Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

"ประเทศในยุโรปและอเมริกาใช้จ่ายในการสั่งไอศกรีมมากถึงสี่แสนสี่หมื่นล้านบาทต่อปี มากกว่าค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษาของคนทั้งโลกถึง 2 เท่า"

"10 ปีที่แล้ว คนไทย 1 ครอบครัว มีหนี้ 31,079 บาท วันนี้คนไทย 1 ครอบครัวมีหนี้เพิ่มเป็น 110,113 บาท"

"คนรวยไม่กี่ร้อยคนมีทรัพย์สินรวมกันเท่ากับทรัพย์สินของคนยากจนในโลกถึง 2,500 คนรวมกัน"

ข้อความเหล่านี้เป็นข้อมูลที่ได้จากบอร์ดนิทรรศการ "End Poverty Now" ที่จัดขึ้น ณ บริเวณทางเดินระหว่างสถานีรถไฟฟ้าสนามกีฬาแห่งชาติและห้างสรรพสินค้ามาบุญครองเมื่อวันที่ 9-10 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยงานนี้การร่วมจัดโดยองค์กร ActionAid สำนักงานประเทศไทย สำนักงานสิทธิมนุษยชนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ฟอรั่มเอเชีย และทาง "ประชาไท" ของเราเองด้วย

งานนี้ถูกจัดขึ้นเพื่อรณรงค์ให้เห็นว่าความยากจนนั้นไม่ได้มีสาเหตุมาจากการใช้จ่ายส่วนบุคคลเท่านั้น แต่หากแต่มันมีผลสืบเนื่องมาจากนโยบายการพัฒนาประเทศที่ผิดพลาด รวมถึงการไม่สามารถเข้าถึงโอกาสและทรัพยากรของประชากรส่วนใหญ่ ประกอบกับวันที่ 10 ธันวาคมเป็นวันสิทธิมนุษยชนสากล ซึ่งองค์กร Action Aid ทั่วโลกต่างรณรงค์พร้อมกัน เพื่อกระตุ้นให้ตระหนักถึงปัญหาความยากจน

"กิจกรรมครั้งนี้การจุดประเด็นสาธารณะเรื่องความยากจนจากมุมมองด้านสิทธิมนุษยชนในหมู่คนกรุงเทพฯ เพื่อเป็นการสร้างพลังในการผลักดันนโยบายการแก้ปัญหาความยากจนต่อรัฐบาล" เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว นักวิจัยจากสำนักงานสิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งใน staff ร่วมจัดงานเล่าให้เราฟัง

"กลุ่มเป้าหมายของการรณรงค์ครั้งนี้อยู่ที่ชนชั้นกลาง เพราะเป็นกลุ่มที่ไม่ได้ประสบปัญหาความยากจนมากนัก ประกอบกับการขาดความรู้และเข้าใจในปัญหาความยากจนที่เกิดจากโครงสร้าง" บุษยา คุณากรสวัสดิ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายงานรณรงค์ของ ActionAid เสริม

นอกจากนี้แล้วยังมีการ เสนอแนวทางการแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมอันเกิดจากนโยบายการพัฒนาประเทศที่สามารถทำได้เองง่ายๆ ไม่ว่าจะเป็น การลดการใช้ไฟฟ้าและน้ำ เพื่อลดการสร้างเขื่อน อันจะทำให้การอพยพชาวบ้านจากบ้านเกิดและที่ทำกินลดลง, การสนับสนุน พรบ. ป่าชุมชน ให้คนอยู่และรักษาป่า, การไม่สนับสนุนการพัฒนาที่แย่งชิงทรัพยากรจากชุมชนท้องถิ่น, การร่วมสร้างและผลักดันระบบการศึกษาที่มีคุณภาพและเท่าเทียม, การสนับสนุนการปฏิรูปสื่อภาคประชาชนเพื่อไม่ให้ถูกแทรกแซงและครอบงำโดยรัฐ, การร่วมสร้างทัศนคติที่ไม่ยอมรับการกระทำรุนแรงต่อสตรี, การแสดงความคิดเห็นต่อนโยบายต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อคนเล็กๆ และการสมัครเป็นอาสาสมัครขององค์กรสาธารณะ

ในงานยังมีแผ่นผ้าดิบให้ผู้ที่เดินผ่านไปผ่านมาได้แสดงความคิดเห็นในหัวข้อ "พวกเราจะ...เพื่อขจัดความยากจน" ซึ่งก็มีความคิดเห็นมากมายถูกระบายผ่านแผ่นผ้า และมีความคิดเห็นมากมายที่ไม่อาจมองข้ามได้ อาทิ "ใช้ชีวิตอย่างประหยัดไฟฟ้า-ทรัพยากรธรรมชาติ" , "Share our times for social work" , "ไม่คิดที่อยากจะรวย เพราะถ้าเรารวย แสดงว่ามีคนจนขึ้นอีก" , "Supply  Demand…Demand อยู่ที่ตัวคุณ" เป็นอาทิ

"งานนี้เป็นโอกาสให้คนที่ได้เดินผ่านไปมาในงานได้ตั้งคำถามกับปัญหาความยากจน สังเกตได้จากคนที่แวะเวียนไปมาหลายคนเข้ามาถามถึงรายละเอียดของบอร์ดนิทรรศการจาก staff ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีคนชั้นกลางความสนใจในประเด็นความยากจนอยู่ แต่เขาไม่รู้จะไปหาข้อมูลจากที่ไหน แต่ที่น่าสังเกตก็คือคนส่วนมากยังมองปัญหาความยากจนว่ามาจากความไม่ขยัน ซึ่งคงเป็นเรื่องที่ต้องสร้างความเข้าใจต่อไป" เบญจรัตน์ให้ความเห็นต่องานนี้

ส่วนบุษยามีความเห็นว่า "มีการตอบรับที่น่าสนใจจากผู้ชมนิทรรศการ มีหลายคนที่เข้ามาด้วยทัศนคติเดิมๆ กับปัญหาความยากจน แต่พอได้รับฟังข้อมูล เขาก็มีท่าทีรับฟัง และพยบายามจะทำความเข้าใจ อาจจะเป็นเพราะยังไม่มีการรณรงค์เข้ามาเจาะกลุ่มเป้าหมายตรงนี้"

เชื่อว่าการรณรงค์เล็กๆ นี้ คงไม่สามารถทำให้ปัญหาความยากจนหายไปได้ในบัดดล แต่อย่างนั้นก็เถอะ...การเริ่มต้น ก็ดีกว่าการนั่งบ่น จริงมั้ย...

ภาณุวัฒน์ อภิวัฒนชัย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net