทั่วโลก และข้ามขั้น เพราะเมืองต่างๆ จะมีวิธีการสนับสนุนต่อเนื่องทั้งระบบขนส่งมวลชน การมีพื้นที่จอดรถใต้ดิน ซึ่งหากจะให้ถนนคนเดินเชียงใหม่เกิดความยั่งยืน บางคีควรจะต้องย้อนกลับไปยังวัตถุประสงค์เริ่มต้นที่ต้องการลดมลพิษและประหยัดพลังงาน โดยการผลักดันให้เกิดขึ้นของระบบขนส่งมวลชนให้ได้ และปลูกจิตสำนึกของผู้คนรายรอบพื้นที่ให้ตระหนักถึงพื้นที่ทางเดิน เพราะต้องยอมรับว่าทางสาธารณะหน้าบ้านหลายบ้านกลายเป็นที่ปลูกต้นไม้สวนแทนการให้คนเดินเท้า

งานวิจัยชิ้นนี้มีข้อเสนอถึงถนนคนเดินเชื่อมโยงหลายเส้นทาง เพราะเห็นว่าเชียงใหม่เหมาะสมที่จะมีถนนคนเดินเพราะมีสี่เหลี่ยมคูเมืองของความเป็นเมืองโบราณตีกรอบไว้อยู่ ข้อเสนอนั้นคือ 3 จุดใหญ่ คือถนนคนเดินราชดำเนินตัดกับถนนพระปกเกล้า ให้เป็นถนนคนเดินวันอาทิตย์ ถนนคนเดินลอยเคราะห์ต่อกับถนนช้างคลานเป็นถนนคนเดินเวลากลางคืน และถนนท่าแพเป็นถนนคนเดินในเวลาเฉลิมฉลองสำคัญ

การเกิดขึ้นของถนนคนเดินเชียงใหม่ แม้จะไม่ตอบสนองตามวัตถุประสงค์เริ่มต้น แต่ได้ก่อให้เกิดผลในอีกด้าน ซึ่งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรได้กลับมาทบทวนและหาทางแก้ไขและสนับสนุนให้ถนนคนเดินเป็นถนนคนเดินในความหมายที่แท้จริงและยั่งยืน มากกว่าคิดว่าการทำให้เกิดและคงอยู่ทุกสัปดาห์คือความสำเร็จแล้ว เพราะถนนคนเดินของเชียงใหม่ยังใกล้เคียงกับการปิดถนนเพื่อทำกิจกรรมอยู่.

โครงการความร่วมมือด้านข่าวภูมิภาค
พลเมืองเหนือ-ประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net