Skip to main content
sharethis

กรณีทุจริตจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ราคาผิดปรกติในกระทรวงสาธารณสุขในช่วงปี 2541 วงเงินกว่า 1.4 พันล้านบาท ทำให้แพทย์และเภสัชกรรุ่นใหม่ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ ซึ่งรับไม่ได้กับสภาพที่ถูกสั่งการจากผู้บังคับบัญชาให้ซื้อยาและเวชภัณฑ์ในราคาที่แพงกว่าปรกติที่เคยซื้อถึง 50-300% ร่วมกันเคลื่อนไหวต่อต้านในนามของชมรมแพทย์ชนบทและชมรมเภสัชชนบท มีการรวบรวมข้อเท็จจริงเสนอมายังผู้บริหารกระทรวงเพื่อให้ดำเนิน การแก้ปัญหาซึ่งไม่ได้รับการตอบสนองเท่าใด

จนในที่สุดเมื่อมีการเปิดเผยข้อมูลทุจริตในรายพื้นที่ต่อสื่อมวลชนมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งมีการยืนยันสนับสนุนจากแพทย์อาวุโส รวมถึงเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสาธารณสุข 30 องค์กร ที่รวมตัวกันออกมาเคลื่อนไหวสนับสนุนแพทย์ชนบท ได้สร้างแรงกดดันให้ผู้บริหารกระทรวงต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นตรวจสอบข้อเท็จจริง

ระหว่างนั้น เครือข่าย 30 องค์กรพัฒนาเอกชน ได้ใช้กลไกการตรวจสอบนักการเมือง ซึ่งถือเป็นเครื่องมือใหม่ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน โดยรณรงค์ล่ารายชื่อประชาชนจำนวน 50,000 รายชื่อ เพื่อขอให้ถอดถอนนักการเมืองและข้าราชการระดับสูงที่พัวพันทุจริตยา กลายเป็นแรงกดดันทำให้ นายรักเกียรติ สุขธนะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ นายธีรวัฒน์ ศิริวันสาณฑ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการฯ จากพรรคกิจสังคม ต้องลาออกจากตำแหน่ง

อย่างไรก็ดีคณะกรรมการ ซึ่งมี น.พ.บรรลุ ศิริพานิช อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ได้แถลงผลสอบสวนโดยระบุว่า "กรณีการทุจริตยานี้ มีนักการเมืองร่วมกับข้าราชการประจำระดับสูงในการสั่งการให้เกิดการทุจริตสั่งซื้อยาในวงกว้างทั่วประเทศ" ซึ่งมีผลทำให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (ป.ป.ป.) ยื่นมือเข้ามาสอบสวนกรณีดังกล่าวโดยทันที

ปลายปี 2541 หลังจากการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารภายในกระทรวงสาธารณสุข ป.ป.ป.ออกมาแถลงผลการสอบยืนยันว่า พบการทุจริตจัดซื้อยาเกือบ 20 จังหวัดทั่วประเทศ ทั้งระบุชัดเจนว่า มีที่ปรึกษารัฐมนตรีที่รู้เรื่องการจัดสรรงบ ประมาณลงพื้นที่ และอาศัยช่องว่างจากการยกเลิกราคากลางของยา ชี้แนะชักชวนและสั่งการให้ข้าราชการในพื้นที่สั่งซื้อยาและเวชภัณฑ์ในราคาที่แพงกว่าที่เคยจัดซื้อ ทั้งมีหลักฐานว่านายรักเกียรติมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมระหว่างการตรวจราชการในจังหวัดแห่งหนึ่งในภาคใต้

ด้วยความไม่แน่ใจว่า ระบบราชการจะสามารถสาวไปถึงผู้ที่โยงใยอยู่เบื้องหลังการทุจริตครั้งนี้หรือไม่ 30 องค์กรเอกชนจึงออกมาเคลื่อนไหว ใช้เงื่อนไขของพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารทางราชการ พ.ศ. 2540 ซึ่งเป็นกลไกใหม่ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ขอให้ ป.ป.ช. ซึ่งตั้งขึ้นใหม่ปลายปี 2542 และรับโอนคดีมาจาก ป.ป.ป. เปิดเผยผลการสอบสวนทั้งหมด รวมทั้งกล่าวหาและให้ตรวจสอบฐานะการเงินของนายรักเกียรติที่มีความผิดปรกติ ซึ่งผลของการสอบสวนของ ป.ป.ช.ทำให้เห็นว่า นายรักเกียรติอาจจะเกี่ยวข้องกับการทุจริตครั้งนี้ด้วย และคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ตั้งคณะอนุกรรมการสอบสวนเรื่องนี้ขึ้นเป็นพิเศษ

ปลายปี 2544 คณะอนุกรรมการสอบสวนของ ป.ป.ช. ตรวจสอบพบหลักฐานที่น่าเชื่อถือได้ว่า เดือนสิงหาคม
2541 ขณะที่นายรักเกียรติดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มีการโอนเงินจากผู้บริหารของบริษัทนำเข้ายาและเวชภัณฑ์ชื่อดังแห่งหนึ่ง ไปยังนายรักเกียรติ จำนวน 5 ล้านบาท ป.ป.ช. จึงมีมติให้แจ้งข้อเท็จจริงและพฤติการณ์การกระทำผิดของนายรักเกียรติดังกล่าวให้กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ทราบ และขอให้ สธ.ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการกับนายรักเกียรติ

เรื่องราวดำเนินต่อไป จนกระทั่ง ป.ป.ช. ได้สรุปส่งเรื่องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนต่อเพื่อดำเนินคดีอาญา และหลังจากนั้นไม่นาน นายรักเกียรติและนายจิรายุ จรัสเสถียร ที่ปรึกษารัฐมนตรีฯ ก็ถูกสอบสวนและถูกอัยการสูงสุดยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในกรณีร่ำรวยผิดปรกติ และคดีทุจริตเรียกรับสินบน โดยศาลพิพากษาตัดสินว่า นายจิรายุ มีความผิดจริงและตัดสินจำคุก 6 ปี และล่าสุดเมื่อวันที่ 28 ต.ค. ที่ผ่านมา ศาลฎีกาได้ตัดสินว่า นายรักเกียรติมีความผิดจริงด้วยเช่นกัน แต่นายรักเกียรติหนีการจับกุมและเพิ่งพบตัววันนี้(30 ต.ค.47)

ในส่วนของข้าราชการประจำนั้น มีการตั้งกรรมการสอบวินัยร้ายแรงข้าราชการระดับ 9 โดยมีการไล่ออก อดีตผู้อำนวยการกองสาธารณสุขภูมิภาคและอดีตผู้ช่วยปลัดกระทรวง นอกจากนั้นยังให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด 5 แห่งที่พัวพันทุจริต ออกจากราชการ

อย่างไรก็ดีในส่วนของข้าราชการประจำที่พัวพันทุจริตนั้น มีข้อมูลยืนยันว่ามีผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่ 34 จังหวัดทั่วประเทศ เกี่ยวพันกับนายแพทย์สาธารณสุข 20 จังหวัด แต่การดำเนินการยังเป็นข้อสงสัยของสาธารณชน เนื่องจากไม่มีมาตรฐานในการลงโทษ

ท้ายที่สุด คณะกรรมการที่กระทรวงฯ ตั้งขึ้นมาเพื่อสอบสวนการทุจริตฯ ของข้าราชการระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุข สรุปว่า ผู้ที่ถูกกล่าวหาไม่มีความผิด ตามการคาดการณของภาคประชาชนที่เห็นว่า เป็นเพียงการฟองตัวของข้าราชการเท่านั้น

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net