จากกรือเซะถึงตากใบ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

"จากกรือเซะถึงตากใบ: ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้"
ถอดเทป คำบรรยายของ ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์
วันศุกร์ที่ 3 ธ.ค. 2547 คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผมพยายามจะเน้นไปที่บริบทเป็นพิเศษ แต่ก่อนที่จะไปถึงผมมีเรื่องอยากเล่าให้ฟัง

เรื่องแรกเกิดขึ้นวันศุกร์แรกหลังเกิดเหตุการณ์ 25 ต.ค.ที่ผ่านมา ผมก็ไปสุเหร่าแถวสีลม สุเหร่าในกรุงเทพฯ มันไม่เหมือนกัน บางแห่งเป็นสุเหร่าที่คนซึ่งมีความรู้สูงเข้าไป เพราะฉะนั้นภาษา การพูด บทเทศน์มันเป็นอีกอย่าง แล้วสุเหร่าบางสุเหร่าเป็นแบบโบราณ พวกอิหม่าม ฯลฯ เขาจะไม่ค่อยพูดเรื่องบ้านเมือง

สุเหร่าที่ผมไปก็คือสุเหร่าแบบนั้น คนที่มาคือคนทั่วๆ ไป ชาวบ้าน นักท่องเที่ยว ฯลฯ ที่น่าสนใจวันนั้น บทเทศนา อิหม่ามเทศน์ไปร้องไห้ไป คำอธิบายก็คือบอกว่า "สิ่งที่เกิดขึ้นกับพวกเรา คนมุสลิมถูกสอนว่าเมื่อได้รับทุกข์ให้ถือว่านี่คือการทดสอบของพระผู้เป็นเจ้า และดังนั้นทางออกของคนมุสลิมก็คือให้พยายามอดทน"

แล้วอิหม่ามก็เล่าเรื่อง "การต่อสู้ของเดวิดกับโกไลแอธ" ท่านก็เล่าว่า ด้วยพระเมตตาของพระผู้เป็นเจ้า ในที่สุดเดวิดก็ชนะโกไลแอธ ไม่เกี่ยวอะไรกับตากใบเลย ไม่เกี่ยวอะไรกับภาคใต้เลย แล้วตอนละหมาดก็มีการขอดูว่าให้กับผู้คนที่เกิดขึ้น

สำหรับผม ทัศนะของมุสลิมกรุงเทพฯ ต่อเหตุการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เปลี่ยนนะครับ เช่นเมื่อเกิดเหตุการณ์ 28 เมษายน ปรากฏการณ์นั้นก็คือ คนมุสลิมถืออาวุธบุกเข้าโจมตีที่ตั้งของภาครัฐ อันนี้เป็นข้อเท็จจริง ดังนั้นในสายตาของคนมุสลิมกรุงเทพฯ เท่าที่ผมสัมผัส คนมุสลิมทั่วๆ ไปก็จะเฉยๆ ความรู้สึกเฉยๆ แต่หลังเหตุการณ์ตากใบ ความรู้สึกไม่ได้เฉยเลย ความรู้สึกคืออะไรบางอย่างที่ไม่เป็นธรรมอย่างรุนแรงเกิดขึ้น ความรู้สึกนั้นปรากฏขึ้นมาในหมู่คนมุสลิม อันนี้คือดัชนีที่น่าสนใจประการหนึ่ง

เรื่องเล่าที่สอง เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. ผมไปทานข้าวกับเพื่อน ขากลับนั่งแท็กซี่ก็เปิดรายการหนึ่ง ผมฟังเสียงคนพูดเป็นพระ แต่สิ่งที่พูดมีประเด็นน่าสนใจ ประเด็นหลักก็เหมือนที่เราได้ยินในระยะนี้ "มัวแต่พูดว่ารัฐหรือเจ้าหน้าที่รัฐรังแกคนมุสลิม แล้วคนที่ตายรายวันล่ะ" อันนี้เป็นวาทกรรมที่กำลังเกิดมากขึ้น อีกรายการหนึ่งท่านก็บอกว่า มองจากมุมของพุทธจะต้องเข้าใจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วท่านก็อธิบาย ยกตัวอย่าง "เหมือนเราบรรทุกปลาเป็นๆ ในตลาด พอไปถึงที่ ปลาตายไปจำนวนหนึ่ง เราถือว่าเหตุการณ์นี้เป็นอะไร เราก็ต้องถือว่านี่เป็นการตายตามธรรมชาติ"

ผมคิดว่าใครก็ตามที่ใส่ใจกับสังคมไทยแม้เพียงเล็กน้อย ก็คงเห็นภยันตรายของเรื่องเล่าทั้งคู่ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ แล้วมันเป็นดัชนีบอกว่าขณะนี้ปัญหามันไปถึงไหนแล้ว เพราะถ้าถามกันโดยตรง คำถามที่ท่านทั้งหลายควรจะถามก็คือว่า ปรากฏการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตอนนี้ มาถึงจุดที่บางคนเรียกว่า point of no return หรือยัง?

ในวิชาว่าด้วยความขัดแย้งทั้งหลาย สิ่งที่เขาสนใจกันก็คือ พัฒนาการของความขัดแย้งก่อนที่มันจะเกิดความรุนแรงอย่างเป็นรูปเป็นร่าง มันมีขั้นมีตอน มันมีหลักวิชา ในแต่ละสถานการณ์มันถึงจุดหนึ่งมันเปลี่ยน ถึงจุดซึ่งหยุดมันไม่ได้ หลายคนขณะนี้กำลังสงสัยว่าจุดนั้นคืออะไร ผมพูดอย่างนี้หมายความว่าควรจะเปรียบเทียบในสถานการณ์ที่อื่นด้วย ในศรีลังกา ฟิลิปปินส์ ไอร์แลนด์ หรือที่อื่น เพราะฉะนั้นโจทย์ที่น่าสนใจคือตั้งคำถามแบบนี้ ผมไม่ได้เชื่อว่ามันถึง point of no return แล้ว สองคือผมเชื่อว่าเราสามารถเกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง ดึงไปในทิศทางที่เราอยากทำได้ แต่มันมีอุปสรรคเยอะด้วย ถามว่า อุปสรรคคืออะไร ผมคิดว่ามีสามส่วน

ส่วนที่หนึ่งคือ รัฐ ณ วันนี้รัฐไม่ใช่ตัวที่จะแก้ปัญหาเท่านั้น แต่อาจมองอีกทางหนึ่ง รัฐวันนี้เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา ปัญหามีอยู่ว่า รัฐตระหนักไหมว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา หรือตระหนักในความหมายไหน

ส่วนที่สองคือ สังคมไทยเอง ปรากฏการณ์ที่ผมเล่าคงไม่ใช่ปรากฏการณ์โดดๆ ถ้าดูจาก sms ฯลฯ แต่ผมสนใจว่าเวลาพรรคการเมืองหาเสียงใช้ประเด็นอะไรเป็นประเด็นโปรโมต ผมคิดว่าประเด็นที่พรรคการเมืองเลือกใช้ ถ้าเราเชื่อว่าเป็นพรรคการเมืองสมัยใหม่ ดังนั้นเขาสำรวจตลาดแล้ว ผมกำลังจะบอกว่า หรือว่าสังคมไทยตอนนี้เป็นสังคมไทยที่รู้สึกว่าความรุนแรงแก้ปัญหาได้ และใครที่ใช้มันไม่ได้แสดงให้เห็นปัญหา แต่มันแสดงให้เห็นความเข้มแข็งเด็ดขาด และดังนั้นจึงได้คะแนนเพิ่ม นี่คือปัญหาที่สอง

ปัญหาที่สามคือ ปัญหาในกลุ่มมุสลิม ก็คือปรากฏการณ์ที่อธิบายเมื่อครู่มันคงผลักดันไปสู่ลักษณะที่ extremization ผลักมุสลิมบางส่วนไปสู่ภาพที่แรงขึ้นในปรากฏการณ์ที่เกิด ในสมัย 2519 เป็นต้นมา กลุ่มและขบวนการต่างๆ ที่ทำการต่อสู้ในขบวนการแบ่งแยกดินแดน วิธีการที่เขารณรงค์เรียกคนก็ใช้ภาษาทางศาสนาทั้งนั้น

fact ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความรุนแรงคือ มีรายงานของรัฐสภาระบุว่า ในทศวรรษที่แล้ว ตั้งแต่ 2535-2544 มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นประมาณ 441 ครั้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีคนตายประมาณ 42 คน ตัวเลขของกองทัพไทยตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค. จนถึงสองสัปดาห์แรกของเดือน พ.ย. มีคนตายไปแล้ว 257 คน

ผมไม่แน่ใจว่าตัวเลขของกองทัพน้อยกว่าที่เป็นจริง และก็ไม่นับกรณี 28 เม.ย., 25 ต.ค. ยิ่งกว่านั้นในแง่ความถี่ของเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นมากที่สุดในสองอาทิตย์แรกของเดือน พ.ย.นี้เอง มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นอย่างน้อย 98 เหตุการณ์ มันไม่ใช่เหตุบังเอิญว่าเกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ 25 ต.ค. ถ้านี่คือปรากฏ การณ์ อะไรคือคำอธิบาย?

ผมอยากตั้ง ข้อสังเกต สองสามข้อสั้นๆ

อย่างที่หนึ่ง เวลาเราพูดถึงปัญหา ผมมองวันที่ 4 ม.ค., 28 เม.ย., 25 ต.ค. ถ้าเรามองเหตุการณ์ความรุนแรงวันที่ 4 ม.ค. เราเรียกเหตุการณ์ปล้นปืน สิ่งที่น่าจะเข้าใจก็คือ ในสายตาของฝ่ายความมั่นคง เขาเข้าใจว่ามันคืออะไร คำอธิบายของเขา เนื่องจากปรากฏการณ์นั้นไม่ได้ปล้นธรรมดา มันมีการวางแผน ฯลฯ

ฉะนั้นวิธีอธิบายของเขาคือว่า "หน้าที่ของรัฐเวลานั้นคือ การสถาปนาอำนาจรัฐคืน" ต่างกันเยอะเลยนะครับ ไม่ใช่เอาปืนกลับมา เพราะฉะนั้นการสถาปนาอำนาจรัฐคืออะไร ก็ต้องทำแบบหนึ่ง ตามปืนคือทำอีกแบบหนึ่ง มันคนละหน้าที่

อย่างที่สองคือ เหตุการณ์วันที่ 28 เม.ย. ข้อต่างที่สำคัญก็คือ ในสายตาคนบางคน อันนี้คือผู้ก่อการถูกฆ่า คนจำนวนหนึ่งก็ดีใจเพราะ "ผู้ร้าย" ตาย 106 ฝ่ายเราตาย 5 ปัญหาก็มีอยู่ว่า ในสายตาของญาติพี่น้อง เขาคิดว่าการตายมีความหมายอย่างหนึ่ง ถ้าเราบอกว่า การฆ่าคือชัยชนะหรือเป้าหมาย มันก็ได้ภาพแบบหนึ่งใครฆ่าได้มากก็ชนะ

แต่ถ้าคนจำนวนหนึ่งถือว่า ตายต่างหากคือชนะ ความหมายของชัยชนะเปลี่ยน คนบางคนเข้าไปในสถานการณ์เพราะคิดว่าการตายคือหนทางที่พึงปรารถนา มันมีคำอธิบายแบบนั้นได้ เพราะฉะนั้นเราอยู่ในระบบที่เราจะเห็นปรากฏการณ์แบบนั้นได้มากขึ้นเรื่อยๆ นี้เป็นอันที่สองที่น่าสนใจ

ประเด็นที่สามคือกรณีที่ตากใบ ในสายตาของเจ้าหน้าที่ อย่างที่คุณรุ่งรวีเล่าให้ฟัง เหตุการณ์ที่ผู้หญิงถูกยิงที่ขา ทางเจ้าหน้าที่ก็ทำการศึกษา อันที่จริงในเดือนตุลาคมนั้นเองมีเหตุการณ์แบบนั้นเกิดขึ้น มีคนมาเผาหมู่บ้าน ชาวบ้านก็บอกว่ามีปัญหา ชาวบ้านก็รวมตัว ไปที่หน่วยงานราชการ บางคนที่ชาวบ้านเชื่อว่า คนในหน่วยเป็นคนทำ มันก็มีโอกาสที่จะเกิด ทั้งสองฝ่ายก็รวมตัวคนมาเยอะขึ้นเรื่อยๆ ทุกครั้งที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่บ้านเมืองเห็นการรวมตัวของประชาชน คำอธิบายประการหนึ่งซึ่งอาจจะคือประการเดียวก็คือ แสดงว่าต้องมีคนหนุน แสดงว่าต้องมี organize มีใครอยู่เบื้องหลัง นั่นเป็นทฤษฎีของฝ่ายบ้านเมือง

ในฝ่ายชาวบ้านก็คือว่า ณ วันนี้ถ้าจะมีเรื่องกับภาครัฐ ไปคนเดียวไม่ได้ เดี๋ยวหาย เพราะฉะนั้นต้องไปหลายคน เพราะฉะนั้นต้องรวมกลุ่ม เพราะฉะนั้นต้องจัดองค์กร กระบวนการจัดองค์กรกลายเป็นกระบวนการปกติของชาวบ้าน อันที่จริงนี่ไม่ใช่ปรากฏการณ์ซึ่งเกิดขึ้นเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ภาครัฐทุกครั้งที่เห็นการรวมกลุ่ม คำอธิบายหรือคำถามก็คือ ใครอยู่เบื้องหลัง เพราะไม่เคยเชื่อว่าชาวบ้านจัดองค์กรได้ รวมกลุ่มได้ ความเชื่อนั้นมีปัญหาหรือไม่คงจะต้องตั้งข้อสังเกตกัน ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่ง ปรากฏการณ์นั้นเกิดเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ เวลามีปัญหาก็จำเป็นต้องทำเช่นนั้น

เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมกำลังเล่าก็คือว่า ถ้าเราเชื่อว่านี่คือฝ่าย "ผู้ร้าย" วิธีจัดการปัญหาก็คือ ใช้อาวุธ อย่างเอ็ม 16 คือ 78 คนที่ตายมันเริ่มหลังจากการถูกยิง 6 คน การถูกยิงก็เริ่มขึ้นเพราะว่าเขานิยามปัญหาแบบนี้ เพราะในนั้นมีผู้ร้ายอยู่ ส่วนอาวุธจะเอามาหรือไม่เอามาก็เป็นส่วนหนึ่งที่อาจจะตั้งข้อสังเกตก็ได้ แต่สรุปแล้วเขามองปัญหาแบบนี้

ผมกำลังบอกว่า ถ้ามองอีกวิธีหนึ่ง เหตุการณ์วันที่ 25 ตุลาคม ถ้ามองว่านี่คือการเดินขบวนประท้วง สิ่งที่ควรจะเทียบคือ การเดินขบวนประท้วงของคนกรณีจะนะ กรณีปากมูล ปราบใช่แต่ไม่ใช่ยิง ปราบใช่แต่ไม่ใช่จับเขาถอดเสื้อ มัดลากกับพื้นเอาขึ้นรถในลักษณะนั้น และเมื่อเกิดเหตุขึ้น เรื่องก็ควรจะจัดการตามกระบวนยุติธรรมตามปกติ

หมายความว่ายังไง ก็หมายความว่า เรานึกภาพว่าถ้าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นนักเรียนอาชีวะตีกัน ตีเสร็จตำรวจจับพันกว่าคน ในนี้ขณะที่ขนไป ตาย 70 คน ถามว่าเกิดอะไรขึ้น ก็คือเป็นการตายในระหว่างที่ถูกควบคุมตัว ก็จัดการตามปกติ ก็ผิดกฎหมาย ไม่ใช่ภาระของนายกฯ ไม่ใช่ภาระของรัฐบาลเลย คือเป็นเรื่องที่มีคนรับผิดชอบอยู่

แต่ในกระบวนการนี้เราไม่ได้ใช้วิธีนั้น เพราะเราไปคิดว่า เรื่องทั้งหมดนี้มันเกี่ยวกับ plot อันใหญ่ โครงเรื่องอันใหญ่ ซึ่งอยู่ภายใต้วาทกรรมของความรุนแรงและวาทกรรมความมั่นคง จนกระทั่งขณะนี้ ปัญหาความไม่มั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้กลายเป็นอุตสาหกรรมไปแล้ว ในสถานะของความเป็นอุตสาหกรรม มีคนมากหลายได้ประโยชน์จากมัน จนกระทั่งมันควรจะดำรงอยู่ และคนที่ต้องจ่ายราคาคือ ผู้คนธรรมดา คือเจ้าหน้าที่คนเล็กคนน้อยที่ตายไปทุกวัน คือชาวบ้านซึ่งทำมาหากินไม่ได้ คนที่ต้องอพยพหนีไปที่อื่น แล้วพวกซึ่งไม่รู้จะหาทางออกยังไง พวกที่ไม่มีสตางค์ เกษตรกรรายย่อยรายเล็กรายน้อย คนเหล่านั้นเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นนี่คือสถานการณ์ซึ่งกำลังเกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถามว่าทั้งหมดนี้ปัญหาคืออะไร

ถ้าพูดจากภาครัฐ ผมเองกังวลว่าขณะนี้ผมไม่ทราบว่า รัฐบาลมองจังหวัดชายแดนภาคใต้ในฐานะไหน หมายความว่า ภาครัฐยังมองจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่ทางการเมือง ก็คงพยายามหากระบวนการทางการเมืองแก้ปัญหา แต่ผมเกรงว่าไม่แน่ใจว่าขณะนี้มองสามจังหวัดชายแดนภาคใต้แบบไหน ถ้าแก้ได้รัฐบาลนี้คงอยากแก้

แต่ผมคิดว่า ณ วันนี้เขาอาจมาสู่ข้อสรุปว่า มันแก้ยาก หรือถ้าทำได้ต้องทำให้ได้ภายใน 3 เดือน แล้ว 3 เดือนนี้คือบริบทของการเลือกตั้ง ซึ่งหมายความต่อไปว่า มันอาจจะสูญเสียสถานะของความเป็น Political constituency มันไม่ใช่เขตเลือกตั้งทางการเมือง ถ้ามันเป็นเขตเลือกตั้ง ผมต้องเอาชนะจิตวิญญาณของคน คือเอาคนไปร่วม แล้วอะไรก็ตามที่ผมทำแล้วคนส่วนใหญ่ไม่เอา ผมต้องหยุด แต่ถ้าผมไม่เห็นมันเป็น political constituency ผมไม่ต้องทำอะไร คำถามคือเห็นมันเป็นอะไร

พูดอย่างไม่เกรงใจผมคิดว่า รัฐเห็นมันเป็นเวทีละคร มีอะไรบางอย่างที่ต้องแสดง เพื่อจะได้ประโยชน์จากภาคส่วนอื่นในสังคมไทย มีคนถามผมเรื่องพับนก ถามว่าพับนกมีประโยชน์ไหม ผมตอบว่า ผมไม่ดูเบาแรงใจของคนที่พับ ผมเห็นคนจำนวนมากตั้งใจ แต่มันไม่เกี่ยวอะไรกับคนภาคใต้ มันดีกับคนทำแต่ว่ามันไม่แก้ปัญหาเลย มันก็แก้ปัญหาส่วนหนึ่งเพราะมันทำให้คนในประเทศรู้สึกว่า หนึ่ง แคร์คนอื่นได้ ซึ่งมันสำคัญ สอง มันได้ทำอะไรบางอย่าง แต่อันตรายมันคืออะไร ก็ปีกนกมันดัน…. และในฐานะที่เป็น symbol ในฐานะที่เป็นสัญลักษณ์ มันไม่สื่อกับเขา

ถ้าพูดกันตามจริง หลายคนที่เคยอ่าน "ซาดาโกะกับนกกระเรียนพันตัว" มีเหตุผลเยอะแยะ แม้กระดาษที่เขามาพับเขาก็อุตส่าห์ช่วยกันเก็บมา ไม่ใช่บริจาคโดยบริษัท เพราะฉะนั้นมันมีเหตุผลหลายอย่างที่มันเกิดขึ้นในขณะนี้ ไม่นับคนที่เขียนข้อความ "ไปตายซะเถอะ" บนปีกนกหน้าทำเนียบ ก็นกมันเป็นกระดาษ กระดาษใครก็เขียนได้และเขียนอะไรก็ได้ เขียนโดยใครก็ได้ ถ้ามีข้อความแบบที่อยู่ใน sms ใน public space ได้แล้วทำไมมันถึงจะอยู่บนปีกนกไม่ได้ ไม่เห็นแปลกเลย แต่นั่นคืออันตรายที่อาจจะมี เพราะฉะนั้นขณะนี้ปัญหาประการแรกคือปัญหาในภาคตัวรัฐเอง

ปัญหาในภาคสังคมไทยคืออะไร ผมคิดว่าเวลานี้สังคมไทยที่ผมเป็นห่วง มันใช้ความรุนแรงไปถึงจุด หรือ มันถูกสอนว่าใช้ความรุนแรงแล้วแก้ปัญหาได้ ไม่ว่าสงครามปราบยาเสพติด ฯลฯ สังคมต้องผิดปกติบางอย่างถึงรู้สึกว่าวิธีนี้มันแก้ปัญหาได้จริง คือมันมีรายงานอยู่ซึ่งระบุว่าเวลานี้ เป็นรายงานของเอแบคโพลเมื่อเดือนกรกฎาคม ระบุว่าชาวบ้านเริ่มไม่พอใจรัฐบาลทักษิณหลายเรื่องเช่น ราคาน้ำมันสูงขึ้น 63% เรื่องราคาสินค้า 55% เรื่องปัญหาความรุนแรงในภาคใต้ 53%

แต่พอถามว่า เห็นชอบกับการใช้ความรุนแรงของรัฐบาลไหมเช่นในการปราบยาเสพติด 94% ตอบพอใจ ผมรู้สึกว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นขณะนี้แล้วสังคมไทยใช้มันถึงจุดหนึ่งมันอันตราย เหตุผลสำคัญเหมือนที่ ดร.เกษียรอธิบาย "พอเราใช้ความรุนแรงเป็นทางออก ความรุนแรงมันตันทางเลือกทางการเมือง" คือปัญหาอย่างจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาที่ต้องอาศัย political solution

วันนี้สิ่งที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้คือ ไม่มี political solution มีแต่ military solution หรือ military solution เป็นหลัก ที่เหลือเป็นองค์ประกอบ แล้วที่เห็นก็อาจไม่ใช่การแก้ปัญหาด้วยมาตรการทางการเมือง แต่เป็นประชาสัมพันธ์ แต่เป็นการอาศัยเงิน เพราะฉะนั้นปรากฏการณ์แบบนี้ค่อนข้างอันตราย

ในกลุ่มคนมุสลิม ผมขอพูดสั้นๆ ให้เห็นภาพ ผมสงสัยมากขึ้นทุกทีว่า วันนี้คนมุสลิมจะถูกมองแบบไหน ในเวทีระหว่างประเทศก็ถูกมองแบบหนึ่งแล้ว วันนี้ถ้าเราอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แล้วมีเจ้าหน้าที่ต้องคอยมาเฝ้าดูคนมุสลิม ยกตัวอย่าง ถ้าผมเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง แล้วเห็นเด็กหนุ่มมุสลิมเดินออกมาจากที่สองที่ คนหนึ่งเดินออกมาจากสุเหร่า อีกคนหนึ่งเดินออกมาจากซ่อง ถามว่าถ้าผมเป็นเจ้าหน้าที่ความมั่นคง ผมควรจะสงสัยใคร?

ถ้าผมถูก มันแปลว่าคุณค่าของความเป็นมุสลิมทั้งหมดมันถูก question มันถูกดึงมาตั้งคำถาม เพราะว่าเราถูกสอนมาว่าวิถีของคนมุสลิมมันเป็นวิถีทางธรรม มันอยู่ในเนื้อของความเป็นคนมุสลิมด้วย แล้วเวลามันเสียมันเสียไปในทิศทางหนึ่ง เวลาเขาสอน เขาสอนให้เดินในเส้นทางที่เที่ยงตรง มันมีเส้นทางที่เป๋

แต่ในสองอันนี้มันค่อนข้างเคลียร์ว่าอะไรคือตรงอะไรคือเป๋ เวลานี้เรากำลังบอกว่าถ้าเป๋คือดี ถ้าอย่างนี้คืออะไร ในระยะยาวจะยุ่ง เพราะว่านี่คือ การเมืองอัตลักษณ์ที่ถูกผลักอย่างรุนแรงให้คนจำนวนหนึ่งต้องเลือกหนทางเดิน คือเรื่องนี้ในอดีต ชัยชนะของประเทศนี้มันอยู่ตรงที่สามารถทำให้คนอยู่ในประเทศนี้อย่างที่เขาเป็น โดยไม่ทำลายมัน แต่ตอนนี้เราเริ่มสงสัยสิ่งที่เขาเป็น อันนี้ไม่ใช่มรดกของเรา ตั้งแต่รัชกาลที่ 5 แม้เราจะมีวิธีการสร้างรัฐชาติยังไงแต่ข้อเท็จจริงประการหนึ่งคือ ท่านก็ตระหนักว่าพวกนี้มันต่าง แต่ยอมรับความต่างนั้นได้ ขุนนางตั้งแต่อยุธยาก็เห็นต่างทั้งนั้น บางยุคบางสมัยถึงกับไม่เคยใช้ขุนนางเชื้อสายไทยด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นในทางปฏิบัติในอดีตมีบางอย่างเกิดขึ้น ขณะนี้เปลี่ยน อะไรทำให้มันเปลี่ยนก็น่าสนใจ แล้วปรากฏการณ์นี้มันไม่ใช่เฉพาะที่มีอยู่ในประเทศเราเท่านั้น

เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. ผมพูดที่การประชุมรัฐศาสตร์ของชาติ ประเด็นสำคัญที่ผมอยากอธิบายคือว่า สิ่งที่เราเห็นมันอยู่ในบริบทของโลก บริบทของโลกตอนนี้มีศาลใหม่เกิดขึ้นชื่อ "ศาลอาญาระหว่างประเทศ" (ICC) ลงนามเดือน ก.ค. 2002 ศาลนี้ต่างจากศาลโลกตรงที่ว่า ตัวที่จะเป็นคนซึ่งถูกกล่าวหาคือ ตัวบุคคลกับองค์กร กรณีศาลโลกคือรัฐบาล แต่ ICC เป็นตัวบุคคล

ขณะนี้ประเทศต่างๆ ลงนามรับรองแล้ว 389 ประเทศ ที่น่าสนใจคือ เดือน ส.ค.2545 รัฐบาลอเมริกันออกกฎหมายฉบับหนึ่งชื่อ "American Soldier Protection Act" กฎหมายคุ้มครองป้องกันทหารอเมริกัน ให้อำนาจรัฐบาลอเมริกันชิงตัวทหารในศาล ICC ได้ มหัศจรรย์มากเลยครับ

เร็วกว่านั้น ที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือว่า เดือน ก.ค. ปีนี้ รัฐสภาอเมริกันออก พ.ร.บ. ข้อเสนอของ ส.ส.คนนี้บอกให้รัฐบาลอเมริกันตัดความช่วยเหลือแก่ประเทศต่างๆ ที่เป็นภาคีสมาชิกของICC ยกเว้นในกรณีที่รัฐบาลนั้นทำสัญญาทวิภาคีกับรัฐบาลประเทศนั้น ในทางกฎหมายระหว่างประเทศน่าสนใจมาก นี้เป็นปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้

ผมไปฮังการีมา ที่นั่นรัฐมนตรีกลาโหมเพิ่งให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ว่า รัฐบาลฮังการีเพิ่งผ่านกฎหมายฉบับหนึ่งอนุญาตให้รัฐบาลยิงเครื่องบินพลเรือนกลางอากาศได้ ในกรณีที่สงสัยว่าเครื่องบินพลเรือนนั้น ขาดการติดต่อและบินออกนอกลู่

แกสรุปบทสัมภาษณ์ว่า เข้าใจว่ากฎหมายนี้ประเทศในยูโรเปียนยูเนียนก็มีทั้งนั้น เราไปในรายละเอียดก็ได้ อังกฤษก็มี แต่ละวันคนถูกกล้องถ่ายวันละ 300 ครั้งและกล้องนี้เกิดขึ้นตั้งแต่สงครามต่อสู้กับไอริช… สรุปแล้วนี่คือโลกที่เราอยู่

ทีนี้รัฐบาลไทยมันอยู่ในโลกนี้ ปัญหาคือในอดีต เราไม่ได้หมุนตามโลกในลักษณะนี้ เรามีช่องของเราที่ต่อตรงกับโลกได้โดยอาศัยสิ่งที่เรามี แต่วันนี้สิ่งที่เราเคยมีมันค่อยๆ หมดไปด้วยปัจจัยต่างๆ และบางทีอาจไม่คิดถึงทางเลือกอื่นเท่าไร สิ่งที่จะตามมาคือ ภาวะที่หลายคนเป็นกังวล คล้ายๆ 6 ตุลา ชาตินิยมแบบรุนแรงสุดโต่งมันก็จะกลับมาในสถานะแบบนี้ ปัญหามีอยู่ว่า ในขณะที่คนบางคนกลัว กระแสในสังคมส่วนใหญ่กำลังจะไปอย่างนั้น

เพราะฉะนั้นเรื่องทั้งสาม เรื่องของรัฐบาล เรื่องของสังคมไทย และเรื่องของมุสลิม วิธีการจัดการ มันคงจะต่างกัน

ในส่วนของคนมุสลิมซึ่งถูกผลักก็ดี หรือเชื่ออย่างนั้นก็ดี หรือหันไปอาศัยวิธีที่แรงขึ้น อันนี้เป็นภาระของคนมุสลิมเองที่จะต้องวิพากษ์วิจารณ์หรือชี้ให้เห็นว่าเส้นทางนั้นมันไม่ถูก หรือจะตอบปัญหานี้ยังไง อันนี้คือสิ่งหนึ่งที่เราควรจะต้องทำ

เวลาเราอธิบายการจัดการความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสถานการณ์นี้ ผมคิดว่าจำเป็นที่ต้องคิดถึงคนกลุ่มน้อยในสภาพของคนกลุ่มใหญ่ ผมเข้าไปในหมู่บ้านไทยพุทธที่นราธิวาส เขาก็เดือดร้อนจริง ผมไปในหมู่บ้านมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เขาก็เล่าแบบเดียวกันว่าเขาเดือดร้อนยังไง เวลาคนมุสลิมมองทหารในพื้นที่เป็นปัญหา ชาวไทยพุทธมองก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง

วันนี้เราอยู่บนทางแพร่งในสถานการณ์อย่างนี้ ทำให้ผมรู้สึกว่าโจทย์นี้มันยุ่งยากกว่าเดิมมากมาย เพราะฉะนั้นทางออกที่พยายามนำเสนอคงจะอยู่ที่ทั้งสามส่วน ทั้งภาครัฐว่าจะเห็นทางออกทางการเมืองในสถานการณ์นี้หรือไม่

ในส่วนของภาคประชาชน ผมไม่สบายใจเวลาเห็นกองกำลังของรัฐ พูดง่ายๆ ผมไม่สบายใจเลยเวลาผมเห็นวัดช้างไห้ถูกคุ้มครองโดยกำลังทหาร ผมไม่สบายใจถ้าผมเห็นมัสยิดกลางปัตตานีถูกคุ้มครองโดยการใช้อาวุธเหมือนกัน ผมอยากจะเห็นว่าของพวกนี้ถูกคุ้มครองโดยสายสัมพันธ์ของชาวบ้านเองซึ่งมันเคยมี แต่ตอนนี้มันถูกฉีกออก ทำยังไงถึงจะเชื่อมสิ่งเหล่านี้

ผมตอบไม่ได้ว่าทำยังไง แต่พอตอบได้ว่าหลายอย่างที่ทำอยู่ควรอยู่ เพราะยิ่งทำยิ่งฉีก แล้วผมคิดว่า ในสถานการณ์ใกล้การเลือกตั้ง ภาคประชาสังคมน่าจะบอกว่าเรื่องอะไรที่ไม่อยากเอา พรรคการเมืองไหนที่ใช้วิธีนี้ต่อไปไม่เอา เพราะมันฉีกสังคมไทย ผมคิดว่ามันจะถึง point of no return หรือไม่ในที่สุดผมว่าสังคมไทยแข็งแรงพอที่จะดึงมันเอาไว้ไหม มีบางคนเชื่อว่ามันช้าไปแล้ว แต่ผมไม่เชื่ออย่างนั้น

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท