Skip to main content
sharethis

ศูนย์ข่าวภาคเหนือ-18 ต.ค.47 คณะอนุกรรมการว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้ประชุมประจำปี 2547 และได้กล่าวถึงในเรื่องการจำกัดสิทธิ์ของชาวเขาในประเทศไทย เป็นการผลักดันให้เกิดปัญหาการค้ามนุษย์

ในรายงานระบุว่า ถึงแม้ว่ากระทรวงศึกษาธิการ จะออกระเบียบกระทรวงเมื่อปี 2535 ซึ่งให้แนวปฏิบัติในการจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎร และเด็กที่ไม่มีสัญชาติไทย และในการให้หลักฐานการศึกษาเมื่อเด็กสำเร็จการศึกษา แต่โอกาสทางการศึกษาของชาวเขายังมีอยู่อย่างจำกัด

การขาดความรู้ความเข้าใจในระเบียบกระทรวงดังกล่าว เป็นสาเหตุให้โรงเรียนต่างๆ ไม่ยอมรับเด็กเข้าศึกษา บางโรงเรียนแม้ว่าจะอนุญาตให้เด็กเข้าเรียน แต่ก็ไม่ให้ทุนการศึกษา ทุนอาหารกลางวัน และโควต้าในการศึกษาต่อแก่เด็ก การที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือทางด้านการเงินและวัสดุอุปกรณ์การเรียนการสอน ทำให้เด็กเป็นจำนวนมากไม่สามารถศึกษาต่อได้

ยิ่งไปกว่านั้น บางโรงเรียนยังไม่ให้เอกสารรับรองการศึกษาแก่เด็ก ภายหลังสำเร็จการศึกษา สภาพการณ์เช่นนี้ ส่งผลให้การศึกษาต่อ และการหางานทำของชาวเขามีความยากลำบากมาขึ้น

การไม่มีสัญชาติ และไม่ได้รับการศึกษา เป็นอุปสรรคสำคัญต่อโอกาสในการทำงาน สถานการณ์นี้ ผลักดันให้ชาวเขาเป็นจำนวนมากเข้าสู่เศรษฐกิจนอกระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การค้าผู้หญิงและเด็ก

ดังที่ David Feingold ผู้ประสานงานระหว่างประเทศ โครงการการค้ามนุษย์ ขององค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) และผู้แทนยูเนสโกในคณะทำงานระหว่างหน่วยงานในภูมิภาคแม่น้ำโขง ได้ชี้ให้เห็นว่า…

"ชาวเขา ไม่สามารถใช้การศึกษา เป็นเครื่องมือในการได้มาซึ่งงาน พวกเขามีโอกาสสูงที่จะถูกแสวงหาประโยชน์ในสถานการณ์ต่างๆ และสิ่งสกปรกซ่อนเร้นของการค้ามนุษย์ ก็คือ เด็กผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกค้า แต่พวกเขากลายเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการค้ามนุษย์ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ พวกเขาอาสาและเต็มใจที่จะออกจากหมู่บ้าน อันเนื่องมาจากเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและในระหว่าง พวกเขาถูกผลักดันให้เข้าไปอยู่ในสถานการณ์ที่บีบบังคับ"

ในรายงานของคณะอนุกรรมการฯ สหประชาชาติ ยังเรียกร้องให้รัฐบาลไทย ได้เคารพและรับประกันสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของทุกคน ไม่ว่าบุคคลนั้นจะมีสัญชาติไทยหรือไม่ และให้นำระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยแนวปฏิบัติในการจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฏร และเด็กที่ไม่มีสัญชาติไทย ปี 2535 ไปปฏิบัติเพื่อเป็นหลักประกันว่า เด็กทุกคนสามารถเข้ารับการศึกษา

ปัจจุบัน จากข้อมูลของสภาทนายความแห่งประเทศไทย บอกว่า มีชาวเขาประมาณ 400,000 คน ที่ยังไม่ได้รับสัญชาติไทย

องอาจ เดชา
ศูนย์ข่าวภาคเหนือรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net