Skip to main content
sharethis

โพลีไวนิลคลอไรด์ (Polyvinyl Chloride) หรือ พีวีซี (PVC) บ่อยครั้งเรียกกันว่า ไวนิล (Vinyl) เป็นชื่อของพลาสติกที่มีการใช้อย่างแพร่หลายมากที่สุดชนิดหนึ่งในสังคมปัจจุบัน มากเท่าๆ กับอันตรายของมัน

มีการนำพีวีซีมาใช้งานหลากหลายมากจนน่าตกใจ ไม่น่าเชื่อว่าวัสดุสิ่งของเหล่านั้นสร้างขึ้นมาจากวัตถุดิบเพียงตัวเดียว นับแต่ขวดน้ำแร่ ถัง กล่อง พลาสติกห่ออาหาร สินค้าบริโภคทั่วไปเช่น บัตรเครดิต แผ่นเสียง หรือของเล่นเด็ก

วงการก่อสร้างนำเอาพีวีซีไปใช้ทำกรอบหน้าต่าง ประตู ผนังห้อง กรุประตูหน้าต่าง ท่อและรางน้ำในบ้าน ใช้ทำพื้นบ้าน วัสดุติดผนัง ม่านปิดหน้าต่าง และม่านห้องน้ำ ในที่ทำงานก็มีเฟอร์นิเจอร์ แฟ้มเอกสาร เครื่องพับกระดาษ ปากกา ส่วนอุตสาหกรรมยานยนต์ก็นำไปใช้หุ้มชิ้นส่วน นอกจากนี้ยังมีถุงขยะในโรงพยาบาล สายเคเบิล ฉนวนหุ้มสายไฟ หนังเทียม เก้าอี้ในสวน

พลาสติกพีวีชีกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราทุกคนโดยไม่รู้ตัว ทำไมเราต้องสนใจผลกระทบของพีวีซีต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าพลาสติกชนิดอื่น ?

คำตอบคือ ชิ้นส่วนของท่อพีวีซีหรือตุ๊กตาพลาสติกที่ดูจะไร้พิษสงเหล่านั้นเป็นผลิตผลของอุตสาหกรรมที่มีอันตรายอย่างมาก การผลิตพีวีซีอยู่คู่กันอย่างแนบแน่นกับการผลิตคลอรีน

แต่เดิม คลอรีนเป็นผลิตภัณฑ์ส่วนเกินจากกระบวนการผลิตโซดาไฟ (Caustics Soda) เป็นสารที่ไวต่อปฏิกิริยาสูง ดังนั้นคลอรีนจะต้องรวมตัวกับสารเคมีอื่นเพื่อให้สามารถอยู่ได้ในสภาวะธรรมชาติ เช่นไปรวมตัวกับโซเดียม เกิดเป็นเกลือแกง แต่การผลิตคลอรีนโดยกระบวนการคลออัลคาไล (Chlor-alkali) นั้นแตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง

ก๊าซคลอรีนที่ออกมาจะไปทำปฏิกิริยากับสารอินทรีย์ภายนอก (สารที่มีคาร์บอนเป็นองค์ประกอบ) เกิดเป็นสารประกอบอินทรีย์คลอรีน (Organochlorine) ซึ่งโดยปกติไม่พบในธรรมชาติ เป็นสิ่งแปลกปลอมที่ก่อปัญหาต่อสิ่งมีชีวิตหากหลุดเข้าไปในระบบนิเวศ

ตลอดช่วงชีวิตของพีวีซีได้ก่อปัญหาสิ่งแวดล้อมมากมายนับตั้งแต่การผลิตผงพีวีซีที่ต้องมีการขนส่งสารเคมีที่ระเบิดง่าย ก่ออันตราย อีกทั้งยังปล่อยกากพิษออกมาด้วย ต่อมาการผลิตพลาสติกพีวีซีจำต้องเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมสารพิษอันตราย

เนื่องจากพีวีซีนั้นไร้ประโยชน์หากไม่มีการเติมสารเติมแต่ง (Additives) เพื่อทำให้พลาสติกที่ผลิตออกมามีคุณสมบัติตามต้องการเช่น ความนุ่มและความหยุ่นตัว ความแข็งแรง การมีสี หรือคุณสมบัติด้านความสามารถในการต้านทานแบคทีเรีย

