เข้าใจเลือกตั้งอเมริกาแบบง่ายๆ

ประชาไท-2 พย. 47 นอกจากถิ่นกำเนิดแล้ว...อเมริกันฟุตบอลกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีสิ่งเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่ง นั่นคือความยุ่งยากของกฎกติกา ชนิดที่เรียกได้ว่าถ้าไม่คุ้นเคยจริงๆ อาจจะงงและพาลดูไม่รู้เรื่องเอาได้ง่ายๆ

ดังนั้น "ประชาไท" จึงขออธิบายถึงวิธีการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐ โดยหวังว่าจะทำให้ผู้อ่านเข้าใจมากขึ้น รวมทั้งเพื่อเพิ่มอรรถรสในการติดตามข่าวการเลือกตั้งครั้งนี้...

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ นั้น ในรัฐธรรมนูญกำหนดให้จัดในวันอังคารหลังจันจันทร์แรกของเดือนพฤศจิกายนในปีที่มีการเลือกตั้ง" ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 2 พฤศจิกายน ซึ่งระบบการเลือกตั้งของสหรัฐฯ เป็นระบบการเลือกตั้งโดยอ้อม ซึ่งมีขั้นตอน 2 ระดับ ระดับแรกคือประชาชนไปลงคะแนนเสียงเลือกประธานาธิบดี (Popular Vote) ระดับที่ 2 คณะผู้เลือกตั้ง (Electoral Vote) เลือกประธานาธิบดี

สำหรับคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้งนั้น ต้องมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป มีสัญชาติอเมริกัน และมีภูมิลำเนาในเขตเลือกตั้งนั้นๆ โดยที่ในแต่ละมลรัฐจะรับผิดชอบในการกำหนดสิทธิ์ของผู้ออกเสียง และตั้งกฎเกณฑ์การออกเสียงและการลงทะเบียนของตนเอง ซึ่งผลการเลือกตั้งในระบบ Popular Vote จะมีผลโดยอ้อมว่าใครจะได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี แต่มีผลโดยตรงต่อการเลือก "คณะผู้เลือกตั้ง" (Electorial Vote) ซึ่งพรรคใดก็ตามที่ได้เสียงส่วนใหญ่ของ Popular Vote ในแต่ละมลรัฐ คณะผู้เลือกตั้งทั้งหมดในมลรัฐนั้นๆ ก็จะมาจากพรรคที่ได้เสียงส่วนใหญ่นั่นเอง (winner- take-all) ดังนั้นในบางรัฐที่มีจำนวนคณะผู้เลือกตั้งมาก จึงเป็นเป้าหมายสำคัญในการหาเสียงของผู้สมัครเลือกตั้งประธานาธิบดี อาทิเช่นแคลิฟอร์เนีย (55) เท็กซัส (34) นิวยอร์ค (31) ฟลอริดา (27) เพนซิลเวเนีย (21) เป็นต้น (ในวงเล็บคือจำนวนคณะผู้เลือกตั้งในแต่ละรัฐ) ซึ่งจำนวนของคณะผู้เลือกตั้งในแต่ละมลรัฐนั้นจะเท่ากับจำนวนผู้แทนราษฎรบวกกับจำนวนวุฒิสมาชิกในแต่ละรัฐ รวมถึงวอชิงตัน ดีซี. ที่มีเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีเท่ากับมลรัฐที่เล็กที่สุด นั่นคือมี 3 เสียง)

เมื่ออ่านถึงตรงนี้ ก็อาจจะบอกได้ว่า แม้ว่าผู้สมัครท่านใดจะได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนมากกว่า ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้สมัครท่านนั้นจะได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี ตราบใดที่ไม่ได้คะแนนจากคณะผู้เลือกตั้งมากกว่าฝ่ายตรงข้าม ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็เช่นเมื่อการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ที่อัล กอร์ได้รับคะแนน Popular Vote มากกว่าจอร์จ ดับเบิลยู. บุช แต่ว่าบุชกลับได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี เนื่องจากได้รับเสียงส่วนใหญ่ในรัฐฟลอริดา ซึ่งส่งผลให้คะแนนคณะผู้เลือกตั้งฝั่งบุชกลายเป็นเสียงส่วนใหญ่ (มากกว่า 270 เสียง จากคะแนนทั้งหมด 538 เสียง)

เมื่อได้คณะผู้เลือกตั้งของทุกรัฐมาแล้ว คณะบุคคลกลุ่มนี้จะเข้าไปทำหน้าที่ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งอย่างเป็นทางการอีกครั้งในวันจันทร์แรกหลังวันพุธที่ 2 ของเดือนธันวาคมในปีที่มีการเลือกตั้ง (ปีนี้ตรงกับวันที่ 13 ธันวาคม) โดยคณะผู้เลือกตั้งจะต้องเดินทางไปลงคะแนนเสียง ณ เมืองหลวงของแต่มลรัฐ หรืออาจจะเป็นที่อื่นๆ ตามแต่สภานิติบัญญัติในแต่ละมลรัฐเป็นผู้กำหนด จากนั้นหีบบรรจุบัตรลงคะแนนของแต่ละรัฐจะถูกปิดผนึกส่งไปยังประธานวุฒิสภาสหรัฐฯ ซึ่งประธานวุฒิสภาจะทำการนับคะแนนท่ามกลาง สส. และ วุฒิสมาชิกทั้งสภาคองเกรสที่มาประชุมพร้อมกันในวันที่ 6 มกราคมของปีถัดจากปีที่มีการเลือกตั้ง

หลังจากได้ผลคะแนนแล้ว สภาคองเกรสจะประกาศรายชื่อผู้ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี ซึ่งว่าที่ประธานาธิบดีจะเข้าสู่พิธีปฏิญาณตนเข้ารับตำแหน่งในเวลาเที่ยงตรงของวันที่ 20 มกราคม

หมายเหตุ : ขอบคุณหนังสือ "คู่มือเพื่อการเข้าใจการเลือกตั้งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา" ที่แถมมากับนิตยสาร a day weekly ฉบับประจำวันที่ 29 ตุลาคม - 4 พฤศจิกายน 2547 และอกสารประกอบการเสวนาทางวิชาการ "วัฒนธรรมข้ามพรมแดน 2 : การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกากับผลกระทบต่อภูมิภาคเอเชีย" ที่จัดโดยศูนย์ศึกษาการระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำหรับข้อมูลในงานชิ้นนี้

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท