ทัวร์ชลบุรี-ระยอง3วัน 2 คืน (ตอน 1)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เช้าวันที่ 5 ต.ค. 47 เราเริ่มออกเดินทางจากกรุงเทพมุ่งสู่ชลบุรีขณะสายฝนเริ่มโปรยปรายลงมา ข้าพเจ้าเข้าสมทบกับคณะจากภาคใต้ซึ่งเดินทางมาถึงตั้งแต่กลางดึก ผู้โดยสารราว 21 คนทำให้รถบัสขนาด 80 ที่นั่งดูโล่งตา ซึ่งมีหลากหลายวัยตั้งแต่ 17 ปี ไปจนถึง 60 ปี

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ได้มาเยือนชลบุรี แต่เป็นครั้งแรกที่ไม่ได้ไปยังสถานที่ที่คนต่างถิ่นนิยมมาเยือนจำพวกแหล่งท่องเที่ยวชายหาดลือชื่อ มากินอาหารทะเลสดๆ แต่คณะกำลังมุ่งหน้าสู่แหล่งนิคม
อุตสาหกรรมแหลมฉบัง อีกสัญลักษณ์หนึ่งของชลบุรี

ราว 2 ชั่วโมงต่อมาเราแวะรับผู้นำทางหรือไกด์ที่จะพาเราท่องเที่ยวชลบุรี-ระยองตลอด 3 วัน 2 คืนคือ "พี่ตุ้ย" ธีรวัจน์ นามดวง ชาวบ้าน อ.ปลวกแดง จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นชุมชนที่เคยหยุดยั้งการสร้างที่ทิ้งขยะสารพิษของบริษัทเจนโก้ในชุมชน รถเคลื่อนตัวช้าๆ ผ่านเข้าไปในเขต นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง ตลอดสองข้างทางคือ โรงงานที่กำลังเดินเครื่องการผลิตอย่างเต็มที่แต่บรรยากาศข้างนอกดูไม่มีความเคลื่อนไหวมากนัก เนื่องจากผู้คนที่เป็นกลจักรสำคัญอยู่ในตัวอาคารมิดชิดที่มองเห็นเพียงควันจากปล่องและรถบรรทุกที่วิ่งไปมา

หลังการสำรวจพบก๊าซธรรมชาติกลางอ่าวไทยในปี 2516 เป็นจุดเริ่มของนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง ส่วนหนึ่งของ โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก(อีสเทิร์นซีบอร์ด) เฟส 1 เริ่มดำเนินการเมื่อปี 2524 ครอบคลุม 3 จังหวัดคือฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่แห่งแรกของเมืองไทย โดยนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบังสร้างเสร็จสิ้นในปี 2534

พี่ตุ้ยเล่าว่า ที่นี่เป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมนับร้อยบนเนื้อที่ 3,556 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมองเห็นรถยนต์มากมายจอดอยู่เรียงราย เราจอดรถเก็บภาพกันเล็กน้อยก่อนเดินทางต่อไปท่าเรือแหลมฉบัง

ระหว่างทางเราผ่านกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับชุมชนอ่าวอุดม ประกอบด้วยโรงกลั่นน้ำมันและคลังเก็บน้ำมันเอสโซ่ คลังก๊าซธรรมชาติของปตท. และคลังเก็บน้ำมันไทยออยล์ซึ่งเป็นที่ฮือฮาจากกรณีคลังน้ำมันระเบิดเมื่อปีที่ผ่านมา

มาถึง บ้านแหลมฉบัง หมู่ 3 ต.ทุ่งศาลา อ.ศรีราชา เราไม่ได้มีโอกาสเข้าไปสัมผัสด้านในของท่าเรือเห็นเพียงความใหญ่โตของท่าเรือแหลมฉบังเป็นทิวทัศน์มองเห็นอย่างถนัดตา เมื่อหันหน้าสู่ทะเล บนเนื้อที่กว่า 6,400 ไร่บริเวณปลายแหลมฉบัง กลายเป็นท่าเรือพาณิชย์มีทั้งท่าเทียบเรือขนถ่ายสินค้าบรรจุตู้สินค้า ท่าเทียบเรือทั่วไป ท่าเทียบเรือชายฝั่งและท่าเทียบเรือสินค้าเกษตร

พวกเราเดินแยกย้ายไปพูดคุยกับชาวบ้านที่นี่ตามอัธยาศัย พี่ สุวิทย์ ศรีคชะ วัย 32 ปี กำลังต่อโต๊ะด้วยไม้ไปด้วยระหว่างพูดคุยกับเราด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม เล่าว่า ที่นี่ถูกเวนคืนที่ดินมาเป็นสิบปีแล้วเพื่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมกินพื้นที่ตั้งแต่หมู่ 1-5 นับหมื่นไร่ แต่ชาวบ้านไม่ยอมเพราะชาวบ้านที่นี่มีเรือทั้งเรือเล็กเรือใหญ่และออกทะเลเป็นอาชีพหลัก ซึ่งชาวบ้านมีการรวมตัวประท้วง แต่ก็ต้องเจอกับการกดดันหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นกรณีการขอน้ำประปาขอโทรศัพท์กลายเป็นเรื่องยากลำบาก บางคนจะนำบ้านไปจำนองหรือค้ำประกันแต่ธนาคารไม่รับเพราะเป็นที่เวนคืน แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ยังอยู่อาศัยมาจนทุกวันนี้

