Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ความตายของผู้คน 84 ราย ที่ตากใบ ได้พัดพาให้กระแสความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้พุ่งสู่จุดที่คุระอุที่สุดอย่างไม่เคยมีมาก่อน นำไปสู่ความขัดแย้งทางความคิดและการเผชิญหน้าทางการเมืองระหว่างคนกลุ่มต่างๆ อย่างกว้างขวาง จนยิ่งคิดไป ก็ยิ่งมองเห็นโอกาสที่จะเกิดความรุนแรงในบ้านเมืองมากขึ้นทุกที

แน่นอนว่ามนุษย์เกิดมาก็ต้องตาย แต่ไม่มีสังคมที่มีอารยธรรมสังคมไหนที่จะยอมรับว่าความตายจากน้ำมือของมนุษย์ด้วยกันนั้นเป็นเรื่องปกติ ทำให้แม้ในความเป็นจริงแล้ว ทุกสังคมจะกำเนิดขึ้นจากสงคราม, ความรุนแรง และความตาย หากทุกสังคมก็ล้วนมีกระบวนการจัดการกับความตายด้วยวิธีต่างๆ นานา

อนุสาวรีย์เป็นตัวอย่างของการจัดการความตาย เพราะอนุสาวรีย์คือถาวรวัตถุที่จารึกชื่อเสียงเรียงนามและใบหน้าของผู้คนซึ่งได้ทำในเรื่องยากที่คนทั่วไปจะทำได้ นั่นก็คือการตายในนามของเป้าหมายที่สูงส่งบางอย่าง คนตายในอนุสาวรีย์จึงเป็นคนตายที่สมควรตาย เพราะความตายของเขาเป็นสัญลักษณ์แห่งการสละชีวิตเพื่อความใฝ่ฝันของสังคม

ข้อความในย่อหน้าที่แล้วแสดงให้เห็นความจริงที่น่าเศร้า เพราะคนตายที่ได้รับการจารึกในอนุสาวรีย์คือคนตายที่ปัจเจกภาพของเขาไม่มีความสำคัญอีกต่อไป ไม่มีใครสนใจว่าคนตายเหล่านี้เป็นใคร มาจากไหน มีความใฝ่ฝันอย่างไรในชีวิต และ ณ วินาทีที่ลมหายใจใกล้แตกดับนั้น เขามีความคิดและความรู้สึกอย่างไร

พูดให้ถึงที่สุดแล้ว เหตุผลเดียวที่ทำให้สังคมให้ค่ากับความตายของคนเหล่านี้ ก็คือพวกเขาตายเพื่อเป้าหมายบางอย่างที่สังคมต้องการ

แน่นอนว่าไม่มีมนุษย์คนไหนปรารถนาความตาย และความจริงข้อนี้เองที่ทำให้ผู้คนอยู่ในอนุสาวรีย์มีสถานะที่พิเศษกว่าคนปกติ เพราะการสละชีวิตเพื่อเป้าหมายบางอย่างนั้นเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าคนเหล่านี้ไม่กลัวความตาย จึงแฝงไว้ด้วยพลังอำนาจที่สูงส่งกว่าคนทั่วไป กลายเป็นตัวแบบให้ผู้พบเห็นต้องแสดงความเคารพและปฏิบัติตาม

ในขณะที่สังคมโบราณรำลึกความตายโดยเชื่อว่าผู้ตายกลายเป็นวิญญาณที่สิงสถิตในมิติซึ่งมองเห็นไม่ได้ อนุสาวรีย์ก็เป็นวิธีการที่สังคมสมัยใหม่ทำให้ผู้ตายมี "จิตวิญญาณ" อันสิงสถิตในสิ่งก่อสร้างที่จับต้องและสัมผัสได้ทุกขณะ สายสัมพันธ์ระหว่างคนตายกับโลกจึงไม่ได้สิ้นสุดพร้อมกับอวสานของชีวิต แต่อวสานของชีวิตคือจุดเริ่มต้นของชีวิตที่เป็นนิรันดร์

ความตายของผู้คนทั้ง 84 คน ที่ตากใบ แตกต่างจากความตายในลักษณะนี้ เพราะไม่เพียงแต่คนเป็นอันมากในสังคมจะลงความเห็นว่าคนเหล่านี้สมควรตาย หากแม้แต่คนผู้ซึ่งขุดคุ้ยและเรียกร้องให้ไต่สวน "ความจริง" ในกรณีนี้ ก็ยังกลายเป็นเป้าของความเกลียดชังในระดับที่ลึกซึ้งและกว้างขวาง

ถึงบัดนี้ ความตายก็ถูกกดดันให้แปรเป็นความเงียบ และความหมายของความเงียบก็คือการทำให้ความตายของคนเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดา

แน่นอนว่ามนุษย์ที่มีมโนธรรมสำนึกทุกคนย่อมรู้ว่าปริมาณความตายขนาดนี้ถือเป็นเรื่องผิดปกติ ความตายในกรณีนี้จึงยังผลให้เกิดความเคลื่อนไหวในสังคมขึ้นอย่างมหาศาล บ้างก็สาสมใจ บ้างก็เสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น บ้างแปรความเสียใจเป็นความคับแค้น และคงมีคนจำนวนไม่น้อยที่เห็นความตายของผู้คนในปริมาณนี้ยังน้อยเกินไป

ภายในเงื่อนไขทางสังคมแบบนี้ การแทนที่ความตายด้วยความเงียบไม่ได้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ง่ายๆ เพราะความเงียบหมายความถึงการปิดปากและปิดกั้นความรู้สึกนึกคิดหลากรูปหลายแบบที่ผู้คนมีต่อความตาย โดยตัวความเงียบจึงเป็นเครื่องหมายของอำนาจอย่างหนึ่งในสังคม

ความเงียบทำงานอย่างไร?
ในระดับผิวเผินที่สุด ความเงียบเปรียบเทียบความตายของผู้คนที่ตากใบกับความตายในกรณีอื่นๆ เพื่อชี้ชวนให้เห็นความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันอย่างเท่าเทียมกัน (reciprocity) ระหว่างความตายเหล่านี้

วิธีการเปรียบเทียบแบบนี้มีปัญหาอย่างน้อย 4 ข้อ

ข้อแรก สมควรหรือที่จะลดทอนชีวิตของมนุษย์ให้มีฐานะเป็นแค่ "จำนวนนับ" และ "ข้อมูล" ที่ปราศจากความหมายทางสังคมและจิตวิญญาณ

ข้อสอง ต่อให้เชื่อว่าการลดทอนชีวิตมนุษย์ให้เป็นแค่ "จำนวนนับ" และ "ข้อมูล" เป็นวิธีการคิดที่ถูกต้อง แต่จะแน่ใจได้อย่างไรว่า "จำนวนนับ" และ "ข้อมูล" ที่อาศัยเป็นฐานในการเปรียบเทียบความตายในกรณีตากใบ และในกรณีอื่นๆ วางอยู่การจัดระเบียบข้อมูลที่เที่ยงธรรม

ปัญญาชนหลายรายบอกว่าตากใบตายไป 84 ราย ขณะที่ "ฝ่ายเรา" ตายไปแล้วหลายร้อย แต่วิธีการอธิบายแบบนี้วางอยู่บนกรอบเวลาที่แตกต่างกัน จนน่าตั้งข้อสงสัยถึงสติสัมปชัญญะของผู้ที่ทำการเปรียบเทียบโดยไม่คำนึงถึงฐานคิดเรื่องเวลา

ข้อสาม ความตายในกรณีตากใบนั้นเป็นความตายที่มีรัฐเป็นผู้กระทำให้เห็นอย่างชัดแจ้ง ขณะที่ความตายในกรณีอื่นนั้น ยังไม่ปรากฎว่าใครคือบุคคลผู้กระทำเลยแม้แต่น้อย ผู้กระทำในกรณีอื่นจึงเป็นไปได้ที่จะมาจากคนหลายฝ่าย ซึ่งหมายความต่อไปว่าคนตายที่ตากใบอาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับความตายในกรณีอื่นแต่อย่างใด

ข้อสี่ ถ้าถือว่าความตายในกรณีอื่น เกิดจาก "พวกมัน" ซึ่งได้แก่ผู้ก่อการร้าย การเปรียบเทียบวิธีนี้ย่อมเท่ากับเห็นว่ารัฐและผู้ก่อการร้ายมีระดับขันติธรรม ศีลธรรม สติปัญญา และความรู้สึกนึกคิดในระดับที่เท่าเทียมกัน

ในระดับที่ลึกซึ้งขึ้นไป ความเงียบทำงานบนความรู้สึกนึกคิดสาธารณะว่าตากใบเป็นความตายที่สัมพันธ์กับความผิดปกติในหลากมุมหลายแง่ เช่นเสพยาเสพติด รับเงินต่างชาติ มีชื่อตนเป็นมลายู ชุมนุมไม่สิ้นสุด ฯลฯ จึงเป็นคนกลุ่มที่เต็มไปด้วยคุณลักษณะของความผิดแปลกและเบี่ยงเบนในหลายลักษณะ ทำให้สมควรตาย

ในกรณีแบบนี้ ความเงียบสัมพันธ์กับสภาวะของการครอบงำและบิดเบือนข้อมูลข่าวสารโดยรัฐ เพราะประมุขของรัฐบาลคือผู้ที่ประกาศตลอดเวลาถึงความผิดแปลกเบี่ยง
เบนของผู้คนที่ตากใบในลักษณะต่างๆ ส่งผลให้เกิดตีประทับภาพลักษณ์ทางสังคมเหนือคนเหล่านั้นว่าเป็นอาชญากรวิกลจริต จึงชอบด้วยเหตุผลที่จะถูกปราบด้วยวิธีการรุนแรง

อย่างไรก็ดี ถึงบัดนี้ ก็ปรากฎหลักฐานว่าคำประกาศเกือบทั้งหมดนั้นเป็นเท็จ เพราะพบสารเสพติดเพียง 14 ราย จากผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมราว 1,300 ราย ขณะที่ในกรณีพบเงินต่างชาตินั้น ก็เพียงพราะคนเหล่านั้นเป็นแรงงานข้ามชาติที่ไปทำงานรับจ้างในประเทศใกล้เคียง

โดยปกติของการกล่าวหานั้นต้องแสดงหลักฐานให้ปรากฎ แต่ในกรณีตากใบนั้น ผู้นำของประเทศได้กล่าวหาคนทั้งหมดโดยไม่ได้แสดงหลักฐานผ่านสื่อสาธารณะเลยแม้แต่น้อย คำกล่าวหาจึงมุ่งปลุกปั่นความคิดเห็นเพื่อจูงใจให้สาธารณะละทิ้งมโนธรรมสำนึก รับรองวิธีอนารยะว่าถูกต้อง รวมทั้งเห็นความตายของคนบางกลุ่มเป็นสภาวะปกติธรรมดา

แต่ในกรณีตากใบนั้น ความเงียบไม่ได้ทำงานด้วยวิธีปลุกระดมความเห็นแบบนัก
การเมืองการตลาดเพียงอย่างเดียว หากยังทำงานบนปฏิบัติการที่ลึกซึ้ง เยือกเย็น และแนบเนียนกว่านั้นอีกมาก

หนึ่งในวิธีสำคัญซึ่งทำให้คนตายกลายเป็นตัวแทนของความผิดแปลกเบี่ยงเบนมากที่
สุด จึงสมควรตาย ก็คือการทำให้คนเหล่านั้น "ไม่ไทย" เมื่อมองจากกรอบคิดเรื่องความ "เป็นไทย"
ในเงื่อนไขของสังคมและวัฒนธรรมแบบไทยๆ นั้น ความ "ไม่ไทย" เป็นคำคุณศัพท์ที่ห่อหุ้มความหมายซ่อนเร้นเอาไว้หลายแง่ เพราะ "ไม่ไทย" แสดงตำแหน่งแห่งที่ของผู้พูดซึ่งถือว่าตัวเอง "เป็นไทย" และทึกทักอย่างแน่นแฟ้นว่าผู้ฟังต้องคิดถึงความ "เป็นไทย" ในความหมายเดียวกับที่ผู้พูดเข้าใจด้วย

มองในแง่นี้ "เป็นไทย" จึงเป็นคำคุณศัพท์ที่มาพร้อมกับอำนาจเชิงกดบังคับระหว่างผู้พูดที่ "เป็นไทย" กับผู้ฟังที่ "ไม่ไทย" อยู่ตลอดเวลา

กล่าวให้ถึงที่สุดแล้ว ความ "เป็นไทย" ในที่นี้มีความหมายซ่อนเร้นที่สำคัญอย่างน้อย 2 ลักษณะ นั่นคือ

หนึ่ง "เป็นไทย" ในความหมายของเชื้อชาติ

สอง "เป็นไทย" ในความหมายของศาสนา / วัฒนธรรม

พูดง่ายๆ ปฏิบัติการที่จะ "เป็นไทย" หมายถึงการมีเชื้อชาติไทยแต่กำเนิด รวมทั้ง ยอมรับวัฒนธรรมที่มีศูนย์กลางอยู่ที่จารีตทางศาสนาแบบพุทธเถรวาท ขณะที่ความ "ไม่ไทย" ก็หมายความถึงการประกาศว่าตนเองไม่ได้มีเชื้อชาติไทยมาตั้งแต่ต้น แต่มีเชื้อชาติอื่น เช่นมลายู และไม่ต้องการปฏิบัติตามระบบวัฒนธรรมแบบพุทธเถรวาทของสังคมไทย

ความ "เป็นไทย" นำไปสู่ความเงียบ เพราะหากถูกจัดระเบียบว่า "ไม่ไทย" ย่อมหมายความถึงการถูกผลักไสให้เป็นอื่นจากผู้คนในชาติอย่างอุกฉกรรจ์ ถึงขั้นที่พูดได้ว่าความ "ไม่ไทย" เป็นปทัสถานเบื้องต้นอันอาจนำไปสู่อันตรายถึงแก่ชีวิต ดังเคยเกิดในกรณี 6 ตุลา และเคยปรากฎมาแล้วในกรณี กรือเซ๊ะ , ตากใบ, ทนายสมชาย และการอุ้มฆ่ารายวัน

ที่รุนแรงโหดร้ายก็คือผู้คนมากหลายซึ่ง "เป็นไทย" กระทำนาฏกริยาว่าด้วยความ "เป็นไทย" โดยไม่อ่อนไหวถึงนัยเหล่านี้ เพราะเขาเหล่านั้น "เป็นไทย" มีเชื้อสายไทย และนับถือพุทธมาแต่กำเนิด จึงไม่ตระหนักว่าชาติไทยประกอบไปด้วยคนที่ "ไม่ไทย" และไม่ได้นับถือพุทธเถรวาทแบบนี้อีกมาก

กิจกรรมพับนกทำงานบนความคิดว่าความ "เป็นไทย" นั้นมีแบบเดียว คือแบบคนเชื้อชาติไทยที่นับถือพุทธเถรวาท จึงไม่คำนึงถึงความรู้สึกนึกคิดของผู้คนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชาติไทย แต่ "ไม่ไทย" ในความหมายแบบนี้ ทำให้มองไม่เห็นว่าความรุนแรงและความตายในสามจังหวัดภาคใต้นั้น เป็นความรุนแรงที่มี "โจทก์" ชัดเจนอย่างน้อยสองฝ่าย ฝ่ายแรกคือฝ่ายรัฐบาล-ทหาร-ตำรวจ กับฝ่าย "ผู้ก่อการร้าย" ที่เรายังไม่เคยรับรู้ว่าคือใคร

ความหมายของการพับนกคือการให้อภัย และโดยปกติของการให้อภัยนั้น ผู้ให้อภัยคือฝ่ายเหยื่อซึ่งมีขันติธรรมและความอดกลั้นเหนือกว่าอีกฝ่าย จึงเห็นว่าการให้อภัยคือสัญญาณให้ฝ่ายตรงข้ามตระหนักในความเป็นมนุษย์ของคนเหล่านี้ หรืออย่างน้อย ก็เตือนให้เห็นความโหดร้ายของการฆ่าฟัน

ในกรณีของสังคมไทย คำประกาศให้อภัยถูกเอ่ยเอื้อนจากฝ่ายซึ่งเป็นเหตุแห่งความตายของคนที่ "ไม่ไทย" จำนวนมาก ทำให้ความหมายของอภัยกลับตาลปัตรจากเดิมอย่างสมบูรณ์ กลายเป็นการลืมเลือนและยอมรับความตายซึ่งรัฐเกี่ยวข้อง เพราะถ้าไม่ยอมรับ ก็เท่ากับ "ไม่ไทย" และกลายเป็นคนกลุ่มที่ "มันเป็นใครมาจากไหนไม่ทราบ" ซึ่งเป็นเหตุให้ตกเป็นเป้าหมายของความเกลียดชังและประทุษร้ายทางการเมือง

ในนามของความเงียบและสันติภาพ เรากำลังรับรองการทำลายชีวิตและความตายของคนอีกกลุ่มในทางการเมือง

* ตีพิมพ์ในอะเดย์ วีคลี่ ฉบับวันที่ 19 พ.ย.47

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net