ผลิตภัณฑ์พลาสติกพีวีซีเองก็มีปัญหาไม่น้อยแม้กระทั่งเมื่อถึงมือผู้บริโภคแล้ว อย่างเช่นพื้นบ้านพีวีซี ผู้ใช้อาจจะมีอันตรายได้เนื่องจากพลาสติกชนิดนี้ต้องใช้สารเติมแต่งซึ่งเป็นสารเคมีระเหยสู่อากาศและคาดกันว่าอาจเป็นสารก่อมะเร็ง (Carcinogen)

การกำจัดพลาสติกพีวีซีก็ยิ่งก่อปัญหาหนักขึ้นไปอีก หากนำไปเผา คลอรีนจากพลาสติกก็จะปล่อยออกมาในรูปของกรดอะซีติกและสารพิษไดออกซิน รวมทั้งสารประกอบอินทรีย์คลอรีนอีกหลายชนิด หากนำไปฝังกลบ สารพิษจากส่วนผสมของสารเติมแต่งจะหลุดออกมาปนเปื้อนแหล่งน้ำใต้ดินได้ ที่สำคัญ คุณสมบัติของการที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ซึ่งอุตสาหกรรมพีวีซีภูมิใจมาก กลับก่อปัญหาหากพลาสติกนั้นกลายเป็นขยะ เพราะต้องจะใช้เวลานานนับหลายศตวรรษกว่าจะย่อยสลายได้ในธรรมชาติ

เนื่องจากปัจจุบัน พื้นที่ฝังกลบพลาสติกพีวีซีก็หายากขึ้นตามลำดับ ทำให้มีแนวคิดที่จะรีไซเคิลพลาสติกพีวีซี แต่เนื่องจากการใช้งานที่หลากหลาย ทำให้การรีไซเคิลพีวีซีทำได้ยากมาก พลาสติกพีวีซีแต่ละชนิดเติมสารเติมแต่งเข้าไปแตกต่างกัน กระทั่งอุตสาหกรรมพีวีซีเองก็ยอมรับว่าการรีไซเคิลนั้นแพงกว่า และพลาสติกที่ได้จากการรีไซเคิลมีคุณภาพน้อยกว่า

หลายประเทศในโลก โดยเฉพาะประเทศที่มีการใช้ภาษาเยอรมัน และประเทศแถบแสกนดิเนเวีย ซึ่งตระหนักดีถึงพิษภัยของพีวีซี ได้มีการควบคุมการใช้ผลิตภัณฑ์พีวีซีอย่างเข้มงวด หน่วยงานท้องถิ่นมีการริเริ่มสร้างสิ่งก่อสร้างที่ปลอดพีวีซี ขณะที่ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล และร้านขายเฟอร์นิเจอร์ประกาศไม่ใช้วัสดุที่ทำจากพีวีซีอย่างสิ้นเชิง

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่ากากและของเสียทั้งหมดที่ถูกผลิตออกมาจะถูกนำไปกำจัดด้วยวิธีเหล่านั้น ประมาณหนึ่งในสามของกากและของเสียเหล่านี้จะถูกนำไปผ่านกระบวนการคลอโรไลซิส (Chlorolisis) ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์คลอรีนมากมายที่ใช้ทั่วไปเช่น ตัวทำละลายเปอร์คลอเอธิลีน (Perchlorethylene ) ซึ่งใช้เป็นสารทำความสะอาดและเป็นสารก่อมะเร็ง คาร์บอนเตตระคลอไรด์ (Carbon Tetrachloride) ซึ่งเป็นสารทำลายโอโซนในชั้นบรรยากาศโลกและเป็นสารก่อมะเร็ง นอกจากนี้ก็มีสารเคมีอื่นๆ เป็นส่วนเกินจากกระบวนการผลิต รวมถึงสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ของเหลวทำความสะอาด และน้ำยาปรับกลิ่นในห้องน้ำและในโลงศพ

เป็นความจริงว่าผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมคลอรีนนั้นก่อมลพิษสู่อากาศ ดิน และน้ำ การใช้น้ำยาป้องกันเชื้อโรคในห้องน้ำที่ไม่จำเป็นทำให้มีสารประกอบอินทรีย์คลอรีนถูกล้างลงท่อระบายน้ำเสียมาเป็นเวลานาน เช่นเดียวกับการใช้สารนี้ในโลงศพก็ปล่อยสารพิษออกมาไม่น้อยจากการเผาศพ โดยเฉพาะไดออกซิน

เอกสารจาก กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net