Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

นครหลวงเวียงจันทน์แห่งนี้ ทำให้พวกเรา (บางคน) จากกรุงเทพฯ เมืองฟ้า ออกอาการ บ้านนอกเข้ากรุง ไปได้ง่ายๆ เหมือนกัน

อันที่จริง ตั้งแต่ตอนอยู่บนรถตุ๊กตุ๊กคันเก่ามอซอ ที่นั่งกันมาจากด่านตรวจคนเข้าเมืองของลาวบริเวณสะพานมิตรภาพแล้ว ที่ช่างภาพอาสาสมัครของเราดูจะออกอาการตื่นตาตะลึงใจกับบรรยากาศริมสองข้างทางเป็นพิเศษ ชั่วโมงนั้น บอกได้เลยว่าอะไรผ่านเข้าตาเขาก็ล้วนแต่น่าสนใจทั้งสิ้น กระทั่งของดาดๆ ที่เคยเห็นในบ้านเรา ก็ดูเป็นของแปลกไป เรียกว่าออกอาการเห่อของนอกกันเลยทีเดียว

ผ่านไปพักใหญ่ ตุ๊กตุ๊กก็พาเรามาถึงที่หมาย ที่ที่เราหวังว่าจะเป็นที่พึ่งอันดับ 1 ของการเยี่ยมยามนครเวียงจันทน์ครั้งแรก นั่นคือ "การท่องเที่ยวแห่งประเทศลาว" ที่ตั้งอยู่บนถนนล้านช้างน่ะเอง

"สะบายดี" เจ้าหน้าที่การท่องเที่ยวหนุ่มน้อย ทักทายด้วยท่าทีสุภาพเป็นภาษาลาว

"สวัสดีครับ/ สวัสดีค่ะ" พวกเราทักตอบแบบไทยๆ ทันทีด้วยความเคยชิน

นี่ถือเป็นการทักทายแบบลาวครั้งแรกที่เจอ และอีกนับสิบครั้งที่อยู่ที่นี่ ถือเป็นปกติเหมือนคำทักทาย "สวัสดี" ของไทย แล้วเราก็เริ่มสอบถามข้อมูล

แต่…ไม่ทันไร ที่พึ่งอันดับ 1 ก็ทำเราอกหักแต่แรกพบเสียแล้ว เราแทบไม่ได้ข้อมูลอะไรตามที่ต้องการ ไม่ว่าข่าวคราวเรื่องการประชุมเขื่อนน้ำเทิน 2 หรือที่ตั้งของสถานที่ประชุมที่เราจะไปทำข่าว หรือกระทั่งที่พักซึ่งอยู่ใกล้ๆ ที่ประชุม กระนั้น ก็ยังดีที่ได้แผนที่แจกฟรีสีสวยสดมาหนึ่งแผ่น พร้อมด้วยคู่มือการปฏิบัติตัวของนักท่องเที่ยวในลาวอีกหนึ่งเล่มเล็กๆ แต่พอดูแล้ว ก็ไม่ช่วยให้อะไรๆ ดีขึ้นเท่าไหร่ แค่อุ่นใจว่า อย่างน้อยก็มีแผนที่เวียงจันทน์ติดตัวเพิ่มขึ้นอีกอันนึงละฟะ (มีที่เอามาจากกรุงเทพฯ ซึ่งใช้การไม่ได้อยู่แล้ว 1 อัน) เผื่อเอาไว้กันเหนียว หรือไว้ใช้ถามทางใครต่อใครได้บ้าง

มาถึงตอนนี้ เราจึงตัดสินใจว่า ถึงคราวแล้วที่ชาวพุทธ (อย่างเรา) จะต้องนำเอาพุทธภาษิตที่ท่องมาแต่เด็ก มาปฏิบัติอย่างจริงจังซะที "ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน" แล้วเราก็ตุเลงข้าวของก้าวออกไปจากการท่องเที่ยวลาว ไปเผชิญเมืองหลวงด้วยลำแข้งและบาทาของตนตามยถากรรม

