Skip to main content
sharethis

ศูนย์ข่าวภาคใต้-2 ธ.ค.47 เวลา 09.00 น. จังหวัดสงขลาจัดประชุมสัมมนาเรื่องชาวสงขลารวมพลังสร้างสันติสุขเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2547 ที่โรงแรม บีพี สมิหลาบีช อ.เมือง จ.สงขลา มีข้าราชการ ผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชนในจังหวัดสงขลา เข้าร่วม 400 คน

นายวิสุทธิ์ สิงห์ขจรวรกุล อดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) กล่าวในการสัมมนาว่า ในระยะเวลาที่ผ่านมารัฐบาลมีประสบการณ์ในการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาเป็นยุคๆ จนกระทั่งมีการกำหนดเป็นแผนแม่บทการแก้ปัญหาขึ้นมา

โดยเฉพาะนโยบายความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ซึ่งเป็นนโยบายที่ดีมาก แต่กลับไม่เคยได้รับความสนใจจากรัฐบาล นอกจากนี้ในแผนพัฒนาเศรษฐ กิจและสังคม ปี 2542 -2546 ที่เริ่มให้ความสำคัญกับการพัฒนาคน ก็ยังไม่เคยนำมาใช้เท่าที่ควร โดยเฉพาะเรื่องอยู่อย่างมุสลิมในสังคมไทย ซึ่งเป็นนโยบายที่ดีมากที่รัฐจะต้องนำมาใช้

นายวิสุทธิ์ กล่าวว่า การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องใช้วิธีการแสวงจุดร่วมสงวนจุดต่าง ต้องไม่ใช้คำพูดที่เป็นการดูถูกชาวมุสลิม ต้องนำคนที่มีความรู้ เข้าใจปัญหาในพื้นที่เป็นอย่างดี ไม่ใช้ส่งข้าราชการลงเพื่อการลงโทษ ต้องใช้การเมืองนำการทหาร และการสร้างสื่อที่สร้างความเข้าใจต่อกัน เช่น การเรียนรู้ภาษายาวีร่วมกัน เพื่อสร้างความผูกพันเป็นต้น

ด้านพล.ต.ท.ธานี ทวิชศรี รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 กล่าวว่า พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นพื้นที่ทีสงบนิ่งมากเกินไป ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง และเป็นสังคมที่ค่อนข้างปิด เมื่อเทียบกับสังคมอื่นของประเทศไทย จึงทำให้มีคนเข้ามาปลุกปั่นเยาวชนในชุมชนได้ง่าย โดยนำเรื่องการปฏิบัติที่เป็นกดขี่ข่มเหงของเจจ้าหน้าที่รัฐต่อประชาชนชาวมุสลิมในพื้นที่ มาเป็นเงื่อนไข แต่เมื่อถามว่าเคยประสบกับตัวเองหรือไม่

กลับกลายเป็นคำบอกเล่ามาทั้งนั้น แต่เอามาใส่ในหัว เพื่อมาสร้างความเกลียดชังกันเอง มีนักวิชาการบางคนพยายามบอกว่า มลายูอยู่คู่กับอิสลาม ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิด เพราะตนก็เป็นชาวมลายูเหมือนกันแต่มีสิทธิที่จะเลือกนับถือศาสนาพุทธ ซึ่งคนที่นับถือศาสนาพุทธหรือคริสต์ในประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นชาวมลายูก็มีจำนวนมาก

มูฮำหมัด ดือราแม
ศูนย์ข่าวภาคใต้รายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net