"เขาให้เงินหลังละล้าน จัดที่ให้ไปอยู่ที่ป่าช้าบางละมุง แต่เราไม่เอาเพราะไม่รู้จะไปทำมาหากินอะไร" พี่สุวิทย์ยืนยันชัดถ้อยคำ พร้อมทิ้งท้ายว่าหากสร้างโรงงานนอกเขตชุมชนไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่หากมาขับไล่ชาวบ้านออกจากหมู่บ้านคงไม่ยอมแน่นอน

เมื่อถามถึงเหตุการณ์ถังเก็บน้ำมันไทยออยล์ระเบิดเมื่อปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ห่างที่นี่ออกไปเพียง 3 กิโลเมตร พี่สุวิทย์เล่าต่อว่าที่นี่มีสะเก็ดเหล็กปลิวตามลมมาตกบนหลังคาเสียงดัง ทำให้ชาวบ้านที่นี่ต้องอพยพไปอยู่ที่อื่นชั่วคราว ซึ่งไม่รู้ว่าเหตุการณ์จะซ้ำรอยอีกหรือไม่เพราะทุกวันนี้ชาวบ้านยังอยู่อาศัยที่เดิมและคลังเก็บน้ำมันก็ยังอยู่ที่เดิมเช่นกัน ข้าพเจ้าอดนึกถึงชุมชนอ่าวอุดมที่อยู่ชิดติดกับคลังน้ำมันว่าพวกเขาจะมีชีวิตอยู่กับความรู้สึกอย่างไรเพราะไม่รู้ว่าลูกกลมๆ ยักษ์ที่ว่านั่นมันเกิดระเบิดตูมตามขึ้นมาอีกเมื่อไหร่

ลุง อภินันท์ วงษ์สว่าง วัย 50 ปี อยู่ที่นี่มาตั้งแต่บรรพบุรุษซึ่งเป็นตระกูลแรกๆ ที่เข้ามาตั้งหมู่บ้าน ปัจจุบันลุงอภินันท์ขึ้นจากทะเลหันมารับจ้างแทน แต่ก็ไม่อยากย้ายออกไปจากที่นี่โดยมีชาวบ้านจำนวนหนึ่งที่ทำสวนขายที่แล้วย้ายออก ส่วนที่เหลือจึงเป็นชาวประมงที่ยังต้องอาศัยท้องทะเลเป็นแหล่งทำมาหากิน

"ย้ายที่ไปไม่มั่นคง เขาจัดที่ให้ก็จริงแต่ไม่ได้กรรมสิทธิ์อนาคตถ้าเขาจะมาเอาที่ไปทำอะไร เราคงต้องย้ายอีก คนเราย้ายที่บ่อยคงไม่ไหว" ลุงอภินันท์ให้เหตุผลน่าคิด นอกจากนี้สิ่งที่ลุงอภินันท์เห็นความเปลี่ยนแปลงคือดินริมตลิ่งเริ่มพังเนื่องจากการกั้นเขื่อนท่าเรือ

น้า จะแร กฤษณะภูมิ วัย 43 ปีซึ่งเคยเลี้ยงปลาเก๋าในกระชังบอกว่าปัจจุบันเลี้ยงไม่ได้เพราะน้ำอับ(เข้าใจว่าคุณภาพน้ำเริ่มมีปัญหา) โดยที่ผ่านมามีหลายหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่เกษตร และมหาวิทยาลัยต่างๆนำน้ำในหมู่บ้านไปตรวจแต่ไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร

เราอำลาท่าเรือแหลมฉบังหลังหลบร้อนอาศัยบริเวณลานวัดซึ่งถูกเวนคืนเช่นกัน รับประทานอาหารกลางวันที่นำมาด้วย พี่ตุ้ยได้ให้ภาพที่ชัดเจนขึ้นกับพวกเราว่า ชาวบ้านต่อสู้มาเป็นเวลาเกือบ 30 ปีแล้วลุงจำนงซึ่งเป็นแกนนำสู้มาตั้งแต่อายุ 50 จนปัจจุบันอายุเกือบ 80 ปีแล้ว(แต่พวกเราไม่ได้พบ)ผู้นำหลายคนถูกดึงไปทำงานในโรงงาน ทำให้ปัจจุบันชาวบ้านไม่ได้พูดถึงการรวมตัวมากนัก

"เป็นเรื่องที่ตัดสินยากว่ามีอุตสาหกรรมดีหรือไม่ดี คนที่มีทางเลือกเช่นค้าขายบอกดี แต่ชาวบ้านที่ไม่มีที่ทำกินบอกไม่ดี ซึ่งต้องเลือกว่าเราอยากอยู่อย่างไร" พี่ตุ้ยพูดทิ้งท้าย

