Skip to main content
sharethis

ดร. วิบูลย์พงศ์ พูนประสิทธิ์ นายกสมาคมอเมริกันศึกษา ฟันธงบุชจะชนะ แคร์รี รักษาเก้าอี้ประธานาธิบดีได้อีก 1 สมัย โดยอาศัยปัจจัย 9 ประการซึ่งดร. วิบูลย์พงศ์วิเคราะห์จากสถิติการเลือกตั้งของชาวอเมริกาที่ผ่านมา

1. โดยปกติ ผู้ท้าชิงดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐนั้น หากจะต่อสู้กับผู้อยู่ในตำแหน่งประธานาธิบดีอยู่แล้ว ผู้ท้าชิงจะต้องมีคะแนนนำอย่างเห็นได้ชัดในสัปดาห์สุดท้าย โดยต้องได้คะแนนนำไม่น้อยกว่า 7-8 % แต่ขณะนี้ผลการสำรวจ (โพลล์) เกือบทุกสำนักในอเมริการะบุว่า คู่ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีมีคะแนนสูสีอย่างมาก นี่เป็นหนึ่งในสัญญาณแห่งความพ่ายแพ้ของนายแครรี่

2. ยุทธศาสตร์ของนายแคร์รี่เพื่อการต่อสู้ช่วงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี มีความผิดพลาดเนื่องจากไม่สามารถสลัดให้พ้นจากประเด็น สถานการณ์ในอิรักซึ่งเป็นเกมในมือของจอร์ช ดับเบิลยู บุช ดร. วิบูลทพงศ์กล่าวว่า หากจะช่วงชิงความสนใจจากประชาชนในสหรับอเมริกาออกมาจากประธานาธิบดีคนปัจจุบัน นายแคร์รี่ต้องทำให้คนอเมริกันหันมาสนใจเรื่องของเศรษฐกิจ โดยเน้นย้ำในประเด็น เศรษฐกิจอเมริกาที่ถดถอยลงมากภายหลังการเข้ามาดำรงตำแหน่งของนายจอช ดับเบิลยู บุช โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากนายคลินตัน ประธานาธิบดีคนก่อนส่งมอบตำแหน่งให้แก่บุชซึ่งชนะเลือกตั้งเมื่อ 4 ปีที่แล้วมีเงินคงคลังอยู่ 400,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ขณะนี้ เงินคงคลังของสหรัฐกลับติดลบอยู่ถึง 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนี่เป็นประเด็นใหญ่ แต่นายแคร์รี่กลับไม่สามารถดึงให้ชาวสหรัฐเห็นในประเด็นนี้

3. จิตวิทยาการเมืองในการเลือกตั้งประธานาธิบดีของชาวสหรัฐที่ผ่านมา ชาวอเมริกันจะตัดสินใจจากการทำงานของคู่ท้าชิงที่อยู่ในตำแหน่งก่อนว่า "สอบผ่าน" หรือไม่ ไม่ใช่การพิจารณาผู้แข่งขันอย่างเท่าเทียมกัน หากรู้สึกว่าการทำงานของผู้ดำรงตำแหน่งปัจจุบันไม่เลวร้ายเกินไปนัก ก็จะยินยอมให้ดำรงตำแหน่งอีกสมัยหนึ่ง ฉะนั้นการแข่งขันกับผู้ที่อยู่ในตำแหน่งจึงไม่ใช่การแข่งขันอย่างเท่าเทียม

4. นายแคร์รี โจมตีนโยบายที่ผิดพลาดของนายบุชเกี่ยวกับประเทศอิรัก แต่กลับไม่สามารถบอกได้ว่าหากตนเองประธานาธิบดีจะทำอย่างไร และที่ผ่านมาก็ไม่เห็นว่านายแคร์รีจะมีแนวทางที่แตกต่างไปจากนายบุชแต่อย่างไร เพียงแต่เพิ่มประเด็นของการเปิดให้องค์การสหประชาชาติ และประเทศอื่น ๆ เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นเท่านั้น

5. บุช ประสบความสำเร็จในการวาดภาพ ให้อเมริกันชนรู้สึกไม่ปลอดภัย ขระที่นายแคร์รีกลับมีภาพสุภาพบุรุษ เชื่องช้าเกินไป ไม่ตรงกับความรู้สึกของชาวอเมริกันที่ต้องการคนที่กล้าเสี่ยงกล้านำ ซึ่งบุช ประสบความสำเร็จในส่วนนี้

