Skip to main content
sharethis

* (ปาฐกถานำ สัมมนาทางวิชาการติดตามนโยบายสาธารณะ " 4 ปี ประเทศไทย: ภาพจริง-ภาพลวง? เรื่อง เสรีภาพสื่อไทยในยุคเศรษฐกิจการเมืองผูกขาด วันที่ 25 พฤศจิกายน 2547)

วันนี้ก่อนจะปาฐกถานำ ผมขออนุญาตอ่านรัฐธรรมนูญ 3 มาตรา ซึ่งท่านก็รู้อยู่แล้วว่าเกี่ยวกับเสรีภาพของสื่อมวลชน แต่ถ้าอ่านกันในที่นี้แล้ว อาจจะทำให้เกิดความสำนึกถึงเสรีภาพที่เรารับรองกันในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ขอเวลาสัก 2-3 นาที จะอ่านมาตรา 39,40,41

มาตรา 39 ความว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น

การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะ เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในครอบครัว หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน

การสั่งปิดโรงพิมพ์ สถานีวิทยุกระจายเสียง สถานีวิทยุโทรทัศน์ เพื่อลิดรอนเสรีภาพตามมาตรานี้จะกระทำมิได้

การให้นำข่าวหรือบทความไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจก่อนนำไปโฆษณาในหนังสือพิมพ์ สิ่งพิมพ์ วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะกระทำในระหว่างที่ประเทศอยู่ในภาวะสงครามหรือการรบ

แต่ทั้งนี้จะต้องกระทำโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายซึ่งต้องตราขึ้นตามกฎหมายในวรรคสอง

เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นต้องเป็นสัญชาติไทย ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ การให้เงินหรือทรัพย์สินอย่างอื่นอุดหนุนหนังสือพิมพ์และสื่อมวลชนอย่างอื่นของเอกชนรัฐจะทำไม่ได้

มาตรา 40 คลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และวิทยุโทรคมนาคม เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ ให้มีองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ตามวรรคหนึ่ง และกำกับดูแลการประกอบการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

การดำเนินการตามวรรคสอง ต้องคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนในระดับชาติและระดับท้องถิ่นทั้งในด้านการศึกษา วัฒนธรรมและความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะอื่นๆ และการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม

มาตรา 41 พนักงานหรือลูกจ้างของเอกชนที่ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์และวิทยุกระจายเสียง หรือวิทยุโทรทัศน์ ย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวหรือการแสดงความคิดเห็น ภายใต้ข้อจำกัดของรัฐธรรมนูญ โดยไม่ตกอยู่ใต้อาณัติของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือเจ้าของกิจการนั้นๆ แต่ต้องไม่ขัดต่อจรรยาบรรณแห่งการประกอบวิชาชีพ

ข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการหรือหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจในกิจการวิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์ ย่อมมีเสรีภาพเช่นเดียวกับพนักงานหรือลูกจ้างของเอกชนตามวรรคหนึ่ง

.................

บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญนี้ เขียนไปแล้วอ่านออกมามันซาบซึ้ง เห็นว่าเมืองไทยเรานี้เจริญก้าวหน้า มีสื่อมวลชนที่มีเสรีภาพรับรองกันแทบจะทุกแง่ทุกมุมไว้หมดแล้ว

ผมอยากจะเล่าเบื้องหลัง ผมเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ผู้ที่เป็นคนยกร่าง 3 มาตรานี้ เป็นอาจารย์อยู่คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ แต่เวลานี้ท่านไม่ได้เป็นแล้ว ท่านไปอยู่ศาลปกครองแล้ว คือ ท่านอาจารย์วิษณุ วรัญญู

เวลานั้นท่านมายกร่างรัฐธรรมนูญกัน ไม่กินไม่นอนกันอยู่ 3 วัน ที่โรงแรมควีนส์พาร์ค ผมเป็นประธานอนุกรรมการยกร่างหมวดสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพของประชาชน อาจารย์วิษณุก็เขียนร่างมาให้ผม โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ผมเห็นเด่นมากที่สุด คือเรื่องคลื่นวิทยุและโทรทัศน์ ผมก็ถามท่านว่า อาจารย์เอากันอย่างนี้ เรียกคืนกันเลยนะ ท่านก็ถามกลับว่าผมเห็นด้วยไหม ผมบอกผมเห็นด้วย แต่ท่านก็กลัวอย่างเดียวว่ามันเป็นของรัฐ ผมจึงต้องบอกว่ามันไม่ใช่ของรัฐ คลื่นวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์อย่าเข้าใจว่ามันเป็นของรัฐ รัฐเป็นนามธรรมที่มันพูดกันได้ง่าย แต่ไม่มีเรี่ยวแรงอะไรมากมาย

แต่ที่มีเรี่ยวแรงมากที่สุด ผมบอกอาจารย์วิษณุว่า คลื่นวิทยุและคลื่นโทรทัศน์มันไม่ได้เป็นของรัฐ แต่เป็นของหน่วยราชการ หน่วยราชการนี่มีบารมีเหนือรัฐ อย่างกรมประชาสัมพันธ์ กองทัพบก กองทัพเรือ สามเหล่าทัพนี่ท่านไม่ใช่เล่น และท่านเป็นเจ้าของคลื่นวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ทั้งนั้น

ผมบอกว่าเรื่องนี้ถ้าอาจารย์จะเขียนแบบนี้ก็ใช้ได้ ผมเห็นด้วย แล้วก็ควรจะทำ แต่มันไม่ง่ายอย่างที่คิด มันต้องมีการต่อต้านโดยคนที่เป็นเจ้าของคลื่นต่างๆ เหล่านี้มากทีเดียว

นี่เป็นคำพูดที่ผมเอามาเล่าให้ฟังไว้ ผมพูดไว้เมื่อประมาณปี 2539 ตอนที่กำลังร่างรัฐธรรมนูญ

แต่ผมก็ไม่นึกว่ามันจะต่อต้านยืดเยื้อกันถึงขนาดนี้ รัฐธรรมนูญนี้ประกาศใช้มาแล้ว 7 ปี แต่ทว่ามาตรา 41 เรื่องคลื่นวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ กสช. ยังตั้งไม่ได้ ยังวนๆ เวียนๆ อยู่แล้วทำท่าจะตั้งไม่ได้ กทช. ก็เพิ่งตั้งเสร็จ ทำงานครั้งแรกก็กำหนดเงินเดือนของตัวเองเดือนละล้านเลย ไม่ได้ทำเรื่องอื่นแล้ว ทำเรื่องนี้ก่อน

เวลานี้การต่อต้าน ไปๆ มาๆ มันไม่ใช่แค่หน่วยราชการเหมือนที่ผมบอกอาจารย์วิษณุ วรัญญู เท่านั้น แต่ทว่ามันเป็นผลประโยชน์ทางธุรกิจต่างๆ ได้เข้ามาหมดแล้ว จะเห็นได้ว่าการแต่งตั้งกสช. ค่ายเพลงก็เข้ามา เพราะเขาเข้ายึดคลื่นวิทยุกระจายเสียงไว้หมดแล้ว ฉะนั้น เขาก็ต้องการจะต่อต้าน

ทุนนิยมทุกชนิดในด้านการสื่อสาร การบันเทิงมันเข้ามาต่อต้านอันนี้เกือบทั้งหมด

เราจะเห็นว่าในเวลา 7 ปีนี้ ความเคลื่อนไหวในทางวิทยุกระจายเสียง และวิทยุโทรทัศน์ กสช.ยังไม่กระดุกกระดิก ยังวนเวียนอยู่กับการสรรหาไม่จบเสียที

แม้แต่วิทยุชุมชน ซึ่งมาตรา 40 วรรค 3 กำหนดว่าเป็นของท้องถิ่นนั้น ก็ยังโดนประชาสัมพันธ์บิดเบือนอยู่ตลอดเวลา ทีแรกว่าจะให้สภาตำบล องค์การบริหารส่วนตำบลบ้าง เดี๋ยวนี้ก็จะต้องมีการควบคุมอย่างเดียวกันกับเคเบิลทีวี ทั้งที่ในเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญนั้นต้องการให้ชุมชนมีส่วนในการเผยแพร่ข่าวสาร ความเคลื่อนไหว และความคิดเห็นของประชาชนในชุมชนนั้นโดยอิสระ

แต่ทว่า กรมประชาสัมพันธ์ก็พยายามจะครอบงำเข้ามา อย่างที่เคยพูดว่าสิ่งที่มีอำนาจที่สุดในบ้านเมืองไทยคือหน่วยราชการ รัฐไม่ได้มีความหมายอะไรเท่าไร

ในระยะเวลา 7-8 ปีที่ผ่านมานี้ เราเจอกับการต่อต้านเกี่ยวกับคลื่นวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์

แต่ทว่าเวลานี้มีปรากฏการณ์ที่ผมอยากจะนำเสนอในที่นี้ คือปรากฏการณ์ของการใช้กฎหมายหมิ่นประมาท เพื่อที่จะครอบงำคุกคามไม่ให้สื่อทำหน้าที่ในการสื่อสารกับมวลชนได้เต็มที่

กรณีที่เกิดขึ้นได้มีการฟ้องหมิ่นประมาทหนังสือพิมพ์และผู้เกี่ยวข้องกับงานสื่อจำนวนมาก แล้วศาลก็เริ่มลงโทษ แทนที่จะรอการลงอาญา ก็มีการลงโทษจำคุกกันบ้างพอสมควรแล้ว

แต่กรณีที่โด่งดังที่สุดในขณะนี้ และเป็นเรื่องที่ยังค้างอยู่นั้น คือ กรณีคุณสุภิญญา กลางรณงค์ ซึ่งเป็นเลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์การปฏิรูปสื่อ หรือ คปส. ซึ่งคุณสุภิญญาได้ออกมาพูดถึงเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างบริษัท ชินคอร์เปอเรชั่น กับท่านนายกรัฐมนตรี

คำพูดของเธอปรากฏว่าไทยโพสต์เอาไปพาดหัว ซึ่งก็ออกจะเป็นการตื่นเต้นตามวิสัยของไทยโพสต์ ก็ปรากฏว่าบริษัทชินคอร์เปอเรชั่น ฟ้องคุณสุภิญญา และหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ในข้อหาหมิ่นประมาททั้งทางอาญาและทางแพ่ง

ทางแพ่งนั้นถึงกับเรียกค่าเสียหายจากจำเลย คือคุณสุภิญญาและหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ถึง 400 ล้านบาท

ค่าเสียหายที่ทางบริษัทชินฯ ฟ้อง เป็นอย่างที่อาจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตร คำนวณไว้ในบทความในหนังสือพิมพ์มติชนว่าเท่ากับเงินเดือนของคุณสุภิญญา 2,277 ปีที่จะใช้ครบ คือต้องตายกันอีกหลายสิบชาติ

กรณีนี้กับกรณีอื่นๆ อีก ได้มีการใช้กฎหมายหมิ่นประมาท เพื่อจะพยายามปิดปากสื่อมวลชน ไม่ให้ออกไปทำบทบาทในการเปิดโปงหรืออะไรมากมายนัก เพื่อให้ดูว่าถ้าเขาสามารถคุกคามสื่อ จนสื่ออยู่ในฐานะที่ถูกปิดกั้นและไม่กล้าที่จะเผงอหน้าขึ้นมาพูดจาในสิ่งที่เป็นความจริงได้แล้ว เสรีภาพของสื่อเองก็ถูกขัดโดยกฎหมายหมิ่นประมาท

ขอยกตัวอย่างง่ายๆ กรณีของคุณสุภิญญามันใกล้ชิดกับเรื่อง Investigative reporting ซึ่งในวงการวารสารศาสตร์ถือเป็นงานสำคัญที่สื่อมวลชนต้องทำในการหาความจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะเป็นเครื่องมือในการปราบคอร์รัปชั่น จะต้องขุดค้นและหาข้อเท็จจริงต่างๆ เกี่ยวกับกรณีต่างๆ

เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว พูดไม่ได้แล้ว หนังสือพิมพ์ไม่มีทางที่จะได้ทำ Investigative reporting บทบาทของหนังสือพิมพ์และสื่อมวลชนในการปราบคอร์รัปชั่นทำไม่ได้ทั้งหมด

เพราะฉะนั้น การคุกคามนี้ไม่ใช่เฉพาะตัวของคุณสุภิญญาและหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์เท่านั้น แต่มันเป็นสัญลักษณ์ในการปิดปากสื่อโดยใช้กฎหมายหมิ่นประมาท

สภาการหนังสือพิมพ์เองก็ตระหนักในเรื่องนี้ เคยจัดการประชุมวิชาการเรื่อง "มโนธรรมและความเป็นธรรมในกฎหมายหมิ่นประมาท" เมื่อต้นเดือนที่แล้ว ที่อาคารสมาคมนักข่าวและนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

ในการประชุมวันนั้นมีข้อสรุปหลายเรื่อง ซึ่งตระหนักกันดีว่าต้องมีแนวคิดกันใหม่ในการใช้กฎหมายหมิ่นประมาท

กฎหมายหมิ่นประมาทนั้น จะต้องรักษาสมดุล ทางหนึ่งก็ต้องมีกฎหมายหมิ่นประมาทเหมือนกัน เพราะเป็นความจำเป็นในการคุ้มครองเกียรติยศชื่อเสียง และความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคล แต่ในทางหนึ่งเราก็ต้องรักษาไม่ให้มีการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทจนสื่อไม่สามารถจะทำหน้าที่ได้

เราจึงต้องรักษาความสมดุลไว้ จะให้เลิกอย่างหนึ่งอย่างใดก็ไม่ได้ จะให้เลิกกฎหมายหมิ่นประมาทไปเสียทีเดียวก็ไม่ได้ เพราะมันมีความจำเป็น สื่อเองก็อาจจะก้าวล่วงเข้าไปในสิทธิส่วนตัวของบุคคล ก็ต้องมีกฎหมายคุ้มครองไม่ให้มีสื่อที่ก้าวล่วงในสิทธิส่วนตัว

แต่ถ้าใช้กฎหมายหมิ่นประมาทโดยไม่มีขอบเขตจำกัด บีบสื่อให้เกิดความเกรงกลัวที่จะทำหน้าที่ของสื่อ อย่างที่มีกาเรียกกันเป็นร้อยๆ ล้าน ซึ่งมันอาจจะไม่ได้เป็นร้อยล้าน เพราะที่จริงศาลก็คงไม่ได้ให้ถึงขนาดนั้น ด้วยความเคารพในศาล

แต่ทว่าที่เขาเรียกได้และเปิดเผยขึ้นมาในการเสวนาวันนั้น คือค่าขึ้นศาลมีลิมิตสูงสุดไว้ 200,000 เรียกพันล้านก็สองแสน เรียกล้านเดียวก็สองแสน เพราะฉะนั้นเขาถึงบอกว่าเขาตีไว้สองแสนก็เรียกไป 400 ล้านเลย

แต่ถ้าแม้ให้เพียงล้านสองล้าน คนที่ทำงานด้านหนังสือพิมพ์หรือสื่อก็อยู่ในฐานที่ไม่อาจที่จะชดใช้ค่าเสียหายได้แล้ว ไม่ต้องถึง 400 ล้าน ฉะนั้น ในเรื่องกฎหมายหมิ่นประมาทกับสื่อมีทาง 2 ทางที่ต้องรักษาสมดุลเอาไว้อย่างที่ผมพูดไปแล้ว

ทว่ากรณีที่ชินคอร์ปฟ้องก็มีผลในทางการเมืองสะท้อนกลับเหมือนกัน หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ฉบับวันที่18 เดือนนี้ ในคอลัมน์ inside politics ซึ่งเป็นเรื่องที่ให้ภูมิหลังทางด้านการเมือง ได้บอกว่าซีอีโอของบริษัทชินคอร์ปเริ่มตระหนักแล้วว่า การฟ้องสุภิญญาและไทยโพสต์ ด้วยคะแนนเรียกร้องกันมากมายอย่างนี้ มีผลร้ายทางการเมืองต่อท่านนายกรัฐมนตรีและครอบครัว และกำลังที่จะหาทางประนีประนอมนอกศาล แต่เรื่องนี้จะเป็นอย่างไรยังไม่รู้

ผมอยากจะสรุปอย่างนี้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ใช่เฉพาะเรื่องเสรีภาพของสื่อ เมื่อประกาศใช้คนตื่นเต้นกันมาก เรียกกันว่า รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน แต่พอให้มาเจ็ดปี คนก็เริ่มรู้ว่าหลายสิ่งหลายอย่างที่รัฐธรรมนูญริเริ่ม มันยังไม่ได้บรรลุถึงเป้าที่รัฐธรรมนูญต้องการ

เหตุผลสำคัญที่เป็นข้อบกพร่องก็คือ รัฐธรรมนูญฉบับนี้มองข้ามวัฒนธรรมทางการเมืองจริงๆ ของสังคมไทย เป็นรัฐธรรมนูญที่เขียนตามลักษณะสากลมากเกินไป เพราะฉะนั้นมันมีลักษณะเป็นอุดมคติมากกว่า

ในเรื่อง 3 มาตราที่มาอ่านให้ฟังในเรื่องเสรีภาพของสื่อ เราอย่าได้คิดว่าบรรลุจุดดังกล่าวนั้นแล้ว ไม่ใช่

ข้อความหรือลักษณะที่กล่าวไว้ใน 3 มาตราเป็นเพียงภาพในอุดมคติที่เราต้องการให้มันเป็นอย่างนั้น แล้วเราต้องใช้พลังที่จะสู้เพื่อให้เดินไปสู่อุดมคตินั้นให้ได้ อาจต้องใช้เวลานานกว่าที่เราต้องการอีกมากมาย

แต่มันก็น่าแปลกที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกมาปี 2540 พอปี 2544 มีเลือกตั้งครั้งแรก ก็ปรากฏว่าการเมืองของไทยเราก็ถูกครอบงำโดยธุรกิจขนาดใหญ่ผูกขาด แล้วเรื่องของการทับซ้อนของผลประโยชน์ก็ปรากฏขึ้นมา แล้วมีสิ่งที่นักวิชาการเรียกกันขึ้นมาใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องน่าชมเชยนักวิชาการ รู้สึกจะอยู่ที่ศูนย์เศรษฐศาสตร์การเมืองนี่แหละ ที่ท่านพูดถึง "คอร์รัปชั่นทางนโยบาย" มันก็ชัดขึ้นมาทันที

ฉะนั้น พลังของธุรกิจ ผลประโยชน์ทับซ้อน และการคอร์รัปชั่นทางนโยบาย มันก็พยายามที่จะเบียดหรือเข้าครอบงำแล้วปฏิเสธการให้เสรีภาพของสื่อตามอุดมคติในรัฐธรรมนูญ

เราเคยต่อสู้กันมาในวงการสื่อสารมวลชน ในวงการหนังสือพิมพ์ เราเคยต่อสู้กันมากับเผด็จการทหาร แต่คราวนี้เราต้องต่อสู้กันใหม่ ไม่ใช่เผด็จการทหารแล้ว มันผ่านไปแล้ว แต่เรากำลังต่อสู้กับทุนใหญ่ ทุนผูกขาด ทุนสัมปทาน ซึ่งมีอำนาจทางการเมืองและผูกขาดการเมืองไว้ และมีผลประโยชน์ที่ทับซ้อนและคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย

นี่เป็นศัตรูใหม่ของเสรีภาพ และการสู้นี้ก็คงไม่ใช่ง่ายนัก อย่าคิดว่าเราบรรลุถึงจุดที่เราต้องการแล้ว แต่เรากำลังดำเนินการต่อสู้ และการต่อสู้ทุกแห่งต้องอาศัยหยาดเหงื่อและน้ำตาของเราทุกคน ฉะนั้น ต้องเตรียมตัว ในวงการสื่อต้องสู้เพื่อเสรีภาพกับศัตรูหน้าใหม่ที่กำลังครอบงำเราอยู่ในขณะนี้

ดร.เกษม ศิริสัมพันธ์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net