หลังแลกเปลี่ยนถึงเรื่องราวที่ไปถามไถ่มา จึงได้เวลาออกเดินทางต่อเข้าสู่จ.ระยอง เพื่อไปยังอ.ปลวกแดง ย้อนไปเมื่อปี 2532 ที่นี่เป็นพื้นที่ซึ่งถูกเลือกโดยกระทรวงอุสาหกรรมเพื่อตั้งโรงงานกำจัดขยะจากอุตสาหกรรมหนักต่างๆ ในพื้นที่ขนาดเท่ากับสองสนามฟุตบอลด้วยเงินลงทุนกว่า 1,400 ล้านบาท แต่เนื่องจากตั้งอยู่เหนือลมชาวบ้านจึงลุกฮือขึ้นคัดค้านเพราะหวาดกลัวถึงผลกระทบที่จะเกิดจากชุมชน ทั้งกลิ่นเหม็นและน้ำเสียที่จะไหลลงสู่แหล่งน้ำ "ขยะที่ไหนให้เอาไปทิ้งที่นั่น" คือเสียงที่ชาวบ้านเปล่งออกมา

เวทีไต่สวนจึงเกิดขึ้น(เป็นครั้งแรกที่มีเวทีการไต่สวนในประเทศไทย) สุดท้ายขยะที่มาจากระยองเป็นส่วนมากจึงต้องนำกลับไปทิ้งที่ระยองจริงๆ ซึ่งพรุ่งนี้เราจะเดินทางไปดูภูเขาขยะสูงเท่ากับตึก 6 ชั้นซึ่งเป็นโครงการเดียวกับที่ชาวปลวกแดงคัดค้าน

สองข้างทางที่รถแล่นผ่านซึ่งมองเห็นเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าสุดลูกหูลูกตา พี่ตุ้ยเล่าให้ฟังว่าปี 2543 มีโครงการสร้างนิคมอุตสาหกรรมร่วมระหว่างบริษัทของไทย-สิงคโปร์โดยมีการกว้านซื้อที่ดินนับหมื่นไร่ จากเดิมที่ตรงนี้เคยเป็นไร่มันสำปะหลัง สวนมะพร้าว สวนยางพารา ซึ่งชาวบ้านคัดค้านจนปัจจุบันโครงการถูกยกเลิกไป แต่ข่าวคราวล่าสุดคือ โครงการร่วมระหว่างบริษัทไทย-จีนกำลังจะมาเยือนซึ่งต้องติดตามกันต่อไป

ขณะที่อีกฝั่งถนนสนามกอล์ฟขนาดใหญ่พร้อมด้วยศูนย์ออกกำลังกายครบวงจรของรมว.คมนาคมคนปัจจุบันกำลังเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง พร้อมกับความห่วงใยว่าการแย่งชิงน้ำเพื่อดูแลสนามกอล์ฟกับการเกษตรของชาวบ้านคงจะเกิดตามมาในไม่ช้า เพราะปัจจุบัน จ.ชลบุรีและระยองก็มีสนามกอล์ฟขนาดใหญ่นับ 10 สนาม

เราไปสุดทางที่ อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล อ่างเก็บน้ำที่เกิดขึ้นจากความเห็นชอบของชาวบ้านแต่กลายเป็นความเจ็บปวดในปัจจุบัน พี่ตุ้ยบอกว่า เดิมเขาบอกจะสร้างเพื่อใช้ในการเกษตร จนหลายคนยอมเสียที่ดินให้ สุดท้ายน้ำถูกส่งผ่านท่อเข้าสู่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเป็นพื้นที่หลักภายใต้การสัมปทานของบริษัทอีสวอเตอร์ ชาวบ้านที่นี่ไม่มีสิทธิ์เข้าไปใช้เหมือนกับสิ่งที่เคยรับรู้มาก่อน

เมื่อแดดเริ่มอ่อนแรงและเสร็จจากการเก็บภาพถ่ายทิวทัศน์ริมอ่างเก็บน้ำไปเล่าสู่กันฟังต่อไป เราจึงเดินทางสู่ที่พักริมหาดแม่รำพึงทันแสงสุดท้ายที่หายไประหว่างรอยต่อของผืนน้ำกับแผ่นฟ้า ค่ำคืนนี้เรายังมีเรื่องเล่าอีกมากมายเกี่ยวกับ มาบตาพุด ซึ่งจะขอเล่าต่อในตอนที่สองเนื่องจากคงเหน็ดเหนื่อยกับการเดินทางวันนี้ และเพื่อให้เป็นภาพต่อที่ชัดเจนขึ้นพร้อมการไปลงพื้นที่มาบตาพุดในวันพรุ่งนี้...

สวัสดี ท่านผู้อ่านทุกคนที่ร่วมเดินทางกับเรา

ปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท