ท่วมรอบ 3 ขยะเชียงใหม่ ไม่พ้นวิกฤต

ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดเดาเลย หากเชียงใหม่จะเกิดปัญหาขยะท่วมเมืองขึ้นอีก เพราะแม้จะมีบทเรียนมาถึง 2 ครั้ง แต่ดูเหมือนว่าจะไม่มีการนำมาปรับแก้ไขให้การจัดการขยะได้มีประสิทธิภาพมากกว่าทีเป็นอยู่

ซื้อเวลาแรมปีจนปะทุขึ้นมาเป็นครั้งที่ 3

คราวนี้ผู้บริหารเทศบาลฯ ก็กำลังซื้อเวลาไปอีกสั้นๆ โดยบอกว่าอีกไม่เกินต้นปีหน้า ฝากความหวังไว้กับเครื่องอบขยะจากอังกฤษ

แต่จะมาติดตั้งที่ใด ยังคงเป็นเรื่องปิดลับ

แน่ใจได้หรือว่า จะไม่เจอกับปัญหาเดิม เมื่อนวัตกรรมใหม่ที่เข้ามาเป็นหนูทดลองให้กับยุทธศาสตร์พลังงานประเทศนี้ยังไม่มีการอธิบายให้เข้าใจอย่างเป็นระบบ

ส่วนนอกเขตเทศบาลฯ การจัดการขยะก็ไม่ต่างกันเท่าใดนัก อาจหนักหน่วงกว่าด้วยซ้ำ

หรือความล้มเหลวเรื่องการจัดการขยะกับนครแห่งชีวิตและความมั่งคั่งแห่งนี้ คือภาพที่ซ้อนทับกันจนแยกไม่ออก ?
…………………………………………………………..

วิกฤตซ้ำซาก

ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 3 ที่เชียงใหม่ต้องเผชิญกับเหตุการณ์เช่นนี้โดยเฉพาะในเขตใจกลางเมืองคือเทศบาลนครเชียงใหม่ด้วยเหตุผลเหมือนกันคือไม่มีสถานที่กำจัด

ก่อนนั้นปี 2537 ยุคกลุ่มอานันทภูมิบริหารเป็นครั้งแรกที่เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น ส่งผลให้ต้องตกเวทีไป แต่ขยะก็ท่วมเชียงใหม่เป็นครั้งที่ 2 ราวปี ซึ่งเป็นยุคของนางบุษบา ยอดบางเตย และทำให้ปกรณ์ บูรณุปกรณ์ได้ขึ้นแท่นบริหารส่งไม้ต่อมาจนถึงบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ ได้ในปัจจุบัน
ในยุคของบุญเลิศ ก็ใช่ว่าจะสงบเงียบ ปัญหาการจ้างเอกชนจัดเก็บขยะ แล้วเช่าที่พักขนถ่ายตามมุมต่างๆของเมืองส่งกลิ่นเดือดร้อนกันไปทั่ว ขณะที่สัญญาพื้นที่ฝังกลบขยะที่อำเภอฮอดและดอยเต่าที่เคยทำกันมาต่อเนื่องถึง 5 ปีก็หมดไปเมื่อ 1 ปีที่ผ่านมาแล้ว แต่ได้มีการเจรจาต่อรองต่อสัญญาไปอีก 1 ปีสิ้นสุดเมื่อเดือนกันยายน 2547 และครั้งนี้ชาวฮอดปิดประตูไม่ให้ขนขยะมาทิ้งอีก

ก่อนหน้าที่สัญญาที่ดินจะหมดลงมีการทวงถามถึงแผนการจัดการต่อไปจากผู้บริหารฯ ซึ่งดูเหมือนจะมั่นใจว่าจะสามารถใช้พื้นที่ของอำเภอฮอดต่อไปได้โดยอนุมัติจ่ายขาดเงินสะสมซื้อที่ดินเพิ่มเติมไปก่อนหน้านี้ และอีกผืนหนึ่งคือที่ของเอกชนบริเวณตำบลเหมืองจี้ อ.เมือง จ.ลำพูน

แต่เอาเข้าจริงทั้งที่ฮอดและเหมืองจี้ก็ปฏิเสธ

ที่ฮอดนั้นปิดประตูและล็อคกุญแจอีกชั้นหนึ่งด้วยซ้ำจาก ดร.อำนวย ยศสุข นายกสภามหาวิทยาลัยแม่โจ้ที่ยืนยืนว่าคนในพื้นที่ไม่ยอมอีกแล้ว ส่วนที่ดินที่ไปซื้อเพิ่มนั้นถือว่าโดนหลอก

ขณะที่ 14 หมู่บ้านของต.เหมืองจี้ อ.เมือง จ.ลำพูน ชาวบ้านนับ 1,000 มาประท้วงหน้าศาลากลางจังหวัดลำพูน เรื่องลุกลามไปถึงขั้นมีการปลอมเอกสารความยินยอมของชาวบ้านอีกต่างหาก

และเรื่องลามไปในพื้นที่ดอยสะเก็ต ชาวบ้านจับรถขนขยะที่ลักลอบนำขยะไปทิ้งที่พื้นที่ป่าสงวน สอบสวนได้ความว่าเป็นรถขนขยะมาจากสุสายหายยา อันเป็นที่พักขยะของเทศบาลฯ

เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 7-13 ตุลาคมที่ผ่านมา ทำให้ขยะที่จัดเก็บไม่ทันทิ้งเกลื่อดกราดกลางเมือง ตามเสาไฟฟ้า ตามตรอกซอกซอยจำนวนมาก

เกิดการโบ้ยความผิดและต้องจัดเวรยามเฝ้าระวังขยะในไม่ให้ออก ขยะนอกไม่ให้เข้า

ชาวบ้านในพื้นที่ขยะไปทิ้งต่างต้องจัดเวรยามป้องกันไม่ให้มีการลักลอบขนมากอีก ขณะที่นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ก็บอกว่า ขยะที่เกลื่อนเมืองไม่ใช่ของเทศบาลฯ มีการแอบนำเข้ามาทิ้งจากรอบนอกที่ไม่มีที่ทิ้งเช่นกัน และเขาก็ตรวจพบ 2 คันจับปรับรายละ 2,000 บาทไปแล้ว ส่วนขยะของเทศบาลฯ รับรองว่ามีพื้นที่จัดเก็บไว้ของตนเองและสามารถรองรับต่อเนื่องได้ไปจนเครื่องจักรอบขยะจากประเทศอังกฤษเดินทางมาถึง ติดตั้งแล้วเสร็จในต้นปี 2548

หากนับจากเวลานี้ไปจนถึงต้นปีคือเวลาอีก 3 เดือน ขยะที่เกิดขึ้นวันละ 250 ตันจะพอกพูนเป็น 22,500 ตันที่เทศบาลฯยืนยันว่ามีสถานที่จัดเก็บ (นี่เพียงปริมาณ ไม่นับดีกรีของความเหม็น)

รออัศวินม้าขาวอังกฤษ
เครื่องอบขยะเป็นพลัง

และแม้จะยืนยันว่ามีที่จัดเก็บของตัวเองแต่ไม่สามารถเปิดเผยได้ก็ตาม แต่นายบุญเลิศ ก็บอกว่าจะนัดหมายผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูนเจรจากับชาวเหมืองจี้อีกครั้ง ขณะเดียวกันก็จะไปเจรจากับต.ปงตัน อำเภอฮอด จ.เชียงใหม่ เพื่อขอใช้ที่ดินเดิมเช่นกัน

เป็นที่น่าตั้งข้อสังเกตว่าในเมื่อมีพื้นที่จะจัดเก็บขยะของตนเองไว้แล้วจะยังคงไปเจรจาอีกทำไม หากมิใช่เพื่อให้ที่ใดที่หนึ่งเป็นสถานที่อบขยะให้เป็นพลังรองรับเครื่องจักรจากประเทศอังกฤษด้วย

ดูเหมือนว่าขณะนี้ทางออกของเทศบาลนครเชียงใหม่จะมีอยู่ทางเดียวคือรอให้เครื่องจักรจากอังกฤษมา แต่ดูเหมือนจะลืมไปว่าข้อมูลเรื่องโครงการอบขยะเป็นพลังงานไฟฟ้านี้ เขาเองก็ไม่เคยได้ชี้แจงความชัดเจนให้กับประชาชนเชียงใหม่อย่างเป็นระบบ

นับจากการลงนามบันทึกข้อตกลงกับบริษัทเซปโก้ไปเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2547 และประกาศจะเดินหน้าโครงการภายในระยะเวลา 15 เดือนทันที แต่ล่วงเลยไป 5 เดือนก็ยังไม่มีความคืบหน้ากระทั่งปัญหาขยะปะทุจึงมีข้อมูลสู่สาธารณะว่าเครื่องจักรกำลังจะเดินทางมาอีก 2 เดือน

และแม้จะยืนยันว่านวัตกรรมนี้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่สถานที่สร้างศูนย์ฯ แห่งนี้ก็ยังคงปิดลับ

ความน่าจะเป็นของศูนย์แห่งนี้ มิได้อยู่ที่ว่าจะตั้งที่ไหนก็ได้ แต่จะต้องเป็นพื้นที่ซึ่งสามารถจะลากสายเพื่อจำหน่ายกระแสไฟฟ้าต่อไปได้ในอนาคตด้วย นั่นคือต้องไม่ไกลจากตัวเมืองหรือแหล่งลูกค้านั่นคือตัวเมืองเชียงใหม่หรือนิคมอุตสาหกรรมลำพูน

ทางออกทางเดียวที่ไม่มีสิทธิเลือกนี้ อาจเป็นทางออกที่ดี แต่ล่อแหลมต่อการถูกปฏิเสธเพราะการไม่อธิบายความอย่างเป็นระบบทั้งกระบวนการให้เข้าใจแต่ต้นก็ได้

ณ วันนี้ จึงไม่อาจยืนยันได้ว่า เครื่องจักรจากอังกฤษ จะสามารถเป็นอัศวินม้าขาวตัวจริงได้หรือไม่(อ่านข่าวประกอบ อบขยะเป็นพลัง - ไว้ใจ๋ได้กา ?)

แบ่งโซนแก้ขยะเมือง
ล้มไม่เป็นท่า

วิกฤตที่เกิดขึ้นและเห็นเด่นชัดคือในพื้นที่เทศบาลนครเชียงใหม่ แต่ปัญหาขยะของเมืองมิได้ตีกรอบเพียงแต่นี้ เมืองทั้งเมืองก็ยังไม่มีระบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพ

เชียงใหม่เคยได้รับการอนุมัติจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการจัดทำโครงการกำจัดขยะครบวงจรเพื่อแก้ไขวิกฤตขยะล้นเมืองมานานแล้ว ทำการแบ่งพื้นที่รับผิดชอบเป็น 3 โซน คือโซนเหนือให้เทศบาลตำบลเวียงฝาง อ.ฝางรับผิดชอบ โซนกลาง ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่รับผิดชอบ และโซนใต้ ให้เทศบาลนครเชียงใหม่เป็นผู้รับผิดชอบ

แต่ปรากฏว่ามีเพียงโซนเหนือของเทศบาลตำบลเวียงฝางเท่านั้น ที่ประสบความสำเร็จ

โซนใต้ในความดูแลของเทศบาลนครเชียงใหม่นั้น ใช้เวลาในการหาพื้นที่ยาวนาน หยิบจับที่ใดก็มีการต่อต้าน จึงเป็นโซนที่ล่าช้าคาราคาซังที่สุด ขณะที่โซนกลางของอบจ.ได้รับงบประมาณกว่า 450 ล้านบาทมานานแล้ว ได้จัดหาที่ดินย่านดอยสะเก็ตและส่งมอบแล้ว ได้ผู้รับเหมาแล้ว แต่ไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้เพราะแรงต้านของมวลชนที่รุนแรงถึงขั้นแกนนำถูกอุ้มและแม้เชียงใหม่จะมีนายธวัชวงศ์ ณ เชียงใหม่มาเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดคนใหม่มาแล้วแต่ก็ยังไม่กล้าขยับในเรื่องนี้

"พลเมืองเหนือ" ตรวจสอบการกำจัดขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรอบนอกพบว่าส่วนใหญ่ใช้วิธีการจ้างเอกชนดำเนินการแต่ไม่มีการเปิดเผยว่าได้นำขยะไปทิ้งในพื้นที่ใดและมีการตรวจสอบติดตามประสิทธิภาพการดำเนินงานเท่าใด

นายธนวัฒน์ ไชฒิ รองนายกอบต.ท่าศาลากล่าวว่า พื้นที่ตำบลท่าศาลามีขยะประมาณ 6-7 ตันต่อวัน ในการจัดเก็บขยะ อบต.จะรับผิดชอบ และมีการแยกขยะในกรณีที่มีขยะติดเชื้อและขยะที่เป็นสารเคมี หลังจากนั้นก็จะมีเอกชนเข้ามารับเหมาในการกำจัดขยะซึ่งคิดคำนวนราคาคันละ 3,000 บาท

นายบุญล้อม ถวาย นายกเทศมนตรีตำบลแม่โจ้กล่าวว่า ขยะในตำบลแม่โจ้นั้นมีอยู่วันละ 7 ตันต่อวัน ซึ่งทางเทศบาลจะเป็นผู้จัดเก็บและให้ทาง เอกชน เข้ามาจัดการนำไปทิ้งที่อำเภอฮอด และยอมรับว่าปัญหาขยะผู้ว่าราชการคนเดียวเท่านั้นที่จะสามารถแก้ไปัญหานี้ได้

อิงคณิษฐ ศริริภาพันธ์ ปลัดเทศบาลตำบลสันทรายหลวง กล่าวว่า ขยะในพื้นที่ตำบลสันทรายหลวงนั้นมีประมาณวันละ 15 ตันต่อวัน โดยทางเทศบาลจะเป็นผู้ที่จัดเก็บหลังจากนั้นก็ให้ทางเอกชนผู้ที่รับเหมาในการกำจัดเป็นผู้รับผิดชอบต่อไป ช่วงนี้เป็นช่วงที่ไม่มีบ่อกำจัดขยะจึงต้องมีการให้เอกชนเข้ามาจัดการ

นาย นพดล รัฐศุภางค์ ปลัดเทศบาลตำบลแม่ริม กล่าวว่า พื้นที่เทศบาลตำบลแม่ริมไม่มีปัญหาในการจัดเก็บขยะแม้ว่าจะมีขยะ 15-20 ตันต่อวัน เพราะเรามีการเก็บขยะวันละ 2 รอบคือ เช้ามืดและบ่าย โดยจะคัดแยกขยะก่อย หลังจากนั้นก็จะนำไปกลบฝัง ซึ่งต้องมีการกลบทุกวัน เพราะเกรงว่าจะมีกลิ่นเหม็น และบ่อขยะดังกล่าวห่างจากชุมชน 1 กิโลเมตร

นางสมร จุลพันธุ์ ปลัดเทศบาลตำบลจอมทองกล่าวว่า ในพื้นที่ตำบลจอมทองนั้นมีขยะ 7-8 ตัน ต่อวัน มีการจัดเก็บขยะ 2 รอบ คือรอบเช้าและรอบบ่าย จากนั้นก็จะมีการคัดแยก และนำไปฝังกลบในพื้นที่ของป่าไม้ซึ่งจะเป็นการเช่าที่ และเมื่อขยะเต็มทางเทศบาลก็ได้มีการทำวิจัยโดยการจ้าง คณะวิศวกรรมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อทำการศึกษาผลกระทบก่อน

นายบุณเย็น ใจตา นายกเทศมนตรีอมก๋อย กล่าวว่า พื้นที่ตำบลอมก๋อยไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องขยะ เพราะเรามีบ่อขยะของเทศบาล แม้ว่าจะมีขยะวันละ 4-5 ตันต่อวันก็ไม่มีปัญหา

นายอินศร วิทิตปริวรรต นายกเทศมนตรีแม่อายกล่าวว่าขยะในพื้นที่แม่อายนั้น มีอยู่ประมาณ 6 ตันต่อวัน ซึ่งทางเทศบาลเป็นผู้จัดเก็บและฝังกลบเอง ในปัญหาเรื่องขยะนั้นเป็นปัญหาเดิม ซึ่งมีเหมือนๆกันในทุกพื้นที่ของจังหวัด

วิธีการจัดเก็บขยะนอกทั้งในและนอกพื้นที่เทศบาลซึ่งยังไม่มีโรงกำจัดขยะอย่างครบวงจร จึงต้องใช้วิธีจ้างเอกชนไปฝังกลบเช่นที่เทศบาลนครเชียงใหม่ดำเนินการและเป็นเป้าที่จับตาเพราะปริมาณขยะที่สูงถึงวันละ 250-300 ตัน

ขณะที่ท้องถิ่นรอบนอกต่างก็มีรูปแบบการจัดเก็บด้วยการจ้างเอกชนเช่นกัน การขนขยะแบบง่ายๆ มีรถกระบะ 1 คันลุยเข้าไปเก็บในหมู่บ้านจัดสรรที่เกิดขึ้นมาราวดอกเห็ด ซึ่งที่ผ่านมาก็เกิดปัญหาขยะยิปซีเพราะไม่มีที่ทิ้งขยะของตนเองที่ชัดเจน นำไปทิ้งในที่รกร้าง หรือเทลงข้างทางที่ลับตาผู้คนก็มาก

นายสุวัฒน์ ตันติพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ย่อมไม่อาจลอยตัวอยู่เหนือปัญหานี้ได้ เขาให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ว่าเป็นห่วงเรื่องนี้มากและได้พยายามเตรียมการจะแก้ไขแต่เทศบาลยืนยันว่ามีที่และสามารถจะควบคุมไม่ให้บานปลายได้

สารพันปัญหาเหล่านี้ยังไม่ได้รับการแก้ไขให้เป็นระบบ อย่างไร ขยะเชียงใหม่ ยังไม่ก็ยังไม่พ้นวิกฤต !

โครงการความร่วมมือด้านข่าวภูมิภาค
พลเมืองเหนือ-ประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท