Skip to main content
sharethis

คนเชียงรายเริ่มได้ยินข่าวกระเซ็นกระสายว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ทบทวนสถานที่ตั้งของโครงการนิคมอุตสาหกรรมเชียงแสน หลังจากวันประชุมครม. 23 พฤศจิกายนเป็นต้นมา แต่ก็ไม่มีการยืนยันข่าวเรื่องดังกล่าวอย่างชัดเจนจากภาครัฐ เพราะแม้แต่เนื้อหาสรุปข่าวการประชุมครม. ประจำสัปดาห์ก็ไม่ได้ให้รายละเอียดเรื่องนี้แต่อย่างใด

จนกระทั่ง มีการจัดสัมมนาเรื่อง มุมมองต่างมิติต่อการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเชียงแสน โดยมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย เมื่อ 30 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยได้ระดมเอาผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ-เอกชน มาร่วมถก ในเวทีนี้เองที่ ได้มีการยืนยันว่า ครม. ให้หน่วยงานเกี่ยวข้องไปร่วมกันทบทวนจุดที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมจริง

คำว่าทบทวนดังกล่าว มีความเป็นไปได้สองทางก็คือ เปิดไฟเขียวให้ย้ายจุดที่ตั้งใหม่ได้ หากเห็นว่า เหมาะสมกว่า หรือ อาจจะทบทวนแล้วยืนยันจุดที่ตั้งเดิม

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มที่กำลังจะเกิดขึ้นโดยพิจารณาจากกระแสความต้องการของคนท้องถิ่นที่ตื่นตัวขึ้นมาอย่างชัดเจน สามารถสรุปแบบฟันธงได้ว่า มีความเป็นไปได้กว่า 80% ที่จะมีการย้ายจุดที่ตั้งโครงการนิคมอุตสาหกรรมออกไปให้พ้นจากเขตอำเภอเชียงแสน ซึ่งเป็นแหล่งโบราณคดีและแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ

มองต่างมิติ- รุมชี้ ศรีดอนมูลไม่เหมาะ

วันที่ 30 พ.ย.47 ที่หอประชุมกาละลองคำ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย จ.เชียงราย มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายเป็นเจ้าภาพในการจัดเวทีเสวนา เรื่อง มุมมองมิติต่อการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเชียงแสน" ขึ้น โดยมีตัวแทนนักวิชาการ ตัวแทนการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตัวแทนองค์กรหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นักเรียนนักศึกษา และประชาชนเข้าร่วมงานกันกว่า 1,000 คน

ดร.วีระพงศ์ ไชยเพิ่ม ผอ.ฝ่ายท่าเรืออุตสาหกรรม การนิคมอุตสาหกรรมเชียงแสน(กนอ.) เปิดเผยว่า นิคมอุตสาหกรรมเชียงแสน เป็นหนึ่งในนโยบายรัฐ ตามยุทธศาสตร์การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดนจังหวัดเชียงราย โดยทางสภาพัฒน์ได้ศึกษาและเสนอต่อคณะรัฐมนตรี โดยเลือกพื้นที่เขต อ.เชียงแสน บริเวณ ต.ศรีดอนมูล และใช้พื้นที่สร้างนิคมฯ จำนวน 3,136 ไร่ และอาจขยายพื้นที่ออกไปอีกประมาณ 300 ไร่

"เรื่องการซื้อขายที่ดินนั้น ทางเอกชนเป็นคนลงทุนและดำเนินการ ทางการนิคมอุตสาหกรรมฯ จะเป็นเพียงผู้ควบคุมดูแล ซึ่งที่มีการเลือกพื้นที่ ต.ศรีดอนมูลนั้น เราเอาพื้นที่ตรงนี้เป็นตุ๊กตาเพื่อเป็นกรณีศึกษา และจะประกาศเป็นเขตอุตสาหกรรมได้ก็ต่อเมื่อมีการศึกษาความเหมาะสมผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม(EIA)แล้ว" ดร.วีระพงศ์ กล่าว

รศ.ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี กล่าวว่า เหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในเชียงแสนนี้ เป็นหนึ่งในประเทศไทย ที่กำลังเปลี่ยนแปลงจากสังคมเกษตรเป็นสังคมอุตสาหกรรม จนเกิดความขัดแย้งขึ้น 2 กลุ่ม คือกลุ่มจีนที่รุกเข้ามา กับกลุ่มสังคมชุมชนดั้งเดิม และทำอย่างไรถึงจะทำให้เกิดดุลยภาพในสังคม

"ที่ผ่านมา การพัฒนาประเทศของไทยล้วนปล่อยให้คนข้างนอกเข้ามา โดยไม่ได้มองภายใน ไม่มองถึงเรื่องประวัติศาสตร์เชียงแสน ปล่อยให้พวกต่างด้าวท้าวต่างแดนเข้ามาอยู่ จนทำให้เกิดการปะทะกันทางสังคม และทำให้ไทยบ้านิยมวัตถุ จนเรียกได้ว่าเป็นรัฐบาลยุคทักษิณวิบัติ และหากปล่อยให้จีนเข้ามา ขอให้คนเชียงรายให้ระวังด้วยว่า ไม่ใช่แค่เชียงแสน ต่อไปมันอาจรุกเข้าไปถึงเชียงราย พุ่งไปที่แม่น้ำกกไปถึงท่าตอน และจากเชียงของไปถึงห้วยทรายของลาว" รศ.ศรีศักดิ์ กล่าว

นายสนธิ ลิ้มทองกุล ที่ปรึกษาหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ได้กล่าวว่า พื้นที่ของ จ.เชียงราย มีทั้งหมด 7 ล้านกว่าไร่ แล้วต้องการพื้นที่เพื่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมเพียง 3,000 กว่าไร่ และทำไมถึงต้องเลือกพื้นที่เชียงแสน ตรงบริเวณ ต.ศรีดอนมูล ก็เพราะว่านี่คือการค้าที่ดิน เป็นเรื่องของผลประโยชน์ เป็นการเกิดขึ้นของคนกลุ่มหนึ่งที่มีความโลภ ฮั้วกับนายทุน ซึ่งไม่ได้คำนึงถึงรากเหง้า

"รัฐบาลชุดนี้ ความคิดดีแต่ขาดความรอบคอบ ทำไมรัฐไม่ส่งเสริมเรื่องสินค้าชายแดน ให้เป็นจุดขนส่งสินค้าไปยังประเทศอื่น แต่จะสร้างนิคมอุตสาหกรรมแทน เพราะที่ผ่านมานิคมฯ ได้สร้างปัญหามาโดยตลอด โดยเฉพาะนิคมฯ ลำพูน ต่างได้รับผลกระทบมากมาย ได้รับพิษสารตะกั่ว ปัญหาสังคม คนงาน 70-80 เปอร์เซ็นต์ล้วนมาจากคนข้างนอก ปัญหาเหล่านี้ใครจะรับผิดชอบ บ.ร่วมทุนไทยจีนฯ จะมีประสบการณ์ในการแก้ปัญหานี้อย่างไร เพราะเป็นบริษัทที่มุ่งแต่ขายที่ดิน" นายสนธิ กล่าว

นายสนธิ ยังได้ตั้งข้อสังเกตว่า บ.ทีมคอนซัลติ้ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ที่เข้าทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) มีคุณทนง พิทยะ เป็นที่ปรึกษาบริษัท และเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้วย

นายจิตชัย เผ่าอินจันทร์ เจ้าหน้าที่วิเคราะห์ผังเมือง กล่าวว่า เชียงแสนเป็นเมืองที่มีความหลากหลายและซับซ้อน เป็นอำเภอที่มีพื้นที่อนุรักษ์ 80 เปอร์เซ็นต์ สิ่งที่น่ากลัวตอนนี้ก็คือ เรากำลังอยู่ท่ามกลางกระแสการพัฒนา และตนได้ข้อมูลมาว่า หากมีการสร้างนิคมอุตสาหกรรมขึ้น จะมีคนงานเพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าตัว คือ 40,000 คน ซึ่งจะต้องกระทบต่อระบบผังเมืองอย่างแน่นอน อาจจะกลายเป็นเมืองใหม่ทั้งเมือง

ทางด้านนายสนธิ คชวัฒน์ ผอ.กลุ่มพัฒนาระบบและติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า นอกจากมีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้วนั้น เราจะต้องศึกษามิติทางประวัติ ศาสตร์ และต้องรับฟังเสียงของประชาชนด้วย ซึ่งที่ผ่านมาชาวบ้านส่วนใหญ่บอกว่า ยังไม่รู้ข้อมูลทั้งหมด และขณะนี้ยังไม่มีการตัดสินใจ ยังไม่ได้มีมติอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี

คนลำพูนชี้บทเรียนจากนิคมฯลำพูน
คนเชียงแสนต้องคำนึงถึงต้นทุนชีวิตและสังคม

ในช่วงบ่าย ได้มีชาวบ้านจาก จ.ลำพูน มาพูดถึงบทเรียนจากนิคมอุตสาหกรรมลำพูน ที่ได้ก่อปัญหาทั้งเรื่องคนงานได้รับสารพิษป่วยล้มตาย น้ำเน่าเสีย ดินเสื่อม และปัญหาทางสังคมตามมามากมาย จนทำให้ชุมชนดั้งเดิมล่มสลาย ชี้ให้คนเชียงแสนตื่นตัวและเตรียมพร้อมให้ดี ให้คำนึงถึงต้นทุนชีวิตและสังคม หากมีการสร้างนิคมฯเชียงแสน

นายเคารพ พินิจนาม ตัวแทนชาวบ้านคนลำพูน เปิดเผยว่า การสร้างนิคมอุตสาหกรรมลำพูน ในช่วงปี 2526-2528 นั้น ถือว่าเป็นยุคมืดดำ เพราะชาวบ้านคนลำพูนไม่ได้มีส่วนร่วมรับรู้ข้อมูลใดๆ เลย จู่ๆ ก็พุ่งเข้ามา ทำให้ทุกคนตั้งรับกันไม่ทัน

"ที่ผ่านมา นิคมฯลำพูน ได้สร้างปัญหาในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าปัญหาเรื่องนิคมฯ ลำพูนใช้น้ำจากเขื่อนแม่กวง จนเกิดการแย่งชิงน้ำจากชาวบ้านชาวนา มีการกว้านซื้อที่ดิน จากเคยทำนาทำไร่ เลี้ยงสัตว์ และหากินกับป่า ต้องเปลี่ยนไป เพราะที่ดินถูกเปลี่ยนมือ เป็นของนายทุนไปหมดสิ้น และที่ดินที่เหลือก็ทำการเพาะปลูกไม่ได้ เพราะสารพิษซึ่งเป็นโลหะหนักจากโรงงานไหลซึมผ่านเข้าไปในเนื้อดิน ทำให้ดินเสื่อมสภาพ " นายเคารพ กล่าว

นางรัชนี นิลจันทร์ กรรมการการจัดการสิ่งแวดล้อม จ.ลำพูน เผยว่า ตอนแรกทางนิคมอุตสาห กรรมลำพูน บอกว่าจะเป็นนิคมฯ ที่มีโรงงานแปรรูปการเกษตร และเครื่องหนัง แต่มาตอนหลังกลับกลายเป็นการผลิตชิ้นส่วนทางอิเลคทรอนิกส์แทน จนต่อมาในปี 2536-2537 คนงานในโรงงานนิคมฯ ลำพูน เริ่มป่วยด้วยโรคภูมิแพ้ และโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ และล้มตายโดยไม่ทราบสาเหตุ

ในขณะที่ นางรัชนี พูดอยู่นั้น นพ.วัชระ สนธิชัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหริภุญไชย ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเอกชนที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ กับนิคมอุตสาหกรรมลำพูน และยังเป็นคณะกรรมการความปลอดภัยนิคมอุตสาหกรรมลำพูน ได้ลุกขึ้นแย้งว่า สิ่งที่นางรัชนีพูดนั้น ไม่เป็นความจริง และนพ.วัชระ ได้กล่าวยืนยันรับรองว่า ได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทำการตรวจผู้ป่วยที่เป็นคนงานว่า ไม่พบสารตะกั่วในร่างกายเกินมาตรฐาน และไม่ได้เป็นอันตรายต่อชีวิตและบอกว่า สาเหตุที่คนงานเสียชีวิตนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นโรคเอดส์ ไม่ได้ป่วยจากสารตะกั่ว

ทางด้านนางรัชนี ได้กล่าวโต้ว่า ที่ผ่านมา ตนได้นำผู้ป่วยไปตรวจกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง จำนวน 100 กว่าราย และตรวจพบว่า 60 ราย ได้รับสารพิษในร่างกายเกินมาตรฐานจริง ซึ่งมีเอกสารทางการแพทย์ยืนยันได้

"ซึ่งตอนนี้ คนป่วย คนทำงานในนิคมอุตสาหกรรมลำพูน ได้บอกว่า ต่างไม่มั่นใจ ไม่เชื่อถือในการตรวจรักษาพยาบาลจากแพทย์ของโรงพยาบาลหริภุญไชยกันแล้ว" นางรัชนี กล่าว

ต่อมา นายวีนัส ดวงดม ซึ่งเป็นผู้ป่วยจากการทำงานในนิคมอุตสาหกรรมลำพูน ได้เปิดเผยว่า ตนเคยทำงานโรงงานประกอบชิ้นส่วนมือถือ ในนิคมอุตสาหกรรมลำพูนมาก่อน แต่ต่อมา ได้ป่วยและเข้ารับการตรวจรักษาในโรงพยาบาล พบว่า ตนได้รับสารตะกั่ว สารอะลูมีนา จนสุดท้ายต้องออกจากนิคมอุตสาหกรรมลำพูน

"ภายในโรงงานในนิคมฯ ลำพูน จะเป็นห้องแอร์ ทำให้ทุกคนต้องสูดสารพิษจากสารตะกั่ว อะลู
มีนา เข้าไปโดยไม่รู้ตัว ไม่ได้มีการใส่หน้ากาก มีเพียงผ้าปิดจมูกธรรมดาเท่านั้น นอกจากนั้น ภายในโรงงาน จะมีช่องระบายดูดอากาศออกไปทางปล่องควัน ปล่อยออกไปทั่วบริเวณรอบๆ นิคมอุตสาหกรรม จนเกิดควันพิษ ฝุ่นละอองลอยคลุ้งไปทั่ว มีการปล่อยน้ำเสียลงไป ในแม่น้ำ
กวง จนทำให้น้ำเน่าเสีย จนทุกวันนี้ ชาวบ้านแถบนั้น ไม่มีใครใช้อุปโภค บริโภค" นายวีนัส กล่าว

ตัวแทนชาวบ้านจาก จ.ลำพูน ยังกล่าวย้ำอีกว่า นิคมอุตสาหกรรมลำพูน ได้ทำลายวิถีชีวิต วัฒนธรรมดั้งเดิมหายไป เกิดสังคม 2 กลุ่ม คือกลุ่มสังคมคนงาน กับสังคมชาวบ้าน จนกลายเป็นความแปลกแยก ทุกคนต่างอยู่อย่างคนแปลกหน้ากันและกัน

"เพราะฉะนั้น ชาวเชียงแสน ชาวเชียงราย จะต้องกลับมาทบทวนกันใหม่ว่า ระหว่างการพัฒนา การสร้างนิคมฯเชียงแสน กับต้นทุนชีวิต ต้นทุนทางสังคม ที่จะต้องสูญเสียไปนั้น มันจะคุ้มกันหรือไม่" นางรัชนี กล่าว

"และหากชาวเชียงแสน ชาวเชียงราย อยากรู้ว่า นรกมีจริง เหมือนอย่างผมตอนนี้ ก็ลองให้พวกเขาสร้างนิคมอุตสาหกรรมเชียงแสนดู" นายวีนัส ผู้ป่วยจากโรงงานนิคมอุตสาหกรรม กล่าวย้ำทิ้งไว้ในตอนท้าย…

คนเชียงแสนลุกขึ้นถามสร้างนิคมฯ ชาวบ้านไม่รับรู้

นายสุพจน์ ล้อสีทอง ชาวบ้าน ต.เวียง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ได้ลุกขึ้นกล่าวว่า ที่ผ่านมา รัฐพยายามเอาข้อมูลที่ได้ทำเอง มาบอกว่ากว่า 90% เห็นด้วยกับการสร้างนิคมอุตสาหกรรมเชียงแสน แล้วทำไมชาวบ้านอีก 4 ตำบล จึงไม่ได้รับรู้เลยว่าจะมีการสร้างนิคมฯ

"ถ้าเป็นเช่นนี้ ตนคิดว่า ความเสียหายย่อมจะเกิดขึ้นได้ในพื้นที่เชียงแสนในอนาคต ตนดูข้อมูลของ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) นั้นน่าเชื่อ เพราะเห็นมีแต่ข้อดี และตนไม่มีความมั่นใจว่าจะควบคุมได้ในอนาคต" นายสุพจน์ กล่าว

นอกจากนั้น ยังมีการพูดถึง พื้นที่การสร้างนิคมฯ เชียงแสน บริเวณตำบลศรีดอนมูล จำนวน 3,000 กว่าไร่ และต่อไปในอนาคตอาจจะขยายกว้างออกไป เป็น 5,000 ไร่ หรือ 10,000 ไร่ ใครจะรับประกัน กรณีที่ กนอ.บอกว่า นิคมอุตสาหกรรม จะขุดบาดาล ผลิตน้ำใช้ในนิคมฯ อย่างพอเพียง แล้วชาวบ้านชาวนาที่อยู่นอกนิคมฯ จะเอาน้ำที่ไหนมาใช้ รับรองว่ามันจะต้องกระทบอย่างแน่นอน แม้กระทั่งน้ำแม่คำ ก็จะต้องถูกดูดแห้งหายไป

นายสุพจน์ ยังกล่าวอีกว่า ปัญหาทางสังคม กระทบแน่นอน ตอนนี้บ้านของตนเปิดประตูทิ้งไว้ตลอดเวลา แม้กระทั่งเข็มสักเล่มก็ไม่เคยหาย หากมีการสร้างนิคมฯ โจร ผู้ร้ายต้องเต็มบ้านเต็มเมือง ตนจะต้องหากุญแจสัก 5 ตัว มาปิดประตูบ้าน

"และชื่อเสียงของประเทศไทยจะต้องเสียหายอย่างแน่นอน เพราะสินค้าของจีนทุกวันนี้ พอใครเห็น "เมด อิน ไชน่า" ทุกคนต่างส่ายหน้าบอกว่า "โน" เพราะสินค้าไม่มีคุณภาพ แต่ถ้าเอาสินค้าจีนมาประทับตรา"เมด อิน ไทยแลนด์" ประเทศไทยย่อยยับแน่" นายสุพจน์ กล่าวในตอนท้าย

โพลกลุ่มรักษ์เชียงแสน 75.45% ไม่เห็นด้วยการสร้างนิคมฯเชียงแสน

นายมิติ ยาประสิทธิ์ ประธานกลุ่มรักษ์เชียงแสน เปิดเผยผลการสำรวจความคิดเห็นของชาวบ้าน ทั้ง 5 ตำบล ของ อ.เชียงแสน ว่า ไม่เห็นด้วยกับการสร้างนิคมอุตสาหกรรมนิคมเชียงแสน 75.45% เห็นด้วย 24.55% ไม่ทราบข่าวการจัดตั้งนิคมเชียงแสน 42.38% ทราบข่าว 57.62%

นอกจากนั้น ได้สำรวจถึงเรื่องความไม่มั่นใจในการจัดตั้งนิคมเชียงแสน 83.52% มั่นใจ 16.48% ไม่เห็นด้วยที่จีนจะใช้วิธีเลี่ยงภาษีโดยใช้ชื่อไทยไปขายสินค้า 85.31% เห็นด้วย 14.69% และเห็นด้วยที่นิคมอุตสาหกรรมจะสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อ.เชียงแสน 75.45% คิดว่าไม่เกิดผลกระทบ 24.55%

นั่นคือเสียงของความห่วงใย เป็นเสียงของการวิตกห่วงใยและความไม่เข้าใจในกระบวนการทำงานของรัฐ ที่กำลังคิดสร้างนิคมอุตสาหกรรมเชียงแสน ท่ามกลางคนคัดค้านไม่เห็นด้วย กับกลุ่มคนที่ได้เข้าไปมีผลประโยชน์จากการดำเนินโครงการบางกลุ่ม ซึ่งเป็นประเด็นที่หลายคน หลายฝ่ายหลายองค์กรหน่วยงาน ต่างให้ความสนใจและเฝ้าติดตาม ว่านิคมอุตสาหกรรมเชียงแสน จะเกิดขึ้นหรือไม่

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net