รู้จักโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนแม่สอด จ.ตาก

โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนแม่สอด จ.ตาก เป็นส่วนหนึ่งของโครงการความร่วมมือไทย - พม่า ตามแผนที่สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จัดไว้ในแผนยุทธศาสตร์พัฒนาภาคเหนือ โดยมีบริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล คอลซัลแทนซี่ เนทเวอร์ค (International Consultancy Network) จำกัด เป็นผู้ศึกษา

โดยกำหนดพื้นที่เขตเศรษฐกิจชายแดนแม่สอดไว้ 3 ระดับคือ พื้นที่หลัก ในตำบลที่ติดชายแดนของแม่สอด แม่ระมาด พบพระ จัดเป็นแหล่งผลิตสินค้าประเภท เฟอร์นิเจอร์ แปรรูปผลผลิตการเกษตร สิ่งทอ รองเท้า และตุ๊กตา

พื้นที่รอง ในตำบลที่ไม่ติดชายแดนของทั้ง 3 อำเภอ เป็นเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมอื่น นอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในพื้นที่หลัก และพื้นที่สนับสนุน เป็นพื้นที่ที่นอกเหนือจากพื้นที่หลักและรอง ซึ่งผลการศึกษา

โครงการดังกล่าวเริ่มต้นตั้งแต่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ แต่ไม่มีความคืบหน้าเนื่องจากปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ และมาประสบผลสำเร็จในยุครัฐบาลพรรคไทยรักไทย

อย่างไรก็ดีนักธุรกิจในพื้นที่อ.แม่สอดกลับเห็นว่า การประกาศเป็นเขตเศรษฐกิจของรัฐบาลเป็นเพียงการตีตรารองรับทางด้านธุรกรรมที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่เท่านั้น แต่ในความเป็นจริงพื้นที่นี้ได้ดำเนินการเป็นเขตพิเศาโดยตัวของมันเองมานานแล้ว ไม่ว่าจะเกิดปัญหาความวุ่นวายถึงขั้นปิดพรมแดนหรือไม่ก็ตาม

ข้อมูลเรื่อง " 10 ปีที่รอคอย เขตเศรษฐกิจพิเศษ จ.ตาก "ของ "ผู้จัดการออนไลน์" ระบุว่า อ.แม่สอด จ.ตากเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งตามแนวทาง ที่จะทำให้ประเทศไทยเป็น สะพานบก เชื่อมฝั่งทะเลตะวันออกในเวียดนาม และฝั่งทะเลตะวันตกในพม่า - อินเดีย ตามแผน East - West Industrial Corridor , เป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งตามแนวทางการเชื่อมเส้นทางการค้า การลงทุนกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง เจ้าพระยา สาละวิน คงคา ตามปฏิญญาพุกาม ที่ร่วมลงนามกันที่กรุงย่างกุ้ง ปลายปี 46 ที่ผ่านมา

นอกจากนั้นจากคำสัมภาษณ์ นายปณิธิ ตั้งผาติ อดีตประธานหอการค้าจังหวัดตาก ระบุว่า กลุ่มทุนในท้องถิ่น เตรียมการรองรับการประกาศจัดตั้งเขตเศรษฐกิจชายแดนแม่สอด / นิคมอุตสาหกรรม ในลักษณะเมืองคู่แฝดแม่สอด-เมียวดี มาก่อนหน้าครม.อนุมัติแล้ว

โดยในฝั่งไทย กลุ่มบริษัทแม่สอดพาเจริญ จำกัด ที่เกิดขึ้นภายใต้การร่วมทุนของกลุ่มทุนในท้องถิ่นกว่า 10 ปีก่อน ได้เตรียมที่ดินบริเวณ ต.แม่ปะ อ.แม่สอด กว่า 500 ไร่ไว้รองรับ ขณะที่ฝั่งพม่าก็เตรียมที่ดินไว้รองรับการจัดตั้งนิคมอุตฯ ไว้หลายพันเอเคอร์ บริเวณ 2 ฟากถนนสายเมียวดี - ย่างกุ้ง แต่จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมเช่นกัน

ยกเว้นนิคมฯฝั่งพม่า ที่ล่าสุดกลางเดือนมกราคม 47 มีรายงานแจ้งว่า ทางการพม่า มีนโยบายที่จะจัดตั้งเขตอุตสาหกรรมพิเศษชายแดนขึ้น ภายใต้ยุทธศาสตร์ความร่วมมือเศรษฐกิจของประเทศลุ่มน้ำคงคา/สาละวิน/เจ้าพระยา และแม่น้ำโขง พื้นที่เป้าหมายที่ทางการพม่า จะประกาศจัดตั้งเป็นเขตอุตสาหกรรมฯดังกล่าว ประกอบด้วย เมียวดี (ตรงข้าม อ.แม่สอด จ.ตาก) ผาอ่าง ที่อยู่ตามแนวเส้นทางไทย-พม่า-อินเดีย และมะละแหม่ง ซึ่งสามารถเชื่อมต่อกับท่าเรือน้ำลึกทวาย ที่จะก่อสร้างขึ้นในอนาคต

นิคมฯแห่งนี้ พม่าได้จัดเตรียมพื้นที่รองรับการลงทุนไว้นับหมื่นเอเคอร์ บริเวณ 2 ข้างถนนสายเมียวดี - ย่างกุ้ง ที่จะเชื่อมต่อไปจนถึงอินเดียได้ในอนาคต ตามแนวเส้นทางแม่สอด-เมียวดี-พะอัน-ท่าตอน-ย่างกุ้ง ซึ่งช่วงช่วงแม่สอด/เมียวดี 18 กิโลเมตรแรกไทยให้ความช่วยเหลือเป็นเงินให้เปล่า วงเงิน 122.9 ล้านบาท โดยใช้งบกลางปีงบประมาณ 47 และดำเนินการก่อสร้างให้สามารถเปิดใช้กลางปี 48

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงตัวผู้นำรัฐบาลอย่างปัจจุบันทันด่วน พร้อมๆ กับความไม่แน่นอนในนโยบายของรัฐบาลพม่า รวมถึงท่าทีของนานาชาติต่อการปรับเปลี่ยนครั้งนี้ อาจจะกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญของอนาคตเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนแม่สอด จ.ตาก ว่า จะเดินไปข้างหน้าอย่างไรด้วย

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท