Skip to main content
sharethis

2 ผู้สมัครหน้าใหม่ของไทยรักไทยมีความน่าสนใจที่สังคมอยากติดตามอยู่

"พายัพ ชินวัตร" ผู้ซึ่งสังคมเชียงใหม่รู้ข้อมูลเขาเพียงว่า เป็นน้องชายของทักษิณ เช่นกันกับ "จุลพงษ์ อมรวิวัฒน์" ที่เป็นลูกชายอดีตส.ส.สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ แต่ทั้ง 2 มาเป็นผู้สมัครในเขตที่มีความสำคัญของไทยรักไทย เป็นเขต 2 ที่แทนเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ฐานที่มั่นที่แพ้แล้วเป็นเรื่อง กับเขต 9 หนึ่งเดียวที่ปชป.ถือครองเป็นหนามยอกอกมาจนถึงทุกวันนี้

พายัพ เป็นลูกคนที่ 6 จาก 9 คนของตระกูลนี้ ไล่ลำดับมาจาก เยาวลักษณ์ ทักษิณ เยาวเรศ อุดร เยาวภา พายัพ มณฑาทิพย์ ทัศนีย์ และยิ่งลักษณ์ อายุ 47 ปี เป็นนักธุรกิจส่งออกผ้าไหม เล่นหุ้น และใช้ชีวิตอยู่กรุงเทพ คู่ชีวิตคือพอฤทัย ดูแลธุรกิจผ้าไหมของตระกูล

ก่อนหน้าจะปรากฏชื่อเขาในเขต 2 เชียงใหม่ เคยมีกระแสข่าวตั้งแต่ต้นปีว่าพรรคชาติพัฒนาโดยสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ทาบทามให้เขามาเป็นเลขาธิการพรรคเพื่อปูทางกันก่อนจูบปากหวานชื่นกับไทยรักไทยเช่นทุกวันนี้

แต่ข่าวก็เงียบหายและไม่ปรากฏว่าเขาไปตามการทาบทาม กลับกลายเป็นว่าเป็นเขาที่จะมาลงส.ส.เชียงใหม่

การประกาศรายชื่อส.ส.ครั้งแรกของไทยรักไทยยังไม่มีชื่อเขา แม้เยาวภาจะยืนยันว่าใช่ กระทั่งความคุกรุ่นภายในสงบลง พายัพเริ่มลงพื้นที่วันฉลองหมีแพนด้ามาเชียงใหม่ครบ 1 ปี ดูจะเป็นงานที่เขาเปิดตัวสู่สาธารณะ
วันคิกออฟแคมเปญไทยรักไทยที่ 17 ตุลาคม 2547 อาจเป็นครั้งแรกที่คนเขต 2 และชาวเชียงใหม่ได้เห็นหน้าเขา

เขาบอก "พลเมืองเหนือ"ว่า เริ่มซึมซับการเมืองมาทีละเล็กละน้อย ตั้งแต่สมัยพ่อเล่นการเมือง พี่สาว รวมทั้งท่านนายก ก็เกิดความสนใจ ความพร้อมก็ถูกสร้างมาทุกวัน จนถึงวันที่มีใจพร้อมที่จะทำงานให้บ้านเมืองลงพื้นที่บ้างหรือเปล่า ?

พายัพ บอกว่าได้ติดตามเยาวภามาบ้าง และมาเริ่มต้นจริงจังจน ตอนนี้ใกล้เต็มตัว และเมื่อประกาศตัวแล้วก็จะทำทุกอย่างให้ประชาชนเขต 2 รับทราบว่า ผมได้มาลงนะ นำนโยบายของพรรคเข้าไปให้เขต 2 รับทราบ สร้างความสัมพันธ์ส่วนตัวและดูปัญหาให้พร้อมจะช่วยเหลือ

วิตกเรื่องคู่แข่งหรือไม่ ?

เขาบอกว่าคู่แข่งที่สำคัญคือตัวเขาเอง "แพ้ชนะเป็นเรื่องการเปรียบเทียบ ถ้าคู่แข่งเก่งกว่าผมก็แพ้ ไม่ได้คิดถึงความมั่นใจแต่จะทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด ไม่ได้หวังว่าเข้าไปเป็นส.ส. เมื่ออุทิศรับใช้พี่น้องยินดีที่จะทำ เหมือนผมจะเป็นชาวสวน ถ้ามีเครื่องไม้เครื่องมือผมก็ทำสวนได้ดีขึ้นเท่านั้นเอง"

แน่ใจว่าจะต้องชนะ ?
"ชีวิตอะไรก็แน่นอนไม่ได้ เพราะคำว่าโลกแปลว่าไม่เที่ยงแล้วนับประสาอะไรกับกับชีวิตเล็กๆของพายัพ"เขาบอก

แล้วทำไมต้องเป็นเขต 2 ?
"ความเป็นจริงเขตไหนก็ไม่สำคัญ ให้ความสำคัญทุกเขตเท่ากัน แต่เขต 2 คุณเยาวภาสร้างฐานไว้จะให้ผมสานต่อ ผมก็ยินดี จะลงกรุงเทพก็ได้ ที่ไหนก็ได้ ไม่ตระหนักว่าอยู่ตรงไหนไม่ได้คิดว่าจะชนกับใคร ผมภูมิใจถ้าจะมีผู้ร่วมแข่งขันที่ประชาชนได้มีโอกาสเลือก และถ้าเป็นคนมีความสามารถเข้ามาแข่งขัน ไม่ได้อยู่ที่เราจะมั่นใจหรือไม่มั่นใจว่าจะได้อยู่ที่จะทำหน้าที่ดีที่สุดหรือไม่

และคิดว่า "ชินวัตร" จะสามารถทำให้สำเร็จหรือเปล่า ?
"ทุกสิ่งเป็นส่วนร่วมของความสำเร็จทั้งสิ้น เป็นธาตุผสม ผมมีเพื่อน มีสติปัญญา มีการสนับสนุน มีความคุ้นเคยพื้นที่เข้าใจในปัญหา ทุกอย่างรวมกันไม่ใช่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง"

เขาคิดอย่างไรกับเสียงวิจารณ์ ?
พายัพซึ่งบุคลิกมั่นใจนักบอกว่าคิดว่าไม่ว่าไปที่ไหนถึงไม่มีคนรักมาก แต่ก็ไม่มีคนเกลียด วัตถุที่ดังมักจะถูกตี เหมือนระฆัง คำวิจารณ์จะจริงหรือไม่จริงอยู่ที่การทำงาน

ส่วนในมุมของเยาวภา บอกกับ "พลเมืองเหนือว่า" การเปลี่ยนตัวผู้สมัครเขต 2 ไม่น่าจะเกิดปัญหาเพราะมีทีมงานที่ไม่เคยทิ้งพื้นที่ มีความต่อเนื่องไม่ว่าจะเอาใครมาลงประชาชนคนให้ความสนับสนุน

ขณะที่ จุลพงษ์ อมรวิวัฒน์ บุตรชายคนเล็กของสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ วัย 29 ปี จบเศรษฐศาสตร์จุฬา ก่อนไปต่อโทที่บอสตันคอลเลจ สหรัฐอเมริกา ก่อนกลับมาเมืองไทยได้ทำงานเป็นที่ปรึกษาบริษัทซอฟท์แวร์ 3 ปี เขายอมรับว่าทั้งพรรคและพ่อมีส่วนทำให้ได้รับความเอ็นดูยอมรับ

"ผมไม่หนักใจนะ คิดว่าเชียงใหม่ได้รับความกรุณจากนายกฯ หลายอย่าง แต่เขต 9 เชียงใหม่เป็นเขตเดียวทีไม่มีส.ส.ทรท คอยประสานงานให้ ทำให้นโยบายของรัฐไม่ได้รับการผลักดันเต็มประสิทธิภาพ ประชาชนเขต 9
รู้ว่าเสียโอกาสทุกคนอยากเปลี่ยนมาเป็นไทยรักไทยเพื่อนำความเจริญเข้ามาในพื้นที่"

จุลพงษ์บอกว่างานหลักของเขาตอนนี้คือออกพบปะประชาชน และยอมรับว่าการที่เป็นที่รู้จักง่ายเพราะคงให้ความเอ็นดูที่เป็นลูกของสมพงษ์ อมรวิวัฒน์

"ก่อนที่พรรคจะประกาศตัวผู้สมัคร ผมได้เข้าในพื้นที่สอบถามความเห็นเรียนรู้ปัญหามาเป็นเวลาพอสมควรและเมื่อ
กรกฎาคมพรรคประกาศตัวก็ต้องทำงานเพิ่มเป็นสองเท่า ส่วนที่ว่าเป็นขาลงของพรรค เห็นว่าเป็นเรื่องของสื่อมากว่า
ผมยังมั่นใจว่าแนวทางแก้ปัญหาแบบนี้ถูกทิศแล้ว"

ย่อมเป็นสิทธิ์ผู้สมัครทุกคนที่ลงในสนามเลือกตั้งแล้วย่อมคาดหวังจะคว้าชัยชนะ แต่การเมืองไทยไม่เคยแน่นอน
อำนาจที่ย้อนกลับมาอยู่ในมือประชาชนที่เรียนรู้การเมืองอย่างต่อเนื่องมาแล้วนั้นไม่อาจยืนยันได้ว่า เพียงการชูพี่ ชูพ่อ ชูพรรคเท่านั้นจะสามารถคว้าชัยชนะได้

ธรรมชาติของการเมืองต่างจังหวัด ที่ต้องการการเอาใจใส่ การดูแลและทำงานในพื้นที่อย่างต่อเนื่องยังเป็นเรื่องจำเป็น
นาทีนี้ ทุนที่ 2 ผู้สมัครใหม่มีอาจได้เปรียบ แต่ยังไม่พอต่อการตัดสินชี้ขาด เพราะงานการเมือง ไม่ใช่เรื่องที่จะสืบทอดกันทางทายาท แต่เป็นสิ่งที่ต้องพิสูจน์ให้เห็นถึงตัวตนว่าพร้อมรับใช้และตั้งใจจริง

โครงการความร่วมมือด้านข่าวภูมิภาค
พลเมืองเหนือ-ประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net