Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ภาพประกอบ : ที่มาhttp://www.tgsrm.org

ทำไมเกย์ต้องแสดงออกแบบที่เราเห็นด้วยนะ?

คำถามนี้คงเกิดกับคนหลายคน เวลาที่เราได้เห็นการแสดงออกของเกย์ผ่านทางสื่อต่างๆ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายสำหรับการสงสัย แต่คงเป็นเรื่องเลวร้ายถ้าเราสงสัย แต่ไม่คิดจะทำความเข้าใจ ซึ่งก็พอดีกับที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินทรจัดให้มีการบรรยายเรื่อง "เกย์กับเรือนร่าง" โดยนฤพล ด้วงวิเศษ นักวิชาการประจำศูนย์ฯ

เราขยับใกล้ๆ ข้าไปฟังกันสักที เผื่อว่าเราจะเข้าใจเกย์มากขึ้น...

นฤพลเริ่มเล่าตั้งแต่เรื่องราวในสมัยกรีก ที่มีค่านิยมว่าสรีระของผู้ชายเป็นสิ่งสวยงาม (Kalos) นอกจากนี้ในสมัยนั้นมีระบบ Gymnasium ที่ให้ผู้ชายได้ฝึกฝนวิชาต่างๆ ภายในสถานที่เฉพาะเพศชายเท่านั้น

เมื่อถึงสมัยของไมเคิล แองเจโล นักวิชาการด้านเกย์ได้ตั้งข้อสงสัยถึงชีวิตทางเพศของเขา เพราะผลงานจิตกรรมและประติมากรรมที่เขาสร้างขึ้นมีลักษณะขับเน้นสรีระของเพศชาย ไม่ว่าจะเป็นรูปปั้น David หรือภาพเขียน The Creation of Adam ซึ่งงานชิ้นหลังนี้ชาวเกย์ในยุคหลังๆได้นำไปใช้เป็นสัญลักษณ์แสดงความเป็นเกย์ในที่ต่างๆ

เมื่อเวลาผ่านพ้นไปถึงยุคเรอเนสซองส์ กลุ่มชายรักร่วมเพศต้องปิดบังรสนิยมตัวเอง เพราะหากถูกจับได้ว่ารักเพศเดียวกัน (Sadomy) จะได้รับการลงโทษโดยการถูกเผาทั้งเป็น หรือไม่เช่นนั้นก็ถูกทรมานต่างๆ นาๆ เกย์ในยุคนี้จึงต้องกลบเกลื่อนด้วยการแสร้งแสดงออกถึงความเป็นชายด้วยชุดสูทหรูหรา

แต่ในบรรดาเกย์ด้วยกันก็จะไปรวมตัวกันที่ Molly House โดยแต่งกายและเปลี่ยนชื่อเรียกขานเป็นผู้หญิง ซึ่งนักวิชาการด้านเกย์ได้ให้ข้อสังเกตว่านี่อาจจะเป็นต้นกำเนิดของบาร์เกย์ในเวลาต่อมา เมื่อก้าวล่วงเข้าสู่ศตวรรษที่ 19 ได้มีการกำเนิดแฟชั่น Dandy (ชนชั้นสูงที่ชอบออกงานสังคม แต่งกายด้วยเครื่องประดับหรูหรา) ซึ่งถือกันว่าเป็นการเริ่มต้นของรูปแบบ "การแต่งหญิง" (Drag Queen) โดยที่ภาพลักษณ์ของเกย์ในยุคสมัยนี้จะมีลักษณะอ่อนหวานและอ่อนช้อย โดยในงานรูปถ่ายเกย์ของศิลปินในสมัยนั้นอย่าง Thomas Eakins หรือ Von Gloeden ที่เน้นความงามแบบกรีก (สรีระผู้ชายที่งดงามตามธรรมชาติ โดยไม่มีมัดกล้ามมากนัก)

เมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 20 ภาพและการแต่งกายของเกย์มีความสัมพันธ์กับกลุ่ม Bohemian (ศิลปินนอกคอก) อาทิเช่นภาพของนักเขียนอย่าง Oscar Wilde ที่มักจะสวมใส่สูทกำมะหยี่สีเขียวหลวมๆ (ซึ่งขัดกับภาพของผู้ชายสมัยก่อนหน้านั้นที่มักจะสวมสูทพอดีตัว) พร้อมทั้งทัดดอกคาร์เนชั่นไว้ที่กระเป๋าเสื้อ

ในขณะเดียวกันเริ่มมีการก่อกระแสการเพาะกายขึ้นโดยนักเพาะกายอย่าง Eugen Sandow และ Albert Treloar เมื่อเข้าสู่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ก็เริ่มมีการประกวด Mr. American ครั้งแรกเมื่อปี คศ. 1940ประกอบกับการเผยแพร่การประกวดของสื่อมวลชน ทำให้การเพาะกายได้รับความนิยมมากขึ้น

เมื่อถึงห้วงเวลาแห่งสงครามโลกครั้งที่ 2 กระแสนิยมเครื่องแบบทหารได้รับความนิยมในหมู่เกย์ รวมทั้งสังคมทหารที่มีแต่ชายล้วนก็ทำให้ชายหนุ่มหลายคนที่มีทีท่าอยู่แล้วแสดงอาการออกมา ซึ่งการเกิดเกย์ในหมู่ทหารนั้นแสดงออกมาในรูปแบบของการไม่ยอมกลับบ้านเกิดหลังสงครามสงบ แต่กลับไปสร้างชุมชนชาวเกย์ในซานฟรานซิสโก ซึ่งที่แห่งนั้นเป็นฐานที่มั่นของเกย์ในช่วงเวลาต่อมา

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง ภาพของเกย์ในสมัยนั้นจะเป็นภาพของชายหนุ่มที่เข้มแข็ง มีภาพของขบถนิดๆ แต่มีความอ่อนไหวอยู่ด้วย ตามแบบฉบับของดาราขวัญใจชาวเกย์อย่าง James Dean และ Marlon Brando รวมถึงภาพของชายหนุ่มนักกล้ามที่ได้รับความนิยมจนทำให้มีหนังสือชาวเกย์หลายฉบับที่มีจุดขายด้วยภาพประเภทนี้ อาทิเช่น Vim และ Psysique Pictorial เป็นต้น ซึ่งช่วงนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการใช้ร่างกายเป็นสินค้า

เมื่อเข้าสู่ทศวรรษ 1960 กระแสนิยมการเพาะกายในเกย์ยังมีอยู่ ในขณะที่แฟชั่นการแต่งกายแบบ Drag (เพศชายแต่งเป็นหญิง เพศหญิงแต่งเป็นชาย) ก็โดดเด่นขึ้นมาคู่กัน นอกจากนี้ยังมีกระแสของการเรียกร้องเสรีภาพทางเพศ จนเกิดการจลาจลที่ Stonewall Inn ในนิวยอร์คเมื่อปี 1969 และยังมีการออกหนังสือพิมพ์ The Advocate ที่เน้นนำเสนอรูปแบบการใช้ชีวิต (Life Style) มากกว่าเนื้อหาอนาจาร

ในทศวรรษ 1970 เริ่มมีการผสมผสานรูปแบบการแต่งกายของเกย์กลุ่ม Drag และกลุ่ม Butch (ผู้นิยมการเพาะกาย) จนกลายเป็นการแต่งกายแบบ Butch Drag ขึ้น นอกจากนี้ Hal Fischer ศิลปินนักถ่ายภาพได้ถ่ายรูปชุด Gay Semiotics ซึ่งได้อธิบายถึงลักษณะการแต่งกายของเกย์ในรูปแบบต่างๆ ทั้งยังมีการนิยามรูปแบบของ Gay Prototype in 70" s ไว้ 4 แบบ คือ

Classic (ลักษณะการเน้นสรีระความเป็นชาย), Western (ลักษณะคาวบอยตะวันตก), Urban (แต่งกายแบบคนในเมืองตามปกติ) และ Leather (ชายในชุดหนัง ซึ่งกลุ่มนี้จะไปในทางผู้นิยมซาดิสม์-มาโซคิสม์ด้วย) ในขณะเดียวกันการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของเกย์ก็ยังมีต่อเนื่องจากทศวรรษ 1960 และยังมีกลุ่ม Clone ที่ประกาศตัวเป็นเกย์อย่างเปิดเผย และใช้ชีวิตในเมือง

เมื่อเข้าสู่ทศวรรษ 1980 เกย์กลับมาแต่งกายสะอาดสะอ้านและตัดผมสั้น อันเนื่องมาจากการไม่ต้องการจะเป็น "ตัวประหลาด" ของสังคม นอกจากนี้ในปี 1982 ยังเป็นช่วงแห่งการเริ่มต้นการแข่งขันกีฬา Gay Games ครั้งแรกที่นครซานฟรานซิสโก อันถือกันว่าเปรียบเสมือนกีฬาโอลิมปิกของชาวเกย์

รวมทั้งเริ่มมีการทำโฆษณาเน้นสรีระผู้ชายของสินค้าต่างๆ นำโดย Calvin Klein นอกจากนี้บรรดาเกย์สูงอายุที่ผ่านการต่อสู้เรื่องสิทธิเสรีภาพในทศวรรษก่อนๆ ก็เริ่มสร้าง Gay Family ที่อบอุ่น รวมทั้งเรียกร้องสิทธิในการสมรส และการขอบุตรบุญธรรม

สำหรับในทศวรรษ 1990 และปัจจุบัน เกย์เริ่มเข้าสู่วงการแฟชั่นในหน้าที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นดีไซน์เนอร์ สไตล์ลิสต์และช่างแต่งหน้า จนทำให้แฟชั่นและการโฆษณาต่างๆ เริ่มมีการใช้ความเป็นเกย์เป็นจุดขาย รวมทั้งยังมีการผลิตสินค้าและบริการต่างๆ เพื่อเอาใจกลุ่มเกย์อีกด้วย

นอกจากนี้ยังเริ่มมีการจัดลำดับชั้นตามเรือนร่าง เช่นกลุ่ม Hyper Masculine ที่เน้นกล้ามเนื้อและความเป็นชาย, กลุ่ม Bear ที่เป็นกลุ่มเกย์อ้วน ไว้หนวดและขนหน้าอก มีภาพพจน์ดูอบอุ่น เป็นต้น สมัยนี้ยังเป็นสมัยของ Gay Parade ที่พัฒนาจากการเดินขบวนเรียกร้องในทศวรรษก่อนๆ โดยเป็นการรวมลักษณะของเกย์ทั้งหมดมารวมกันในขบวนเดียว ซึ่งก็มีเกย์บางส่วนที่ไม่ชอบวิธีนี้ เนื่องด้วยเกรงว่าจะเป็นการสร้างภาพไม่ดีแก่เกย์

นอกจากนั้นยังเป็นสมัยที่มีการนำความเป็นเกย์มาเป็นประเด็นทางการเมือง โดยใช้ในการโจมตีบุคคลต่างๆ ที่เคยมีประวัติการเป็นเกย์

เมื่อกล่าวถึงปัจจุบัน นฤพลได้ตั้งข้อสังเกตว่า "การเปลี่ยนแปลงของเกย์ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง หากแต่เป็นการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งใหม่ โดยที่สิ่งเดิมที่มีอยู่นั้นก็ยังคงอยู่ หากแต่มันถูกอธิบายไปยังอีกรูปแบบหนึ่ง

และที่น่าสังเกตอีกเรื่องหนึ่งก็คือ การแสดงออกของเกย์ในปัจจุบันนั้นเป็นรูปแบบเดียวกันทั้งโลก ซึ่งน่ากังวลว่ามันจะเป็นการทำลายความหลากหลายทางวัฒนธรรมรักร่วมเพศของคนในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งต่างก็มีวัฒนธรรมของตัวเอง"

ภาณุวัฒน์ อภิวัฒนชัย
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net