Fat Festival #4 : วันที่นางเลิ้งไม่มีม้าวิ่ง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

3 พย. 47

"พี่ครับ วันที่ 6-7 นี้ผมขอลาหยุดนะพี่" ผมขอลางานกับพี่เปี๊ยก (นามสมมติ) หัวหน้าแกงค์ของพวกเราชาว "ประชาไทไ
"ลาไปทำอะไรเหรอ" พี่เปี๊ยกถามผม
ผมบอกไปว่า "มันมีงานแฟต (ชื่อเต็มๆ มันคืองาน Heineken Fat Festival ครั้งที่ 4) นะครับ แล้วพอดีผมต้องเอาหนังสือไปขายในงานด้วย"
พี่เปี๊ยกยิ้มน้อยๆ พร้อมตอบว่า... "ได้ๆ แต่คุณต้องเขียนงานมาส่งผมด้วยนะ"

ผมยิ้มตอบ พร้อมทั้งนึกในใจว่า "เอ่อ...เอางี้เลยเหรอพี่" แต่ก็ตอบไปว่า "ครับๆ พี่"

6 พย. 47

11.45 น.
ผมเดินทางมาถึงสนามม้านางเลิ้ง-สถานที่จัดงานซึ่งใครๆ มักถามกันว่า "ทำไมมันเลือกจัดที่นี่วะ" แต่ถ้าได้รู้ว่างานแฟตฯ ครั้งก่อนๆ เคยจัดที่ไหนบ้าง ก็คงจะรู้ว่าแค่สนามม้านางเลิ้งนั้น "เด็กๆ" เพราะครั้งก่อนๆ เคยไปจัดกันตามที่แปลกๆ ที่ไม่ใคร่จะมีใครไปจัดเทศกาลดนตรีกัน ไม่ว่าจะเป็นโกดังร้าง ห้างสรรพสินค้าเงียบๆ ที่ธรรมดาเป็นสถานที่จัดรายการ "ศึกอัศวินดำ" หรือแม้กระทั่งสวนสนุกชานเมือง ที่แค่คิดจะเดินทางไปก็เหนื่อยแล้ว

แต่สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ทุกที่ต่างมี นั่นคือความรู้สึกถึงความเก่า และออกโทรมเล็กๆ ซึ่งสนามม้านางเลิ้งมีอย่างครบถ้วน

หลังจากที่เข้ามาในงาน ซื้อสูจิบัตรและซีดีพิเศษที่ทาง Fat Radio จัดทำขึ้น (ซึ่งผมมารู้ภายหลังว่าซีดีจำนวน 1,000 แผ่น ที่จัดทำไว้นั้นขายหมดตั้งแต่เวลาบ่าย 2 โมงของวันเดียวกัน) ผมจึงเดินต่อไปยังโซนหนังสือทำมือ ที่ได้มีการจัดไว้ที่บริเวณชั้น 2-4 ของอาคารอัฒจรรย์ฝั่งขวามือ (โซนนี้ใช้ชื่อว่า "ศูนย์การค้าโบ๊เบ๊" ) ในขณะที่ด้านซ้ายของอาคารเดียวกันนั้นใช้เป็นส่วนจำหน่ายเทป-ซีดี ของศิลปินหลากค่าย (ซึ่งใช้ชื่อว่า "CD Warehorse" ) ส่วนภายในสนามม้านั้นถูกทำให้กลายเป็นเวทีคอนเสิร์ตคู่ (ในชื่อเวที "อรนภา-กฤษฎี" )

เมื่อถึงบริเวณที่ผมได้จองที่เอาไว้ ผมจึงเริ่มนำเสื่อที่เตรียมเอาไว้มาปู พร้อมกับนำหนังสือทำมือของตัวเองออกมาเตรียมขาย

การค้าของผมได้เริ่มต้นแล้ว...

15.00 น.
แม้ว่าหนังสือของผมจะขายไม่ดีเอาเสียเลย แต่ผมก็ไม่ได้เสียอารมณ์มากมายนัก ก็เพราะว่าอย่างน้อยๆ การนั่งมองสาวๆ น่ารักๆ (ซึ่งเป็นสิ่งที่หาได้ยากยิ่งในที่ทำงานของชาว "ประชาไท" เอ่อ... ถึงตรงนี้ผมโดนเพื่อนร่วมงานสาวๆ หยิกหูเสียจนแดงโป่งซะแล้วละครับ) ก็เป็นความบันเทิงอันพอจะหาได้บ้าง นอกจากนั้นแล้ว ผมยังได้เห็นแฟชั่นการแต่งกายของวัยรุ่นสมัยนี้ ที่มีมากมายหลาย ตั้งแต่พวกพังค์หัวตั้ง ที่มักจะมาพร้อมๆ กับชุดหนังประดับด้วยโซ่และหมุดเหล็ก, เด็ก Hip-Hop กับเสื้อบาสขนาดใหญ่กว่าตัวสักสองไซส์, เด็กหนุ่มวัยรุ่นที่มากับเสื้อยืดที่ทับเสื้อนอกและกางเกงสแลค ไปจนถึงกลุ่มที่มาพร้อมๆ กับเสื้อผ้ามือสอง กางเกงยีน และรองเท้าผ้าใบ

ผมเห็นแล้วนึกขำในใจ ว่าเมื่อพวกเขาโตขึ้นแล้วกลับมามองตัวเองในตอนนี้ พวกเขาจะรู้สึกยังกันบ้าง...แต่ในเมื่อยังไม่ถึงเวลานั้น หากยังไม่ทำให้ใครเดือดร้อน (อย่างเช่นวัยรุ่นหลายๆ คนที่สูบบุหรี่ในงานโดยไม่เกรงใจคนข้างๆ, พวกที่ซัดเบียร์ทั้งๆ ที่ดูหน้าตาแล้วไม่น่าจะพ้นรั้วโรงเรียนมัธยม หรือแม้กระทั่งพวกที่ไม่ได้ตั้งใจมาดูคอนเสิร์ต แต่มาโชว์ความเก๋าลูกเดียวเป็นต้น) ก็ปล่อยให้เขาค้นหาตัวเองไปก่อนเถอะ ผู้ใหญ่อย่าเพิ่งไปว่าเขาเลย

19.00 น.
เมื่อสบโอกาส ผมจึงปล่อยให้เพื่อนช่วยเฝ้าบูธ แล้วก็แว่บออกไปดูบริเวณรอบๆ งานเสียหน่อย โดยตั้งใจว่าจะลองไปแวะดูแผงซีดี ซึ่งก็ต้องผ่านโซน "ฮี้ ฮ้อบ พลาซ่า" ซึ่งเป็นโซนแสดงสดสำหรับศิลปินเพลงแนว Hip-Hop ซึ่งกว่าจะฝ่าฝูงชนออกมาได้ก็กินเวลานานโขทีเดียว

ผมเดินดูเทปและซีดีได้สักพักใหญ่ๆจนเหงื่อท่วมตัว (ด้วยจำนวนฝูงชนที่เบียดเสียดยัดเยียดเสียเหลือเกิน) จึงออกมาพักเหนื่อยด้วยการมานั่งดูคอนเสิร์ตที่เวที "อรนภา" ซึ่งวง The Travellers - วงดนตรีแนว Standard Jazz กำลังแสดงฝีมืออยู่พอดี ซึ่งนี่เป็นหนึ่งในหลายๆ ศิลปินต่างประเทศที่มาร่วมงานในครั้งนี้ (หนึ่งในนั้นมีวงดนตรีแนว Nu-Metal จากประเทศลาวอย่างวง Cells ซึ่งผมตั้งตารอดูเป็นพิเศษอยู่ด้วย)

ผมดู The Travellers แสดงไปพร้อมๆ กับขาที่แอบขยับไปตามจังหวะดนตรีทั้งๆที่ฟังภาษาญี่ปุ่นไม่ออกสักตัว (ผมไม่เคยเชื่อว่าดนตรี Jazz จะมันส์ได้เท่าๆกับเพลงร็อคจนได้ดูการแสดงของวงนี้แหละ) และเมื่อแอบดูยังผู้ชมรอบข้าง ก็พบว่ามีหลายๆ คนขยับขาและโยกหัวเป็นเพื่อนผมด้วยเช่นกัน

มันดูเป็นเรื่องแปลก ที่แม้ว่าเราจะไม่เข้าใจในภาษา แต่ดนตรีกลับเชื่อมให้คนเข้าใจกันได้...อย่างน้อยๆ ก็ทำให้คนหลายๆ คนได้สนุกร่วมกัน

น่าเสียดาย...ที่ในสนามรบ เสียงดนตรีกลับดังไม่พอกลบเสียงปืน

22.00 น.

ผมเดินกลับมายังโซนหนังสือ ก็พบว่าหลายๆ บูธเริ่มเก็บของกลับบ้านกันแล้ว ประกอบกับคนเริ่มบางตาแล้ว ผมจึงเริ่มเก็บบูธบ้าง เมื่อเคลียร์ทุกอย่างเรียบร้อย ผมจึงเดินออกมายังทางออกของงานเพื่อกลับบ้าน

สิ่งที่ผมได้พบคือฝูงชนจำนวนมากกำลังทยอยออกจากงาน โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบคอยเร่งให้ฝูงชนออกนอกรั้วเร็วขึ้น สลับกับเสียงจากเครื่องขยายเสียงที่คอยบอกให้ผู้คนรีบออกจากงานให้เร็วที่สุด

ผมเริ่มสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ผมก็ยังคิดในแง่ดีว่าคงไม่เกิดอะไรขึ้นมากมายละกระมัง เพราะภาพภายนอกงานก็ยังปกติดี (ต่างจากงานครั้งที่แล้วที่หน้างานอุดมไปด้วยรถตำรวจ) หากจะมีภาพที่แปลกตาไปบ้าง ก็แค่จำนวนคนที่มากพอจะปิดถนนพิษณุโลกได้ถ้าอยากจะปิดจริงๆ (แต่เอาเข้าจริงก็คงไม่มีใครคิดอย่างนั้น เพราะทุกคนคงหวังจะกลับบ้าน หรือไม่ก็ไปหาที่เที่ยวต่อ)

ผมค่อยๆ เดินออกจากถนนพิษณุโลก ฝ่าฝูงชนที่ต่างหาทางกลับบ้านมาเรื่อยๆ จนกระแสคนเริ่มน้อยลง จึงหาแท็กซี่กลับบ้านได้ ผมนั่งแท็กซี่พร้อมๆ กับมองหนังสือกองมโหฬารที่เหลือและคิดว่า "เอาน่า...พรุ่งนี้ยังมี" ...

เด็กใหม่ในเมือง
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท