มุสลิมภาคใต้ในสถานการณ์ไม่ปกติ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ในการชุมนุมหรือการรวมตัวแต่ละครั้งของชาวมุสลิม โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สิ่งที่สามารถดึงมวลชนให้เข้าร่วมได้มากที่สุด คือ ความเป็นมุสลิมด้วยกัน

อันมีพื้นฐานมาจากหลักคำสอนในคำภีร์อัล - กุรอ่าน ที่ว่า "ชนผู้ศรัทธาป็นพี่น้องกัน"

ฉะนั้น ความรู้สึกของชาวมุสลิมที่มีต่อมุสลิมที่ถูกรังแก จึงเหมือนกัน ไม่ว่าเขาจะอยู่ในประเทศไทย หรืออยู่ส่วนไหนของโลก

ความเป็นมลายู หมายถึง คนที่มีเชื้อชาติมลายูด้วยกัน ซึ่งเห็นได้ชัดเจนที่สุด คือ การใช้ภาษามลายู คนมลายูในประเทศไทย คือ ผู้นับถือศาสนาอิสลามทางภาคใต้ ที่ใช้ภาษายาวี ซึ่งเป็นภาษามลายูท้องถิ่น เป็นภาษาแม่

สำหรับมุสลิมส่วนใหญ่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความรู้สึกร่วมกันว่า มุสลิมที่พูดภาษยาวี กับมุสลิมที่พูดภาษาไทยท้องถิ่นภาคใต้ ไม่ใช่กลุ่มชนเดียวกัน มีวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ไม่มีประวัติศาสตร์ร่วมกัน

กลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนบางกลุ่มในอดีต ที่เคลื่อนไหวอยู่ในต่างประเทศ ถือว่าคนที่พูดภาษายาวีไม่ได้ ไม่มีสิทธิ์เข้าร่วมขบวนการ คนในขบวนการจะไม่ยอมแพร่งพรายความลับให้คนกลุ่มนี้รับรู้อย่างเด็ดขาด

มุสลิมที่เคร่งครัด เชื่อในหลักคำสอนของศาสนาอิสลามอย่างมั่นคง การดำเนินชีวิตแต่ละวัน ต้องไม่ออกนอกกรอบที่ศาสนากำหนด มีความชื่อมั่นในพระผู้เป็นเจ้าของอิสลาม คือ อัลเลาะห์

ถึงแม้จะไม่สามารถทราบได้ว่า ใครเคร่งครัดมากน้อยแค่ไหน เพราะเป็นเรื่องภายในจิตใจของแต่ละคน แต่ส่วนใหญ่สามารถเห็นได้จากการปฏิบัติของผู้เป็นมุสลิมแต่ละรายเอง

เมื่อมีจิตใจมั่นคง การต่อสู้เรียกร้องต่างๆ จึงมีความมุ่งมั่นมาก สอดคล้องกับที่ "นายอับดุลรอซัก การี" เลขานุการกรรมการกลางอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาสที่มองว่า กรณีที่หลายคนมีอาการคล้ายคนเมานั้น เป็นเรื่องปกติธรรมดาของคนที่กำลังมีวิญญาณฮึกเหิม ซึ่งอาจจะมีอาการเหมือนคนบ้า แต่ก็มีไม่กี่คนที่มีอาการอย่างนี้ ส่วนใหญ่ก็ปกติดี

อาการดังกล่าว เรียกว่า "สมางัต" หมายถึง ความมุ่งมั่นต้องการให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการ โดยมีพื้นฐานมาจากคำสอนทางศาสนาอิสลาม แต่จะไม่ใช้ในทางผิดๆ เช่น มุ่งมั่นไปลักขโมย เป็นต้น

ต้องเข้าใจว่า การเสพสิ่งของมึนเมาช่วงถือศีลอด ในเดือนรอมฎอน ถือว่าเป็นบาปอย่างยิ่ง และทำให้การถือศีลอดในวันนั้นใช้ไม่ได้ ต้องถือศีลชดใช้หลังจากสิ้นสุดเดือนรอมฎอนไปแล้ว

ส่วนใหญ่มุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะมีสมางัต หรือมีความมุ่งมั่น ที่จะต่อสู้เพื่อมาตุภูมิอยู่ในส่วนลึกของจิตใจอยู่แล้ว ส่วนจะมีมากน้อยแตกต่างกันแค่ไหน ขึ้นอยู่กับแต่ละคน

ถึงกระนั้น เกือบทั้งหมดต่างก็ยอมรับสภาวะที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะการอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐไทย ด้วยเงื่อนไขต้องสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้นับถือทุกศาสนา ให้สามารถดำเนินชีวิตตามหลักคำสอนของแต่ละศาสนาได้

จึงไม่แปลกอันใด ที่เพียงแค่ได้ยินข่าวว่า มีมุสลิมถูกทำร้าย คนมุสลิมจะมีความรู้สึกร่วมกันว่า จะต้องเข้ามาช่วยเหลือในแทบจะทันที

ฉะนั้น การแก้ปัญหาจึงอยู่ที่การลดเงื่อนไขความขัดแย้งลงให้เหลือน้อยที่สุด

มุสลิมจะยึดมั่นกับหลักคำสอน ที่มีข้อห้ามไม่ให้พูดโกหก ฉะนั้น โดยพื้นฐานทั่วไป มุสลิมจึงเชื่อว่าสิ่งที่คนมุสลิมพูดว่า เป็นความจริง ยิ่งในช่วงถือศีลอด ถ้าพูดโกหกจะทำให้การถือศีลอดเสีย คำพูดของคนมุสลิมในช่วงนี้ จึงได้รับความเชื่อถือมากยิ่งขึ้นไปอีก

จากสภาพที่เป็นอยู่ปัจจุบัน ยิ่งพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เกิดความห่างเหินระหว่างรัฐกับชาวบ้านมากยิ่งขึ้นเท่าไหร่ ย่อมส่งผลให้การเรียกร้อง เชิญชวน หรือนัดรวมตัวกันไปชุมนุม ยิ่งทำได้ง่ายทบเท่าทวี เพราะประชาชนส่วนใหญ่ มีอารมณ์ร่วม ต้องการออกไปช่วยพี่น้องมุสลิม ที่กำลังได้รับความเดือดร้อน
เพียงแค่เอ่ยคำว่า "ไป" ไม่ยากเลยที่จะทำให้กลุ่มวัยรุ่น และคนมุสลิมทั่วไปตอบตกลง โดยไม่ต้องซักถามให้มากความ "เข้าร่วมก่อน ส่วนข้อเท็จจริงค่อยตามมาทีหลัง" โดยไม่จำเป็นต้องมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง หรือต้องใช้เงินทองมากมาย

ที่เป็นเช่นนี้ เพราะความรู้สึกที่ดีต่อรัฐไทยมีเหลืออยู่น้อยมาก ขณะที่ความรู้สึกว่า พวกเดียวกัน หรือญาติๆ กำลังเดือดร้อน จำเป็นต้องออกไปช่วย มีอิทธิพลเหนือกว่า

จึงไม่แปลกที่คนจะออกมา ด้วยอารมณ์ความรู้สึก มากกว่าจะออกมาด้วยข้อเท็จจริง หรือตั้งใจมาเพื่อพิสูจน์ว่า เกิดอะไรขึ้น จึงเป็นโอกาสที่คนบางกลุ่มหยิบฉวยนำมาใช้เป็นประโยชน์

นี่คือ คำตอบว่า ทำไมมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงรวมตัวกันได้รวดเร็ว

สำหรับคนมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ลักษณะนิสัยทั่วไป จะมีความแตกต่างกัน

คนริมฝั่งทะเล จะมีจิตใจต่อสู้สูงมาก จนในบางสถานการณ์ ดูเป็นคนก้าวร้าว คนที่อยู่ตอนใน จะมีความสำรวมมากกว่า

กล่าวถึงสภาพนิสัยโดยรวม คนจังหวัดนราธิวาสจะมีจิตใจต่อสู้สูงกว่าคนจังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และบางส่วนของจังหวัดสงขลา ที่มีลักษณะการใช้ชีวิตที่สำรวม สุขุม และเรียบง่ายมากกว่า

นี่คือ ลักษณะเฉพาะของคนมุสลิมใน 3 จังหวัดภาคใต้ ที่วิถีชีวิตเกี่ยวพันอยู่กับหลักคำสอนทางศาสนาชนิดแนบแน่นยิ่ง

มูฮำหมัด ดือราแม
ศูนย์ข่าวภาคใต้รายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท