รายงานพิเศษ - สงครามการแย่งชิงน้ำกับการรุกที่สาธารณะ


รายงานพิเศษ - สงครามการแย่งชิงน้ำกับการรุกที่สาธารณะ
กรณีศึกษา ความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับสวนส้มธนาธร

เช้าวันที่ 15 พ.ย.2547 ที่ห้องประชุม ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับและอำเภอ รวมทั้งตัวแทนองค์กรท้องถิ่น ตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบและเจ้าของสวนส้มธนาธร มาร่วมประชุมหาทางแก้ไขปัญหาการรุกที่สาธารณะและการแย่งชิงน้ำ

นายปริญญา ปานทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ประธานการประชุม กล่าวว่า ที่ผ่านมา ทางคณะกรรมการฯ ได้พยายามทำเต็มที่ตามความสามารถ อยากเอาปัญหาอุปสรรคต่างๆ ทำให้มันกระจ่าง ไม่ว่าปัญหาการบุกรุกพื้นที่ ปัญหาสารพิษ หรือปัญหาแรงงานต่างด้าว ทุกอย่างเป็นปัญหาที่ซับซ้อนและเป็นปัญหาที่เกี่ยวเนื่องรวมกัน

นางสุนี ไชยรส กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า หลังจากที่ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อ เท็จจริง ในเขตพื้นที่บ้านสันทรายคองน้อย ต.เวียง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ หลังจากได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านว่า ทางบริษัท เชียงใหม่ธนาธร จำกัด ได้ทำการบุกรุกที่สาธารณะประโยชน์ของชาวบ้าน มีการถมหนองน้ำสาธารณะ และมีการดึงน้ำจากลำเหมืองเข้าไปในอ่างเก็บน้ำส่วนตัว ซึ่งตนมองว่า กลายเป็นความขัดแย้งการแย่งชิงน้ำ จนกลายเป็นปัญหาที่รุนแรงที่สุดในขณะนี้

กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ยังได้สอบถาม ผลการดำเนินงาน ของคณะกรรมการตามแผนแม่บทการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่ลุ่มน้ำฝาง(อ.ฝาง อ.แม่อาย และอ.ไชยปราการ) จ.เชียงใหม่ ซึ่งจัดตั้งขึ้นตาม มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 ก.ย.2546 เพื่อใช้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการสวนส้ม

นายอภิวัฒน์ คุณารักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 1 กล่าวว่า หลังจากมี มติ ครม. มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รับไปดูแลแก้ไขปัญหาผลกระทบจากสวนส้มใน อ.ฝาง แม่อาย และไชยปราการ ทางจังหวัดได้แต่งตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้น โดยตนเป็นประธานคณะทำงาน เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะยาว

จากการที่เราได้ศึกษาผลกระทบจากการประกอบกิจการสวนส้มในพื้นที่ทั้ง 3 อำเภอ พบว่า ส่วนใหญ่จะมีปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าและพื้นที่ต้นน้ำ ปัญหาการแย่งชิงน้ำ ปัญหาความเดือดร้อนรำคาญจากกลิ่นเหม็นของสารเคมีรบกวนชาวบ้าน ปัญหาการใช้แรงงานต่างด้าวและสุขภาพของคนงาน รวมไปถึงปัญหาการปนเปื้อนสารเคมีในสิ่งแวดล้อม

"นอกจากนั้น ยังได้มีการเสนอในเรื่องการกำหนดเขตการปลูกส้ม ให้มีระยะห่างจากลำน้ำสาธารณะ มาตราการการใช้น้ำทั้งฝ่ายประกอบการสวนส้มและชาวบ้าน ซึ่งขณะนี้ได้นำรายงานดังกล่าว เสนอไปยัง รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปแล้ว…" นายอภิวัฒน์ กล่าว

ในการประชุม ทางกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ยังได้ซักถาม ประเด็นปัญหาเฉพาะ กรณีความขัดแย้งเรื่องชาวบ้านสันทรายคองน้อย ร้องเรียนว่า เจ้าของสวนส้มธนาธรรุกที่สาธารณะ แล้วเหตุใด จึงไม่มีหน่วยงานรัฐเข้าไปดำเนินการตรวจสอบ…

ทางสำนักบริหารจัดการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ที่ 16 ได้ชี้แจงว่า… ได้ทำการตรวจสอบแล้ว พบว่า พื้นที่กรณีดังกล่าว ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่รับผิดชอบของกรมพัฒนาที่ดิน และบางส่วนอยู่ในพื้นที่ป่าสงวน และพื้นที่ของ สปก.ที่จัดสรรให้ราษฎรไปแล้ว

ซึ่งก่อนนั้น เคยมีโครงการจัดการทรัพยากรป่าไม้ โดยมีเป้าหมายเพื่อเข้าไปทำการพิสูจน์สิทธิ์ว่าชาวบ้านได้เข้าไปอยู่ก่อนหรือหลังการประกาศเขตป่าอนุรักษ์ และพื้นที่ใดเป็นเขตป่าสงวน แต่เหมาะสมกับการทำการเกษตร ก็จะมอบให้ ทาง สปก. เข้าไปดำเนินการ หรือถ้าไม่เหมาะที่จะทำการเกษตร ก็จะให้ดำเนินการเป็น สทก. แทน

"จริงๆ แล้ว โครงการจัดการทรัพยากรป่าไม้ ตอนนี้ยังมีชีวิตอยู่…แต่ถูกระงับใช้ในเขตพื้นที่ 3 อำเภอ คือ ไชยปราการ ฝาง และแม่อาย โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งผลจากการระงับโครงการดังกล่าว ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2547 ที่ผ่านมา ทำให้การทำงานขาดความต่อเนื่อง และเข้าไปดำเนินการไม่ได้" เสียงของตัวแทนสำนักบริหารจัดการป่าอนุรักษ์ ที่ 16 บอกเล่าให้ทุกคนรับฟัง

ครั้นเมื่อนายปริญญา ปานทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ในฐานะประธานในที่ประชุม หันไปถามข้อมูลจากนายอำเภอฝาง…

นายสิริวุฒิ เหมทัต นายอำเภอฝาง กล่าวว่า พื้นที่ที่มีปัญหาส่วนใหญ่ อยู่ในความรับผิดชอบของกรมพัฒนาที่ดิน แต่พัฒนาที่ดินได้มอบหมายให้ทาง สปก. ดำเนินการแทน ขณะนี้ ทางสปก.ได้ดำเนินการจัดสรรไปแล้ว 500 ไร่ แต่พื้นที่กรณีบ้านสันทรายคองน้อยกับสวนส้มธนาธรนั้น ยังไม่ได้รับการจัดสรร เนื่องจากไม่มีหลักฐานการครอบครองมาชี้ยืนยัน จึงไม่สามารถดำเนินการได้

ขณะที่กำลังแลกเปลี่ยนข้อมูลกันอยู่นั้น…มีผู้เสนอข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า เมื่อดูจากแผนที่ทางอากาศฉบับก่อน จะมองเห็นเส้นทางสาธารณะ ลำเหมืองสาธารณะ แต่เมื่อมาดูแผนที่ในปัจจุบัน กลับหายไป มีแต่สวนส้มเต็มไปหมด

นายจันทร์ หนองหิน ผู้ใหญ่บ้านสันทรายคองน้อย เปิดเผยว่า หลังจากที่สวนส้มธนาธรซื้อที่นาของชาวบ้านจากเดิม 3 ราย ต่อมาได้กว้านซื้อขยายออกไปกว่า 80 ไร่ หลังจากนั้น นายทุนได้รุกที่ถนนสาธารณะกว่า 10 สายหายไป พร้อมกับมีการถมเหมืองสาธารณะเป็นถนนทางเข้าสวนส้มของตนเอง และที่สำคัญ มีการดึงน้ำจากลำเหมืองไปใช้ในพื้นที่สวนส้ม จนชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน

"เมื่อนายทุนสวนส้ม ดึงน้ำไปใช้เป็นจำนวนมาก จึงทำให้พื้นที่ทำนาของชาวบ้าน 3 ตำบล กว่า 600 ไร่ได้รับผลกระทบ ได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก ซึ่งเรื่องนี้ตนถือว่า ชาวบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรม" นายจันทร์ พูดด้วยความรู้สึกอัดอั้น

ในห้วงยามนั้น…ตัวแทนของบริษัท เชียงใหม่ธนาธร จำกัด คู่กรณีปัญหาความขัดแย้ง ได้ลุกขึ้นชี้แจงว่า…ทางเราไม่อยากมีเรื่องกับชาวบ้าน แต่เราก็อยากให้มีการพิสูจน์สิทธิ์ มีการตรวจสอบพื้นที่ที่เกิดปัญหาดังกล่าวว่าใช้น้ำเท่าไร

"ที่บอกว่า ชาวบ้านได้รับผลกระทบ ทำให้พื้นที่นาได้รับความเสียหาย ทางบริษัทเชียงใหม่
ธนาธร จะขอซื้อชดใช้ทั้งหมดจะได้หรือไม่…" ตัวแทนเอ่ยออกมาด้วยความรู้สึกที่พรูพรั่ง…

"หากทางสวนส้มธนาธร จะทำอย่างนั้น คิดว่าทำไม่ถูก และขอร้องอย่าให้มีการเจรจาเป็นรายบุคคล เพราะอาจทำให้การแก้ไขปัญหาซับซ้อนยิ่งขึ้น เนื่องจากยังมีกระบวนการ มีนโยบายของรัฐคอยกำกับดูแลอยู่ มีระบบคณะกรรมการที่รับผิดชอบอยู่ แม้กระทั่งในเรื่องระบบเหมืองฝายดั้งเดิม ซึ่งต้องมีปรับและนำมาใช้.." นางสุนี กล่าวทักท้วง…

ในที่สุด, กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เสนอให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิสูจน์สิทธิ์ในพื้นที่กรณีดังกล่าว ในระดับจังหวัด และตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ โดยให้ นายสิริวุฒิ เหมทัต นายอำเภอฝาง เป็นประธาน เพื่อทำการพิสูจน์สิทธิ์ว่า พื้นที่ตรงนั้นเป็นพื้นที่สาธารณะ หรือพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้องของเจ้าของสวนส้มธนาธร โดยให้มีการสรุปผลให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคมนี้

บรรยากาศตอนจบของการพูดคุยในครั้งนี้… ดูเหมือนว่า ฝ่ายชาวบ้านดูจะมีความรู้สึกเป็นสุข และมีความเชื่อมั่นว่าแผ่นดินผืนนี้เป็นของบรรพบุรุษ หนองน้ำสาธารณะ ถนนสาธารณะที่ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์นานหลายชั่วอายุคน

ในขณะที่ฝ่ายสวนส้มธนาธร และผู้เกี่ยวข้อง เดินจากไปด้วยสีหน้าไม่ค่อยสบายใจนัก และนับจากนี้ไปอีก 1 เดือน คงจะรู้ผลการตรวจสอบว่า จะจบลงตรงไหน… และหลายคนบอกว่า…สงครามการแย่งชิงน้ำแย่งชิงที่ดิน กระบวนการการทำงานของรัฐจะสามารถหาข้อยุติได้หรือไม่ และจะจบลงอย่างสงบสันติหรือยืดเยื้อรุนแรงต่อไป…

องอาจ เดชา
ศูนย์ข่าวภาคเหนือรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท