Skip to main content
sharethis

หลังเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงที่อ.ตากใบ จ.นราธิวาสไม่นาน "ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด" อดีตผู้นำคนสำคัญแห่งมาเลเซียก็ออกมาพูดถึงแนวทางแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ว่า รัฐบาลไทยควรพิจารณาทบทวนความเป็นไปได้ ในการตั้งเขตปกครองพิเศษในจังหวัดทางภาคใต้ที่มีประชากรมุสลิมจำนวนมาก

ประโยคสั้นๆ นี้เป็นเป็นคำให้สัมภาษณ์ในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของมาเลเซีย แต่ก็ได้รับความสนใจการสื่อต่างๆ ทั่วโลก นอกจากจะสะท้อนว่าปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นนี้เป็นที่จับตามองเพียงไหนในระดับโลกแล้ว ยังบ่งบอกชัดว่า "มหาธีร์" ยังคงมีความสำคัญอยู่เพียงใด

"เขายังคงมีอิทธิพล หรือความเป็นผู้นำทางความคิดอยู่สูงมาก คนในมาเลเซียเองก็รู้สึกว่ามหาธีร์ยังทำหน้าที่ในการคุมการเมืองอยู่" วิโรจน์ อาลี อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย
ธรรมศาสตร์ วิเคราะห์ให้ฟัง

---------------

วิโรจน์กล่าวว่า มหาธีร์ยังมีความสำคัญในฐานะเป็นผู้นำความคิดในองค์การที่ประชุมกลุ่มประเทศอิสลาม(โอไอซี) ที่มีสมาชิกมากกว่า 57 ประเทศ

"มหาธีร์มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้โอไอซีประสบความสำเร็จในฐานะเป็นคนกลางที่มีบทบาทในการเคลื่อนไหวทำรัฐที่เป็นอิสระ ไม่ใช่รัฐอิสระแบบหลุดไปเลยเดี่ยวๆ แต่หมายถึงเขตปกครองพิเศษ ในฟิลิปินส์ก็มีอยู่ทั้งหมด 4 เขต ซึ่งเป็นหมู่เกาะทางภาคใต้ที่มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่มาก และกำลังขยายเป็น 6 เขต" วิโรจน์ระบุ

วิโรจน์เท้าความถึงเขตปกครองพิเศษในฟิลิปปินส์ให้ฟังว่า มีความน่าสนใจมาก เพราะสิ่งที่มหาธีร์และโอไอซีเสนอก็คือ 1. ให้ทหารออกไปจากพื้นที่ 2.พยายามใช้พลเรือนเข้ามาจัดการแก้ไขปัญหามากขึ้น 3. ยอมให้มีศาลทางศาสนา มีธนาคาร ตลอดจนเปลี่ยนแปลงวันหยุดให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมมุสลิม

ส่วนการปกครองตนเอง อาจจะใช้โครงสร้างเหมือนกับรัฐ มีผู้ใหญ่บ้าน กำนัน แต่พยายามให้คนพื้นที่มีบทบาทมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ที่สำคัญที่สุดคือมีการพยายามตั้งโรงเรียนขึ้นมา ให้เด็กๆ ทั้งชาวมุสลิม และชาวคริสต์ เข้ามาเรียนหนังสือร่วมกัน เพื่อให้รับรู้ข้อมูลข่าวสารทั้งสองฝ่าย

โดยโอไอซีทำหน้าที่เหมือนองค์กรระหว่างประเทศองค์กรหนึ่งที่จะทำการตรวจสอบ หรือคอยติดตามการทำงานของรัฐ และการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ดังกล่าวว่าเป็นไปตามข้อกำหนดที่ทั้งสองฝ่ายตกลงกันไว้หรือไม่ รวมทั้งให้ข้อเสนอแนะ แต่ไม่ได้มีผลทางกฎหมาย

กล่าวสำหรับหลักการของ "เขตปกครองพิเศษ" ที่เกิดขึ้นในฟิลิปปินส์ จะว่าไปก็แทบไม่ต่างอะไรกับข้อเสนอของนายกสมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่าง "ฮัจยีนิเดร์ วาบา" ที่เคยเสนอต่อรัฐบาล

"แต่ปฏิกิริยาตอบโต้จากหลายฝ่ายของไทยที่เกิดขึ้น ผมคิดว่าคนยังไม่เข้าใจมากกว่า ไม่มีความรู้เรื่องแนวคิดการให้อำนาจเป็นเขตปกครองพิเศษ มันไม่ใช่เรื่องแปลก ในฟิลิปินส์ก็ทำ ในเมืองจีนก็ทำ ในประเทศที่มีปัญหาเรื่องชนกลุ่มน้อยเกือบทุกประเทศทำเรื่องนี้หมด เราน่าจะต้องให้ความสนใจในประเด็นนี้มากพอสมควร" อาจารย์หนุ่มจากรั้วโดมกล่าว

เขากล่าวอีกว่า เป็นความเข้าใจผิดพอสมควรที่คนคิดว่าเขตปกครองพิเศษเป็นเรื่องเดียวกับการแบ่งแยกดินแดน พร้อมทั้งยืนยันว่ามีงานวิจัยทางวิชาการหลายชิ้นที่บอกชัดเจนว่า คนพื้นที่ก็ไม่ได้อยากจะแยกดินแดน ไม่ได้อยากเข้าไปอยู่ฝั่งมาเลเซีย เพียงแต่อยากมีสิทธิ และเสรีภาพเหมือนกับคนอื่นๆ

"ผมคิดว่าที่มันน่าเศร้าที่สุดก็คือว่าเรื่องของการแบ่งแยกดินแดนในรอบหลายปีที่ผ่านมามันไม่หาย ยิ่งน่าสนใจก็คือ พวกที่เชื่อทักษิณเริ่มมีมากขึ้น และเริ่มแสดงตัวออกมาชัดเจน แล้วมันจะยิ่งทำให้สังคมถูกแยกฝ่ายแยกพวกกันไปใหญ่"

"ที่แปลกใจมากก็คือรัฐบาลก็ไม่ได้ออกมาพูดถึงผลร้าย ถ้าเป็นอเมริกาจะพูดเลยว่ามีพวกนั้นแล้วจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ คนก็จะถูกทำให้เชื่อ แต่ทักษิณก็เฉยๆ ไม่ฟันธง ไม่ชัดเจน แล้วมันก็ไม่มีการชี้วัด เชื่อมโยงว่าปัญหาภาคใต้กระทบต่อเศรษฐกิจด้วย จึงไม่ทราบเหมือนกันว่า ทำไมคนชั้นกลางจึงเริ่มมีการพูดว่า จัดการพวกมันไปเสีย หรือถึงที่สุดแล้วมันมีอัตลักษณ์ที่แยกกันอยู่แล้ว เป็นเขาเป็นเรา" วิโรจน์วิเคราะห์

พร้อมกันกับที่เขายอมรับว่า เขาช็อคที่คำว่า "ชาติ" กลับเข้ามามีบทบาท ทั้งๆที่ ในรอบ 4-5 ปีที่ผ่านมา ดูจากการเรียกร้องของกลุ่มเอ็นจีโอ แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่ทุกฝ่ายต้องการแยกตัวออกจากความเป็นชาติไปสู่ความเป็นท้องถิ่น แต่พอเรื่องนี้ทุกอย่างกลับไปอยู่ที่เดิม ทั้งที่เกือบ 10 กว่าปีที่ผ่านมา แทบไม่ได้ยินว่ามุสลิมต้องการแบ่งแยกดินแดน

เมื่อถามว่ากระแสสนับสนุนการใช้ความรุนแรงของรัฐบาล จะทำให้ประเทศไทยต้องเผชิญหน้ากับโลกมุสลิมหรือไม่ วิโรจน์มองว่า ณ จุดนี้คงยังไม่ถึงขั้นนั้น เพราะในช่วงที่เกิดเรื่องขึ้นมา ชาวมุสลิมยังมีลักษณะกระจัดกระจายมาก ไม่ได้รวมกัน และส่วนใหญ่เป็นพวกสายกลางๆ ไม่อยู่ข้างฝ่ายใด

แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์เลวร้ายมากขึ้นเรื่อยๆ ก็มีแนวโน้มทำให้มุสลิมสายกลางหันไปร่วมกับกลุ่มต่อต้านมากขึ้น แทนที่จะรวมตัวกันขึ้นมาแล้วเรียกร้องออกไปสู่เวทีโลก เพื่อให้เกิดแรงผลักดันให้รัฐบาลปรับตัว ปรับนโยบาย ดังนั้น จึงอยู่ที่พลังภายในประเทศมากกว่าว่ากลุ่มมุสลิมในประเทศไทยจะสามารถต่อเชื่อมและสามารถใช้อำนาจของกลุ่มเรียกร้องได้มากแค่ไหน แต่ที่สำคัญที่สุดคือ ตอนนี้ไม่มีใครรู้ว่าอะไรเป็นอะไร

"ผมก็ไม่เข้าใจว่าทักษิณทำอะไร เมื่อมีท่าทีแข็งกร้าวแล้วจะทำให้ตัวเองได้รับผลประโยชน์อะไรทางการเมือง ถ้าคิดให้ร้าย นี่อาจเป็นโอกาสให้คนที่อยากทำร้ายรัฐบาลมีโอกาสหาแนวร่วมต่อต้านรัฐมากขึ้น"

วิโรจน์เล่าว่าจากการพูดคุยกับนักวิชาการชาวมาเลย์คนหนึ่งทำให้รู้ว่า คนปัตตานี หรือคนในภาคใต้เข้าไปทำงานในมาเลเซียจำนวนมาก กระทั่งคนในรัฐเคดาห์จนเกือบจะถึงลังกาวี ฟังภาษาไทยได้ และแทบจะพูดภาษาไทยได้หมด

"เขาบอกว่าตอนนี้เริ่มมีการพูดจากันว่าจะส่งเงินเข้าไป เป็นเรื่องน่ากลัวเพราะเท่ากับเห็นด้วยกับการก่อการร้าย และพรรคการเมืองท้องถิ่นต่างๆ ในมาเลเซียก็เริ่มที่หันมาให้ความช่วยเหลือ และเขาบอกพวกสายกลางๆ ในมาเลเซียเองก็รู้สึกแย่กับเรื่องนี้"

ดังนั้น เขามองว่าจึงเป็นไปได้ที่การออกมาพูดของมหาธีร์ครั้งนี้เป็นการสะท้อนมุมมองของโอไอซีทั้งหมดต่อกรณีภาคใต้

กล่าวอย่างถึงที่สุด สิ่งที่วิโรจน์วิเคราะห์อาจตีความได้ว่า กรณีตากใบอาจจะเป็นฟางเส้นสุดท้ายทำให้วิกฤตการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยกระดับกลายเป็นสถานการณ์ก่อการร้ายในระดับสากล

ถึงขั้นนี้ หากรัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องยังคิดหาหนทางแก้ปัญหาไม่ออก ข้อเสนอเรื่องเขตปกครองพิเศษก็น่าสนใจอยู่ไม่น้อย…

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net