Skip to main content
sharethis

แผนงานเสริมสร้างพลังวัฒนธรรมเพื่อแก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตามยุทธศาสตร์สันติวิธี

๑. ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๔๗ มีมติให้ความเห็นชอบแผนงาน/โครงการตามยุทธศาสตร์การพัฒนา ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ยะลา ปัตตานี นราธิวาส) ด้านความมั่นคง โดยมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติได้รับอนุมัติให้ดำเนินการตามแผนงานเสริมสร้างพลังทางวัฒนธรรมเพื่อแก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรงจังหวัดชายแดนภาคใต้ตามยุทธศาสตร์สันติวิธี จำนวนเงิน ๔๖,๖๗๘,๐๐๐ บาท

๒. แผนงานเสริมสร้างพลังทางวัฒนธรรมฯ เป็นแผนงานที่เสนอโดยผู้นำศาสนา นักการศึกษา และประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ่านกระบวนการส่วนร่วมในหลายระดับ โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาศักยภาพด้านองค์ความรู้และการบริหารจัดการมัสยิด การสร้างเครือข่าย การตระหนักถึงคุณค่าของการอยู่ร่วมกันโดยสันติ และสร้างประสบการณ์การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในผู้นำศาสนา โต๊ะครู ผู้นำเยาวชนและสตรี ในการนำแนวทางสันติวิธีเพื่อลดแนวคิดการใช้ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สำหรับการดำเนินโครงการภายใต้แผนงานดังกล่าวในปี ๒๕๔๗ ให้ความสำคัญกับเป้าหมายการให้มัสยิดเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของชุมชน โดยระยะแรกกำหนดการดำเนินการ ๑ มัสยิดต่อ ๑ ตำบล รวม ๒๕๐ มัสยิด ซึ่งถือเป็นมัสยิดนำร่อง สรุปผลในภาพรวม ดังนี้

๒.๑ โครงการภายใต้แผน ประกอบด้วย๑) โครงการสัมมนาผู้นำองค์กรทางด้านศาสนาอิสลาม ๒) โครงการเสริมสร้างศักยภาพผู้นำศาสนาเพื่อการบริหารจัดการเครือข่ายชุมชน ๓) โครงการพัฒนาศักยภาพโต๊ะครูและผู้ช่วยปอเนาะดั้งเดิมเพื่อเสริมสร้างเครือข่ายและเสรมสร้างความเข้าใจร่วมกัน ๔)โครงการจัดเวทีเครือข่ายประชาคมหมู่บ้านชุมชนเพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ร่วมกันของทุกฝ่าย ๕)โครงการส่งเสริมการพัฒนาเยาวชนและสตรีเพื่อเรียนรู้ จริยธรรมและการอยู่ร่วมกันในสังคม ๖)โครงการปรับปรุงมัสยิดเพื่อให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของชุมชนทุกระดับ ๗)โครงการประดับธงชาติ ซุ้มประตูเข้ามัสยิดและ ๘) โครงการการบริหาร ติดตาม ประสานงานและประเมินผลการดำเนินโครงการ

๒.๒ วิธีดำเนินโครงการ สำนักงานฯได้ใช้เครือข่ายหน่วยงานภาครัฐประกอบด้วย ๑) สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด ๒) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ๓) สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด ๔) สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เป็นหน่วยสนับสนุนการดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด (ทั้ง ๓ จังหวัด) ซึ่งเป็นองค์กรที่ได้รับความเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับจากประชาชนใน ๓ จังหวัด รับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการจำนวน ๖ โครงการและสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นผู้ดำเนินการเองจำนวน ๒ โครงการ

๒.๓ กลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย ๑) คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ๓ จังหวัด ๒) คณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด จำนวน ๒๕๐ มัสยิด ใน ๒๕๐ ตำบล ๓)โต๊ะครูและผู้ช่วยปอเนาะดั้งเดิม(อุสตาซ) จำนวน ๑๔๖ แห่ง ๔)กลุ่มผู้นำเยาวชนและสตรีมุสลิมในชุมชนมัสยิดนำร่อง

๓.ผลการดำเนินโครงการ สามารถบริหารและอำนวยการโครงการตามแผนงานได้ครบถ้วนทั้ง ๘ โครงการ โดยเป็นโครงการเดียวที่เสนอจากภาคประชาชนและสามารถดำเนินการได้สำเร็จตามเป้าหมายตามห้วงเวลาและงบประมาณที่ได้รับจัดสรร มีผลโดยสรุปดังนี้

๓.๑ ประสิทธิผลของโครงการ
๑) กลุ่มเป้าหมายผู้นำองค์กรทางด้านศาสนา มีศักยภาพในการขับเคลื่อนโครงการฯ ร่วมกับส่วนราชการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้เข้าร่วมโครงการมีจำนวนมากกว่าที่กำหนดไว้ในแผนงาน และแสดงความต้องการให้ขยายโครงการดังกล่าวนี้ต่อเนื่องไปยังมัสยิดที่เหลืออีก ๑,๔๐๔ มัสยิด

๒) ประชาชนเกิดความกระตือรือร้นที่จะใช้แนวทางสันติวิธีในการแก้ไขปัญหาจะเห็นได้ว่ามี
ประชาชนให้ความสนใจและให้ความร่วมมือในทุกโครงการ

๓) สามารถเปิดช่องทางการเข้าถึงประชาชนผ่านผู้นำศาสนาและเสริมสร้างความไว้วางใจและ
สร้างความร่วมมือที่ใกล้ชิดระหว่างหน่วยงานของภาครัฐใน ๒๕๐ แห่ง โดยจากการประเมินผลด้านการวิจัยทางวิชาการ โครงการนี้ส่งผลทางบวกต่อทัศนคติของประชาชนใน ๓ จชต. จำนวนไม่ต่ำกว่า ๖๐,๐๐๐ คน ในชุมชนมัสยิดนำร่องทั้ง ๒๕๐ มัสยิด

๓.๒ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้อำนวยการ ประสานงานและติดตามประเมินผลการดำเนินโครงการ รวมทั้งจัดให้มีโครงการวิจัยทางวิชาการ ประเมินผลโครงการตามแผนงานเสริมสร้างพลังทางวัฒนธรรม สรุปได้ว่าแผนงานดังกล่าว สามารถสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับประชาชน และเป็นโครงการที่สนองความต้องการของภาคประชาชน ซึ่งแสดงถึงความจริงใจที่เป็นรูปธรรมจากภาครัฐได้ชัดเจน และจากการหารือร่วมกับผู้นำศาสนาทั้งประธานและกรรมการอิสลามประจำจังหวัด โต๊ะครู โต๊ะอิหม่าม กรรมการบริการมัสยิด และชุมชนเครือข่าย และหน่วยราชการที่เป็นเครือข่ายประสานงานโครงการในพื้นที่ เห็นสมควรให้มีการขยายแผนงานดังกล่าวออกไปในปี ๒๕๔๘

๔.การขยายโครงการตามแผนงานเสริมสร้างพลังทางวัฒนธรรมฯในปี ๒๕๔๘ กำหนดเป้าหมาย
โครงการครอบคลุมมัสยิดนำร่องอีกจำนวนครึ่งหนึ่งของมัสยิดที่เหลือคือ ๗๐๒ แห่ง และมีค่าใช้จ่ายในวงเงิน ๑๕๐ ล้านบาท โดยยังคงโครงการเดิมไว้ ได้แก่ ๑) โครงการสัมมนาผู้นำองค์กรทางด้านศาสนาอิสลาม ๒) โครงการเสริมสร้างศักยภาพผู้นำศาสนาเพื่อการบริหารจัดการเครือข่ายชุมชน ๓)โครงการพัฒนาศักยภาพโต๊ะครูและผู้ช่วยปอเนาะดั้งเดิมเพื่อเสริมสร้างเครือข่ายและเสริมสร้างความเข้าใจร่วมกันของทุกฝ่าย ๕)โครงการส่งเสริมการพัฒนาเยาวชนและสตรีเพื่อเรียนรู้จริยธรรมและการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสันติ ๖) โครงการปรับปรุงมัสยิดเพื่อให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของชุมชนทุกระดับ และ๗) โครงการบริหาร ติดตาม ประสานงาน และประเมินผลการดำเนินโครงการ

ส่วนโครงการที่เห็นสมควรให้มีการจัดทำเพิ่มเติม ได้แก่ ๑)โครงการพัฒนาตาดีกา ซึ่งจะดำเนินการให้ครอบคลุมมีมัสยิดนำร่องในปีงบประมาณ ๒๕๔๗ และมัสยิดนำร่องเพิ่มเติมในปีงบประมาณ ๒๕๔๘ รวมจำนวน ๙๕๒ มัสยิด ๒)โครงการจัดตั้งวิทยาลัยอิหม่าม ๓)โครงการชุมชนสันติสุข (การสร้างความเข้มแข็ง และสันติสุขของชุมชนบนพื้นฐานหลักการที่เหนียวแน่นทางศาสนา) และ ๔)โครงการสัมมนาศักยภาพผู้นำศาสนานักศึกษาระดับอุดมศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

๕.สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้เสนอการขยายแผนงานเสริมสร้างพลังทางวัฒนธรรมฯในปี ๒๕๔๘ (ตามข้อ ๔) ให้กองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ พิจารณาจัดสรรงบประมาณตามยุทธศาสตร์การพัฒนา ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ในปีงบประมาณ ๒๕๔๘ แล้ว

สำนักยุทธศาสตร์ความมั่นคง สมช. ๕ พ.ย.๔๗

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net