Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

"เข้มเข้มเขียวเขียวขุนดอย ยามหนาวเหมยปรอยโปรยมา
เหมยต้นหนาวแต๊แพรหม่นม่านฟ้า งามแต๊ดอยดวงดอยหลวงเจียงดาว"

บทเพลงบทนี้ที่ สุนทรี เวชานนท์ ศิลปินหญิงล้านนา ได้ร้องครวญในงานมหกรรมดอยหลวงเชียงดาวในคืนนั้น ทำให้หลายๆ คน ที่มาร่วมงานได้ซึมซับบรรยากาศ และคิดใคร่ครวญถึงสิ่งแปลกปลอมที่กำลังเข้ามาคุกคามทำลายดงดอยหลวงเชียงดาว ยามยินข่าวว่ารัฐคิดจะสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นดอยหลวงเชียงดาว

วันที่ 3 ธันวาคม 2547 กว่า 3,000 คนที่หลั่งไหลกันมาร่วมงานมหกรรมดอยหลวงเชียงดาว ณ ริมฝั่งน้ำแม่ปิง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ถือว่าเป็นกิจกรรมที่ความหลากหลาย ภายในบริเวณ มีทั้งการจัดเสวนาวิชาการ เรื่องคุณค่าระบบนิเวศน์กับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และการมีส่วนร่วมของชุมชน มีการจัดนิทรรศการความรู้เกี่ยวกับคุณค่าของระบบนิเวศน์ของดอยหลวงเชียงดาว การแสดงภาพวาดของศิลปินบนดอยหลวงเชียงดาว การจัดซุ้มขายสมุนไพร การแสดงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น รวมไปถึงการแสดงดนตรีจากกลุ่มศิลปินมากมาย

44 องค์กรเครือข่ายจากทั่วประเทศ ในนามของภาคีเพื่อดอยหลวงเชียงดาว ทุกคนทุกฝ่ายไม่ว่าจากเหนือ กลาง อีสาน ใต้ ต่างมาร่วมกันในครั้งนี้ เพื่อแสดงเจตนารมณ์เดียวกัน คือ ร่วมกันปกป้องดอยหลวงเชียงดาว หลังจากมีกระแสข่าวที่รัฐกำลังดำเนินโครงการสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นดอยหลวงเชียงดาว

ในช่วงบ่าย,มีการจัดเวทีเสวนา เรื่อง " ดอยหลวงเชียงดาว คุณค่าทางระบบนิเวศและวัฒนธรรมท้องถิ่น" โดยมี พระมหาบุญช่วย สิรินธโร จากมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ดร.สินธ์ สโรบล จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.ภาค) มาลา คำจันทร์ จากโฮงเฮียนสืบสานล้านนา ดร.สุรพล ดวงแข จากมูลนิธิคุ้มครองสัตว์และพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ นายพรหมา เก่งกล้า กำนันตำบลแม่นะ และนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี
เข้าร่วมเสวนาและเปลี่ยนกัน โดยมีนายชัชวาล ทองดีเลิศ ผู้อำนวยการวิทยาลัยการจัดการทางสังคม(วจส.) เป็นผู้ดำเนินรายการ

นายพรหมา เก่งกล้า กำนันตำบลแม่นะ กล่าวว่า ตนเป็นลูกหลานคนเชียงดาว เกิดที่หลังดอยเชียงดาว จึงรู้ว่าดอยหลวงเชียงดาวนั้นมีความสำคัญต่อผู้คนที่นี่

แต่จู่ๆ ก็มีข่าวการสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นดอยหลวงเชียงดาว โดยที่ชาวบ้านไม่ได้รับรู้ แต่ทางรัฐบอกว่า ให้ชุมชนมีส่วนร่วม โดยการจ้างนักศึกษามาทำการสำรวจความคิดเห็นจากชาวบ้านเพียงบางกลุ่มเท่านั้น ซึ่งตนไม่เห็นด้วย ว่านี่คือการมีส่วนร่วมของชุมชน

"การมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างแท้จริง ต้องมีการเปิดเวทีชาวบ้าน ทำประชาพิจารณ์ ให้ท้องถิ่นได้เข้าไปมีส่วนร่วม แสดงความคิดเห็น และเข้าไปกำกับดูแลและดำเนินการทุกขั้นตอน ไม่ใช่รัฐไปจ้างบริษัทต่างชาติสำรวจอีไอเอ โดยชาวบ้านไม่ได้มีส่วนร่วม" นายพรหมา กล่าว

ดร.สินธุ์ สโรบล จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนวิจัย(สกว.ภาค) กล่าวว่า ได้เคยทำการวิจัยเรื่องเกี่ยวกับดอยหลวงเชียงดาวมาหลายครั้ง แล้วพบว่า ขณะนี้ ธรรมชาติเริ่มเปลี่ยนไป มีไฟไหม้ลุกลามไปทั่ว วัฒนธรรมของคนเชียงดาวก็เริ่มเปลี่ยน และความคิดของคนเราก็เริ่มเปลี่ยนไปไม่เหมือนแต่ก่อน

"อยากให้องค์กรท้องถิ่นของอำเภอเชียงดาว ได้ลุกขึ้นมาร่วมกันทำการวิจัย เพื่อตั้งรับกับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นว่า ทำอย่างไรถึงจะให้ดอยหลวงเชียงดาวนั้นมีการปกปักรักษาให้ยั่งยืน แม้กระทั่งในตำนานประวัติศาสตร์หรือความเชื่อเรื่อง เจ้าหลวงคำแดง มีการค้นพบว่า เจ้าหลวงคำแดงมีอิทธิพลความเชื่อความนับถือในแถบแม่น้ำแดง ของประเทศจีน สิ่งเหล่านี้เราจะต้องนำมาประกอบกับความคิดในการพัฒนาของรัฐ" ดร.สินธุ์ กล่าว

ทางด้าน มาลา คำจันทร์ นักเขียนซีไรต์คนล้านนา บอกว่า ความยิ่งใหญ่ของดอยหลวงเชียงดาว ไม่ใช่แค่คนเชียงดาวเท่านั้น แต่ได้ครอบคลุมไปทั่วล้านนา แต่จู่ๆ ก็มีกระแสการสร้างกระเช้าไฟฟ้าเข้ามา มันเหมือนกับว่า อยู่ดีๆ ก็มีคนเอาก้อนหินมาปาลงบนหลังคาบ้านของตนเอง กลายเป็นเรื่องของการเมืองเข้ามา

"อยากบอกว่า คนเราอยู่ด้วยเงินทองอย่างเดียวนั้นไม่ได้ มันต้องอยู่ด้วยจิตวิญญาณ จารีตความเชื่อทางจิตใจด้วย ถ้าคุณบอกว่า เป็นวิทยาศาสตร์และความจริง ถามว่า ความจริงนั้นรับใช้ใคร" มาลา กล่าว

ในขณะที่ ดร.สุรพล ดวงแข เลขาธิการมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมม์ กล่าวว่า กรณีการคิดสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นดอยหลวงเชียงดาว เราจะต้องถกเถียงกันว่า ใครจะมาลงทุน ใครได้กำไร และใครเสีย เพราะการพัฒนาที่ผ่านมา ล้วนมาจากความไม่รู้ ซึ่งนำไปสู่การทำลาย

"ที่ผ่านมา รัฐมักจะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน เหมือนกรณีภาคใต้ แล้วมาแก้ปัญหาที่มันลุกลามทีหลัง ซึ่งชุมชนต้องรีบทำความเข้าใจ เร่งทำการศึกษา อย่าให้เกิดปัญหาเหมือนที่หินนอกบ้านกรูด จนญาติพี่น้องต้องออกมาทะเลาะกัน" ดร.สุรพล กล่าว

องอาจ เดชา
ศูนย์ข่าวภาคเหนือรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net