"งานโครงการหลวง...ยากกว่าเมื่อเริ่มมาก"

พื้นที่ภาคเหนือของประเทศ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

"โครงการหลวง" 37 แห่ง พลิกชีวิตชาวดอยนับแสนคนที่เคยดำรงชีพด้วยการปลูกฝิ่น และเผชิญกับความแร้นแค้นบนเขาสูง ให้เขาคงอยู่กับแผ่นดินเกิดและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ตามแนวทางพระราชดำริ

วันนี้ โครงการหลวงผ่านวันเวลามา 35 ปีแล้ว วาระพิเศษเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาท
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ "พลเมืองเหนือ" ได้รับเกียรติอย่างสูงสุด ที่หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนีองค์ประธานมูลนิธิโครงการหลวงประทานโอกาสให้สัมภาษณ์พิเศษถึงงานของโครงการหลวงในวันนี้ ซึ่งท่านบอกว่า "ยากกว่าเมื่อตอนเริ่มต้นมาก"

///////////

หม่อมเจ้า ภีศเดช รัชนี ได้เคยมีพระนิพนธ์ถึงเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ระหว่างการทำงานโครงการหลวง ดังปรากฏอยู่ในเวบไซด์ของโครงการหลวงเอง ทำให้เราได้ตระหนักดีถึงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ได้ทรงเสด็จดั้นด้นไปทอดพระเนตรชีวิตของคนบนดอยแล้วทรงพระราชทานแนวทางแก้ไข ซึ่งหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ก็ได้ทรงเป็นผู้รับสนอง พระราชประสงค์

การเริ่มต้นโครงการหลวงครั้งนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

"…ที่หมู่บ้านแม้ว ใกล้พระตำหนักนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนิน แบบทรงเดินไป ท่านรับสั่งถามแม้วที่นั่นว่า นอกจากปลูกฝิ่นขาย แล้ว เขามีรายได้ จากพืชพันธุ์อื่นอีกหรือเปล่าซึ่งเรื่องนี้ ถ้าเป็นคนอื่น ถึงจะไม่ต้องเป็นตำรวจถามก็ตาม เขาคงบอกว่า "เปล่า ๆ ฝิ่นบ่ดี เฮาบ่ปลูก" และยิ่งกว่านั้น เขาปลูก โดยวิธีที่ทำลายสิ่งแวดล้อม เช่นป่าและหน้าดิน บริเวณต้นน้ำลำธาร เกิดความเสียหาย ที่กระจายลงสู่ส่วนอื่นๆ ของประเทศอีกด้วย แต่สำหรับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เขาเห็นได้ชัดว่า ท่านทรงสนพระทัย ทรงเห็นใจเขา มีพระราชประสงค์จะช่วย จึงไม่ปิดบังความจริงอะไร ทำให้ทรงทราบว่า นอกจากฝิ่นแล้ว เขายังเก็บท้อพื้นเมืองขาย ซึ่งแม้แต่ลูกจะเล็กก็ตาม แต่ก็ยังได้เงินเท่า ๆ กัน โดยที่ทรงทราบว่า ที่สถานีทดลอง ผลไม้เมืองหนาว ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ใกล้พระตำหนักภูพิงค์ ได้เอากิ่งท้อลูกใหญ่ ของฝรั่ง มาต่อกับต้นตอ พันธุ์พื้นเมืองได้ (แต่ยังไม่ทราบว่าท้อฝรั่งพันธุ์ไหนดี) จึงโปรดเกล้าฯ ตั้งโครงการหลวงขึ้น ให้ค้นคว้าหาพันธุ์ ที่เหมาะสำหรับบ้านเรา เพราะถ้าลูกใหญ่แล้ว จะต้องทำเงินได้ดีกว่าฝิ่นแน่ นอกจากนี้ ยังมีรับสั่งให้พยายาม ปลูกพืชเมืองหนาวอย่างอื่น เช่นแอปเปิ้ล สาลี่ พลับ กับผักและดอกไม้ด้วย เพราะผลิตผลเหล่านี้ ถ้านำมาขายในสวน ที่ร้อนของเมืองเราแล้ว ควรจะราคาแพงแน่ ดังนั้น โครงการปลูกพืชแทนฝิ่น อันแรกของโลกก็เกิดขึ้น….."

"….เราจะไปไหนก็ต้องเดินเอา เพราะทางที่จะใช้ล้อที่เป็น ส่วนสำคัญของรถนั้น ไม่มี ด้วยเหตุนี้ จะไปไหนก็เดินเอาเลยเรา และในเรื่องนี้ ผมเคยทำมามาก เมื่อเป็นทหารที่ต่างประเทศ ถูกให้ฝึกเดินขึ้นๆ ลงๆ ทางราบ ๆ แทบจะไม่ลองเดินเลย ดังนั้น เมื่อมีรับสั่งให้ทำโครงการหลวง ผมจึงเคลื่อนไหวได้ดีจนเป็นแชมป์เดิน ประกอบกับที่ผมใช้เครื่องมือที่ดี คือใช้รองเท้าหุ้มส้น ทีแรกสั่งมาจากอังกฤษ ใส่สบาย เบาดีและเดินที่ขรุขระก็ไม่เจ็บเท้า เสียที่พื้นรองเท้านั้นเป็นหนัง ไม่ให้ลื่น ต้องเอาตะปูตอกเอาไว้ แบบทหารอังกฤษ เสียที่มันแพง 1 และ 2 เราไม่ได้เอาใช้ใน อังกฤษ ที่ดอยในประเทศเรานั้น ต้องเดินย่ำน้ำในลำธารบ่อย ๆ กล่าวคือ ลำธารเดียวกันแท้ ๆ เราต้องข้ามกลับไป กลับมา หลายหน เพราะฝั่งที่เดินอยู่เกิดไปไม่ได้ เหตุที่มีหน้าผา หรือพุ่มไม้ขวาง ต้องย่ำน้ำกลับไปอีกฝั่งหนึ่ง ดังนั้น เท้าและที่รองมัน โดยเฉพาะส้นจะเปียกอยู่นาน ๆ จนส้นรองเท้านุ่ม ตะปูก็หลุด รองเท้าแบบนี้พังไปแล้ว 2 คู่ จึงเกิดมีรองเท้าหุ้มส้นแบบใหม่ที่พื้น ทำด้วยวัสดุอะไรอย่างหนึ่ง ที่ไม่ลื่น และทนทานมาก"

"เมื่อทรงตั้งโครงการหลวงแล้วไม่นาน เวลาเสด็จประพาสต้นบนดอยก็ประกอบด้วยการปีนป่ายเขามาก ในเรื่องนี้ ผมถูกพวกในวังที่ต้องเดินตามเสด็จนินทามากมาย ว่านำเสด็จด้วยพระบาทไปเป็นชั่วโมงๆ เพื่อให้ทอดพระเนตรต้นกาแฟเพียง 2-3 ต้น ซึ่งก็จริงอยู่ แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งเองว่า การที่เสด็จไปนั้นทำให้ชาวเขาเห็นว่ากาแฟนั้นสำคัญ จึงสนใจที่จะปลูก บัดนี้กาแฟบนดอยมีมากมาย และก็เริ่มเรื่องจาก 2-3 ต้นนั้นเอง

เรื่องหนึ่งซึ่งผมเห็นว่า ออกจะประหลาดเกี่ยวกับการประพาสต้น ก็คือสมเด็จพระบรมราชินีนาถ สำหรับทุกท่าน รวมทั้งผู้ชาย การตามเสด็จเป็นเรื่องที่หนักหนา (ไม่นับสมาชิกโครงการหลวง ที่เดินขึ้นดอยเป็นอาชีพ) เวลาปีนเขาชัน ๆ หน่อย ผมยังจำเสียงคล้ายกับรถจักรไอน้ำจูงขบวนรถไฟขึ้นเขา หันกลับไปดูก็เห็นทหาร ในขบวนหอบเป็นจังหวะ หนักอย่างนี้แล้ว ทำไมสมเด็จฯ พระวรกาย "อรชร อ้อนแอ้น" จึงตามเสด็จฯ ได้ด้วยพระพักตร์อันยิ้มแย้ม?"

เหล่านี้คือบางส่วนของพระนิพนธ์ หม่อมเจ้า ภีศเดช รัชนี แต่เมื่อ "พลเมืองเหนือ" ถามท่าน ว่า 35 ปีผ่านไปงานของโครงการหลวง ณ วันเริ่มต้นกับวันนี้ ช่วงเวลาไหนยากลำบากกว่ากัน ท่านกลับตอบว่า เป็นวันเวลาช่วงนี้มากกว่า

"ตอนนี้ยากกว่า เพราะชักจะยุ่งมีใครต่อใครเข้ามาทำกันมาก และมีสินค้ามาจากที่โน่นที่นี่มากขึ้น มาจากต่างประเทศด้วย ในตอนต้นไม่มีใครทำ มีแต่เราก็ง่ายดี ทำงานเริ่มต้นเหมือนเริ่มชั้นประถม แต่งานที่ทำไปก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ เป็นชั้นมัธยม และจนถึงมหาวิทยาลัย งานจึงยากขึ้นและต้องละเอียดขึ้นมาด้วย แต่เวลามีปัญหาอะไร ก็จะกราบบังคมทูลในหลวงท่าน และท่านก็ทรงแนะนำสิ่งดีๆ มาเรื่อย"

ท่านให้เราดูตัวอย่างถึงงานที่เพิ่มมากขึ้นโดยยกกรณีของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทำหนังสือขอแนวทางการปฏิบัติงานจากโครงการหลวง เพื่อสร้างหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่ตามแนวพระราชดำริ กว่า 18,000 หมู่บ้านทั่วประเทศ หนังสือให้ร่วมประชุมทางวิชาการจากมหาวิทยาลัยต่างๆ กระทั่งถึงหนังสือของจังหวัดเชียงใหม่ที่จะพัฒนาพื้นที่สูงในอำเภออมก๋อย

เอกสาร 2 - 3 ชิ้น ทำให้พลเมืองเหนือประมวลได้ว่า หลายต่อหลายหน่วยงานที่กำลังเริ่มต้นจะดำเนินตามแนวทางพระราชดำริเพื่อแก้ไขปัญหาคนในที่สูง ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติ ปัญหาความยากจนนั้น โครงการหลวงได้นำร่องเป็นแนวทางมากถึง 35 ปีแล้ว หากแต่หน่วยงานต่างๆ บางหน่วยเพิ่งจะได้เริ่มต้นดำเนินการตามแนวทาง

ดังเช่นเรื่องการพัฒนาพื้นที่สูงในอำเภออมก๋อย ซึ่งขณะนี้จังหวัดเชียงใหม่กำลังพยายามแก้ไขปัญหาความยากจน มีรายละเอียดแผนงานโครงการมากมาย ประชุมหลายต่อหลายรอบ ไปจนถึงการเตรียมพื้นที่ราบรองรับการอพยพคน แต่เอกสารแผ่นเดียวที่โครงการหลวงแจ้งไปยังจังหวัด กรณีที่ชาวบ้านหลวงหลวง บ้านหลวงน้อย และพะเบี้ยว ร้องขอให้สำนักพัฒนาที่สูง โครงการหลวงไปช่วยพัฒนา ก็ทำให้เรารับรู้ได้ว่า ประสพการณ์จริงของผู้ปฏิบัติงานในโครงการหลวงนั้นอ่านทะลุปัญหาและมีสูตรที่จะเข้าไปแก้ไขได้ทันที

"ที่อมก๋อย รัฐเขาจะทำให้คนอยู่กับป่าได้ และมีโครงการหลายอย่าง ตั้งชื่อกว้างเช่น ให้คนอยู่กับป่า บ้านเล็กในป่าใหญ่ แต่ไม่บอกว่าจะให้ทำอะไร ตั้งกรรมการกันมากมาย และมีกระทั่งกำหนดพื้นที่อพยพคนลงมา แต่ความจริงมันไม่ต้อง เขาอยู่อย่างนั้นมากี่ร้อยปีมาแล้วเขาก็อยู่กันได้ เพียงตอนนี้ลำบากเพราะคนมีมากขึ้น ข้าวที่เขาผลิตก็เท่าเก่าแต่ไม่พอ วิธีที่เราทำเราไปแบ่งเขตป่า เขตเกษตร ที่เป็นเกษตรได้เราก็บริรักษ์ไม่ให้ดินทลาย ทำขั้นบันได ให้เขาทำกินที่เก่าไม่ต้องย้ายไปที่ไหน อย่างกระเหรี่ยง 3 หมู่บ้านนี้ถ้าเราทำสำเร็จ ที่นาเขาก็จะมีที่น้อยลงแต่ทำได้ตลอดผลผลิตอาจได้ 4 เท่าของที่เคยทำแต่ละปี"

หม่อมเจ้าภีศเดชกล่าวว่าโครงการหลวงกำลังจะเข้าไปพัฒนากระเหรี่ยง 3 หมู่บ้านที่อำเภออมก๋อยนี้ โดยพัฒนาที่ดินจะเข้าไปสำรวจพื้นที่เพื่อแบ่งแยกเนื้อที่ซึ่งควรเป็นป่า จากเนื้อที่สำหรับไร่นา เนื้อที่ป่าจะแยกออกจากป่าบริรักษ์และป่าผลิตเพื่อเอาไม้มาหุงต้ม ที่สำหรับไร่นาจะบริรักษ์ โดยทำขั้นบันได หรือคันดูตามแนวระดับเพื่อให้ที่เหล่านั้นใช้งานได้ทุกปี ดังนั้นเนื้อที่เพาะปลูกจะเพิ่มขึ้นมาก ,จากนั้นจะอบรมให้เกษตรกรทำปุ๋ยหมัก และนำไม้ผลเขตหนาวเช่นพลับ ผักที่ทนต่อการขนส่งไปส่งเสริม แต่ไม่ได้ไปตั้งสถานีทดลองโครงการหลวงแห่งใหม่ แต่เป็นการเข้าไปร่วมพัฒนาตามคำร้องขอของราษฎร

ในแง่ของสินค้าและผลผลิตของโครงการหลวง เมื่อครั้งไทยเปิดเสรีการค้ากับประเทศจีน พืชผักเมืองหนาวได้หลั่งไหลเข้าสู่ประเทศอย่างเสรี เป็นพืชผักชนิดเดียวกันกับที่โครงการหลวงปลูกอยู่บ้าง แต่ราคาแตกต่างกันลิบ ได้มีบทวิจัยถึงผลกระทบข้อนี้ แต่ประธานมูลนิธิโครงการหลวงบอกว่า สิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่ง คือทางที่ทำให้โครงการหลวงไม่มีปัญหาจากสิ่งเหล่านี้

"พระเจ้าอยู่หัวรับสั่งให้ Diversified ปลูกพืชหลากหลาย ไม่ใช่มีแต่อย่างเดียว เพราะถ้าเราปลูกอย่างเดียวก็จะล้นตลาดบ้าง โดนศัตรูจากธรรมชาติทำลายบ้าง อย่างคนที่ปลูกแต่ลำไยก็ลำบาก แต่เรามีของใหม่ๆ อยู่เรื่อย เช่นถั่วปากอ้า ที่เราเคยเห็นกันว่ากินแบบแห้งแกล้มเบียร์ แต่ของเรามีแบบกินสด ปากไม่อ้า อร่อย และราคาแพง ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะเรียกว่าอะไร หรือหน่อไม้ฝรั่งอ้วนและขาว ผลไม้ก็มีราสเบอรี่ มะเดื่อฝรั่ง ที่อ่างขางขณะนี้ก็เริ่มปลูกผักออร์แกนิคซึ่งราคาสูงกว่า 200 ไร่ เรามีผักถึง 80 ชนิด ของที่ซ้ำกับจีนมีแค่ 7 - 8 ชนิด สำหรับโครงการหลวงไม่เป็นไร แต่สำหรับคนไทยต้องดูให้ดี"

รองศาสตราจารย์นิพนธ์ ไชยมงคล ที่ปรึกษาอธิการบดีฝ่ายความสัมพันธ์ต่างประเทศ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่งดูแลด้านผักให้กับโครงการหลวงและมาร่วมสนทนากับเราด้วยบอกว่า กรมวิชาการเกษตรตรวจสอบสารเคมีตกค้างจากพืชผักนำเข้าเหล่านี้พบว่านอกจากสารเคมีแล้วยังมีไข่พยาธิ มีเชื้อโรคหลายชนิด ที่ประเทศนำเข้าผักเริ่มตระหนักกันแล้ว ซึ่งจะส่งผลต่อผู้บริโภค ส่วนเรื่องของเกษตรกรนั้นที่อยู่ในโครงการหลวงมีร่วม 80,000 คน ไม่มีปัญหา แต่คนบนดอยมีเกือบ 1 ล้านคน ที่เหลืออีก 9 แสนคนนั้นและปลูกพืชผักต่างๆ จะต้องเจอปัญหากับผลกระทบนี้ ซึ่งควรจะมีแนวทางช่วยเหลือเป็นรูปธรรม

หม่อมเจ้าภีศเดชบอกว่าตอนนี้สินค้าของโครงการหลวงซื้อขายกันวันละ 1 ล้านบาทหรือมากกว่านั้น เริ่มขยายสู่การส่งออกด้วยการลองตลาดทั้งของการบินไทย ทดลองส่งออกไปสิงคโปร์ มาเลเซีย อังกฤษ สวีเดน ออสเตรเลีย แต่ก็ยังเป็นสัดส่วนส่งออกไม่มาก เพราะภายในประเทศได้รับความนิยมจนขายไม่พอ นอกจากนั้นชาวเขาที่อยู่ปลูกพืชผักก็อยู่ในที่ของเขา ปลูกผักเลี้ยงตัวได้ จะไปไหนทำไม รวมทั้งยังได้นำแนวทางของโครงการหลวงไปช่วยเหลือที่ต่างประเทศด้วยเช่นที่ประเทศภูฐาน นำพันธุ์ผลไม้ใหม่ๆ ไปให้ แนะนำเรื่องการจัดการน้ำและกินให้เขา

งานของโครงการหลวงในวันข้างหน้าแม้ท่านจะได้บอกว่ายากกว่าการเริ่มต้น ด้วยงานที่ก้าวหน้าไปมาก ทำให้การทำงานต้องละเอียดมากขึ้นไปอีก แต่หม่อมเจ้าภีศเดชกล่าวว่าก็จะได้ร่วมมือกับหลายหน่วยงานดำเนินการพัฒนาพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะกับสำนักพัฒนาเกษตรที่สูงที่ร่วมกันทำงานอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างต่อเนื่องไป และในอนาคตหากสำนักพัฒนาเกษตรที่สูงขยายบทบาทไปพัฒนาพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศได้สำเร็จก็จะเป็นเรื่องใหญ่ที่ส่งผลดี และที่สำคัญ "ทุกคนก็อยากจะทำงานถวายในหลวงเพราะพระบารมีของท่าน"

หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี
ประธานมูลนิธิโครงการหลวง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท