Skip to main content
sharethis

กรุงเทพฯ- 7 พ.ย.47 นายอัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง นักวิชาการอิสระเห็นว่า นโยบายการกวาดล้างอาวุธของนายกรัฐมนตรีนั้น แสดงให้เห็นว่า ผู้เสนอไม่ได้ใช้สติปัญญาในการแก้ไขปัญหาให้สถานการณ์ดีขึ้น กลับมีแต่กลับจะเลวลง โดยยิ่งจะทำให้เจ้าหน้าที่เร่งกวาดล้างเพื่อเอาผลงานมารับรางวัล

" หากถามผมว่า นโยบายในการกวาดล้างอาวุธเป็นเรื่องที่ดีไหม ขอบอกเลยได้ว่าเป็นนโยบายที่ดี แต่ผมขอถามกลับไปว่า ขบวนการคิดของผู้นำและฝ่ายบริหารได้มีการปรับกระบวนทัศน์ในการแก้ไขปัญหาแล้วหรือยัง ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าสำคัญกว่า เพราะเหตุการณ์ความวุ่นวายในภาคใต้ ไม่ใช่เป็นกรณีเดียวกับการปราบปรามคอมมิวนิสต์ เรื่องนี้มีความลึกซึ้งมากกว่าเยอะ เพราะไม่ใช่เป็นเรื่องของขบวนการแต่เป็นเรื่องของอัตลักษณ์ วัฒนธรรม ศักดิ์ศรี เรื่องของความยุติธรรม ซึ่งมีมากกว่านโยบาย 66/23" นายอัฮหมัดสมบูรณ์ กล่าวระหว่างการสัมมนา "สันติวิถีกับความยั่งยืนของประชาธิปไตยที่ยั่งยืน " จัดโดยสถาบันพระปกเกล้า

ประเด็นสำคัญในเวลานี้ก็คือ นายกรัฐมนตรีจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนการตั้งโจทย์ในการแก้ไขปัญหาภาคใต้เสียใหม่ เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีมักจะมองว่าเป็นเรื่องของขบวนการแบ่งแยกดินแดน และขบวนการการก่อการร้าย แต่นายกรัฐมนตรีไม่เคยวิเคราะห์ว่า ที่มาของคำว่า แบ่งแยกดินแดนมันคืออะไร เกิดจากอะไร และมีปัจจัยอะไรที่ทำให้เกิดขึ้น แต่กลับมองว่าเมื่อมีการแบ่งแยกดินแดนกันเกิดขึ้นแล้วจะต้องมีการยึดพื้นที่ จะต้องมีการใช้กำลังเพียงเท่านั้น

วิธีการในการแก้ไขปัญหาของนายกรัฐมนตรีที่เห็นอยู่ในเวลานี้คือกระบวนการแก้ไขปัญหาโดยการให้ความเห็นใจและเอาเงินฝาดหัว โดยมองว่าคนภาคใต้เรียนน้อยจึงต้องให้โควต้าพิเศษ ทั้งที่ความจริงแล้วไม่ใช่ปัจจัยที่แท้จริงทั้งหมด แต่หลักที่จริงแล้วควรที่จะให้ความเท่าเทียมกันในเรื่องของการศึกษา ให้ความเท่าเทียมในเรื่องของการแก้ไขปัญหาความยากจนที่เหมือนกับทุกภาคส่วนของประเทศ

"เราจำเป็นต้องถามความรู้สึกของคนในพื้นที่ ว่าต้องการในเรื่องใดบ้าง เนื่องจากที่ผ่านมาโครงการแก้ไขปัญหาต่างๆของรัฐบาล รัฐจะเป็นผู้ดำเนินการเสียส่วนใหญ่ โดยไม่ได้ให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม จึงทำให้เกิดผลกระทบตามมาในภายหลัง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของสิ่งแวดล้อม หรือวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่น" นายอัฮหมัดสมบูรณ์ กล่าว

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net