Skip to main content
sharethis

ประชาไท-12 ต.ค. 47 NGOs ด้านแรงงานพม่าหวั่นเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอดเพิ่มการละเมิดสิทธิ์ในพม่า ทำให้แรงงานอพยพของหนีภาษีและยาเสพติดทะลักเข้าไทย พร้อมระบุการกดขี่แรงงานราคาถูกจะเพิ่มมากขึ้นสนองประโยชน์นายทุน

จากกรณีที่หอการค้าตาก เตรียมเสนอตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอดเพื่อรองรับการขยายตัวทางการค้าชายแดน ไทย-พม่า และยกระดับ 5 อำเภอชายแดนตากเป็นจังหวัด กับที่ประชุมครม.สัญจรที่ อ.แม่สอดในระหว่างวันที่ 18-19 ต.ค. นี้

นายอดิศร เกิดมงคล เจ้าหน้าที่ข้อมูล คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า(กรพ.) กล่าวว่า ในอนาคตหากมีการขยายตัวของอุตสาหกรรมในฝั่งพม่าคือเมืองเมียวดี ที่น่าเป็นห่วงคือพื้นที่ในการขยายเขตอุตสาหกรรมจะเป็นพื้นที่ของใคร เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่นั้นมีชาวบ้านอาศัยอยู่สุดท้ายต้องกลายเป็นแรงงานราคาถูกในพื้นที่ของตนเอง รวมทั้งการสร้างถนน สร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้ามารองรับจะมีกระบวนการตรวจสอบได้อย่างไร เนื่องจากชาวบ้านเขาพูดไม่ได้กลายเป็นการพัฒนาบนความเดือดร้อนของคนกลุ่มหนึ่ง เพราะในพม่าไม่มีกฎหมายการเวนคืนมีแต่เป็นการขับไล่ออกจากพื้นที่ของเขา

"สิ่งที่จะตามมาคือไทยต้องรองรับคนจากพม่าที่จะไหลเข้ามาอีกจำนวนมากซึ่งจะไม่สามารถจัดการได้ รัฐบาลกำลังทำให้ปัญหากลับไปสู่รูปแบบเดิมขณะเดียวกันก็กำลังจำกัดและควบคุมจำนวนแรงงานข้ามชาติโดยการทำให้ถูกกฎหมาย รวมทั้งของหนีภาษีและยาเสพติดซึ่งรัฐบาลพม่าไม่เคยมีความชัดเจนในเรื่องนี้ เมื่อมีการเปิดด่านกว้างมากขึ้นการตรวจสอบก็จะยากขึ้น" นายอดิศร กล่าว

นายอดิศร กล่าวอีกว่ารัฐบาลไทยควรดูในหลายส่วนไม่ใช่คิดแต่เรื่องจะขายของแต่ไม่คิดว่าชาวบ้านเขาจะมีชีวิตที่ดีได้อย่างไร คนที่ได้ผลประโยชน์จึงเป็นแค่กลุ่มทุนในท้องถิ่นและทุนใหญ่เท่านั้น รัฐบาลไทยควรให้ผู้ที่จะได้รับผลกระทบมีส่วนร่วมทั้งชาวบ้านฝั่งไทยและพม่าว่าเขาพร้อมหรือไม่

ระบุการกดขี่แรงงานเป็นระบบมากขึ้น

นายอดิศร กล่าวว่าลักษณะของแม่สอดตอนนี้คือมีคนงานจากพม่าพร้อมเข้ามาเรื่อยๆ แต่ปัญหาคือคนงานไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิ ค่าแรงที่คนงานได้รับเฉลี่ยอยู่ที่ 80 บาทต่อวัน ที่ได้มากก็ไม่เกิน 120 บาทต่อวันในกรณีที่ทำงานมานาน นอกจากนี้ยังมีเวลาทำงานหนักมากคือ 10 กว่าชั่วโมงขึ้นไปโดยไม่ได้รับค่าล่วงเวลา(โอที) เนื่องจากระบบการตรวจสอบเข้าไม่ถึงเพราะสำนักงานสวัสดิการแรงงานจังหวัดอยู่ที่จังหวัดตาก และกลไกการคุ้มครองแรงงานเองก็ยังมีปัญหาโดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติ ทั้งในเรื่องทัศนคติ และการสื่อสาร

"นายจ้างที่จะไปตั้งโรงงานที่แม่สอดเพราะหวังว่าจะได้แรงงานราคาถูก การบอกว่าเป็นเขตเศรษฐกิจจะช่วยให้คนงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นนั้นจึงขัดแย้งกัน ความจริงคือการละเมิดสิทธิคนงานจะมีมากขึ้นการกดขี่แรงงานราคาถูกของไทยจะเป็นระบบมากขึ้น และจะมีคนงานไทยสักกี่คนที่ได้ทำงานเพราะนายจ้างต้องการแรงงานราคาถูก" นายอดิศร กล่าว

นายอดิศร กล่าวต่อว่าการขยายตัวของเขตอุตสาหกรรมซึ่งจะมีในฝั่งพม่าด้วยนั้น จะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมสิ่งทอซึ่งตลาดหลักอยู่ที่อเมริกาซึ่งอยู่ระหว่างการแซงชั่นทางการค้ากับพม่า ดังนั้นโรงงานในพม่าจึงอาจเป็นได้แค่การรับเหมาค่าแรงไปผลิตแล้วนำกลับมาเมืองไทยเพื่อส่งออก ซึ่งสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือค่าแรงจะถูกกว่าที่เมืองไทย และการกดขี่ก็จะมากกว่าเพราะอยู่เมืองไทยคนงานยังมีช่องทางเรียกร้องได้บ้างแต่ที่พม่าเป็นเรื่องยากมาก

ปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net