6. แคร์รีขาดบุคลิกภาพที่จับใจคนอเมริกัน (ดร.วิบุลย์พงศ์ยกตัวอย่างอดีตประธานาธิบดี บิล คลินตัน ว่ามีเสน่ห์ทางการเมืองมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้หญิงและคนผิวดำ นอกจากนี้จากสถิติจะพบว่าผู้หยิงจะมีความชื่นชอบพรรคเดโมแครตมากกว่ารีพับลิกัน)

7. คนอเมริกันมีหลักการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของตนเอง มีความอนุรักษ์นิยมสูง กระแสอนุรักษ์นิยมจึงเป็นกระแสหลักของอเมริกัน และไม่ชอบเสรีนิยม ลักษณะแบบนี้ไปกันได้กับนโยบายแบบรีพับลิกันมากกว่า นอกจากนี้บุชได้วาดภาพให้ชาวเมริกันเห็นว่าแคร์รีเป็นเสรีนิยมซึ่งไม่ตรงกับกระแสหลักของประชาชนในประเทศ

8. นายราฟ เนเดอร์ ซึ่งเข้ามาท้าชิงด้วยนั้น อาจจะได้รับการสนับสนุนลับ ๆ จากพรรคเดโมแครตต้นสังกัดของนายแคร์รี ซึ่งส่งผลให้นายแคร์รีต้อง "ชกหลายมือ" เพราะเข้ามาแย่งฐานเสียงและการสนับสนุนไปจากนายแคร์รีขณะที่ บุช ซึ่งสังกัดรีพับลิกันพุ่งเป้าการต่อสู้ไปที่นายแคร์รีเพียงคนเดียว

9. "ปัจจัยกลโกง" คนที่อยู่ในตำแหน่งประธานาธิบดีมีโอกาสโกงการเลือกตั้งได้อย่างถุกต้องตามกฎหมายมากกว่าผู้ท้าชิง

อย่างไรก็ตาม ดร.วิบูลย์พงศ์กล่าวว่า จุดพลิกผันที่จะทำให้แคร์รี่ชนะบุชได้นั้นมีอยู่ 4 ประการ

1. การที่หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ ซึ่งประกาศอย่างเปิดเผยว่าสนับสนุนพรรครีพับลิกันตลอดมา ทว่าครั้งนี้ กลับประกาศว่าไม่สนับสนุนจอร์ช ดับเบิลยู บุช ผู้สมัครของรีพับลิกัน

2. การเลือกตั้งล่วงหน้าสำหรับผู้ที่ไม่สามารถออกมาเลือกตั้งในวันที่ 2 พ.ย. ได้ ปรากฎว่าการเลือกตั้งล่วงหน้าครั้งนี้มีผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งสูงมากเป็นประวัติการณ์ และจากสถิติการเลือกตั้งล่วงหน้าที่ผ่านมาจะเป็นคะแนนของพรรคเดโมแครตมากกว่ารีพับลิกัน

3. "ปัจจัยจากคลินตัน" เนื่องจากคลินตัน เป็นอดีตประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครตที่ทำให้เศรษฐกิจของอเมริกาดีที่สุดในประวัติศาสตร์ และนายคลินตันก็ได้ออกมาทวงถามความทรงจำประการนี้จากชาวอเมริกันก่อนการเลือกตั้งประมาณ 2 สัปดาห์

4. "ปัจจัยจากประเทศอิรัก" หากมีระเบิดพลีชีพขึ้นในอิรักและส่งผลให้ชาวอเมริกันเสียชีวิตในวันเลือกตั้ง จะเป็นปัจจัยที่นำไปสู่ "อารมณ์โกรธ" ของชาวอเมริกัน ซึ่งจะพุ่งเป้าความโกรธไปที่บุชทันที และจะส่งผลให้คะแนนที่บุชควรจะได้กลับลดน้อยถอยลง อย่างไรก็ตามปัจจัยที่เกิดจากระเบิดพลีชีพจะต้องเกิดในเวลาที่ใกล้เคียงกับการเลือกตั้งมากๆ

พิณผกา งามสม ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net