Skip to main content
sharethis

โลกาภิวัตน์ อันหมายถึงการเชื่อมโยงส่วนต่างๆ ของโลกเข้าหากันอย่างใกล้ชิด ทั้งในทางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม ปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นมาแต่โบราณแล้ว แต่ปัจจัยที่ทำให้เกิดความเชื่อมโยงในสมัยนั้นมีเพียงประการเดียวคือการค้า จึงทำให้การเชื่อมโยงด้านต่างๆ ที่กล่าวแล้วนั้นมีลักษณะผิวเผินกว่าปัจจุบันเป็นอันมาก

เหตุที่การเชื่อมโยงของโลกาภิวัตน์ในปัจจุบันมีความใกล้ชิดเป็นพิเศษ เป็นผลมาจากการปฏิวัติการสื่อสารคมนาคม เปิดโอกาสให้การเคลื่อนย้ายทุน การกระจายการผลิตข้ามรัฐ การเคลื่อนย้ายแรงงาน การเข้าถึงตลาดและแหล่งวัตถุดิบ ทำได้โดยไม่มีพรมแดนประเภทใดขวางกั้น และด้วยเหตุดังนั้นการดำเนินการทางการเมืองทั้งภายในและระหว่างประเทศจึงเชื่อมโยงเข้าหากัน อย่างที่ไม่มีประเทศใดสามารถดำเนินการอย่างเป็นอิสระแท้จริงได้ เช่นเดียวกับการแพร่หลายของวัฒนธรรมจากสังคมหนึ่งไปยังอีกสังคมหนึ่ง ก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและมีพลังไปกำหนดความสัมพันธ์ของผู้คนในสังคมอื่นๆ ทั่วทั้งโลก

อย่างไรก็ตาม ลักษณะโลกาภิวัตน์ดังกล่าวนี้ไม่ใช่สิ่งที่ดำเนินไปโดยอาศัยพลังของเทคโนโลยีและกลไกตลาดล้วนๆ หากถูกกำกับด้วยผลประโยชน์ของบริษัทข้ามชาติในประเทศมหาอำนาจอย่างใกล้ชิด นั่นก็คือกำหนดให้อะไรเชื่อมโยงกับอะไร ในลักษณะใด และในเงื่อนไขอย่างไรอยู่ตลอดเวลา

ฉะนั้นท่าทีของรัฐต่างๆ ที่มีต่อโลกาภิวัตน์จึงไม่ควรเป็นท่าทียอมจำนนอย่างราบคาบ ถือเสมือนหนึ่งว่าโลกาภิวัตน์เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ ที่มนุษย์ต้องยอมรับอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หรือร้ายไปกว่านั้น คือฉวยโอกาสทำกำไรกันในหมู่บริษัทบริวารของผู้นำ โดยไม่ใส่ใจต่อผลกระทบในทางร้ายอันตกแก่ประชาชนในสังคม

แท้จริงแล้ว "ท้องถิ่น" ต่างๆ ในโลกที่ถูกเชื่อมโยงให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนี้ ก็ยังมีพลังที่จะเลือกพัฒนาไปในทิศทางที่เหมาะกับสภาพการณ์ใน " ท้องถิ่น" ของตนเองได้ตามสมควร เพียงแต่ว่าสังคมและรัฐจะต้องทำความเข้าใจและรู้เท่าทันโลกาภิวัตน์ให้ดี ไม่ฉวยโอกาสหากำไรกันอย่างมักง่าย และอย่างไม่ยุติธรรมเท่านั้น เพราะถึงที่สุดแล้ว ความสามารถในการพึ่งตนเองได้ก็ยังเป็นหัวใจสำคัญของการดำรงอยู่ในโลกาภิวัตน์

เรามีข้อเสนอว่า ในทางวัฒนธรรมต้องมีการเสริมสร้างความรู้ให้ประชาชนตระหนักถึงการครอบงำที่ดำรงอยู่ มิใช่ร่วมสร้างกระแสบริโภคนิยมให้เพิ่มมากขึ้นดังที่รัฐบาลปัจจุบันกระทำอยู่

การครอบงำทางวัฒนธรรมอันเป็นเงื่อนไขสำคัญของการครอบงำทุกชนิด ทำให้เกิดการยอมรับในวัฒนธรรมของประเทศเหล่านั้นว่าเหนือกว่า ดีกว่า ไม่เห็นถึงคุณค่าที่มีอยู่ในสังคมตนเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคุณธรรม (มาตรฐานการตัดสินเรื่องความดี ความเลว) ระบบการศึกษาที่เน้นเรื่องการแข่งขัน ความสำเร็จของปัจเจก หรือแม้แต่เรื่องความงามที่ต้องงามแบบตะวันตก คือ ขาว สูง คนที่ผิวคล้ำกลายเป็นความไม่งาม อีกทั้งยังปลุกกระแสบริโภคนิยมผ่านการบริโภคสินค้าเชิงสัญลักษณ์ เช่น การบริโภคสินค้าแบรนด์เนมเพื่อยกคุณค่าความเป็นตัวตนของผู้ใช้ สินค้าเหล่านั้นล้วนเป็นสินค้าที่ต่างชาติเป็นเจ้าของทั้งสิ้น

ส่วนการต่อรองเรื่องการค้าระหว่างประเทศ ประเทศไทยควรใช้ระบบพหุพาคี เข้าร่วมกลุ่มกับประเทศที่มีผลประโยชน์ใกล้เคียงกันและทำการต่อรองในฐานะกลุ่มประเทศในเวทีการค้าโลก (WTO) เนื่องจากการทำข้อตกลงในรูปแบบประเทศต่อประเทศหรือข้อตกลงเปิดการค้าเสรี (FTA) ประเทศไทยในฐานะที่เป็นประเทศเล็ก มักจะตกอยู่ในฝ่ายที่เสียเปรียบ ดังเช่น ข้อตกลงระหว่างประเทศจีนและไทย และประเทศออสเตรเลียกับไทย และผู้ที่เสียเปรียบมากที่สุดก็มักจะเป็นเกษตรกรไทยที่ไม่มีอำนาจในประเทศ

อย่างไรก็ตามถ้า จำเป็นต้องมีข้อตกลงเปิดการค้าเสรีกับประเทศใด ข้อตกลงที่จะเกิดขึ้นควรเป็นเรื่องของประชาชนไทย ไม่ใช่เป็นการกระทำของ "ผู้เชี่ยวชาญ" เพียงไม่กี่คนเพราะผลกระทบจะมีต่อคนหลายกลุ่มในระยะยาว รัฐบาลควรจะต้องมีการชี้แจงรายละเอียดของข้อตกลงที่รัฐบาลต้องการจะทำกับต่างประเทศต่อสาธารณชน อีกทั้งการรับรู้ข้อตกลงล่วงหน้าจะทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถเตรียมการเพื่อรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น มิใช่ทำการตกลงอย่างรีบเร่งโดยที่สาธารณชนไม่ได้รับรู้เช่นในปัจจุบัน รัฐบาลต้องสร้างและสนับสนุนกระบวนการมีส่วนร่วมของคนทุกกลุ่ม เพื่อก่อให้เกิดการต่อรองระหว่างกลุ่มที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ นอกจากจะทำให้กระบวนการตัดสินใจเป็นประชาธิปไตยแล้ว กระบวนการสาธารณะเช่นนี้ยังช่วยเพิ่มพลังต่อรองของรัฐบาลกับต่างประเทศขึ้นอย่างมากอีกด้วย

ในกรณีที่เกี่ยวข้องกับ พืชตัดแต่งพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) รัฐบาลจำเป็นต้องให้ความสำคัญในกรณีนี้อย่างยิ่ง เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมและเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรระดับต้น ๆ ของโลก และประเทศยังมีความหลากหลายทางชีวภาพอยู่ในระดับต้นๆ ของโลกอีกด้วย การรับเอาเทคโนโลยีทางการเกษตร เช่น พืชจีเอ็มโอ ที่ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องความปลอดภัยในระยะยาว ทั้งแก่ผู้บริโภคและระบบนิเวศ รวมทั้งกระแสการไม่ยอมรับจากประเทศต่างๆ ในโลก ย่อมไม่ส่งผลดีต่อการส่งออกทางการเกษตรของไทย และไม่สอดคล้องกับความต้องการที่จะเป็นครัวของโลกและอาหารปลอดภัย รวมทั้งเราไม่ได้เป็นเจ้าของเทคโนโลยีในด้านนี้ ทั้งยังอาจเป็นเหตุทำลายความหลากหลายทางชีวภาพซึ่งเป็นจุดแข็งของไทยในอนาคตด้วย

