Skip to main content
sharethis

กรุงเทพฯ-14 ธ.ค.47 ผศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดีและคณะนักวิจัยจำนวนหนึ่ง เข้าพบ นพ.บูรณัชย์ สมุทรักษ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชกรุงเทพมหานคร ด้านอนามัย สาธารณสุข และสิ่งแวดล้อมเพื่อเสนอแผนงานเมืองเพื่อนเด็ก (child friendly city) อันมาจากงานผลงาน วิจัยประเด็นเด็กกับความปลอดภัยให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) พิจารณาดูแลความปลอด ภัยของเด็กในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างเป็นระบบ

ทั้งนี้ ผศ.นพ.อดิศักดิ์ เปิดเผยว่า จากการวิจัยสาเหตุการบาดเจ็บและเสียชีวิตของเด็กในพื้นที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่ปี2542-2545 สมมติฐานเดิมน่าจะเกิดจากการจราจร แต่อย่างไม่น่าเชื่อพบว่า
เด็กกรุงเทพฯ กลับมาปัญหาเรื่องการจมน้ำตายมากเป็นอันดับหนึ่ง เฉลี่ยปีละ1,400 ราย

ลักษณะการจมน้ำตายของเด็กกรุงเทพฯ ต่างจากเด็กต่างจังหวัด กล่าวคือ เด็กต่างจังหวัดจะเสียชีวิตจากการเล่นน้ำ ขณะที่เด็กกรุงเทพฯ เป็นเรื่องอุบัติเหตุ เดินตกน้ำ พลัดตกลงไปในหลุม บ่อ ท่อระบายน้ำ หรือคูคลองสาธารณะ ที่อยู่ระหว่างปรับปรุง ซ่อมแซมหรือการขาดความรับผิดชอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ผศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าวอีกว่า เสียเหตุการณ์บาดเจ็บและชีวิตรองลงมาคือ อุบัติเหตุจากการจราจรนับพันรายตั้งแต่เด็กถูกรถชนตามถนนทั้งไปและกลับระหว่างเดินทางจากบ้านไปโรงเรียน ทั้งนี้การจากสุ่มสำรวจเด็กจำนวน 8, 000 คนจาก โรงเรียน 5 แห่งในกรุงเทพฯ พบว่าในจำนวนดังกล่าวมี
เด็กเล็กนั่งซ้อนท้ายจักรยานยนต์ไปโรงเรียน 18% และในจำนวนนี้ 30%เป็นมอเตอร์ไซด์รับจ้าง

โดยเด็กเกือบทั้งหมดที่ซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ไม่สวมหมวกนิรภัย(กันน็อค)อาจเป็นเพราะว่ามีแต่การบังคับให้ผู้ใหญ่สวมและผลิตหมวกกันน็อคของผู้ใหญ่ จึงไม่มีมาตรการในการคุ้มครองความปลอดภัยในกลุ่มเด็กเล็ก

นอกจากนี้ยังพบว่ามีเด็กบางคนได้รับอุบัติเหตุจากการเล่นในสนามเด็กเล่นที่ไม่ได้มาตรฐาน
ซึ่งเรื่องเหล่านี้สามารถป้องกันเพื่อลดจำนวนเด็กเกิดอุบัติเหตุและการเสียชีวิตได้

"อย่างไรก็ดี ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ได้ทำโครงการชุมชนเพื่อความปลอดภัยในเด็กทดลองกับ 2 ชุมชน คือ ชุมชนซอยเพชรบุรีตัดใหม่ 7 และชุมชนสวนเงิน เด็กๆ ได้เสนอให้นำหมวกกันน็อคไปไว้ที่วินมอร์เตอร์รับจ้าง เพื่อเด็กทุกคนจะได้ใช้ร่วมกัน และยังสามารถรณรงค์ให้ความรู้กับครู ผู้ปกครองเด็กไม่ให้ชุมชนขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็กและเยาวชนได้ ก็สามารถลดอุบัติเหตุจราจรที่เกิดจากการวัยรุ่นเมาและขับได้อย่างมีนัยยะสำคัญทีมวิจัยจึงเสนอแผนงานรูปธรรมนี้ให้ กทม.พิจารณา" นพ.อดิศักดิ์ กล่าว

ด้าน นพ.บูรณัชย์ กล่าวว่า เห็นชอบแผนงานดังกล่าวในหลักการเพราะเด็กจำนวนมากไม่ควรตายด้วยสาเหตุที่ไม่น่าจะตายโดยจะเสนอเรื่องนี้ในที่ประชุมผู้บริหาร กทม.เพื่อพิจารณาและจะประสานให้ทีมวิจัยและผู้บริหารกทม.ได้คุยกันในรายละเอียดเพื่อกำหนดเป็นแผนงานปฏิบัติการใน วันที่ 27 ธันวาคมนี้ โดยตั้งเป้าว่าหลังวันปีใหม่น่าจะมีมาตรการบางอย่างที่ออกเป็นนโยบายหรือข้อปฏิบัติไปถึงผู้อำนวยการเขตทั้ง50 เขตได้

"โดยส่วนตัว ผมคิดว่าระยะยาวกทม.น่าจะประกาศเป็นปฏิญญากรุงเทพมหานครเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของเด็กกำหนดชัดเจนไปเลยว่า 10 เหตุที่เด็กไม่น่าจะตายคืออะไรบ้าง แต่อย่างน้อยภายในวันเด็กแห่งชาติปี 2548 นี้นอกจากคำขวัญที่เด็กจะต้องท่องจำแล้วกรุงเทพมหานครจะต้องมีมาตรการบางอย่างประกาศออกมาเป็นของขวัญวันเด็ก" นพ.บูรณัชย์ กล่าว

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net