Skip to main content
sharethis

บ่ายวันที่ 5 พ.ย. ห้องประชุมสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาสแออัดยัดเยียดไปด้วยครอบครัวของผู้ที่สูญเสียในเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่ตากใบ เพื่อมารับมอบเงินจำนวน 7 พันบาทจากผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส

บางคนหอบลูกเล็กๆ มากันทั้งครอบครัว ทำให้ผู้ที่มารวมตัวในห้องประชุมดูเผินๆ แล้วไม่น่าจะต่ำกว่า 200 คน บรรยากาศโดยรวม ทั้งสีหน้าท่าทาง และแววตาที่ดูหม่นเศร้าปกคลุมบรรยากาศโดยรวม กิจกรรมดำเนินไปอย่างรวดเร็ว โดยมีการแปลสลับเป็นภาษายาวีเป็นระยะ

ข้าพเจ้ายืนเบียดอยู่มุมเล็กๆบริเวณด้านหลังห้อง "ม๊ะ(แม่)...ที่บ้านใครเสียคะ" ข้าพเจ้าถือโอกาสเสี่ยงถามหญิงวัยกลางคนที่นั่งอยู่เก้าอี้ข้างๆเพราะยังไม่แน่ใจว่าพูดภาษาไทยได้หรือไม่ "ลูกชาย..." ม๊ะบอกข้าพเจ้าพร้อมรอยยิ้มเศร้า

สักพักข้าพเจ้าลองถามต่อ "อายุเท่าไหร่คะ" "33 ปี..." ม๊ะก้มหน้าก่อนหยิบผ้ามาซับน้ำตา ข้าพเจ้าจับมือม๊ะ ก่อนจะถอยออกมาอีกด้านเพราะไม่สามารถดำเนินการสนทนาต่อได้

"...วันนี้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองทำผิดพลาด จนญาติของท่านเสียชีวิตไปอย่างสุดวิสัย ผมขอโทษท่านอย่างเป็นทางการ" เมื่อจบคำผู้ว่าฯ ยกมือไหว้ ห้องเงียบไม่มีเสียงปรบมือ จนข้าพเจ้าเองไม่แน่ใจนักว่าจะสามารถบรรเทาความโศกเศร้า หรือยากจะคาดเดาอารมณ์ความรู้สึกของคนที่อยู่ในห้อง

ระหว่างที่ผู้ว่าฯเดินมอบซองขาวให้ญาติๆ อย่างรวดเร็ว ข้าพเจ้าหลบออกมาด้านข้างนอกห้องประชุม และได้พบชายหนุ่มคนหนึ่ง เขาบอกข้าพเจ้าว่า ไม่มีญาติที่เสียชีวิตแต่มาเป็นล่ามให้กับนักข่าวที่มาจากสิงคโปร์อีก 4 คน ข้าพเจ้าถือโอกาสถามถึงงานวันนี้

เขาบอกว่า ให้เงินชาวบ้านเอา แต่ความเสียใจที่เกิดขึ้นมันยากจะเยียวยา ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก พวกเขายังทำใจไม่ได้ ผู้ว่าฯคนนี้เพิ่งย้ายมาได้เพียง 4 วัน ได้ยินว่าเป็นคนตรง เอาจริงเอาจังกับการทำงาน แต่ชาวบ้านก็ยังไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร ที่ขอโทษวันนี้ดีแต่ต้องรอดูต่อไป

------------------------

เช้าวันที่ 6 พ.ย. เราย้อนกลับมาที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามฯอีกครั้ง เพื่อพูดคุยกับผู้นำศาสนาที่ใกล้ชิดกับครอบครัวของผู้ที่สูญเสีย ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับฟังความทุกข์ใจและความเดือดร้อน รวมทั้งความต้องการเป็นอย่างดี

นายอับดุลเราะห์มาน อับดุลศอมัด ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับจากโต๊ะอิหม่ามทั้งจังหวัด เล่าว่าตั้งแต่มีเหตุการณ์ที่ตากใบจะมีคนมาหาแต่ละวันประมาณ 50 คน บางวันมาเป็นร้อยคน โดยมาที่สำนักงานอิสลามฯหรือบางคนไปหาที่บ้านก็มี ซึ่งส่วนใหญ่ที่มาเขาบอกมาบอกเล่าความรู้สึกเพราะไม่รู้จะไปที่ไหน ญาติบางคนก็มาแสดงความขอบคุณเรา

"ตอนนี้ส.ส.ก็ไม่มีใครมาเลย ชาวบ้านเขาถามหา บางคนโทรไปหาก็ไม่รับสาย ไปหาที่บ้านก็ไม่เจอ ไปอำเภอก็ไม่มีใครสนใจ คนที่มาหาผมส่วนใหญ่เป็นขั้นตอนที่สองสามทั้งนั้นไม่ใช่ขั้นตอนแรก เขาอยากได้ที่ระบาย บางคนไม่มีที่ไปเขาแอบมาคุยกับเจ้าหน้าที่สำนักงานเพราะเกรงใจผม" ประธานคณะกรรมการอิสลามฯ กล่าว

ประธานคณะกรรมการอิสลามฯ เล่าย้อนว่า ตนเดินทางกลับจากจีนวันที่ 24 ต.ค. จากนั้นวันที่ 25 ต.ค.ไปประชุมต่อที่กรุงเทพฯ จึงไม่ได้อยู่ที่เกิดเหตุ และหลังจากทราบเรื่องวันที่ 26 ต.ค. ได้เดินทางไปที่ค่ายอิงคยุทธฯ แล้วรีบกลับมาประชุมด่วนเรื่องให้ญาติมารับศพ โดยประกาศทางวิทยุทั้ง 3 จังหวัด ว่าหลัง 10.00 น. วันพฤหัสบดีที่ 28 ต.ค.ถ้ายังไม่มีญาติมารับศพเราจะทำพิธีให้

"เราไปเห็นศพแล้ว ความรู้สึกของญาติเขารับไม่ได้ เขาไปเห็นก็ร้องไห้ เพราะวางศพทิ้งไว้บนดิน เสื้อไม่มี ที่ตั้งศพไม่เหมือนกับเป็นมนุษย์ ตอนแรกไม่มีเต็นท์ด้วยซ้ำ ตอนหลังมีแต่ไม่พอบางศพก็วางอยู่นอกเต็นท์ ญาติเขารู้สึกว่าเป็นการไม่เคารพศพซึ่งไม่ใช่แค่กับศาสนาอิสลามแต่กับคนทุกศาสนา และตามหลักศาสนาอิสลามแล้วถ้าเราไม่ทำศพให้เรียบร้อยถือว่ามุสลิมทั้งประเทศไทยบาปทั้งหมด" ประธานคณะกรรมการอิสลามฯ กล่าว

จนถึงวันที่ 28 ต.ค.มีศพเหลือ 32 ศพ โดยมีญาติมารับเพิ่มอีก 4 ศพ ซึ่งประธานคณะกรรมการอิสลามฯ บอกว่าทุกศพได้อาบน้ำศพและคลุมผ้าขาวเพื่อให้ญาตินำไปฝังได้เลย และเมื่อเคลื่อนศพมาจนถึง อ.บาเจาะจึงมีญาติมารับเพิ่มอีก 2 ศพ ปัจจุบันจึงมี 22 ศพที่ยังไม่มีญาติ ซึ่งคิดว่าเป็นคนนราธิวาสทั้งหมด เพราะตอนที่โดนจับตอนแรกได้ทราบจากแม่ทัพภาค 4 ว่าส่วนใหญ่มาจากจังหวัดอื่น แต่เมื่อดูรายชื่อคนที่ถูกจับปรากฏว่า 1,300 คน เป็นคนตากใบ 600 คน คนปัตตานี 10 คน คนยะลา 1 คน ที่เหลือเป็นคนนราธิวาส

ส่วนการตายรายวันทุกวันนี้ก็รู้สึกเสียใจมาก และอยากให้เจาะลึกจริงๆว่ามันเกิดจากอะไร ประธานคณะกรรมการอิสลามฯเองเชื่อว่าคน 3 จังหวัดนั้นถ้าไม่มีอะไร ไม่ใช่คนรุนแรง ซึ่งลึกๆตอนนี้ก็ยังไม่รู้แต่รู้ความรู้สึกของคน

"เรื่องราวอาจจะแย่ลง ยิ่งเหตุที่ตากใบเมื่อถามญาติหลายคนเขาบอกไม่ไหว มีลูกของคนที่เสียชีวิตบางคน ไปหาที่บ้านแล้วผมบอกให้อดทน เขาโกรธหาว่า ผมสนับสนุนตำรวจ ซึ่งไม่ใช่แต่ตามหลักศาสนาการเสียชีวิตไปแล้วเราต้องยอมรับ แต่การตายไม่ปกติมันเป็นเรื่องยาก ตอนนี้บางคนที่ญาติหายไปเขามาเล่าว่าไม่รู้จะทำยังไง ไปแจ้งความที่อำเภอ ไปหาตำรวจบอกว่าญาติหายเขาไม่เชื่อ ไม่ตามให้ บางคนไม่กล้าไปแจ้งความ ซึ่งเราเชื่อว่ามีมากกว่า 48 คนตามที่หนังสือพิมพ์เสนอ แต่ยังไม่รู้จะช่วยยังไง" ประธานคณะกรรมการอิสลามฯ กล่าวถึงสถานการณ์ในปัจจุบัน

ที่ผ่านมาประธานคณะกรรมการอิสลามฯ กล่าวว่าเคยมีการเสนอมาหลายครั้งตั้งแต่ครั้งที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกฯลงมาจัดคุยแล้วทำข้อเสนอก็ตกไป หลังจากนั้นมีตัวแทนลงมาคุยกับโต๊ะอิหม่ามและทำข้อเสนอไปเรื่องก็เงียบอีก จนตอนนี้เราเองไม่เชื่อใจรัฐบาลแล้ว เพราะทำให้ผิดหวังมาหลายครั้ง และตอนนี้ก็อาจจะมีการคุยกันกับโต๊ะอิหม่าม กำนัน อบต. ของทั้ง 3 จังหวัดมาคุยกัน

"สิ่งที่อยากเสนอตอนนี้คือ รัฐบาลควรดูแลครอบครัวที่สูญเสียให้ดีที่สุด ลูกเขาทำยังไง ไม่ใช่ให้เงินแค่แสนบาทเท่านั้นต้องทำความเข้าใจในการสื่อสารกับเขา การให้เงินเขาเอาแต่ความรู้สึกไม่ใช่ เขาจะยิ่งรับไม่ได้มันเหมือนเป็นการซื้อชีวิตลูกเขาซึ่งเขาไม่ขาย รัฐบาลเองก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะรับผิดชอบจริงจัง ที่ผู้ว่าฯ พูดก็ดีแล้วแต่จากรัฐบาลเองยังไม่มี นายกฯ ไม่เคยแสดงความเสียใจ ไม่เคยขอโทษครอบครัวคนที่สูญเสีย ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาต้องการ " ประธานคณะกรรมการอิสลามฯ กล่าวย้ำ

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net