ในขณะที่เกษตรกรกลายเป็นผู้ต้องพึ่งพิงบริษัทเกษตรข้ามชาติ แทนที่จะเป็นผู้ผลิตและพัฒนาเทคโนโลยีที่ปลอดภัยของตนเอง ซึ่งเกษตรกรไทยได้มีการทำอยู่บ้างแล้ว เช่นการผลิตยาฆ่าแมลงศัตรูพืชจากสมุนไพร หรือแม้แต่พัฒนาพันธุ์ข้าวและพันธุ์พืชอื่นที่เหมาะสมกับสภาพการเพาะปลูกของตนเอง รัฐบาลควรให้การสนับสนุนให้ความสามารถในด้านนี้ของเกษตรกรไทยกล้าแข็งขึ้นอย่างจริงจัง ซึ่งอาจทำให้ประเทศสามารถยืนบนขาตนเองในด้านการเกษตรได้อย่างแท้จริง ทั้งยังเป็นผู้ส่งออกผลิตผลเกษตรอินทรีย์รวมทั้งเทคโนโลยีการเกษตรที่ปลอดภัยที่สำคัญของโลก

นี่เป็นตัวอย่างของการใช้ความสามารถของคนใน " ท้องถิ่น" เป็นฐานการพัฒนา รวมถึงการมองเห็นช่องว่างในตลาดโลกที่เราอาจได้ประโยชน์ แทนที่จะจำนนต่อเงื่อนไขของโลกาภิวัตน์ซึ่งบริษัทข้ามชาติย่อมกำหนดให้เราเป็นฝ่ายเสียเปรียบตลอดไป

นอกจากนี้ รัฐต้องปรับปรุงโครงสร้างทางสังคมให้เกษตรกรไทยสามารถพึ่งพาตนเอง มีความเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง มีอำนาจในการต่อรอง ผ่านทางการ ให้สิทธิแก่ชุมชนในการจัดการทรัพยากรในชุมชน เพื่อดูแลรักษาทรัพยากร และใช้ประโยชน์ทรัพยากรเพื่อการดำรงอยู่ของชุมชนอย่างยั่งยืน ที่ทำได้ทันทีคือการผลักดันให้พ.ร.บ.ป่าชุมชนผ่านสภาผู้แทนราษฎรและบังคับใช้เป็นกฎหมาย ตลอดจนทำให้ผู้ผลิตด้านการเกษตรเข้าถึงปัจจัยการผลิตที่สำคัญได้อย่างทั่วหน้า เช่นที่ดิน น้ำ พันธุ์พืช ปุ๋ย ฯลฯ

โลกาภิวัตน์นอกจากจะหมายถึงการครอบงำทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของบรรษัทข้ามชาติแล้ว ในอีกด้านหนึ่งยังหมายถึงการเชื่อมโยงเครือข่ายประชาชนในโลกผ่านการติดต่อสื่อสารที่รวดเร็ว ดังนั้นเราจึงควรให้ความสำคัญต่อความคิดเห็นของประชาคมโลกด้วย การสื่อสารที่รวดเร็วและกว้างขวางนี้เอื้อให้เกิดการเคลื่อนไหวร่วมกันของพลโลกเพื่อปฏิบัติการทางการเมืองเศรษฐกิจหรือสังคมอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน ดังนั้นรัฐบาลจะดูเบาโลกาภิวัตน์ในแง่นี้ไม่ได้เป็นอันขาด การดำเนินนโยบายที่ขัดแย้งกับกระแสของประชาคมโลกมีอันตราย เช่น กรณีการลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ในประะเทศพม่าที่ได้รับการต่อต้านไปทั่วโลก ไทยในฐานะที่เป็นประเทศผู้นำประชาธิปไตยในภูมิภาคนี้ กลับไม่ยอมมีบทบาทอย่างใดในการชักจูงผลักดันให้ประชาชนชาวพม่าได้รับการปฏิบัติที่ดีขึ้นจากรัฐบาลของตนเอง ได้แต่เข้าไปลงทุนหากำไรจากทรัพยากรของพม่าหรือใช้แรงงานราคาถูกอย่างเอารัดเอาเปรียบจากประชาชนที่ถูกกดขี่ของพม่า นโยบายต่างประเทศที่มีอันตรายในระยะยาวเหล่านี้ ก่อให้เกิดประโยชน์หรือกำไรแก่นายทุนจำนวนน้อยนิดเดียวของไทย

เราใคร่เรียกร้องสังคมไทยให้ทำความเข้าใจกับโลกาภิวัตน์ให้ดี ปัญหาสำคัญก็คือประเทศไทยจะดำรงอยู่ท่ามกลางโลกาภิวัตน์อย่างไร จึงจะไม่เสียเปรียบแต่ฝ่ายเดียว และประชาชนทุกกลุ่มจะได้ประโยชน์จากโลกาภิวัตน์โดยทั่วหน้ากัน ความเข้าใจของเราในเรื่องเหล่านี้สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการตรวจสอบพรรคการเมืองว่า ควรมอบหมายอำนาจให้เขาเป็นผู้บริหารจัดการสังคมไทยในท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์หรือไม่

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net