เราแบกสัมภาระย่ำไปเรื่อยๆ บนถนนล้านช้าง * ซึ่งเท่าที่มองดูแล้ว ใหญ่ประมาณถนนราชดำเนินของบ้านเรา สภาพการจราจรในช่วงสายแก่ๆ ของวันนั้น (หรือช่วงไหนๆ ของวันอื่นๆ ก็ตาม) ไม่หนาแน่นเลยหากเทียบกับบางกอก (ที่ใช้ บางกอก เพราะได้ยินชาวบ้านทั่วไปที่นี่ยังนิยมเรียกกรุงเทพฯ ว่า บางกอก มีแต่ชนชั้นกลาง (เท่าที่เจอ) ที่เรียกว่ากรุงเทพฯ) แม้จะมีปริมาณรถค่อนข้างมาก แต่ก็วิ่งได้คล่องปรื๋อทั้งสองฝั่ง

การจราจรของที่นี่ รถจะแล่นทางเลนขวา และรถยนต์ที่เห็นส่วนใหญ่เป็นแบบพวงมาลัยซ้าย ต่างจากบ้านเราที่รถแล่นทางเลนซ้าย และรถยนต์เป็นแบบพวงมาลัยขวา และด้วยความแตกต่างนี้เอง ที่ทำให้เรามีเรื่องต้องคอยระมัดระวังตัวกันเสมอทุกครั้งเมื่อจะมีการข้ามถนน โดยเฉพาะครั้งแรก

เนื่องจากเพิ่งมาถึง พวกเราจึงยังปรับตัวเข้ากับอะไรๆ หลายอย่างของที่นี่ไม่ได้ และเจ้าอะไรๆ หลายอย่างที่ว่า อันแรกสุดเลยก็คือ การจราจร

อย่างที่บอกแล้วว่า การจราจรของที่นี่เป็นแบบรถวิ่งเลนขวา ด้วยความความเคยชินกับระบบจราจรรถวิ่งเลนซ้ายแบบบ้านเรา ซึ่งติดตัวมาเป็นนานนับสิบปี บวกเข้ากับที่ท่องจำมาตั้งแต่สมัยเด็กๆ จนขึ้นใจมาถึงทุกวันนี้ว่า "ก่อนข้ามถนนให้มองดูรถทางขวา แล้วค่อยมองซ้าย" ดังนั้น พอจะข้ามถนน ก็จะเป็นไปโดยอัตโนมัติทุกที คือ ต้องหยุดมองขวาก่อน แล้วค่อยมองทางซ้าย แต่...ไม่ใช่กับที่นี่

ด้วยความที่ล้านช้างเป็นถนนกว้าง และตอนที่จะข้าม ก็เหลียวมองขวาก่อน ซึ่งก็เจอกับถนนโล่งๆ ที่ไม่มีรถ (แม้แต่คันเดียว) อยู่เลย พวกเราจึงค่อยๆ พากันขนสัมภาระเดินอาดๆ ข้ามไปอย่างกระหยิ่มใจ จนมาเกือบจะถึงกลางถนน จึงเหลือบไปมองทางซ้ายอย่างที่เคยชิน ปรากฏว่า ภาพที่เห็นคือ ขบวนรถที่เพิ่งหลุดสัญญาณไฟของสี่แยกทางซ้ายมือ กำลังดาหน้าแห่กันมาทางพวกเรา ในวินาทีนั้น จึงเกิดสติขึ้นทันที และงัดเอาวิชาหลวงพ่อโกยออกมา ปุเลงเอาตัวและสัมภาระรอดผ่านมาได้ เหตุการณ์นี้ทำให้เราได้เรียนรู้ว่า "ถ้าอยู่เมืองลาว ให้คิดแบบลาว" และ "เวลาจะข้ามถนน หากจะมองไปทางขวา ให้หันหัวไปทิศตรงข้าม"

เมื่อเดินไปอีกหน่อย ก็มาถึงโรงแรมรอยัล ซึ่งเป็นตึกขนาดไม่ใหญ่นัก ด้านหน้าของตึกตกแต่งไว้อย่างสวยงาม

"คืนละ 40 เหรียญ" พนักงานที่เคาท์เตอร์ตอบด้วยสีหน้าและน้ำเสียงเรียบๆ ราวกับว่าที่พูดนั่นเป็นเงินแค่ 40 บาท หรือ 40 กีบ (ที่นี่ถ้าพูดหน่วยของเงินเป็นเหรียญ จะหมายถึงเหรียญดอลล่าร์สหรัฐฯ) ขณะที่พวกเรากำลังใช้สมองคำนวณกันใหญ่

"พันหก คืนละพันหกร้อยบาทบาท!" ซึ่งแน่นอนที่สุดว่า ค่าพักโรงแรมคืนละ 40 เหรียญ หรือพันหกร้อยบาทนั้น แพงเกินไปสำหรับทีมข่าวเล็กๆ อย่างเราที่มีวาสนาข้ามฝั่งโขงมาเป็นเศรษฐีเงินกีบ

ขณะอยู่ที่นี่ เราต้องคำนวณกันบ่อยๆ ว่า ตอนไหนควรจะจ่ายด้วยเงินบาท หรือน่าจะจ่ายด้วยเงินกีบ ถึงจะเหมาะสมกว่ากัน เพราะหลายครั้ง หากรู้ว่าเรามาจากเมืองไทย ก็มักมีการคิดราคาเป็นจำนวนเงินบาทถ้วนๆ (โดยเฉพาะ คนขับรถตุ๊กตุ๊กบางคน) ซึ่งทำให้เราต้องจ่ายแพงเกินจริง ขณะที่ ชาวบ้านตามร้านขายของชำทั่วไป จะคิดราคาสินค้าเทียบกับค่าเงินบาทที่ประมาณ 200 กีบ ในขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนจริงอยู่ที่บาทละ 260 กีบ

ท่ามกลางแดดที่แผดกล้าขึ้นเรื่อยๆ เข็มนาฬิกาฟ้องว่าเป็นเวลาใกล้เที่ยงแล้ว ถึงตอนนี้พลังงานจากอาหารเย็นวานก็หมดลง และระบบย่อยก็เริ่มทวงถามถึงอาหารของวันใหม่ เวลานี้ สัมภาระที่อยู่บนหลัง ไหล่ และมือของเราดูจะหนักขึ้นกว่าเดิม จนมาถึงประตูชัย ก็พบกับรถขายไอติมยี่ห้อหนึ่งที่เป็นที่รู้จักกันดีในบ้านเรา จึงชวนกันหยุดพักเติมไอติมดับร้อนตรงร่มไม้เตี้ยๆ ตรงข้ามกับมุมหนึ่งของประตูชัย ยืนกินไอติมไปพลาง มองดูนักเรียนที่แตกฮือออกมาจากโรงเรียนในช่วงพักกลางวันไปพลาง เด็กนักเรียนที่นี่แต่งตัวน่ารักดี ผู้หญิงสวมเสื้อเชิ้ตสีขาวแขนสั้นกับผ้านุ่งยาวสีดำ ส่วนผู้ชายสวมเชิ้ตสีขาว มีทั้งแขนสั้นแขนยาวกับกางเกงสแล็คสีดำ

ระหว่างพักกินไอติม เรารู้จากคนขายว่า หากเดินต่อไปตามถนนเส้นเดิม จะมีที่พักอยู่ทางซ้ายมือ และเมื่อช่างภาพถ่ายรูปประตูชัยจนเป็นที่พอใจแล้ว เราก็ออกเดินกันต่อ ไม่ทันพ้นอาณาบริเวณของสวนรอบประตูชัยดี ก็ได้พบกับโรงแรมขนาดกลางแห่งหนึ่ง ซึ่งเมื่อถามแล้วก็อยู่ไม่ไกลจากที่ประชุมมากนัก (ผู้จัดการโรงแรมยืนยันว่า แค่รถวิ่งประมาณ 15 นาที) เราจึงตัดสินใจเลือกที่นี่เป็นพักและพักอยู่ตลอดระยะเวลาที่อยู่ในเวียงจันทน์

ภายหลังจากเช็คอินเรียบร้อย เราก็จัดการกับอาหารกลางวันกันที่โรงแรมกันจนอิ่มแปร้ จากนั้นก็ขอตัวไปงีบด้วยความเพลีย ก่อนจะตื่นมาอีกครั้งในตอนเย็น

การมาเยือนนครเวียงจันทน์ครั้งแรกนี้ นับว่าได้รับการทักทายจากที่เหนื่อยพอดูทีเดียว

* ถนนล้านช้าง เป็นถนนสายสั้นๆ เชื่อมระหว่างประตูชัย และทางแยกตัดกับถนนเสดถาทิลาด (ถนนเชษฐาธิราช ในภาษาไทย) ซึ่งที่เป็นที่ตั้งของ หอคำ หรือทำเนียบประธานประเทศ

----------------------------------------------

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net