คนเมืองฟื้นเหมืองฝายพญาคำ

ศูนย์ข่าวภาคเหนือ- 4 พ.ย.47 ที่บริเวณเหมืองฝายพญาคำ ริมน้ำปิง จ.เชียงใหม่ ได้มีการจัดสืบชะตาน้ำและพัฒนาเหมืองฝายพญาคำขึ้น เพื่อฟื้นฟูจารีตประเพณี พิธีกรรมเก่าแก่ และเพื่อสร้างความตระหนักและเห็นคุณค่าของเหมืองฝาย ซึ่งเป็นภูมิปัญญาการจัดการน้ำของล้านนา โดยมีชาวบ้านจาก 8 ตำบล จาก จ.เชียงใหม่ และ จ.ลำพูน พร้อมหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมงานกันกว่า 200 คน

นายหมื่น ทิพยเนตร ผู้อาวุโสวัย 76 ปี ซึ่งเป็นประธานเหมืองฝายพญาคำ เปิดเผยว่า เหมืองฝายพญาคำ เป็นเหมืองฝายเก่าแก่ สร้างขึ้นก่อนจะมีเวียงกุมกาม เวียงเชียงใหม่ มีอายุกว่า 1,000 ปี โดยในครั้งนั้น มีเจ้าพญาคำ เป็นผู้วางแผน และรวบรวมชาวบ้านในเขตปกครองพื้นที่ติดต่อกันเมืองลำพูน มาร่วมกันขุดลอกลำเหมือง และร่วมกันสร้างฝายธรรมชาติกันขึ้นมา

"เหมืองฝายพญาคำ จึงเป็นมรดกทางวัฒนธรรมมานาน ตั้งแต่ปี พ.ศ.1100 เป็นต้นมา นับว่าเป็นสายน้ำสายเลือดใหญ่ที่ไปหล่อเลี้ยงชุมชนตั้งแต่ ต.ท่าศาลา อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ไปสิ้นสุดที่ ต.หนองแฝก ต.อุโมงค์ และ ต.ป่าแดด อ.เมือง จ.ลำพูน ซึ่งพ่อได้สืบทอดมาเป็นประธานเหมืองฝายพญาคำ มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2497 มาจนถึงเดี๋ยวนี้ ปัจจุบัน มีผู้ใช้น้ำในชุมชนลักษณะกึ่งเมืองกึ่งชนบท ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 104 หมู่บ้าน ในพื้นที่รับน้ำประมาณ 30,000 ไร่" นายหมื่น กล่าว

นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ผู้อำนวยการวิทยาลัยการจัดการสังคม กล่าวว่า เหมืองฝายพญาคำ เป็นเอกลักษณ์ของการจัดการน้ำของท้องถิ่น เพราะสังคมล้านนา เป็นสังคมการเกษตร ตราบใดที่มีเกษตรกร ตราบนั้นจำเป็นต้องมีเหมืองฝาย

"ตนถือว่า นี่คือมรดกภูมิปัญญา ที่กว่าจะเป็นเหมืองได้ คงต้องใช้คนมากมายและมีคนตายกันเท่าใด และรู้สึกทึ่งในความคิดความสามารถของคนรุ่นก่อน ที่สร้างเหมืองฝายขึ้นมาโดยไม่ทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งยังสามารถดำรงสืบทอดมาจนถึงยุคนี้ นี่เป็นสิ่งที่คนรุ่นหลังต้องรู้จักรักษาและหวงแหน" นายชัชวาลย์ กล่าว

มีรายงานว่า ในขณะที่คนเชียงใหม่และลำพูน กำลังรณรงค์ฟื้นฟูระบบเหมืองฝายพญาคำกันอยู่ นี้ กลับมีกระแสข่าวว่าทางกรมชลประทาน กำลังเร่งสำรวจพื้นที่ที่จะสร้างเขื่อนยางกั้นลำน้ำปิง โดยมีการกำหนดเอาไว้ที่บริเวณวัดป่างิ้ว ต.ท่าวังตาล อ.สารภี จ.เชียงใหม่ โดยจะมีการรื้อทิ้งเหมืองฝาย ทั้ง 3 แห่ง คือฝายท่าวังตาล ฝายหนองผึ้ง และฝายพญาคำ

คนเชียงใหม่-ลำพูน ลุกค้านเขื่อนกั้นน้ำปิง
หากไม่ยุติ เชื่อเหนือจะลุกร้อนกว่าไฟใต้

ศูนย์ข่าวภาคเหนือ/4 พ.ย.47 คนเชียงใหม่-ลำพูน ลุกค้านรัฐสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำปิง ชี้กระทบต่อเหมืองฝายดั้งเดิม ชาวบ้านขู่หากไม่ยุติโครงการ คนเชียงใหม่-ลำพูน 8 ตำบล จะรวมตัวประท้วง ยอมตาย

นายสมบูรณ์ บุญชู ประธานคณะกรรมการจัดการลุ่มน้ำแม่ปิงตอนบน ส่วนที่ 2 และเป็นสมาชิก อบต.สารภี อ.สารภี จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า ทราบข่าวว่าทางกรมชลประทาน ได้เข้ามาทำการสำรวจพื้นที่จะสร้างเขื่อนกั้นน้ำแม่ปิง บริเวณวัดป่างิ้ว ต.ท่าวังตาล อ.สารภี จ.เชียงใหม่ ซึ่งอยู่ห่างจากเหมืองฝายพญาคำนี้ไปประมาณ 5 กิโลเมตร

"ทางกรมชลประทาน อ้างว่า เพื่อจะปรับให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว มีการล่องเรือ ทำทะเลสาป น้ำพุ ซึ่งตนคิดว่า จะต้องส่งผลกระทบกับชาวบ้านริมน้ำปิง เพราะขณะนี้เมื่อเกิดน้ำท่วม ยังแก้ไขไม่ได้เลย และคนที่อยู่ลุ่มเขื่อนก็จะต้องรับผลกระทบในเรื่องน้ำไม่พอใช้อย่างแน่นอน" นายสมบูรณ์ กล่าว

นายหมื่น ทิพยเนตร อายุ 76 ปี ชาวบ้าน บ.อุโมงค์ ต.อุโมงค์ อ.เมือง จ.ลำพูน และเป็นประธานเหมืองฝายพญาคำ กล่าวว่า ตนเป็นลูกหลานของท้าวปู ซึ่งเป็นสหายของพญาคำ ผู้ร่วมสร้างเหมืองฝายแห่งนี้ ขอคัดค้านการสร้างเขื่อนกั้นน้ำปิง ยิ่งรู้ว่ารัฐจะทำการรื้อระบบเหมืองฝายทั้งหมดทิ้ง ยิ่งไม่มีความชอบธรรม หากยังไม่ยุติโครงการ ตนเชื่อว่าแผ่นดินเชียงใหม่ ลำพูน จะลุกร้อนเป็นไฟยิ่งกว่าภาคใต้ และตนจะขอเดินนำหน้าคัดค้าน จะขอตายเพื่อชาวนา" นายหมื่น กล่าวด้วยความรู้สึกหวงแหน

นายพลอย มาลิน อายุ 75 ปี ชาวบ้านบ้านสารภี ต.สารภี อ.สารภี จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ก่อนหน้านั้น สมัยรัฐบาลบรรหาร เคยมีโครงการจะสร้างเขื่อนดังกล่าวมาแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งตนและชาวบ้านทั้ง 8 ตำบล ได้ร่วมกันคัดค้านไม่เห็นด้วย จนในที่สุด นายบรรหาร ได้ยุติโครงการนี้ไป แต่มาสมัยรัฐบาลทักษิณ ซึ่งเป็นคนเชียงใหม่ กลับปล่อยให้มีการรื้อฟื้นโครงการสร้างเขื่อนขึ้นมาอีก พวกตนเห็นว่า จะต้องมีการรวมตัวกันอีกครั้งหนึ่งอย่างแน่นอน

ขณะที่ นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ผู้อำนวยการวิทยาลัยการจัดการทางสังคม เปิดเผยว่า ตนไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะการสร้างเขื่อน จะเป็นการทำลายเอกลักษณ์ คุณค่าทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะเรื่องระบบเหมืองฝายพญาคำ ซึ่งถือว่าเป็นตำนานประวัติศาสตร์ของล้านนา เพราะมีการสร้างขึ้นมานานกว่า 1,000 ปี ก่อนที่จะมีการสร้างเวียงกุมกามและเมืองเชียงใหม่เสียอีก

"และระบบเหมืองฝายนั้น เป็นภูมิปัญญาของชาวบ้าน ที่มีการจัดการจัดสรรน้ำได้โดยไม่ทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยกตัวอย่างเช่น การสร้างเขื่อนภูมิพล ต้องมีการอพยพผู้คนกว่า 2,000 ครอบครัว และต้องสูญเสียที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัยกว่า 20,000 ไร่ รวมไปถึงวัดวาอาราม โบราณยสถานอีกไม่รู้กี่แห่ง นี่เป็นประเด็นให้ทุกคนได้คิดว่า เราจะรักษามรดกภูมิปัญญาเหล่านี้ให้ดำรงเอาไว้ได้อย่างไร" นายชัชวาลย์ กล่าว

องอาจ เดชา
ศูนย์ข่าวภาคเหนือรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท