Skip to main content
sharethis

กลัวมั๊ยคะ กลัวรึเปล่า ? ดิฉันก็กลัวเหมือนกัน ดิฉันทำงานด้านสันติวิธีซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องความรุนแรง แล้วดิฉันก็พบว่าทุกที่เราไปมีความกลัวเยอะมาก อย่างน้อยก็คิดว่าวันนี้จะมาให้รูปธรรมเพราะที่นี่ก็มีนักวิชาการที่จะคอยวิเคราะห์ เรื่องความกลัวที่มันเป็นนามธรรม แต่ที่ที่ดิฉันไปเจอนี่มันเป็นตัวรูปธรรมที่อยากจะเข้ามารองรับกับสิ่งที่กำลังพูดกันอยู่ ที่นี่มันไม่ได้กลัว ไม่ใช่เฉพาะเหยื่อที่กลัว

เจ้าหน้าที่รัฐกลัวชาวบ้าน

ถ้าจะยกกรณีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ผู้ที่ใช้ความรุนแรงก็กลัวด้วย ตอนแรกก็คิดว่าชาวบ้านกลัวเจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายเดียว แต่พอไปสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่รัฐก็พบว่าเจ้าหน้าที่รัฐก็กลัวชาวบ้าน

จากการสอบถามในพื้นที่ก็จะพบว่าตอนนี้เจ้าหน้าที่เต็มพื้นที่ไปหมด ไปตลาด หรือว่าไปไหนก็จะเจอ แล้วก็เค้าจะถือปืนใหญ่ๆ ซึ่งก็ไม่ทราบว่าเป็นอาก้า หรือเอ็มสิบหก เพราะดิฉันก็ไม่มีความเชี่ยวชาญเรื่องพวกนี้ แต่มันเป็นปืนใหญ่ๆ และก็ใส่แว่นตาดำ เราก็ถามว่าทำไมเขาต้องใส่แว่นตาดำ หกโมงเย็นก็ยังไม่ถอด แต่ พอไปคุยเข้าจริงๆ ก็เพราะว่ามันมีความกลัว ทหารบอกว่าเขาเป็นเป้า เนื่องจากเป้าหมายในการทำร้ายคือเจ้าหน้าที่รัฐเป็นหลัก ทหารก็บอกว่าถ้าสงสัย เขาต้องลงมือก่อน เพราะว่าถ้าเขาช้า เขาอาจเป็นฝ่ายตาย

ดังนั้นเหตุเข้าใจผิดหรืออุบัติเหตุจึงเกิดขึ้นบ่อยครั้ง จะเห็นได้ว่าเมื่อเร็วๆ นี้ก็มีการยิงนักศึกษาสองคน เพราะเขาวิ่งไล่กันทำให้เจ้าหน้าที่คิดว่าเป็นคนร้าย จึงถูกยิงตายทั้ง 2 คน และก็ยังมีกรณีอื่นๆ อีกในพื้นที่แต่อาจไม่เป็นข่าว

ดังนั้น ในอีกแง่หนึ่ง เจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นกลไกของรัฐ เป็นเครื่องมือของรัฐที่ใช้ความรุนแรง ก็เป็นเหยื่อของความกลัวเช่นเดียวกัน

ชาวบ้านกลัวอะไร
ส่วนข้างชาวบ้านเค้ากลัวอะไร จากการที่ไปสัมภาษณ์รอบแรก ชาวบ้านไม่ได้กลัวโจรนะ เขากลัวเจ้าหน้าที่ เพราะเจ้าหน้าที่เป็นเป้าในการก่อเหตุรุนแรง เช่นเจ้าหน้าที่ที่ไปคุ้มกันเด็กนักเรียนอนุบาลซึ่งขึ้นไปคุ้มกันบนรถ คันละสองคน สองคน ถือปืนอันใหญ่ๆ เราก็จะเห็นรถแบบนี้ทุกวันที่มาจากนอกเมืองขับเข้ามาในเมือง ซึ่งครูที่ดูแลอยู่บอกว่ามาคุ้มกันก็ดีอยู่หรอก แต่กรุณานั่งรถคันอื่นได้ไหม อย่ามานั่งคันเดียวกัน เพราะรู้สึกไม่ปลอดภัยเมื่อมีเจ้าหน้าที่มาอยู่ใกล้

อีกเรื่องคือ การส่งกำลังคนลงไปจำนวนมาก ชาวบ้านสะท้อนว่า ถ้าเป็นหน่วยที่เคยรู้จัก ที่คุ้นหน้ากัน คุ้นเคยกัน ก็ไม่กลัว แต่ตอนนี้ลงไปไม่รู้ถึงหมื่นคนรึยัง แต่คาดว่ามากกว่าห้าพันคนขึ้นไป และเจ้าหน้าที่หน้าใหม่ที่ลงพื้นที่ หน้าตาแปลกๆ แต่งตัวไม่เหมือนกัน ชาวบ้านก็รู้สึกว่า พวกนี้ไม่ใช่พวกเดียวกับพวกเดิม นี้ ที่เคยคุ้นเคยนี้ บางครั้งก็มาที่บ้านตีสองตีสาม ชาวบ้านก็จะกลัวหน่วยต่าง ๆ ที่ลงเพราะแปลกหน้า

เจ้าหน้าที่มาก ทำมาหากินไม่ได้
ส่วนเรื่องการทำมาหากินไม่ได้ ก็ไม่ใช่เพราะโจรนะคะ ชาวบ้านบอกว่าที่ไปทำมาหากินไม่ได้ เพราะว่าตอนเช้ามืดซึ่งต้องไปกรีดยาง ถ้าเห็นเจ้าหน้าที่แต่งชุดดำๆ เดินขึ้นภูเขา เขาจะไม่ขึ้นเลย เพราะว่ามีข่าวเรื่องการข่มขืน เพราะการกรีดยางในภาคใต้ไม่ใช่เฉพาะผู้ชายเท่านั้น ผู้หญิงก็ต้องไปกรีดยางด้วย

การให้ปืนชาวบ้านคือการเพิ่มจำนวนอาวุธในพื้นที่

ดิฉันเข้าใจได้ว่ามาตรการทั้งหลายเหล่านี้ คงเริ่มต้นจากความกลัว เริ่มต้นจาการกลัว จึงมีการประกาศใช้กฎอัยการศึก นอกจากนี้ก็ยังมีการตั้งกลุ่ม ให้ชาวบ้านตั้งกลุ่มป้องกันตนเอง โดยการให้ปืน และก็มีการฝึกซ้อมกัน

สำหรับชาวบ้านที่ดิฉันสอบถาม ชาวบ้านบอกว่า ถ้าให้ปืนลงมามากขึ้นก็เท่ากับว่ามันมีอาวุธในพื้นที่เพิ่มขึ้น และก็ไม่แน่ว่าอาวุธเหล่านี้อาจถูกเอาไปใช้ส่วนตัวด้วยก็ได้ เพราะว่ารัฐควบคุมคนไม่ได้ เพราะฉะนั้น อาวุธที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่ และจำนวนคนที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่ ทำให้ชาวบ้านรู้สึกไม่ปลอดภัย กลัว

นอกจากนี้ การฝึกซ้อมก็ทำในหมู่บ้าน ใกล้ๆ ศูนย์เด็กเล็ก ซึ่งเด็ก ๆ กลัวเสียงปืนที่มีการฝึกซ้อมกันทุกวัน เพราะฉะนั้นที่นั่นจึงเป็นอาณาจักรของความกลัว แต่ว่ามันเป็นความกลัวชนิดที่เป็นความกลัวทางตรง ชาวบ้านก็กลัวเจ้าหน้าที่รัฐ และก็เจ้าหน้าที่รัฐก็กลัวชาวบ้าน

มากกว่าชาวบ้านกับทหาร ความกลัวระบาดไปทั่ว

นอกจากนี้ดิฉันก็ได้ไปโรงพยาบาล และได้ถามนางพยาบาลคนหนึ่งซึ่งดูแลผู่ได้รับบาดเจ็บจากกรณีตากใบ ดิฉันถามถึงคนไข้คนหนึ่งที่ต้องตัดขาว่า ในระยะยาวเขาจะอยู่อย่างไร หมายถึงว่าจะต้องทำการรักษาเค้ายังไง พยาบาลตอบว่า คุณเป็นใคร เป็นญาติหรือเปล่า

คำถามที่ดิฉันถามเป็นคำถามธรรมดาที่เกี่ยวกับสุขภาพของผู้ป่วยแต่ว่าพยาบาลจะหลีกเลี่ยงที่จะไม่ตอบเพราะกลัวอะไรบางอย่างไม่ทราบ ถามไปหลายคำถามก็จะไม่ได้รับคำตอบกลับมา ดิฉันจึงถามคุณหมอท่านหนึ่งซึ่งทำหน้าที่ให้คำปรึกษาทางด้านสุขภาพจิตกับเจ้าหน้าที่รัฐ ว่าเรื่องนี้เป็นคู่ขัดแย่งระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารกับชาวบ้าน แล้วทำไมพยาบาลจึงกลัวด้วย คุณหมอก็ตอบว่า "มันก็กลัวไปหมดละครับ ตำรวจก็ไม่ไว้ใจทหาร ทหารก็ไม่ใว้ใจตำรวจ เจ้าหน้าที่ก็ไม่ไว้ใจชาวบ้าน ชาวบ้านก็ไม่ใว้ใจเจ้าหน้าที่รัฐ"

ความกลัวระบาดไปทั่ว ไม่ใช่แค่คู่กรณี สำหรับรูปธรรมนั้น ดิฉันคิดว่ากรณีเรื่องรองผู้ว่าฯ ปัตตานีถูกยิงเป็นกรณีตัวอย่างที่บอกได้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐก็มีความหวาดระแวงกันเองอยู่เหมือนกันด้วย

ดิฉันให้ภาพนี้เพื่อที่จะบอกว่าความกลัวมันเป็นวิบากของการใช้ความรุนแรง คือ การที่รัฐเลือกใช้ความรุนแรง จึงก่อให้เกิดความกลัวเกิดขึ้น ซึ่งรัฐอาจจะคิดว่าจะใช้ความกลัวขู่คู่กรณีให้ยุติการกระทำบางอย่าง แต่จริงๆ แล้วมันกลับส่งผลในสองทางก็คือ ประชาชนก็กลัวและในขณะเดียวกันกลไก หรือเครื่องมือของตน เอง ก็ตกอยู่ในความกลัวด้วยเช่นกัน แต่ว่าคู่กรณีเค้าจริงๆ จะกลัวรึเปล่า

ดิฉันเห็นว่าการที่ใช้ความรุนแรงในขั้นต้น ถ้ามันส่งผลอย่างอ่อน หรือ ส่งผลกับคนที่ไม่ใช่คู่กรณีโดยตรงเช่น ชาวบ้านเนี่ย ก็จะอดอกมาในรูปความกลัว ไม่ไว้ใจอำนาจรัฐ เพราะเวลาที่รัฐต้องการหาตัวคนร้ายก็จะเข้าไปในหมู่บ้าน ซึ่งเขาอาจจะถูกจับโดยไม่ได้เป็นคู่กรณี ไม่ได้กระทำความผิด

ดังนั้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนก็คือความไม่ไว้วางใจ ไม่ให้ความร่วมมือในทุกๆ เรื่องเพราะว่าตนเองอาจจะกลายเป็นเหยื่อด้วย

การทนยอม-การเก็บกด-การระเบิด
มีชาวบ้านอีกพวกหนึ่งก็คือพวกที่ยอม หมายถึงว่าถูกใช้ความรุนแรง แล้วยอม หรือที่เรียกว่ายอมจำนน มีคนที่สามีถูกจับในข้อหากบฏ สามีถูกจับมากรุงเทพ ผ่านมาเจ็ดเดือนแล้วยังไม่ฟ้อง

ปัญหา ของคนที่ถูกใช้ความรุนแรงและยอมมากๆ เท่าที่เราพบ จะมีลักษณะที่เป็นการเก็บกด คือ ถ้ายอมมากหลายๆ ครั้งสะสมเข้านานเข้า เวลาที่แสดงออก จะไม่ได้แสดงออกในแบบที่ปรกติ จะแสดงออกในแบบผิดปรกติ เป็นการระเบิด นี่คือระเบิดเวลา

ตัวอย่างเช่น เมื่อวานนี้ (7 ธ.ค) มีข่าวผู้ชายคนหนึ่ง จับเด็กเป็นตัวประกัน เพียงแค่ต้องการกลับบ้าน แต่ว่า ใช้วิธีกลับบ้านด้วยการจับเด็กไปปาดคอเด็ก คุณจะเห็นว่าการกระทำอันนี้ กับสิ่งที่ต้องการมันดูเหมือนกับว่าเป็นสิ่งที่ไม่เป็นเหตุเป็นผล กันมาก มันอยู่ห่างไกลกันมาก แต่เมื่อมีลักษณะที่ผิดปรกติแบบนี้ เราต้องกลับไปดูว่าอะไรมันเป็นสิ่งที่สั่งสมทำให้เค้าต้องทำถึงขั้นนี้ เพราะว่าการที่ต้องการเงินกลับบ้าน ไปขอใครสักคนหนึ่งก็น่าจะกลับบ้านได้ แสดงว่าไปขอไม่ได้แล้ว แสดงว่าน้ำจิตน้ำใจมีน้อยเสียจนกระทั่งว่า เขาคิดว่าวิธีนั้นใช้ไม่ได้ ต้องใช้วิธีอื่น

และเขาไม่ใด้คิดจะจับเด็กคนนี้แบบชั่ววูบ เพราะว่าตอนเช้าคิดจะจับเด็กอีกคนแต่ว่าจับไม่ได้ การเลือกใช้วิธีนี้แสดงว่าเป็นการเก็บกดมานาน ในแง่ของคนที่ยอมมานาน จะมีปัญหาเรื่องแบบนี้ และดิฉันก็คิดว่าในกรณีเรื่องภาคใต้ ของเรา มีแนวโน้มที่จะเป็นแบบเช่นที่ว่าด้วย เพราะว่า ถ้าหากคุณลงไปในพื้นที่คุณก็จะพบว่า หาดใหญ่นั้นมีลักษณะเหมือนกรุงเทพเลย แต่สามจังหวัดภาคใต้บ้านนั้น ชาวบ้านจนมาก โรงเรียนปอเนาะ เหมือนสลัมเลยนะคะ คือ อาคารต้องปะเอา แล้วบ้านชาวบ้านที่เป็นกลุ่มที่ปฏิบัติการวันที่ 28 ก็ค่อนข้างยากจน แล้วก็มีอะไรมันก็ไม่เคยไปถึงอย่างเช่นงบประมาณสวัสดิการสังคมสำหรับคนชราซึ่งกำหนดว่า คนชราที่อายุเกิน 60 ปีในหมู่บ้านจะได้เงิน 300 บาทต่อเดือน แต่ความจริงคือ เงินจำนวนนี้ไม่ได้ไปถึงอายุคน 70 80 ในหมู่บ้าน แต่กลับไปถึงคนที่อายุ 65 ซึ่งอยู่ใกล้ชิดกับ อบต. นี่เป็นข้อเท็จจริง

ถ้าการเก็บกดสะสมเป็นเวลานาน เมื่อเกิดการระเบิดแม้สิ่งที่เป็นเป้าหมายดูเล็กน้อย แต่การกระทำดูไม่มีเหตุผล ความจริงแล้วมันมีเหตุผล เพราะมันสะสมมานาน

สะสมความกลัว ตอบโต้ด้วยความรุนแรง
อีกพวกหนึ่งคือ ความกลัวมาถึงระดับหนึ่ง แล้วตอบโต้กับความกลัวนั้นด้วยความรุนแรง คือความกลัวกลายเป็นความเกลียดชัง คุณก็จะถูกตอบกลับมาด้วยความรุนแรงเช่นกัน และรัฐจำนวนมากมักเลือกใช้วิธีสร้างความกลัว

ดิฉันคิดว่ามีเงื่อนไขเนื่องจากได้กระทำกันอย่างนี้มานานจนกระทั่งมันเกิดกลไก ซึ่งรองรับความคิดว่าจะใช้ความรุนแรงอันนี้ คือเรามีกองทัพ เครื่องมือ ตำรวจของเรามีการฝึกเพื่อจัดการกับประชาชนด้วยความรุนแรง คือหลักสูตรปราบจลาจล แล้วก็นิยามคนที่อยู่ในฝูงชนว่าเป็นม็อบ ก็คือ ฝูงชนที่บ้าคลั่ง ดังนั้นวิธีการที่จะจัดการกับคนจึงเป็นการจัดการกับฝูงชนที่บ้าคลั่ง ไม่ได้จัดการกับประชาชน

รัฐพัฒนาเครื่องมือเหล่านี้ขึ้นมา คนเหล่านี้มีชีวิตอยู่ได้ด้วยการเรียนวิชาใช้กำลัง แล้วก็เติบโตมา ทุกปีก็ต้องไปฝึกเรื่องการใช้กำลัง และมีการใช้กำลังในบางครั้ง ก็คือชีวิตอยู่ได้ด้วย การใช้กำลัง มันเป็นอาชีพ พอมีคำสั่งบอกว่าให้ไปดำเนินการแบบ ก็คิดอย่างอื่นไม่เป็นเพราะว่าถูกสร้างขึ้นมาเพื่อที่จะใช้กำลัง

ดังนั้นเมื่อบอกว่าให้ปฏิบัติหน้าที่เค้าก็ปฏิบัติหน้าที่นั่นก็คือการใช้กำลัง ในทันทีทันใด ในเวลานั้นไม่ได้ใช้วิจารณญาณอย่างอื่น หรือว่าวิธีคิดอย่างอื่นว่าจะทำอย่างไร

ประชาชน: ดินอันสมบูรณ์ในการบ่มเพาะความรุนแรง
อีกเรื่องหนึ่งที่ใหญ่มากก็คือ คือประชาชนของเราซึ่งเป็นดินอันสมบูรณ์ นิยมชมชอบความรุนแรง หรือว่าสนับสนุนความรุนแรงมาก ดิฉันเชื่อว่ารัฐใช้ความรุนแรงได้เป็นเพราะได้รับการสนับสนุนจากประชาชน

ถ้าเกิดคุณจะทำการ รุนแรงครั้งหนึ่งเช่น กรณีตากใบ ผิดเต็มประตู เพราะว่าประชาชนใช้สันติวิธี คือการชุมนุม แต่รัฐปฏิบัติด้วย ควมรุนแรง แต่ปรากฏว่า ไม่เกิดความรู้สึกในระดับที่เรียกว่าทั้งประเทศบอกว่ามันยอมรับไม่ได้ มันกลับมีกระแส ยอมรับได้ขึ้นมา

นี่คือเรื่องหนักหนาสาหัสกับอนาคตของเรา อันนี้คนทั่วไป ดิฉันไปถามคนในพื้นที่ ถ้าฟ้องก็คือชนะแน่ ในสายตาดิฉัน ปรากฏว่าไม่มีคนฟ้อง เงียบเป็นเป่าสาก ถามว่าทำไม ดิฉันคิดว่ามันมีหลายเรื่องด้วยกัน

ขณะนี้ที่นั่นเต็มไปด้วยความกลัวอยู่แล้ว แล้วความกลัวก็มีขยายตัวสู่ภายนอกด้วย คนที่จะเข้าไปช่วยก็จะบอกว่า ไม่ค่อยกล้าที่จะเข้าไปช่วยเท่าไหร่...กลัว

ดิฉันลงไปในพื้นที่ ไปตลาดชาว บ้านถามว่ามาจากไหน ดิฉันตอบว่ามาจากรุงเทพ เขาก็ถามว่าไม่กลัวเหรอ ดิฉันก็ตอบว่ากลัวสิ เขาถามต่อว่ากลัวแล้วมาทำไมมา ดิฉันตอบว่าก็เพราะกลัวถึงมา

ทำไมถึงกลัวแล้วถึงต้องมา... เพราะว้าถ้าเรา ยินยอมที่จะตกอยู่ภายใต้ความกลัว ชีวิตที่เหลืออยู่ของเราก็แทบจะไม่มีความหมายอะไรเลย คือเราจะไม่สามารถจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เราจะมีได้ เพราะว่าเรารู้สึกว่าเราอยู่ภายใต้ความกลัว หมายถึงว่าเราถูกจำกัดด้วย สิ่งใดสิ่งหนึ่งตลอดเวลา

วิธีเอาชนะความกลัวของดิฉัน คือการที่รู้สึกกลัวเมื่อไหร่ให้รีบไปตรงนั้นแล้วยืนอยู่เฉย การยืนอยู่เฉยๆ ก็คือ "อย่า หนี" อย่าถอยหลังให้มัน ถ้าถอยหลังให้มันเมื่อไหร่มันก็จะกินเรา แต่ถ้ายืนอยู่เฉยๆ การยืนอยู่เฉยๆ จะทำให้มันวิ่งหนีเราไปได้

คือถ้ากลัวเมื่อไหร่ก็ต้องเผชิญหน้ากับมัน หมายถึงพิจารณา ทำความเข้าใจ อยู่กับความกลัว อย่าหนี ดิฉันอยากให้สังคมใช้วิธีนี้ด้วย

ที่ดิฉันต้องถามทุกท่านว่ากลัวหรือไม่ ก็เพื่อที่จะบอกว่าคุณมีความเกี่ยวข้องอยู่ด้วย เราไม่ได้กำลังพูดอะไรกันในเรื่องของหนังสือ ประวัติศาสตร์ หรืออนาคตที่ไม่ได้เกี่ยวกับเรา เราเป็นประชากรอยู่ด้วย เ

ดิฉันเชื่อว่าสิ่งที่จะจัดการกับความกลัวและความรุนแรงได้ ไม่ใช่รัฐ ดิฉันเชื่อว่าการแก้ปัญหานี้ไม่สามารถได้ด้วยอำนาจรวมศูนย์ คือไม่ใช่ว่า ถ้ารัฐ เปลี่ยนมาใช้สันติวิธีแล้วปัญหาทั้งหมดมันจะคลี่คลาย ดิฉันไม่เชื่อว่าเป็นเช่นนั้น

ดิฉันคิดว่ารัฐบาลของเราอายุสั้นมาก นักวิชาการต่างประเทศคนหนึ่งกล่าวว่า รัฐมาแล้วก็ไป รัฐบาลมีอายุสั้นกว่านั้นอีก แต่คุณเชื่อไหมคะว่า ถ้าประชาชนยังเป็นอย่างที่เราเป็น ไม่ว่ารัฐไหนๆ มา แม้ว่ารัฐบาลอยากทำอีกอย่างหนึ่ง แต่อาจทำไม่ได้เพราะว่าประชาชนไม่ยอม

หากประชาชนเชียร์ให้รัฐใช้ความรุนแรง แล้วรัฐบาลไม่ยอมทำ รัฐบาลอาจจะยืนอยู่ตรงนั้นไม่ได้ แล้ววิธีที่รัฐจะรักษา ตัวเองเอาไว้ ด้วยความรุนแรง ก็อาจจะเป็นด้วยแรงเชียร์

ดังนั้นคนที่ไม่เชื่อในความรุนแรง ต้องแสดงตัว เพราะถ้าคนที่ไม่นิยมความรุนแรงไม่แสดงตัว คนบางกลุ่มที่แสดงตัวอาจกลายเป็นตัวแทนของคนทั้งหมด
ขณะนี้คนที่อยู่ในเว็บไซต์ส่วนใหญ่ซึ่งเป็นคนที่แอ็คทีฟ นิยมความรุนแรงเกือบทั้งนั้น คนที่ไม่นิยมความรุนแรงไม่แอกทีฟ ไม่แอกชั่น เมื่อ เราไม่ปรากฏตัวมันก็ไม่มีนัยยะทางสังคม

ดิฉันขอจบตรงนี้ แล้วเสนอทางออกไว้ว่า ทางออกนี้อยู่กับท่านนี่แหละ ไม่ต้องคิดหวังคนอื่นเลย อย่าไปหวังว่าเลือกลงคะแนนคราวหน้า จะเลือกใครแล้วหวังว่าเขาจะทำอะไรเลย

หมายเหตุ ถอดเทปจากการสัมมนาวิชาการ "รัฐกับอาณาจักรแห่งความกลัว" จัดโยศูนย์ข่าวสารสันติภาพ และโครงการสัมมนาทางวิชาการ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย วันที่ 8 ธันวาคม 2547
* นารี เจริญผลพิริยะ เป็นนักอบรมด้านสันติวิธี มีประสบการณ์การอบรมด้านสันติวิธีให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ เช่นตำรวจตระเวนชายแดน

นารี เจริยผลพิริยะ
นักอบรมสันติวิธี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net